ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระไตรปิฎก

๑๒. พระมหากษัตริย์ไทยกับพระไตรปิฎก

ได้กล่าวมาแล้วว่า การชำระและจารึกกับการพิมพ์พระไตรปิฎกในประเทศไทย แบ่งออกเป็น ๔ สมัย แต่จากการศึกษาเอกสารทางวิชาการ มีเรื่องที่จะต้องศึกษาเพิ่มเติมคือ พระมหากษัตริย์ของไทยในสมัยอดีตมีความเกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎกอย่างไรบ้าง ผู้เรียบเรียงจึงขอสรุปประวัติโดยสังเขปดังนี้

๑. สมัยกรุงสุโขทัย

เชื่อกันว่าพระไตรปิฎกของกรุงสุโขทัยนั้น ครั้งแรกได้มาจากมอญสมัยทวาราวดี แต่ในระยะเวลาห่างไกลคงจะขาดตกบกพร่อง ไม่สมบูรณ์ ครั้นถึงสมัยลังกาวงศ์ พระไตรปิฎกคงจะสมบูรณ์ เพราะได้จากลังกามาเพิ่ม ดังนั้น การศึกษาของสงฆ์จึงเป็นแบบลังกา คัมภีร์ต่าง ๆ คงจะเป็นอักษรสิงหล และปริวรรตเป็นอักษรขอม มีปัญหาว่า เมื่อพ่อขุนรามคำแหงได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้แล้ว เหตุใดจึงไม่ปริวรรตออกมาเป็นอักษรไทย คำตอบคือ เนื่องจากคนไทยสมัยนั้นได้รับอิทธิพลจากขอมไว้ทุกด้าน อักษรขอมมีมากก็จริง ส่วนอักษรไทยที่ประดิษฐ์ขึ้นยังเป็นของใหม่ และยังมีอักษรไม่ครบถ้วนที่จะเขียนภาษาบาลี จึงต้องใช้อักษรขอมไปก่อน และก็ใช้เรื่อย ๆ มาจนเกิดความเข้าใจผิดคิดไปว่า อักษรขอมเป็นอักษรที่ใช้เขียนจารึกพระไตรปิฎก จนกระทั่งมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าให้พิมพ์พระไตรปิฎกด้วยอักษรไทย เพื่อลบล้างความเข้าใจผิดและอิทธิพลของขอม

พระพุทธศาสนาเจริญถึงขีดสุดในสมัยของพระมหาธรรมราชาลิไท(พระยาลิไท) พระองค์ทรงเป็นนักปราชญ์ และเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก ทรงศึกษาพระไตรปิฎกและภาษามคธจนแตกฉาน ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์เรื่อง เตภูมิกถา หรือ ไตรภูมิพระร่วง นอกจากนั้นพระองค์ยังออกผนวชในขณะที่ยังครองราชย์อยู่ด้วย

๒. สมัยล้านนา

สมัยล้านนามีกษัตริย์ปกครองหลายพระองค์ แต่ที่มีบทบาทด้านพระพุทธศาสนาเด่นที่สุดคือ พระเจ้าติโลกราช ผู้ครองเมืองเชียงใหม่ ในช่วง พ.ศ. ๑๙๘๕-๒๐๒๐ ถือได้ว่าเป็น ยุคทองของพระพุทธศาสนา คือ ได้จัดให้มีการสังคายนาพระธรรมวินัยเป็นครั้งแรกในประเทศไทย รายละเอียดเรื่องนี้ได้กล่าวมาแล้วเบื้องต้น จึงไม่ขอนำมากล่าวซ้ำอีก

๓. สมัยกรุงศรีอยุธยา

ปฐมกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาคือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงจัดการบ้านเมืองเป็นปึกแผ่นมั่นคง แต่ยุคที่พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองมาก คือในสมัยของ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แม้จะไม่มีประวัติเกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎกโดยตรง แต่มีประเพณีหนึ่งที่เกิดขึ้นในสมัยนี้คือ ประเพณีการบวชเรียน โดยพระองค์ทรงเน้นให้เจ้านาย และข้าราชการผู้ใหญ่ออกบวช เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย

๔. สมัยกรุงธนบุรี

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงครองราชย์สมบัติอยู่เพียง ๑๕ ปี (พ.ศ. ๒๓๐๑-๒๓๒๕) เป็นระยะเวลาแห่งการกอบกู้เอกราชบ้านเมือง ถึงกระนั้นพระองค์ก็ไม่ทรงทอดทิ้งงานด้านพระศาสนาเลย เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๓๑๐ วัดและบ้านเมืองถูกเผาทำลายไปเป็นจำนวนมาก คัมภีร์พระไตรปิฎกก็สูญหายไปด้วย จึงทรงโปรดให้รวบรวมพระไตรปิฎกฉบับหลวงขึ้น ในคราวที่เสด็จไปปราบเจ้านครศรีธรรมราชและเจ้าพระฝางที่อุตรดิตถ์ พระองค์ก็ทรงโปรดให้นำพระไตรปิฎกในเมืองนั้นมาสมทบเพื่อสอบทานต้นฉบับด้วย แต่การสร้างพระไตรปิฎกฉบับหลวงยังมิทันสำเร็จก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน

๕. สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

พระพุทธศาสนาในสมัยนี้ เจริญรุ่งเรืองไม่แพ้ยุคใดที่แล้วมา ทั้งนี้ เพราะมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก ส่งเสริมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในทุก ๆ ด้าน ซึ่งจะขอกล่าวเฉพาะบางรัชกาลที่เกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎกเท่านั้น ดังนี้

รัชกาลที่ ๑ : สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬา

โลกมหาราชเนื้อหาเรื่องนี้ได้กล่าวมาบ้างแล้วในเบื้องต้น จึงขอกล่าวเฉพาะเนื้อหาที่ไม่ซ้ำกันดังนี้หลังจากการชำระพระไตรปิฎกเสร็จแล้ว ก็ทรงโปรดให้คัดจำลองสร้างเป็นฉบับหลวงขึ้น เรียกว่า ฉบับทองใหญ่ เพราะปิดทองทั้งหมดรวม ๓๕๔ คัมภีร์ นำไปเก็บไว้ที่วัดพระศรีรัตน-ศาสดาราม และยังโปรดให้สร้างอีก ๒ ฉบับ คือ ฉบับรองทรง และ ฉบับทองชุบ

รัชกาลที่ ๒ : พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

เนื่องจากพระไตรปิฎกฉบับทองใหญ่ ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ นั้น สูญหายไปบางคัมภีร์ เพราะวัดต่าง ๆ ขอยืมไปคัดลอก บางคัมภีร์ก็แตกชำรุด จึงโปรดให้สร้างซ่อมจนบริบูรณ์ ทั้งยังโปรดให้สร้างฉบับใหม่ขึ้นอีก เรียกว่า ฉบับรดน้ำแดง แต่การครั้งนี้มิได้มีการชุมนุมสงฆ์ เพียงแต่ซ่อมและจารฉบับใหม่เท่านั้น

รัชกาลที่ ๓ : พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในรัชกาลนี้มีการสร้างพระไตรปิฎกมากกว่าที่แล้วมา และสร้างด้วยฝีมือประณีต ตรวจสอบอักขระและพยัญชนะอย่างถี่ถ้วน ซึ่งมีถึง ๕ ฉบับ คือ ฉบับรดน้ำเอก ฉบับรดน้ำโท ฉบับทองน้อย ฉบับชุบย่อ และฉบับลายกำมะลอ การทำครั้งนี้นับได้ว่าสมบูรณ์มาก ได้อาศัยคัมภีร์จากลังกาและมอญมารวมกันตรวจสอบพระองค์ทรงเห็นว่า พระไตรปิฎกเป็นภาษาบาลีและเป็นอักษรขอม จึงมีพระราชประสงค์จะให้แปลเป็นภาษาไทย จึงโปรดให้วางฎีกาพระสงฆ์ที่จะถวายเทศน์เวรในพระบรมมหาราชวัง ได้เลือกคัมภีร์เทศน์ตามลำดับในพระไตรปิฎก โดยโปรดให้แต่งแปลเป็นสำนวนไทยไปเทศน์ ดังนั้น เราจึงได้คัมภีร์พระไตรปิฎกเป็นอักษรไทยกันมาก

รัชกาลที่ ๔ : พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงโปรดให้ตรวจสอบพระไตรปิฎกในหอมณเฑียรธรรม ปรากฏว่าคัมภีร์ได้หายไปจากบัญชีหลายเล่ม จึงโปรดให้สร้างฉบับที่ขาดหายไปให้ครบ และโปรดให้สร้างพระไตรปิฎกฉบับใหม่ขึ้นมาอีกฉบับหนึ่ง เรียกว่า ฉบับล่องชาด

รัชกาลที่ ๗ : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

การพิมพ์พระไตรปิฎกในสมัยนี้ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ทรงเป็นประธาน และพระมหาเถระผู้ชำนาญบาลีช่วยในการชำระตรวจทานตามความถนัด เป็นฉบับแรกที่ได้จัดพิมพ์เป็นอักษรไทยครบบริบูรณ์ ชุดละ ๔๕ เล่ม และได้ขนานนามว่า พระไตรปิฎกสยามรัฐ มีตราช้างเป็นเครื่องหมาย แสดงว่าเป็นของชาวไทยทั้งมวล เพราะประชาชนได้ช่วยกันบริจาคทรัพย์ด้วย

