ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระไตรปิฎก
๗. การนับครั้งในการทำสังคายนา
๑. การนับครั้งสังคายนาที่รู้กันทั่วไป
การนับครั้งสังคายนาที่รู้กันทั่วไปคือ สังคายนาครั้งที่ ๑ ๓ ซึ่งทำในอินเดียอันเป็นของฝ่ายเถรวาท กับอีกครั้งหนึ่งในภาคเหนือ ซึ่งพระเจ้ากนิษกะทรงอุปถัมภ์ อันเป็นสังคายนาผสมรวมเป็น ๔ ครั้ง แต่ฝ่ายเถรวาทมิได้รับรู้ในการสังคายนาครั้งที่ ๔ นั้น เพราะการสืบสายศาสนาแยกกันคนละทาง ตลอดจนภาษาที่รองรับคัมภีร์ทางศาสนาก็ใช้ต่างกัน คือของเถรวาทหรือศาสนาพุทธแบบที่ไทย พม่า ลังกา เขมร ลาว นับถือนั้นใช้ภาษาบาลี ส่วนของฝ่ายมหายานหรือศาสนาพุทธแบบญี่ปุ่น จีน ทิเบต ญวน และเกาหลี นับถือนั้นใช้ภาษาสันสกฤต ในสมัยที่ตำราภาษาสันสกฤตสาบสูญก็มีเฉพาะคัมภีร์ที่แปลเป็นภาษาจีนและภาษาทิเบตเป็นหลัก แล้วมีผู้แปลสู่ภาษาอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น อีกต่อหนึ่ง การนับครั้งสังคายนาที่รู้กันทั่วไปมีดังนี้
๑.๑ สังคายนาครั้งที่ ๑
ทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างเขาเวภาระ กรุงราชคฤห์ ประเทศอินเดีย พระมหากัสสปเถระเป็นประธานและเป็นผู้สอบถาม พระอุบาลีเป็นผู้ตอบข้อซักถามทางพระวินัย พระอานนท์เป็นผู้ตอบข้อซักถามทางธรรม มีพระอรหันต์เข้าประชุม ๕๐๐ รูป ทำอยู่ ๗ เดือน จึงสำเร็จ ในการนี้พระเจ้าอชาตศัตรูทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ สังคายนาครั้งนี้ทำภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานล่วงแล้วได้ ๓ เดือน ข้อปรารภในการสังคายนา คือ พระมหากัสสปะปรารภถ้อยคำของภิกษุผู้บวชเมื่อแก่ชื่อสุภัททะ เมื่อรู้ข่าวการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ภิกษุทั้งหลายต่างพากันร้องไห้เศร้าโศก แต่ภิกษุสุภัททะกลับห้ามภิกษุเหล่านั้นเสีย โดยกล่าวว่าต่อนี้ไปจะทำอะไรได้ตามใจแล้ว ไม่ต้องมีใครมาคอยชี้ว่า นี่ผิด นี่ถูก นี่ควร นี่ไม่ควร ต่อไปอีก พระมหากัสสปะสลดใจในถ้อยคำของภิกษุสุภัททะ จึงได้นำเรื่องนั้นเสนอต่อที่ประชุมสงฆ์ แล้วเสนอชวนให้ทำสังคายนาร้อยกรองจัดระเบียบพระธรรมวินัย ซึ่งก็ได้รับความเห็นชอบ
มีข้อที่น่าสังเกตคือ ประวัติการทำสังคายนาครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ มีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ จุลวรรค หน้า ๒๗๙ ๔๒๓ ซึ่งแสดงว่าประวัติเรื่องนี้คงเพิ่มเข้ามาในพระวินัยในการทำสังคายนาครั้งที่ ๓ นอกจากนั้น ในครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ ไม่คำกล่าวถึงปิฎกเลย สังคายนาครั้งที่ ๑ ใช้คำว่าวินัยวิสัชนา คือตอบเรื่องพระวินัย และธัมมวิสัชนา คือตอบเรื่องพระธรรม
