ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระไตรปิฎก
๑๑. การชำระและจารึกกับการพิมพ์พระไตรปิฎกในประเทศไทย
ได้กล่าวถึงการสังคายนาในประเทศไทยมาบ้างแล้ว แต่ยังไม่ละเอียดนัก
โอกาสนี้ควรจะได้กล่าวโดยละเอียดต่อไป
การพิมพ์พระไตรปิฎกในประเทศไทยแบ่งออกเป็น ๔ สมัย ดังนี้ :-
- สมัยที่ ๑ ชำระและจารลงในใบลาน ทำที่เมืองเชียงใหม่ ในสมัยของพระเจ้าติโลกราช ประมาณ พ.ศ. ๒๐๒๐
- สมัยที่ ๒ ชำระและจารลงในใบลาน ทำที่กรุงเทพมหานคร ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ พ.ศ. ๒๓๓๑
- สมัยที่ ๓ ชำระและพิมพ์เป็นเล่ม ทำที่กรุงเทพมหานคร ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๓๑ ถึง พ.ศ. ๒๔๓๖
- สมัยที่ ๔ ชำระและพิมพ์เป็นเล่ม ทำที่กรุงเทพมหานคร ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ พ.ศ. ๒๔๖๘ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๓
สมัยที่ ๑ : สมัยล้านนา พระเจ้าติโลกราช เมืองเชียงใหม่
อาณาจักรล้านนา เริ่มขึ้นโดยพระยามังรายหรือเม็งราย
ได้สร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๔๐ ให้ชื่อว่า
นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ถือว่าเป็นปฐมกษัตริย์แห่งเมืองล้านนา
พระองค์ทรงมีพระสหายกับกษัตริย์อีก ๒ พระองค์ คือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
แห่งกรุงสุโขทัย และพระยางำเมือง แห่งเมืองพะเยา
พระเจ้าติโลกราชทรงเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก ได้อาราธนาพระธรรมทินเถระเป็นประธาน และพระสงฆ์อีกหลายร้อยรูป ให้ชำระอักษรพระไตรปิฎก แล้วจารึกลงในใบลานเป็นภาษาบาลีอักษรล้านนาไทย การสังคายนาครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ ๘ นับต่อจากลังกา และถือว่าเป็นครั้งที่ ๑ ในประเทศไทย ทำที่วัดโพธาราม เมืองเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๐๒๐ ทำอยู่ ๑ ปีจึงสำเร็จ วัตถุประสงค์ของการทำสังคายนาก็เพื่อกำจัดปัญหาข้อขัดแย้งกันระหว่างสงฆ์ ๒ นิกาย คือ ลังกาเก่ากับลังกาใหม่ แล้วทรงทำการฉลองสมโภชสร้างหอมณเฑียรในวัดโพธาราม เพื่อการประดิษฐานพระไตรปิฎก เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา
ผลของการสังคายนาครั้งนี้ ทำให้พระพุทธศาสนาในล้านนาเข้มแข็งและเจริญรุ่งเรืองขึ้น อีกทั้งเป็นที่เลื่องลือไปยังประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย เมื่อศาสนาเข้มแข็งบ้านเมืองก็เป็นปึกแผ่น เป็นที่ยำเกรงของอาณาจักรใกล้เคียง เช่น สุโขทัย และอยุธยา เป็นต้น
สมัยที่ ๒ : สมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
(รัชกาลที่ ๑)
เรื่องสังคายนาพระไตรปิฎกโดยพิสดารในสมัยรัชกาลที่ ๑
มีปรากฏในหนังสือพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา และคำประกาศเทวดาครั้งสังคายนาปีวอก
สัมฤทธิศก พ.ศ. ๒๓๓๑
เก็บใจความสำคัญได้ดังนี้
