ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม >>
เพลงพื้นบ้าน
นายบุญเสริม แก่นประกอบ ครู โรงเรียนบ้านชงโค
เพลงพื้นบ้านประเภทเพลงผู้ใหญ่
เพลงผู้ใหญ่ประเภทเพลงกล่อมเด็ก
เพลงกล่อมเด็ก คือเพลงที่ผู้ใหญ่ร้องขับกล่อมเด็กในเวลานาน เพื่อต้องการให้เด็กเบนความสนใจมาสู่สำเนียงกล่อม สนใจฟังเนื้อเพลงซึ่งมีต่างๆ กัน จะรู้เรื่องบ้างหรือไม่รู้เรื่องบ้างก็ไม่เป็นไร จะได้หยุดอ้อนร้องไห้โยเย เกิดความเพลิดเพลินกับทำนองขับเอื้อน ในที่สุดก็หลับไปโดยไม่รู้ตัว
เพลงกล่อมเด็กมีชื่อเรียกต่างกันไป เช่น เรียกเพลงเห่กล่อมพระบรรทมใช้กับพระโอรส ธิดา พระมหากษัตริย์ ภาคกลางเรียก เพลงกล่อมเด็ก ภาคเหนือ ภาคอีสาน เรียกเพลงอื่อ เพลงอื่อลูก ภาคใต้เรียกเพลงร้องเรือ หรือเพลงชาน้อง เพลงกล่อมเด็กนี้ปรากฎในชนชาติอื่นด้วยเช่นเดียวกัน ในภาษาอังกฤษ มีคำ Lallaby Nursury Rhym ซึ่งหมายถึงเพลงกล่อมเด็กทั้งสิ้น ชาติอื่นๆ เช่น อินเดียแดง จีน มอญ ลาว เขมร มลายู ก็มีเพลงกล่อมเด็กเช่นเดียวกัน
ที่มา เพลงกล่อมเด็กจะมีต้นกำเนิดขึ้นเมื่อใดไม่สามารถตอบได้ เพลงกล่อมเด็กจัดเป็นวรรณกรรมปากเปล่า Oral Poctry เช่นเดียวกับเพลงพื้นบ้านชนิดอื่นๆ แต่ต่างกันที่วัตถุประสงค์ เพลงกล่อมเด็กมีวัตถุประสงค์การร้องเพื่อกล่อมให้เด็กนอนหลับ ผู้ร้องผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานชั่วขณะเมื่อเด็กหลับจะได้เริ่มงานใหม่ต่อไป
เมื่อเริ่มต้นร้องเพลงกล่อมเด็กอาจจะเริ่มต้นสำเนียงกล่อมเป็นเสียงเอื้อนทำนองในคอ เช่น อื่อ อือ เอ่อ เอ่เอ (ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน) ฮาเออ เหอ (ภาคใต้) แล้วจึงใส่เนื้อร้องสั้นๆ ที่แสดงถึงความน่ารัก น่าเอ็นดูของเด็ก ต่อมาสอดแทรกสภาพความเป็นอยู่ ความเชื่อ ของสังคมท้องถิ่นลงไปจึงมีเพลงที่กล่าวถึงนก สัตว์เลี้ยงอื่นแทรกภาพชีวิต นิทาน ตำนาน นิยายประจำถิ่นลงไปด้วยซึ่งผู้ฟังเพลงเหล่านี้ (อาจจะมิใช่เด็ก) จะได้รับการปลูกฝังความรู้และค่านิยมเหล่านี้ลงไปโดยไม่รู้ตัวเพลงกล่อมเด็กในประเทศไทยก็เช่นเดียวกับเพลงพื้นบ้านอื่นที่ขาดช่วงของการสืบทอดไประยะหนึ่ง ตั้งแต่มีความเจริญทางด้านการสื่อสารเข้ามา ไม่มีการร้องเพลงกล่อมเด็กจึงน่าจะมีการฟื้นฟูการร้องเพลงกล่อมเด็กกันให้จริงจัง เพราะเป็นเพลงพื้นบ้านที่มีคุณค่าต่อสังคมเพลงกล่อมเด็กล้วนมีความสำคัญต่อการศึกษาสภาพสังคมไทยในอดีตมากกว่าจะเป็นเรื่องปัจจุบัน และเพลงประเภทนี้จะแบ่งออกเป็นลักษณะใหญ่ได้ 4 ลักษณะตามสภาพภูมิศาสตร์ คือ เพลงกล่อมเด็กของภาคเหนือ เพลงกล่อมเด็กของภาคอีสาน - เพลงกล่อมเด็กของภาคกลาง และเพลงกล่อมเด็กของภาคใต้ ทั้ง 4 ภาคนี้มีเพลงกล่อมเด็กที่มีฉันทลักษณ์ เนื้อหาและภาษาแตกต่างกันออกไป
สำหรับเพลงกล่อมเด็กภาคเหนือเรียกว่า เพลงอื่อลูก ใช้ร้องกล่อมเด็กขณะที่นอนเปล(นอนอู่)และไกวเปล(ไกวอู่) การร้องต้องมีจังหวะจะโคนเป็นทำนองอื่อ ทำนองกาพย์หรือแหล่หรือทำนองเสนาะก็ได้
อื่อ จา จา หลับสองตา อย่าไห้
แก้วแก่นไท้ แม่จะอื่อจาจา
นายไห้อยากกินจิน บ่มีไผไปหา
นายไห้อยากกินปลา บ่มีไผไปส้อน
มีข้าวเย็นสองสามก้อน ป้อนแล้วลวดหลับไป
อือ อื่อ อื่อ อื้ อือ จา จา
นอนเหียลูกเน้อ หลับต๋าไปอ้วยซ้วย
หันไผมาขายกล้วย ป้อจิซื้อหื้อกิน
แม่เจ้าไปไฮ่ เปิ้นจิหมกไข่ไปหา
แม่เจ้าไปนา เปิ้นจิหมกไข่ป๋ามาต้อน
แม่เจ้ามาฮอดแล้ว จึงค่อยตื่นกิ๋นนม
- เพลงกล่อมเด็กภาคอีสาน
- ประโยชน์ของเพลงกล่อมเด็ก
- เพลงกล่อมเด็กภาคเหนือและภาคอีสาน
- คำขึ้นต้นเพลงกล่อมเด็ก
- การแสดงอารมณ์ในเพลงกล่อมเด็ก
- คุณค่าของเพลงกล่อมเด็กภาคอีสาน
- เพลงแข่งขัน
- เพลงเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ
- เพลงปฎิพากย์
- เพลงประกอบการเล่นพื้นบ้าน
- เพลงประกอบพิธี
- เพลงกล่อมเด็ก