สำหรับครั้งที่ ๒ ใช้คำว่า ทสวัตถุปุจฉาวิสัชนา คือถามตอบเรื่องวัตถุ ๑๐ จึงเห็นได้ว่า สังคายนาครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ ยังไม่ได้แยกเป็น ๓ ปิฎก แต่เรียกว่า ธรรมวินัย รวมกันไป โดยรวมสุตตันตปิฎกและอภิธัมมมปิฎกอยู่ในคำว่า ธรรม
ในหนังสือชั้นอรรถกถา ซึ่งแต่งขึ้นอธิบายพระไตรปิฎก หลังพุทธปรินิพพานเกือบพันปี
อธิบายว่าสุดแต่จะจัดประเภท จะว่าพุทธวจนะมี ๑ ก็ได้ คือมีความหลุดพ้น
เป็นรสเหมือนทะเล แม้จะมีน้ำมากก็มีรสเดียวคือมีรสเค็ม จะว่ามี ๒ ก็ได้
คือเป็นพระธรรมกับพระวินัย จะว่าเป็น ๓ ก็ได้ คือไตรปิฎก อันแยกออกเป็นวินัยปิฎก
สุตตันตปิฎก และอภิธัมมปิฎก จะว่าเป็น ๕ ก็ได้ คือแบ่งออกเป็น ๕ นิกาย หรือ ๕ หมวด
ได้แก่ (๑) ทีฆนิกาย หมวดยาว (๒) มัชฌิมนิกาย หมวดปานกลาง (๓) สังยุตตนิกาย
หมวดประมวลเรื่องเป็นพวก ๆ (๔) อังคุตตรนิกาย หมวดยิ่งด้วยองค์
คือจัดข้อธรรมเป็นหมวด ๑ หมวด ๒ เป็นต้น (๕) ขุททกนิกาย
หมวดเล็กน้อยหรือหมวดเบ็ดเตล็ด การจัดอย่างนี้ จัดตามหลักสุตตันตปิฎก
แล้วเอาวินัยปิฎกและอภิธัมมปิฎกมาย่อรวมในขุททกนิกาย คือหมวดเบ็ดเตล็ด
นอกจากนั้นยังอธิบายถึงการแบ่งพระพุทธวจนะเป็น ๙ ส่วน เป็น ๘๔,๐๐๐ ส่วน
ซึ่งจะไม่ขอนำมากล่าวในที่นี้
๑.๒ สังคายนาครั้งที่ ๒
ทำที่วาลิการาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ประเทศอินเดีย พระยสะ กากัณฑกบุตร
เป็นผู้ชักชวนและมีพระเถระเข้าร่วมประชุมมีชื่อปรากฏ ๘ รูป คือ
(๑) พระสัพพกามี
(๒) พระสาฬหะ
(๓) พระขุชชโสภิตะ
(๔) พระวาสภคามิกะ ท่านเหล่านี้เป็นชาวเมืองปาจีนกะ และอีก ๔
รูปเป็นชาวเมืองปาฐาคือ
(๕) พระเรวตะ
(๖) พระสัมภูตะ สาณวาสี
(๗) พระยสะ กากัณฑกบุตร
(๘) พระสุมนะ
ในการนี้ พระเรวตะเป็นผู้ถาม พระสัพพกามีเป็นผู้ตอบปัญหาทางวินัยที่เกิดขึ้น มีพระสงฆ์ประชุมกัน ๗๐๐ รูป ทำอยู่ ๘ เดือนจึงแล้วเสร็จ สังคายนาครั้งนี้ทำหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ๑๐๐ ปี ข้อปรารภในการทำสังคายนาครั้งนี้คือ พระยสะ กากัณฑกบุตร ปรารภข้อปฏิบัติย่อหย่อน ๑๐ ประการทางพระวินัยของพวกภิกษุวัชชีบุตร เช่น ถือว่าควรเก็บเกลือไว้ในเขนง (เขาสัตว์) เพื่อเอาไว้ฉันได้, ตะวันเกินเที่ยงไปแล้ว ๒ นิ้วควรฉันอาหารได้, ควรรับเงินและทองได้ เป็นต้น พระยสะ กากัณฑกบุตร จึงชักชวนพระเถระต่าง ๆ ให้ช่วยกันวินิจฉัยแก้ความถือผิดครั้งนี้
รายละเอียดของการทำสังคายนาครั้งนี้ ปรากฏในวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ หน้า ๓๙๖
ไม่ได้กล่าวถึงการจัดระเบียบพระไตรปิฎก คงกล่าวเฉพาะการชำระข้อถือผิด ๑๐