ในปี พ.ศ. ๒๓๓๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสละพระราชทรัพย์จ้างช่างจารจารึกพระไตรปิฎกลงในใบลาน และให้ชำระและแปลฉบับอักษรลาว อักษรรามัญ เป็นอักษรขอม สร้างใส่ตู้ไว้ในหอมณเฑียรธรรม และสร้างพระไตรปิฎกถวายพระสงฆ์ไว้ทุกพระอารามลวง มีผู้กราบทูลว่า ฉบับพระไตรปิฎกและอรรถกถาฎีกาที่มีอยู่ ผิดเพี้ยนวิปลาสเป็นอันมาก ผู้ที่รู้พระไตรปิฎกก็มีน้อยท่าน ควรจะได้หาทางชำระให้ถูกต้อง จึงทรงอาราธนาพระสังฆราช พระราชาคณะ ฐานานุกรมเปรียญ ๑๐๐ รูปมาฉัน ตรัสถามว่าพระไตรปิฎกผิดมากน้อยเพียงไร สมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะถวายพระพรว่า มีผิดพลาดมาก แล้วเล่าประวัติการสังคายนาพระไตรปิฎก ๘ ครั้งที่ล่วงมาแล้ว เมื่อทรงทราบดังนี้แล้ว จึงทรงอาราธนาให้พระสงฆ์ทำการสังคายนาชำระพระไตรปิฎก ซึ่งเลือกพระสงฆ์ ๒๑๘ รูป ราชบัณฑิตอุบาสก ๓๒ คน (แต่ตามประกาศเทวดาว่า มีพระสงฆ์ ๒๑๙ รูป ราชบัณฑิตอุบาสก ๓๐ คน) ทำที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ ปัจจุบันคือวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์
การสังคายนาครั้งนี้แบ่งงานออกเป็น ๔ กอง สมเด็จพระสังฆราชเป็นแม่กองชำระสุตตันตปิฎก พระวันรัตเป็นแม่กองชำระวินัยปิฎก พระพิมลธรรมเป็นแม่กองชำระอภิธัมมปิฎก พระพุฒาจารย์เป็นแม่กองชำระสัททาวิเสส พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและพระอนุชา เสด็จไป ณ พระอารามทุกวัน ๆ ละ ๒ ครั้ง เวลาเช้าทรงประเคนสำรับอาหาร เวลาเย็นทรงถวายน้ำอัฐบาน (น้ำผลไม้คั้น) และเทียนทุกวัน สิ้นเวลา ๕ เดือนจึงเสร็จ แล้วได้จ้างช่างจารจารึกลงในใบลาน ให้ปิดทองแท่งทับทั้งใบปกหน้าหลังและกรอบทั้งสิ้น เรียกว่า ฉบับทองห่อด้วยผ้ายก เชือกรัดถักด้วยไหมแพรเบญจพรรณ มีฉลากงาแกะเขียนอักษรด้วยหมึก และฉลากทอเป็นตัวอักษรบอกชื่อพระคัมภีร์ทุกคัมภีร์
การสังคายนาครั้งนี้ นักปราชญ์รุ่นหลังมักเรียกว่า สังคายนาแต้มหัวตะ เช่น
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ทรงไว้ในพระราชวิจารณ์เทียบลัทธิพระพุทธศาสนาฝ่ายหินยานหรือเถรวาทกับมหายาน หน้า ๑๓
โดยเล็งไปว่าไม่ได้ทำอะไรมาก นอกจากแก้ไขตังหนังสือที่ผิด คำว่า แต้มหัวตะ
หมายความว่า อักษร ค กับ ต เมื่อเขียนด้วยอักษรขอม จะมีลักษณะใกล้เคียงกัน
ถ้าจะให้ชัดเจนเวลาเขียน ต จะต้องมีขมวดหัว
การสอบทานเห็นตัวไหนไม่ชัดก็เติมขมวดหัวเสียให้ชัด
สมัยที่ ๓ : สมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่
๕)
หลักฐานเรื่องการพิมพ์พระไตรปิฎก
ซึ่งเดิมเขียนเป็นตัวอักษรขอมอยู่ในคัมภีร์ใบลานให้เป็นเล่มหนังสือขึ้นนี้
มีในชุมนุมกฎหมายในรัชกาลที่ ๕ (หลวงรัตนาญัปติ์เป็นผู้รวบรวมพิมพ์) หน้า ๘๓๙
ว่าด้วยลักษณะบำรุงพระพุทธสาสนาในหัวข้อว่า การศาสนูปถัมภ์ คือการพิมพ์พระไตรปิฎก
ประกาศการสังคายนา และ พระราชดำรัสแก่พระสงฆ์โดยพระองค์
ซึ่งได้แนบไว้ที่ภาคผนวกแล้ว
สาระสำคัญที่ได้ทำคือ
การคัดลอกตัวอักษรขอมในคัมภีร์ใบลานเป็นตัวไทยแล้วชำระแก้ไข
และพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มหนังสือรวม ๓๙ เล่ม (จากเดิมที่กะว่าจะทำ ๔๐ เล่ม)
มีการประกาศการสังคายนา แต่เพราะเหตุที่ถือกันว่า
การังคายนาควรจะต้องมีการชำระสะสางหรือทำลายเสี้ยนหนามพระศาสนา
เพียงพิมพ์หนังสือเฉย ๆ คนจึงไม่นิยมถือว่าเป็นการสังคายนา แต่ได้กล่าวไว้แล้วว่า
จะเรียกว่าสังคายนาหรือไม่ไม่สำคัญ ขอให้ได้มีการชำระตรวจสอบ
จารึกหรือจัดพิมพ์พระไตรปิฎกให้เป็นเล่มรักษาไว้เป็นหลักฐาน
ก็นับว่าเป็นกิจอันควรสรรเสริญอย่างยิ่ง เพราะเป็นการทำให้
พระพุทธวจนะดำรงอยู่เป็นหลักแห่งการศึกษาและปฏิบัติตลอดไป
มีข้อที่น่าสังเกตในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งแรกในประเทศไทย ดังนี้
๑. การชำระและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๑ สำเร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ จำนวน ๑,๐๐๐ ชุด นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ได้มีการพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นเล่มด้วยอักษรไทย เป็นการฉลองการเสวยราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครบ ๒๕ ปี
๒. การพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งนี้ ใช้ราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ซึ่งต่างจากการพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ ๗ เพราะใช้ราชทรัพย์ส่วนพระองค์กับของประชาชนทั่วไป
๓. ในการพิมพ์ครั้งแรกนี้ พิมพ์ได้ ๓๙ เล่มชุด ยังขาดหายไปมิได้พิมพ์อีก ๖ เล่ม และได้พิมพ์เพิ่มเติมในสมัยรัชกาลที่ ๗ จนครบ ฉบับพิมพ์ในรัชกาลที่ ๗ รวม ๔๕ เล่ม จึงนับว่าสมบูรณ์ เป็นการช่วยเพิ่มเติมเล่มที่ขาดหายไป คือ
๑. เล่มที่ ๒๖ วิมานวัตถุ เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา
๒. เล่มที่ ๒๗ ชาดก ภาค ๑
๓. เล่มที่ ๒๘ ชาดก ภาค ๒
๔. เล่มที่ ๓๒ อปทาน ภาค ๑
๕. เล่มที่ ๓๓ อปทาน ภาค ๒, พุทธวงศ์, จริยาปิฎก
๖. เล่มที่ ๔๑ อนุโลมติกปัฏฐาน ภาค ๒, ปัจจนียปัฏฐาน, อนุโลมปัจจนียปัฏฐาน,
ปัจจนียานุโลมปัฏฐาน
นอกจากนั้น ยังได้พิมพ์เพิ่มเติมท้ายเล่มที่ ๔๔ ที่ขาดหายไปครึ่งหนึ่ง
คืออนุโลมติกติกปัฏฐาน และอนุโลมทุกทุกปัฏฐาน ให้สมบูรณ์อีกด้วย
ตามจำนวนดังกล่าวนี้
เมื่อคิดเป็นเล่มจึงมีหนังสือขาดหายไปที่จะต้องพิมพ์เพิ่มเติมใหม่ถึง ๗ เล่ม
แต่เพราะเหตุที่ฉบับพิมพ์ในครั้งรัชกาลที่ ๕ แยกคัมภีร์ยมกแห่งอภิธัมมปิฎกออกเป็น ๓
เล่ม ส่วนในการพิมพ์ครั้งหลังรวมพิมพ์เหลือเพียง ๒ เล่มเท่านั้น
จำนวนเล่มที่ขาดหายไปจึงเป็นเพียง ๖ เล่ม คือฉบับพิมพ์ในรัชกาลที่ ๕ มี ๓๙ เล่ม
ฉบับพิมพ์ในรัชกาลที่ ๗ มี ๔๕ เล่ม
สมัยที่ ๔ : สมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗)
หลักฐานเรื่องนี้ ในหนังสือรายงานการสร้างพระไตรปิฎกยามรัฐ
ซึ่งพิมพ์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๗ แสดงรายละเอียดการจัดพิมพ์พระไตรปิฎก ระหว่าง พ.ศ.
