สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

เฮโรอีน (Heroin)

ยาเสพติดประเภทกดประสาท

เฮโรอีนเป็นยาเสพติดที่ได้จากการสังเคราะห์ทางเคมีจากปฏิกิริยาระหว่างมอร์ฟีนกับสารเคมีบางชนิด เช่น อาเซติคแอนไฮไดรด์ (Aceticanhydride) หรือ อาเซติลคลอไรด์ (Acetylchloride) หรือเอทิลิดีน -ไดอาเซเตท (Ethylidinediacetate) โดยนักวิจัยชาวอังกฤษ ชื่อ C.R. Wright ได้ค้นพบวิธีการสังเคราะห์เฮโรอีนจากมอร์ฟีน โดยใช้น้ำยาอาเซติคแอน -ไฮไดรด์ (Aceticanhydride) บริษัทผลิตยาไบเออร์ (Bayer) ได้นำมาผลิตเป็นยาออกสู่ตลาดโลก ในชื่อทางการค้าว่า "Heroin" และถูกนำมาใช้ทดแทนมอร์ฟีนอย่างแพร่หลาย หลังจากที่มีการใช้เฮโรอีนในวงการแพทย์มานานถึง 18 ปี จึงทราบถึงอันตราย และผลที่ทำให้เกิดการเสพติดให้โทษที่ร้ายแรง จนปี พ.ศ. 2467 (ค.ศ. 1924) ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมาย ระบุให้เฮโรอีนเป็นยาเสพติดให้โทษ ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครอง

หลังจากนั้นต่อมาอีก 35 ปี คือเมื่อปี พ.ศ. 2502 เฮโรอีนจึงได้แพร่ระบาดสู่ประเทศไทย และในปี พ.ศ.2504 ประเทศไทยจึงออกกฎหมายระบุให้เฮโรอีน และมอร์ฟีน เป็นยาเสพติดให้โทษเฮโรอีนออกฤทธิ์แรงกว่ามอร์ฟีนประมาณ 4-8 เท่า และออกฤทธิ์แรงกว่าฝิ่น ประมาณ 30-90 เท่า โดยทั่วไปเฮโรอีนจะมีลักษณะเป็นผงสีขาว สีนวล หรือสีครีม มีรสขม ไม่มีกลิ่น และแบ่งได้เป็น 2 ประเภทเช่นเดียวกับมอร์ฟีน ได้แก่ เฮโรอีนเบส (Heroin base) ซึ่งมีคุณลักษณะเด่น คือ ไม่ละลายน้ำ ส่วนอีกประเภทหนึ่ง คือ เกลือของเฮโรอีน(Heroin salt) เช่น เฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์
(Heroin hydrochloride) เฮโรอีนที่แพร่ระบาดในประเทศไทย แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ

เฮโรอีนผสม หรือเรียกว่าเฮโรอีนเบอร์ 3 หรือไอระเหย เป็นเฮโรอีนที่มีความบริสุทธิ์ต่ำเนื่องจากมีการผสมสารอื่นเข้าไปด้วย เช่น ผสมสารหนู สตริกนิน ยานอนหลับ คาร์เฟอีน แป้ง น้ำตาลและอาจผสมสี เช่น สีม่วงอ่อน สีชมพูอ่อน สีน้ำตาล อาจพบในลักษณะเป็นผง เป็นเกล็ด หรืออัดเป็นก้อนเล็ก ๆ มีวิธีการเสพโดยการสูดเอาไอสารเข้าร่างกาย จึงเรียกว่า "ไอระเหย" หรือ "แคป"เฮโรอีนเบอร์ 4 เป็นเฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์ที่มีความบริสุทธิ์สูง มีลักษณะเป็นผงละเอียด หรือเป็นเม็ดคล้ายไข่ปลา หรือพบในลักษณะอัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยมผืนผ้า มักมีสีขาวหรือสีครีม ไม่มีกลิ่น มีรสขม เป็นที่รู้จักทั่วไปว่า "ผงขาว" มักเสพโดยนำมาละลายน้ำและฉีดเข้าร่างกาย หรือผสมบุหรี่สูบ