พระไตรปิฎกฉบับนี้พิมพ์ได้เรียบร้อยมาก และพิมพ์ในเวลาที่นานาชาติกำลังต้องการ ดังนั้น เมื่อพิมพ์เสร็จแล้วได้พระราชทานแจกจ่ายไปตามวิทยาลัย และหอสมุดนานาชาติทั่วโลกจำนวน ๔๕๐ จบ นับเป็นเกียรติประวัติของประเทศสยามอย่างยิ่ง เพราะประเทศพระพุทธศาสนาอื่น ๆ ในครั้งนั้น ยังไม่มีประเทศใดทำได้เลย

รัชกาลที่ ๘ : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

การแปลพระไตรปิฎก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถระ) วัดสุทัศน์เทพวราราม ทรงปรารภว่า พระไตรปิฎกเป็นที่ประมวลคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นธรรมรัตนะ แต่คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสได้อ่าน เพราะยังเป็นภาษาบาลี จึงเห็นสมควรให้แปลเป็นภาษาไทย รัฐบาลไทยให้ความเห็นชอบ และยินดีถวายความอุปถัมภ์คณะสงฆ์ จึงตั้งกรรมการแปล การแปลแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ

๑. แปลโดยอรรถ คือ แปลเอาความเป็นภาษาไทย เรียกว่า พระไตรปิฎกภาษาไทย
๒. แปลเป็นสำนวนเทศนา เพื่อจัดพิมพ์ลงในใบลาน เป็นคัมภีร์เทศน์ เรียกว่าพระไตรปิฎกเทศนาฉบับหลวง
๓. พระไตรปิฎกภาษาไทยนั้น แบ่งเป็นวินัย ๑๓ เล่ม พระสูตร ๔๒ เล่ม พระอภิธรรม ๒๕ เล่ม รวมเป็น ๘๐ เล่ม เท่าพระชนมายุของพระพุทธเจ้า

๑. ความหมายของพระไตรปิฎก
๒. ประเภทของพระไตรปิฎก
๓. ความเป็นมาของพระไตรปิฎก
๔. พระเถระที่เกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎก
๕. การสังคายนาเป็นเหตุให้เกิดพระไตรปิฎก
๖. การสวดปาติโมกข์ต่างจากการสังคายนา
๗. การนับครั้งในการทำสังคายนา
๘. ลำดับอาจารย์ผู้ทรงจำพระไตรปิฎก
๙. คำอธิบายพระไตรปิฎกอย่างย่อของพระอรรถกถาจารย์
๑๐. ประวัติพระอรรถกถาจารย์
๑๑. การชำระและจารึกกับการพิมพ์พระไตรปิฎกในประเทศไทย
๑๒. พระมหากษัตริย์ไทยกับพระไตรปิฎก

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย

» ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระไตรปิฎก
» ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระวินัยปิฎก
» ความหมาย การเรียกชื่อย่อ การจัดหมวดหมู่
» ประเภทและลำดับชั้นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา

บรรณานุกรม

  • กลุ่มวิชาการพระพุทธศาสนาและจริยศึกษา กองศาสนศึกษา กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ.
  • อธิบายวินัย สำหรับนักธรรมชั้นตรี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, ๒๕๔๑.
  • กองวิชาการ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๕.
  • พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). รู้จักพระไตรปิฎกเพื่อเป็นชาวพุทธที่แท้. กรุงเทพฯ : บริษัทสหธรรมิก จำกัด, ๒๕๔๓.
  • พระเมธีธรรมาภรณ์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต). การปกครองคณะสงฆ์ไทย. กรุงเทพฯ : บริษัทสหธรรมิกจำกัด, ๒๕๓๙.
  • พระราชธรรมนิเทศ (ระแบบ ฐิตญาโณ). พระวินัยปิฎกย่อ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๐.
  • _______________. พระวินัยปิฎกย่อ เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๐.
  • พระอมรมุนี (จับ ฐิตธมฺโม ป. ๙). นำเที่ยวในพระไตรปิฎก. กรุงเทพฯ : สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๕.
  • สุชีพ ปุญญานุภาพ. พระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.
  • เสถียรพงษ์ วรรณปก. คำบรรยายพระไตรปิฎก. กรุงเทพฯ : ธรรมสภา, ๒๕๔๓.
  • สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ เปรียญ ๙). พระวินัยแปล. กรุงเทพฯ : หจก. โรงพิมพ์ชวนพิมพ์,๒๕๓๙.
  • อุทัย บุญเย็น. พระไตรปิฎกสำหรับผู้เริ่มศึกษา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โพธิ์เนตร, ๒๕๔๘.
  • Sayagyi U ko Lay. Guide to Tipitaka. Selangor Buddhist Vipassana Meditation Society : Selangor Malaysia, ๒๐๐๐.