ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระไตรปิฎก
๗. การนับครั้งในการทำสังคายนา
๒. การนับครั้งสังคายนาของลังกา
ลังกานับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทเช่นเดียวกับไทย
คงรับรองการสังคายนาทั้งสามครั้งแรกในอินเดีย แต่ไม่รับรองสังคายนาครั้งที่ ๔
ซึ่งเป็นของนิกายสัพพัตถิกวาทผสมกับฝ่ายมหายาน
หนังสือสมันตปาสาทิกา ซึ่งแต่งอธิบายวินัยปิฎกกล่าวว่า เมื่อทำสังคายนาครั้งที่ ๓
เสร็จแล้ว พระมหินทเถระผู้เป็นโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช พร้อมด้วยพระเถระอื่น ๆ
รวมกันครบ ๕ รูป ได้เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในลังกา
ได้พบกับพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ แสดงธรรมให้พระราชาเลื่อมใส
และประดิษฐานพระพุทธศาสนาได้แล้ว ก็มีการประชุมสงฆ์
ให้พระอริฏฐะผู้เป็นศิษย์ของพระมหินทเถระ สวดพระวินัยเป็นการสังคายนาวินัยปิฎก
ส่วนหนังสืออื่น ๆ เช่น สังคีติยวงศ์ กล่าวว่า มีการสังคายนาทั้งสามปิฎก
สังคายนาครั้งนี้ทำที่ถูปาราม เมืองอนุราธปุระ มีพระมหินทเถระเป็นประธาน
สังคายนาครั้งที่ ๑ ในลังกา การสังคายนาครั้งนี้ ต่อจากการสังคายนาครั้งที่ ๓
ในอินเดียไม่กี่ปี คือสังคายนาครั้งที่ ๓ ทำใน พ.ศ. ๒๓๕
พอทำสังคายนาเสร็จแล้วไม่นาน พ.ศ. ๒๓๖
พระมหินทเถระก็เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในลังกา และในปี พ.ศ. ๒๓๘
ก็ได้ทำสังคายนาในลังกา
เหตุผลที่อ้างอิงในการทำสังคายนาครั้งนี้คือเพื่อให้พระศาสนาตั้งมั่น
เพราะเหตุที่สังคายนาครั้งนี้ห่างจากครั้งแรกประมาณ ๓-๔ ปี
บางมติจึงไม่ยอมรับว่าเป็นสังคายนา เช่น มติของฝ่ายพม่าดังจะกล่าวข้างหน้า
อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ได้แสดงทรรศนะว่า สังคายนาครั้งนี้
อาจเป็นการวางรากฐานให้ชาวลังกาท่องจำพระพุทธวจนะ
จึงต้องประชุมชี้แจงหรือแสดงรูปแห่งพุทธวจนะตามแนวที่ได้จัดระเบียบไว้ในการสังคายนาครั้งที่
๓ ในอินเดีย ดังนั้น สังคายนาครั้งนี้ จึงนับได้ว่าเป็นสังคายนาครั้งแรกในลังกา
สังคายนาครั้งที่ ๒ ในลังกา ทำเมื่อประมาณ พ.ศ. ๔๓๓ ในสมัยของพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย
เรื่องที่ปรากฏเป็นเหตุทำสังคายนาครั้งนี้ คือเห็นกันว่า
ถ้าจะใช้วิธีท่องจำพระพุทธวจนะต่อไป ก็อาจมีข้อวิปริตผิดพลาดได้ง่าย
เพราะปัญญาในการท่องจำของกุลบุตรเสื่อมถอยลง จึงตกลงจารึกพระพุทธวจนะลงในใบลาน
มีคำกล่าวว่า ได้จารึกอรรถกถาลงไว้ด้วย สังคายนาครั้งนี้ทำที่อาโลกเลณสถาน ณ
มตเลชนบท ซึ่งไทยเรียกว่ามลัยชนบท ประเทศลังกา มีพระรักขิตมหาเถระเป็นประธาน
ได้กล่าวแล้วว่า บางมติไม่รับรองการสังคายนาของพระมหินทเถระ ว่าเป็นครั้งที่ ๔
ต่อจากอินเดีย แต่สังคายนาครั้งที่ ๒ ในลังกานี้ ได้รับการรับรองเข้าลำดับโดยทั่วไป
บางมติก็จัดเข้าเป็นลำดับที่ ๕ บางมติไม่รับรองสังคายนาของพระมหินทเถระ
ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกในลังกา ก็จัดสังคายนาครั้งที่ ๒ ในลังกานี้ว่า เป็นครั้งที่