ประการของพวกภิกษุวัชชีบุตร
ทั้งไม่ได้บอกว่าทำสังคายนาอยู่นานเท่าไร ในอรรถกถา กล่าวว่า ทำอยู่ ๘
เดือนจึงสำเร็จ
อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ได้ตั้งข้อสังเกตในเรื่องสังคายนาครั้งที่ ๑ แล้วว่า หลักฐานในวินัยปิฎกที่กล่าวถึงสังคายนาครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ ไม่มีกล่าวถึงคำว่า ไตรปิฎก เลย แต่ถ้ากล่าวตามหลักฐานที่ปรากฏในหนังสือสมันตปาสาทิกา ซึ่งแต่งขึ้นอธิบายวินัยปิฎกเมื่อพุทธปรินิพพานล่วงแล้วเกือบพันปี ท่านได้กล่าวไว้ชัดเจนในหน้า ๒๘, ๒๙, และ ๓๓ ว่า การทำสังคายนาจัดประเภทพระพุทธวจนะเป็นรูปพระไตรปิฎก ได้มีมาแล้วตั้งแต่สังคายนาครั้งที่ ๑ แม้ครั้งที่ ๒ ก็ทำซ้ำอีก
เพราะฉะนั้น ถ้าถือตามหลักฐานของคัมภีร์ชั้นอรรถกถา การสังคายนาจัดระเบียบเป็นรูปพระไตรปิฎก ก็มีมาแล้วตั้งแต่การทำสังคายนาครั้งที่ ๑ เป็นต้นมา
๑.๓ สังคายนาครั้งที่ ๓
ได้กล่าวมาแล้วว่า เรื่องสังคายนาปรากฏในวินัยปิฎกมีเพียง ๒ ครั้ง คือ ครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ ส่วนเรื่องการสังคายนาครั้งที่ ๓ มีปรากฏในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา ซึ่งพอเก็บใจความได้ดังนี้
สังคายนาครั้งที่ ๓ ทำที่อโศการาม กรุงปาตลีบุตร ประเทศอินเดีย พระโมคคลีบุตร ติสสเถระ เป็นหัวหน้า มีพระสงฆ์ประชุมกัน ๑,๐๐๐ รูป ทำอยู่ ๙ เดือนจึงแล้วเสร็จ สังคายนาครั้งนี้ ทำหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ๒๓๔ หรือ ๒๓๕ ปี ข้อปรารภในการทำสังคายนาครั้งนี้คือ พวกเดียรถีย์ หรือนักบวชศาสนาอื่นมาปลอมบวช แล้วแสดงลัทธิศาสนาและความเห็นของตนว่าเป็นพระพุทธศาสนา พระโมคคลีบุตร ติสสเถระ ได้ขอความอุปถัมภ์จากพระเจ้าอโศกมหาราช ชำระสอบสวนกำจัดเดียรถีย์เหล่านั้นจากพระธรรมวินัยได้แล้ว จึงสังคายนาพระธรรมวินัย
มีข้อน่าสังเกตว่า ในการทำสังคายนาครั้งนี้
พระโมคคลีบุตรได้แต่งคัมภีร์ชื่อกถาวัตถุ
ซึ่งเป็นคัมภีร์ในอภิธัมมปิฎกเพิ่มขึ้นด้วย ตามประวัติว่าบทตั้งมีอยู่เดิมแล้ว
แต่ได้แต่งขยายให้พิสดารออกไป
เรื่องกถาวัตถุเป็นเรื่องคำถามคำตอบเกี่ยวกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา มีคำถาม ๕๐๐
และคำตอบ ๕๐๐ เมื่อทำสังคายนาเสร็จแล้ว
ก็ได้ส่งคณะทูตไปประกาศพระพุทธศาสนาในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งพระมหินทเถระ
ผู้เป็นโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช ได้นำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานในลังกาเป็นครั้งแรก
การส่งสมณทูตไปยังทิศต่าง ๆ นั้น ถือหลักว่าให้ไปครบ ๕ รูป
