สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

กฎหมายสิ่งเสพติดกับการลงโทษ

พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปราม ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 แม้ว่า กฎหมายหลักที่ใช้บังคับหลักที่ใช้บังคับอยู่ ซึ่งได้แก่ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 และพระ ราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ได้บัญญัติโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิตไว้ก็ตาม การปราบปรามยาเสพติดก็ยังไม่มีประสิทธิผลเท่าที่ ควร เพราะนักค้ายาเสพติดได้พัฒนาขีดความสามารถเป็น " องค์กรอาชญากรรม " (Organized Crime ) และขยายตัวออกไปสู่ระดับประเทศในรูป ของ " อาชญากรรมสากล " ( Universal Crime) มีการดำเนินการอย่างสลับซับซ้อน ยากต่อการแสวงหาพยานหลักฐาน ให้เพียงพอแก่การพิจารณา สั่งโทษของศาลได้ แม้ในบางครั้งอาจจะจับกุมและศาลลงโทษ แต่ก็ไม่สามารถปราบปรามได้อย่างเด็ดขาด เนื่องจาก " เงิน " ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ ในวงจรการค้ายาเสพติด ยังไม่ได้ถูกำจัดด้วย สำนักงาน ป.ป.ส. ได้มีส่วนผลักดันให้มีการตรากฎหมาย "พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534" ขึ้นมาใช้บังคับเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยเฉพาะการมุ่งเอาผิดต่อผู้ค้ายาเสพติดระดับ นายทุน และตัวการสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการกระทำผิด และริบทรัพย์สินที่ได้รับมาจากการค้ายาเสพติดเพื่อขจัดแหล่งเงินทุนในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยกฎหมายดังกล่าวประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2534 ซึ่ง มีมาตรการสำคัญ 2 ประการ คือ

1.มาตรการลงโทษผู้กระทำความผิดฐานสมคบ

โดยกำหนดให้การกระทำที่เป็นการสมคบ หรือตกลงกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เป็นความผิดทางอาญา ซึ่งเป็นการเพิ่มฐานความผิดทางอาญา เพื่อให้มีโอกาสจับกุมนายทุน หรือตัวการสำคัญมาลงโทษได้มากขึ้น และเนื่องจากความผิดในข้อหานี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะใช้ดำเนินการกับตัวการใหญ่หรือนายทุนที่อยู่เบื้องหลัง และเพื่อป้องกันการนำมาตรการพิเศษนี้ไปใช้ในทางที่ผิดกฏหมาย จึงกำหนดให้การดำเนินการตามมาตราการนี้ ต้องได้รับอนุมัติจากเลขาธิการ ป.ป.ส. ก่อน

2.มาตรการริบทรัพย์สิน

แต่เดิมการริบทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดยาเสพติด เป็นไปตามประมวลกฏหมายอาญา โดยศาลมีอำนาจสั่งริบทรัพย์ที่ผู้ต้องหาหรือจำเลย ใช้หรือมีไว้ในการใช้เกี่ยวกับ ยาเสพติดและทรัพย์สิน ที่ได้รับมาจากการกระทำความผิดเท่านั้น แต่ไม่สามารถริบทรัพย์สินที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีอยู่จำนวนมาก เช่น บ้าน ที่ดิน เงินฝาก ยานพาหนะ เครื่องประดับ ตลอดจนทรัพย์สินมีค่า และสิทธิเรียกร้องอื่นๆ ที่แปรสภาพมาจากรายได้จากการค้ายาเสพติด ปัญหาเหล่านี้ได้ถูกแก้ไขด้วยกระบวนการตรวจสอบทรัพย์สิน ตามที่บัญญัติใน พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ผู้ต้องหาหรือจำเลย ได้รับมาหรือแปรสภาพมาจาก รายได้จากการค้ายาเสพติดได้ กล่าวโดยสรุป คือ เมื่อใดก็ตามที่ผู้ค้ายาเสพติดถูกจับกุมดำเนินคดี บรรดาทรัพย์สินที่บุคคลเหล่านั้นมีอยู่หรือได้มาจากการค้ายาเสพติด ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพเดิม เช่น เงินสด หรือเปลี่ยนสภาพเป็นทรัพย์สิน อื่น เช่น เงินฝาก บ้าน ที่ดิน ยานพาหนะ เครื่องประดับ อัญมณี หรืออยู่ในความครอบครองหรือถูกโอนไปเป็นของผู้อื่น เช่น บุตร ภรรยา ญาติพี่น้อง หรือบุคคลภายนอก เป็นต้น จะถูกคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน หรือเลขาธิการ ป.ป.ส. สั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราวเพื่อป้องกันการยักย้ายถ่ายเท จากนั้นหากผู้ต้องหาหรือผู้เกี่ยวข้องเหล่านี้ไม่
สามารถพิสูจน์ได้ว่า ได้ทรัพย์สินเหล่านี้มาจากการประกอบอาชีพ โดยสุจริตหรือซื้อมาโดยถูกต้อง คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินก็จะขอให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งริบทรัพย์สินเหล่านั้น ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งกองทุนจะได้ นำทรัพย์สินเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เนื่องจาก

ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ายาเสพติด ผู้กระทำความผิดมีหน้าที่ในรูปของขบวนการแบบมีเครือข่าย มีการสมคบและวางแผนกันในการกระทำความผิด เมื่อได้ทรัพย์สินมาจากการค้ายาเสพติด ก็จะนำไปขยายเครือข่ายอาชญากรรม และแสวงประโยชน์ในเศรษฐกิจส่วนตัว ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่สุจริตอื่นๆ ตามกฏหมายฉบับนี้ จึงกำหนดให้มีความผิดฐานสมคบ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถจับกุมและดำเนินคดีกับผู้เป็นตัวการค้ายาเสพติด ซึ่งอยู่เบื้องหลังการกระทำความผิดได้ นอกจากนี้ กฎหมายยังได้กำหนดให้มีมาตรการการริบทรัพย์สิน ซึ่งเกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ด้วยไม่ว่าทรัพย์สินนี้ จะได้เปลี่ยนสภาพไปกี่ครั้งก็ตาม เพื่อเป็นการตัดแรงจูงใจและมิให้ผู้ค้ายาเสพติดได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินดังกล่าว

ความผิดในข้อหาสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

กำหนดให้บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ที่ทำการตกลงกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในข้อหาสำคัญ 5 ข้อหาคือ ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย และครอบครอง เพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดมีความผิดต้องโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่ เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าได้มีการกระทำความผิดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันแล้ว จะต้องได้รับโทษ หนักขึ้นเช่นเดียวกับผู้ที่ไปทำความผิดนั่นเองทีเดียว ( มาตรา 8) เนื่องจากความผิดในข้อหาสมคบนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะใช้กับผู้เป็นตัวการใหญ่หรือ นายทุนที่อยู่เบื้องหลังการค้ายาเสพติด เท่านั้น กฎหมายนี้จึงกำหนดให้การจับกุมหรือการแจ้งข้อหาสมคบรวมทั้งข้อหาสนันสนุนช่วยเหลือต้องได้อนุมัติจากเลขาธิการ ป.ป.ส. ก่อน ( มาตรา 14 ) จึงเป็นการกลั่นกรองให้นำความคิดพิเศษนี้มาใช้ตรงตามความประสงค์ที่ตั้งไว้ และเป็นการป้องกันมิให้ มีการนำความผิดนี้ไปใช้เพื่อกลั่นแกล้งผู้บริสุทธิ์

การริบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

เมื่อบุคคลใดถูกจับกุมในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในแปดข้อหา คือ ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย ครอบครองเพื่อจำหน่าย สมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือพยายามกระทำความผิด ตามกฎหมายนี้ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ซึ่งประกอบด้วย บุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ต้องหานั้น หรือของผู้อื่น ว่าเป็น ทรัพย์สินใดเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแล้ว จะมีการริบ ยึด หรืออายัดทรัพย์สินนั้นไว้ แล้วส่งให้อัยการยื่นคำร้องขอต่อศาล ให้ริบทรัพย์สินนั้นต่อไป เว้นแต่ผู้ตรวจสอบหรือ เจ้าของทรัพย์สิน จะนำสืบได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่ไม่เกี่ยวกับการกระทำผิด

กองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

ทรัพย์สินที่จะตกเข้า กองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด มี 3 ประเภทคือ

ก. ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด ซึ่งศาลสั่งริบ
ข. ทรัพย์สินของกลาง
ค. ทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุนโดยผลทางกฏหมาย ซึ่งได้แก่ ทรัพย์สินที่พนักงานอัยการ มีคำสั่ง

เด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง แต่ไม่มีผู้ใดมาขอรับคืนภายใน 1 ปี รวมทั้งทรัพย์สิน ที่ไม่อาจดำเนินคดีได้ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่กระทำความผิด และไม่อาจจับตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยได้ และทรัพย์สินที่ไม่อาจดำเนินคดีต่อไปได้ เพราะเหตุที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยถึงแก่ความตาย

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย

» ยาเสพติด
» สิ่งเสพติดประเภทต่างๆ

» โทษพิษภัยของยาเสพติด
» สาเหตุทั่วๆไปของการติดสิ่งเสพติด
» ลักษณะบุคคลที่ติดสิ่งเสพติด
» อาการผู้ติดสิ่งเสพติด
» การรักษาผู้ติดสิ่งเสพติด
» สถานพยาบาลผู้ติดสิ่งเสพติด
» การป้องกันและปราบปรามสิ่งเสพติด
» กฎหมายสิ่งเสพติดกับการลงโทษ