๒๔๖๘ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๓
มีข้อที่น่าสังเกตในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งนี้ ดังนี้
๑. ได้ใช้เครื่องหมายและอักขรวิธี ตามแบบของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า
กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งทรงคิดขึ้นใหม่
แม้การจัดพิมพ์จะทำในสมัยที่พระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว
๒. พิมพ์ ๑,๕๐๐ จบ พระราชทานในพระราชอาณาจักร ๒๐๐ จบ พระราชทานในนานาประเทศ ๔๕๐ จบ
เหลืออีก ๘๕๐ จบ พระราชทานแก่ผู้บริจาคทรัพย์ขอรับหนังสือพระไตรปิฎก
๓. การพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งนี้ นับว่าได้เพิ่มเติมส่วนที่ยังขาดอยู่ให้สมบูรณ์
โดยใช้ฉบับใบลานของหลวง (สันนิษฐานว่าฉบับนี้สืบเนื่องมาจากในสมัยรัชกาลที่ ๑)
คัดลอกแล้วพิมพ์เพิ่มเติมในส่วนที่ขาดอยู่
๔. ผลของการส่งพระไตรปิฎกไปต่างประเทศ ทำให้มีผู้พยายามอ่านอักษรไทย
เพื่อสามารถอ่านพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยได้ และได้มีผู้บันทึกสดุดีไว้ เช่น
พระนยานติโลกเถระ ชาวเยอรมัน ซึ่งอุปสมบทที่ประเทศลังกา ได้ชมเชยไว้ในหนังสือ Guide
through the Abhidhamma-Pitaka ว่า
ฉบับพระไตรปิฎกของไทยสมบูรณ์กว่าฉบับพิมพ์ด้วยอักษรโรมันของสมาคมบาลีปกรณ์ในอังกฤษเป็นอันมาก
๕. ในการพิมพ์ครั้งนี้ ได้ทำอนุกรมต่าง ๆ ไว้ท้ายเล่ม เพื่อสะดวกในการค้น
แม้จะไม่สมบูรณ์ แต่ก็มีประโยชน์มาก และเป็นแนวทางให้ชำระเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ต่อไป
๑. ความหมายของพระไตรปิฎก
๒. ประเภทของพระไตรปิฎก
๓. ความเป็นมาของพระไตรปิฎก
๔. พระเถระที่เกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎก
๕. การสังคายนาเป็นเหตุให้เกิดพระไตรปิฎก
๖. การสวดปาติโมกข์ต่างจากการสังคายนา
๗. การนับครั้งในการทำสังคายนา
๘. ลำดับอาจารย์ผู้ทรงจำพระไตรปิฎก
๙. คำอธิบายพระไตรปิฎกอย่างย่อของพระอรรถกถาจารย์
๑๐. ประวัติพระอรรถกถาจารย์
๑๑. การชำระและจารึกกับการพิมพ์พระไตรปิฎกในประเทศไทย
๑๒. พระมหากษัตริย์ไทยกับพระไตรปิฎก
» ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระไตรปิฎก
» ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระวินัยปิฎก
» ความหมาย การเรียกชื่อย่อ การจัดหมวดหมู่
» ประเภทและลำดับชั้นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา
บรรณานุกรม
- กลุ่มวิชาการพระพุทธศาสนาและจริยศึกษา กองศาสนศึกษา กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ.
- อธิบายวินัย สำหรับนักธรรมชั้นตรี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, ๒๕๔๑.
- กองวิชาการ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๕.
- พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). รู้จักพระไตรปิฎกเพื่อเป็นชาวพุทธที่แท้. กรุงเทพฯ : บริษัทสหธรรมิก จำกัด, ๒๕๔๓.
- พระเมธีธรรมาภรณ์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต). การปกครองคณะสงฆ์ไทย. กรุงเทพฯ : บริษัทสหธรรมิกจำกัด, ๒๕๓๙.
- พระราชธรรมนิเทศ (ระแบบ ฐิตญาโณ). พระวินัยปิฎกย่อ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๐.
- _______________. พระวินัยปิฎกย่อ เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๐.
- พระอมรมุนี (จับ ฐิตธมฺโม ป. ๙). นำเที่ยวในพระไตรปิฎก. กรุงเทพฯ : สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๕.
- สุชีพ ปุญญานุภาพ. พระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.
- เสถียรพงษ์ วรรณปก. คำบรรยายพระไตรปิฎก. กรุงเทพฯ : ธรรมสภา, ๒๕๔๓.
- สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ เปรียญ ๙). พระวินัยแปล. กรุงเทพฯ : หจก. โรงพิมพ์ชวนพิมพ์,๒๕๓๙.
- อุทัย บุญเย็น. พระไตรปิฎกสำหรับผู้เริ่มศึกษา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โพธิ์เนตร, ๒๕๔๘.
- Sayagyi U ko Lay. Guide to Tipitaka. Selangor Buddhist Vipassana Meditation Society : Selangor Malaysia, ๒๐๐๐.