เพื่อจะได้ให้การอุปสมบทแก่ผู้เลื่อมใสได้ แต่คงไม่ได้ระบุชื่อหมดทั้งห้า
โดยมากออกนามเฉพาะท่านผู้เป็นหัวหน้าเท่านั้น
๑.๔ สังคายนาครั้งที่ ๔
การสังคายนาครั้งนี้ เป็นการผสมกับฝ่ายมหายาน ทำในอินเดียภาคเหนือ
โดยความอุปถัมภ์ของพระเจ้ากนิษกะ สังคายนาครั้งนี้ ทางฝ่ายเถรวาท
คือฝ่ายที่ถือพระพุทธศาสนาแบบที่ ไทย ลาว เขมร พม่า และลังกา นับถือ
มิได้รับรองเข้าเป็นครั้งที่ ๔ เพราะเป็นการสังคายนาของนิกายสัพพัตถิกวาท
ซึ่งแยกออกไปจากฝ่ายเถรวาททำผสมกับฝ่ายมหายาน
และเพราะมีสายแห่งการสืบต่อสั่งสอนอบรมไม่ติดต่อเกี่ยวข้องกัน
จึงไม่มีบันทึกหลักฐานเรื่องนี้ทางเถรวาท
ทั้งภาษาที่ใช้สำหรับพระไตรปิฎกก็ไม่เหมือนกัน คือ ฝ่ายมหายานใช้ภาษาสันสกฤต
บางครั้งก็ปนปรากฤต ส่วนฝ่ายเถรวาทใช้ภาษาบาลี
การสังคายนาครั้งที่ ๓ ที่ทำในประเทศอินเดียดังกล่าวแล้ว ทางฝ่ายจีนและทิเบตก็ไม่มีบันทึกรับรองไว้ เพราะเป็นคนละสายเช่นเดียวกัน
แต่เนื่องจากการสังคายนาครั้งนี้ เป็นที่รู้กันทั่วไปในวงการของผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา จึงนับว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ควรนำมากล่าวไว้ด้วย และเมื่อคิดตามลำดับเวลาแล้วก็นับเป็นสังคายนาครั้งที่ ๔ ที่ทำในประเทศอินเดีย เมื่อประมาณ ค.ศ. ๑๐๐ (พ.ศ. ๖๔๓) เรื่องปีที่ทำสังคายนานี้ หนังสือบางเล่มก็กล่าวต่างออกไป สังคายนาครั้งนี้ทำที่ เมืองชาลันธร แต่บางหลักฐานก็ว่าทำที่กาษมีระหรือแคชเมียร์ รายละเอียดบางประการจะได้กล่าวถึงตอนที่ว่าด้วยการสังคายนาของนิกายสัพพัตถิกวาท
มีข้อน่าสังเกตคือ หนังสือประวัติศาสตร์ของอินเดียบางเล่ม กล่าวว่า ใน ค.ศ. ๖๓๔ (พ.ศ.๑๑๗๗) พระเจ้าศีลาทิตย์ ได้จัดให้มีมหาสังคายนาขึ้นในอินเดียภาคเหนือ มีกษัตริย์ประเทศราชมาร่วมด้วยถึง ๒๑ พระองค์ ในพิธีนี้มีพระสงฆ์ผู้คงแก่เรียน และพราหมณ์ผู้ทรงความรู้มาประชุมกัน ในวันแรกตั้งพระพุทธรูปบูชาในพิธี ในวันที่ ๒ ตั้งรูปสุริยเทพ ในวันที่ ๓ ตั้งรูปพระศิวะ
การสังคายนาครั้งนี้จึงมีลักษณะผสม คือทั้งพุทธ ทั้งพราหมณ์ ภิกษุที่เข้าประชุมก็มีทั้งฝ่ายเถรวาทและฝ่ายมหายาน แต่เมื่อสอบดูหนังสือประวัติของภิกษุเฮี่ยนจัง ซึ่งบันทึกเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ด้วย กลายเป็นการประชุมเพื่อให้มาโต้แย้งกับภิกษุเฮี่ยนจังผู้แต่งตำรายกย่องพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานไป หาใช่เป็นการสังคายนาแต่อย่างไรไม่ ที่บันทึกไว้ในที่นี้ด้วย ก็เพื่อให้หมดปัญหาประวัติการสังคายนาในอินเดีย
๑. การนับครั้งสังคายนาที่รู้กันทั่วไป
๒. การนับครั้งสังคายนาของลังกา
๓. การนับครั้งสังคายนาของพม่า
