ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม >>
เพลงพื้นบ้าน
นายบุญเสริม แก่นประกอบ ครู โรงเรียนบ้านชงโค
การแบ่งประเภทของเพลงพื้นบ้าน
เพลงพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เพลงพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ
1. กลุ่มอีสานเหนือ
2. กลุ่มอีสานใต้
กลุ่มอีสานเหนือ
สืบทอดวัฒนธรรมมาจากกลุ่มวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขงที่เรียกว่า กลุ่มไทยลาว
หรือกลุ่มหมอลำหมอแคน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนมากที่สุดในภาคอีสาน
เพลงพื้นบ้านได้จัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ไว้
2 ประเภทคือ
1.เพลงพิธีกรรม
2.เพลงร้องสนุกสนาน
เพลงพิธีกรรม
กลุ่มไทยลาวหรือกลุ่มหมอลำหมอแคนในกลุ่มไทยลาวนี้มี "ฮีตสิบสองคองสิบสี่" เป็นบทบัญญัติในการควบคุมสังคมอีสานเพื่อให้ประชาชนได้ประพฤติปฏิบัติตามเมื่อถึงเวลา ลักษณะของจารีตประเพณีที่ปรากฏอยู่ในฮีตสิบสองอันเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เช่น งานบุญต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับเชื่อทางจิตวิญญาณตั้งแต่เกิดจนตาย แบ่งได้เป็น
1. เพลงเซิ้งต่างๆ เป็นเพลงที่ใช้ร้องประกอบพิธีตามความเชื่อของชาวอีสาน เช่น
เพลงเซิ้งบั้งไฟ เซิ้งนางแมว เซิ้งนางด้ง เซิ้งผีตาโขน
โดยมีจุดมุ่งหมายในการร้องเพื่อให้เกิดความ
สนุกสนานดึงดูดให้คนไปร่วมพิธี
และการร้องเพลงเซิ้งยังเป็นสื่อกลางในการขอความร่วมมือในพิธีนั้น เช่น ขอเงิน
ขอสิ่งของ หรือขอความร่วมมืออื่นๆ ตามแต่จะต้องการ
การร้องเพลงเซิ้งจะประกอบด้วยคนขับกาพย์นำและจะมีลูกคู่คอยร้องรับ
ลักษณะบทเพลงจะเป็นเพลงแบบด้นกลอนสด แบบเล่านิทานพื้นบ้าน เช่นเรื่องผาแดง นางไอ่
ชาวอีสานถือว่านิทานเรื่องนี้เป็นตำนานการทำบุญบั้งไฟและในการเซิ้ง
เล่านิทานนั้นชาวบ้านนำนิทานเรื่องต่างๆได้แก่
กาพย์พระมณีก่องข้าวน้อยฆ่าแม่มาผูกเป็นกาพย์เซิ้งร้องในขบวนแห่
เพลงร้องเพื่อความสนุกสนาน
เป็นเพลงร้องเล่นสำหรับหนุ่มสาวหรือผู้ใหญ่ร้องเพื่อความสนุกสนานในงานเทศกาลหรือวาระพิเศษ
เช่น งานสงกรานต์ ผ้าป่า กฐิน งานบวชนาค ได้แก่ หมอลำหรือการลำแบบต่างๆ
หมอลำกำเนิดขึ้นครั้งแรกเมื่อใดไม่มีหลักฐานแน่ชัด
เพราะไม่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ได้มีการสันนิษฐานไว้ 3 ประการ คือ
1.หมอลำน่าจะเกิดจาความเชื่อเรื่อง ผีฟ้า ผีแถน และผีบรรพบุรุษ ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่า ผีเหล่านี้มีอำนาจเหนือธรรมชาติสามารถบันดาลให้เกิดภัยธรรมชาติและความเจ็บป่วยแก่มนุษย์ได้ มนุษย์จึงได้จัดพิธีกรรมรักษาผู้ป่วยตามวิธีการของหมอผี คือการลำผีฟ้า ลำส่อง ลำทรง ต่อมาได้พัฒนาการลำมาเป็น ลำพื้น และ ลำกลอน ตามลำดับ
2.หมอลำอาจจะเกิดจาธรรมเนียมการอ่านหนังสือผูก หนังสือผูกคือวรรณกรรมพื้นบ้านที่จารึกลงในใบลานเรื่องราวที่บันทึกอาจเป็นชาดกหรือนิทานพื้นบ้าน เป็นต้นว่า เรื่องการะเกด สังข์ศิลป์ชัย เสียวสวาสดิ์ ผู้อ่านหนังสือผูกต้องสามารถด่านหนังสือได้อย่างแตกฉานจนสามารถจดจำเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างขึ้นใจ แล้วจึงนำมาเล่าสู่ผู้ฟัง ลักษณะการเก็บหนังสือผูก คนโบราณใช้วิธีเอาลำไม้ไผ่มาทะลุปล้องแล้วสอดหนังสือไว้ข้างใน มีฝาปิดมิดชิด เรียกหนังสือว่า หนึ่งลำ ผู้ที่สามารถลำเรื่องราวในหนังสือ หนึ่งลำ ได้นั้นเรียกว่า หมอลำ หรือ คนลำ ดังนั้นคำว่า หมอลำ จึงน่าจะเกิดจากหมอลำในวรรณกรรมหนังสือผูก
3.หมอลำน่าจะเกิดจากการเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาวเนื่องในโอกาสต่าง ๆ เป็นต้นว่าการลงข่วงเข็นฝ้าย การลงแขกเกี่ยวข้าว และการมีส่วนร่วมในงานนักขัตฤกษ์ต่าง ๆ โดยที่หนุ่มสาวได้มีโอกาสสนทนากันด้วยโวหารที่ไพเราะ และมีความหมายลึกซึ้ง เรียกว่า พูดผญา หรือจ่ายผญามีลักษณะเป็นกลอนด้น ต่อมาได้นำเอา ผญาเกี้ยวไปขับลำนำโต้ตอบกัน เกิดเป็น ลำผญา และ ลำกลอน ขึ้น ซึ่งการลำผญานี้ลักษณะการแสดงที่คงรักษาเกี้ยวสาวในลานข่วงไว้ โดยผู้แสดงจะนั่งลำ ไม่ยืนลำเหมือนหมอลำประเภทอื่น
หมอลำในสมัยก่อนไม่ได้มีการแสดงเป็นอาชีพอย่างปัจจุบันนี้ เป็นการแสดงแบบสมัครเล่นสำหรับผู้ที่มีใจรัก และลำในพิธีกรรมเพื่อการแก้ไขปัญหาความเจ็บป่วย ในชุมชนนั้น ๆ ครั้นต่อมาหมอลำได้ยึดถือเป็นอาชีพไปแสดงตามสถานทีต่าง ๆ แล้วแต่เจ้าภาพติดต่อมา
หมอลำแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. หมอลำที่แสดงเพื่อความบันเทิง ได้แก่ หมอลำกลอน หมอลำเรื่อง และหมอลำเพลิน
2. หมอลำที่แสดงในพิธีกรรม ได้แก่ หมอลำผีฟ้า หมอลำส่อง หมอลำทรง
- เพลงพื้นบ้านภาคเหนือ
- เพลงพื้นบ้านภาคใต้
- เพลงพื้นบ้านภาคตะวันออก
- เพลงพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- เพลงพื้นบ้านภาคกลาง