อาการผู้เสพ :
1. มีอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดตามข้อ ปวดสันหลัง ปวดบั้นเอว ปวดหัวรุนแรง
2. มีอาการจุกแน่นในอก คล้ายใจจะขาด อ่อนเพลียอย่างหนัก หมดเรี่ยวแรงมีอาการหนาว ๆ ร้อน ๆ อึดอัดทุรนทุราย นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย บางรายมีอาการชักตาตั้ง น้ำลายฟูมปาก ม่านตาดำหดเล็กลง
3. ใจคอหงุดหงิดฟุ้งซ่าน มึนงง หายใจไม่ออก
4. ประสาทเสื่อม ความจำเสื่อม

โทษทางร่างกาย : โทษต่อผิวหนัง เป็นอาการที่ทำให้เส้นเลือดใต้ผิวหนังเกิดอาการขยายตัว เกิดเป็นตุ่มแดงเล็ก ๆ ขึ้นบริเวณผิวหนังและกระตุ้นสารฮิสตามีน (Histamine) และกระตุ้นต่อมเหงื่อด้วย อาการนี้พบเห็นได้ หลังจากผู้เสพเฮโรอีนใหม่ ๆ จะมีอาการคันใต้ผิวหนังจึงแสดงอาการเกา หรือลูบบริเวณใบหน้า ลำคอ นอกจากนี้ผู้เสพจะมีเหงื่อออกมากกว่าปกติและขนลุก

1. โทษต่อลำไส้ ทำให้ลำไส้บิดตัวลงผู้เสพจึงมีอาการท้องผูก
2. กดศูนย์การหายใจ ทำให้หายใจช้ากว่าปกติ ถ้าใช้ในปริมาณมากจะทำให้หัวใจหยุดเต้นได้
3. ทำลายฮอร์โมนเพศถ้าผู้เสพเป็นเพศหญิงจะทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ ถ้าผู้เสพเป็นเพศชายจะทำให้ฮอร์โมนเพศลดลง ไม่มีความรู้สึกต้องการทางเพศ
4. ทำลายระบบภูมิคุ้มกันโรคทางร่างกาย ผู้เสพติดจึงมีโอกาสติดเชื้อโรคได้ง่าย

อาการที่พบเห็นภายนอก คือ ผิวหนังมีอาการติดเชื้อเป็นแผลพุพอง ติดเชื้อวัณโรค ติดเชื้อโรคตับอักเสบ นอกจากนี้ผู้เสพติดเฮโรอีนจะทำให้ติดโรคเอดส์ได้ง่ายกว่าปกติ เพราะผู้เสพมักใช้เข็มฉีดยาที่ไม่ได้ทำความสะอาด หรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกันจนทำให้ติดเชื้อ HIV

ผู้เสพติดเฮโรอีนที่ติดเชื้อ HIV ก็จะเป็นผู้แพร่ระบาด HIV เนื่องจากการจับกลุ่มใช้เข็มฉีดยาร่วมกันหรือในบางครั้งก็มีเพศสัมพันธ์ร่วมกัน โดยไม่ได้ป้องกัน

ฤทธิ์ในทางเสพติด : เฮโรอีนออกฤทธิ์กดระบบประสาท มีอาการเสพติดทั้งทางร่างกายและจิตใจ มีอาการขาดยาทางร่างกายอย่างรุนแรง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย

» ยาเสพติด
» สิ่งเสพติดประเภทต่างๆ

» โทษพิษภัยของยาเสพติด
» สาเหตุทั่วๆไปของการติดสิ่งเสพติด
» ลักษณะบุคคลที่ติดสิ่งเสพติด
» อาการผู้ติดสิ่งเสพติด
» การรักษาผู้ติดสิ่งเสพติด
» สถานพยาบาลผู้ติดสิ่งเสพติด
» การป้องกันและปราบปรามสิ่งเสพติด
» กฎหมายสิ่งเสพติดกับการลงโทษ