๔. การนับครั้งสังคายนาของไทย
๕. การสังคายนาของฝ่ายมหายาน
๖. การสังคายนาของนิกายสัพพัตถิกวาท
๗. การสังคายนานอกประวัติศาสตร์
๑. ความหมายของพระไตรปิฎก
๒. ประเภทของพระไตรปิฎก
๓. ความเป็นมาของพระไตรปิฎก
๔. พระเถระที่เกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎก
๕. การสังคายนาเป็นเหตุให้เกิดพระไตรปิฎก
๖. การสวดปาติโมกข์ต่างจากการสังคายนา
๗. การนับครั้งในการทำสังคายนา
๘. ลำดับอาจารย์ผู้ทรงจำพระไตรปิฎก
๙. คำอธิบายพระไตรปิฎกอย่างย่อของพระอรรถกถาจารย์
๑๐. ประวัติพระอรรถกถาจารย์
๑๑. การชำระและจารึกกับการพิมพ์พระไตรปิฎกในประเทศไทย
๑๒. พระมหากษัตริย์ไทยกับพระไตรปิฎก
» ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระไตรปิฎก
» ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระวินัยปิฎก
» ความหมาย การเรียกชื่อย่อ การจัดหมวดหมู่
» ประเภทและลำดับชั้นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา
บรรณานุกรม
- กลุ่มวิชาการพระพุทธศาสนาและจริยศึกษา กองศาสนศึกษา กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ.
- อธิบายวินัย สำหรับนักธรรมชั้นตรี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, ๒๕๔๑.
- กองวิชาการ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๕.
- พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). รู้จักพระไตรปิฎกเพื่อเป็นชาวพุทธที่แท้. กรุงเทพฯ : บริษัทสหธรรมิก จำกัด, ๒๕๔๓.
- พระเมธีธรรมาภรณ์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต). การปกครองคณะสงฆ์ไทย. กรุงเทพฯ : บริษัทสหธรรมิกจำกัด, ๒๕๓๙.
- พระราชธรรมนิเทศ (ระแบบ ฐิตญาโณ). พระวินัยปิฎกย่อ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๐.
- _______________. พระวินัยปิฎกย่อ เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๐.
- พระอมรมุนี (จับ ฐิตธมฺโม ป. ๙). นำเที่ยวในพระไตรปิฎก. กรุงเทพฯ : สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๕.
- สุชีพ ปุญญานุภาพ. พระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.
- เสถียรพงษ์ วรรณปก. คำบรรยายพระไตรปิฎก. กรุงเทพฯ : ธรรมสภา, ๒๕๔๓.
- สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ เปรียญ ๙). พระวินัยแปล. กรุงเทพฯ : หจก. โรงพิมพ์ชวนพิมพ์,๒๕๓๙.
- อุทัย บุญเย็น. พระไตรปิฎกสำหรับผู้เริ่มศึกษา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โพธิ์เนตร, ๒๕๔๘.
- Sayagyi U ko Lay. Guide to Tipitaka. Selangor Buddhist Vipassana Meditation Society : Selangor Malaysia, ๒๐๐๐.