๔ ต่อจากอินเดีย
สังคายนาครั้งที่ ๓ ในลังกา ทำเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๘๒ (ค.ศ. ๑๘๖๕) ที่รัตนปุระ
พระเถระชื่อหิกขทุเว สิริสุมังคละ เป็นหัวหน้า ทำอยู่ ๔ เดือนจึงแล้วเสร็จ
การสังคายนาครั้งนี้ น่าจะไม่มีใครรู้มากนัก นอกจากเป็นบันทึกของชาวลังกาเอง
การโฆษณาก็คงไม่มากมายเหมือนสังคายนาครั้งที่ ๖ ของพม่า
๑. การนับครั้งสังคายนาที่รู้กันทั่วไป
๒. การนับครั้งสังคายนาของลังกา
๓. การนับครั้งสังคายนาของพม่า
๔. การนับครั้งสังคายนาของไทย
๕. การสังคายนาของฝ่ายมหายาน
๖. การสังคายนาของนิกายสัพพัตถิกวาท
๗. การสังคายนานอกประวัติศาสตร์
๑. ความหมายของพระไตรปิฎก
๒. ประเภทของพระไตรปิฎก
๓. ความเป็นมาของพระไตรปิฎก
๔. พระเถระที่เกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎก
๕. การสังคายนาเป็นเหตุให้เกิดพระไตรปิฎก
๖. การสวดปาติโมกข์ต่างจากการสังคายนา
๗. การนับครั้งในการทำสังคายนา
๘. ลำดับอาจารย์ผู้ทรงจำพระไตรปิฎก
๙. คำอธิบายพระไตรปิฎกอย่างย่อของพระอรรถกถาจารย์
๑๐. ประวัติพระอรรถกถาจารย์
๑๑. การชำระและจารึกกับการพิมพ์พระไตรปิฎกในประเทศไทย
๑๒. พระมหากษัตริย์ไทยกับพระไตรปิฎก
» ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระไตรปิฎก
» ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระวินัยปิฎก
» ความหมาย การเรียกชื่อย่อ การจัดหมวดหมู่
» ประเภทและลำดับชั้นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา
บรรณานุกรม
- กลุ่มวิชาการพระพุทธศาสนาและจริยศึกษา กองศาสนศึกษา กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ.
- อธิบายวินัย สำหรับนักธรรมชั้นตรี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, ๒๕๔๑.
- กองวิชาการ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๕.
- พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). รู้จักพระไตรปิฎกเพื่อเป็นชาวพุทธที่แท้. กรุงเทพฯ : บริษัทสหธรรมิก จำกัด, ๒๕๔๓.
- พระเมธีธรรมาภรณ์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต). การปกครองคณะสงฆ์ไทย. กรุงเทพฯ : บริษัทสหธรรมิกจำกัด, ๒๕๓๙.
- พระราชธรรมนิเทศ (ระแบบ ฐิตญาโณ). พระวินัยปิฎกย่อ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๐.
- _______________. พระวินัยปิฎกย่อ เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๐.
- พระอมรมุนี (จับ ฐิตธมฺโม ป. ๙). นำเที่ยวในพระไตรปิฎก. กรุงเทพฯ : สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๕.
- สุชีพ ปุญญานุภาพ. พระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.
- เสถียรพงษ์ วรรณปก. คำบรรยายพระไตรปิฎก. กรุงเทพฯ : ธรรมสภา, ๒๕๔๓.
- สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ เปรียญ ๙). พระวินัยแปล. กรุงเทพฯ : หจก. โรงพิมพ์ชวนพิมพ์,๒๕๓๙.
- อุทัย บุญเย็น. พระไตรปิฎกสำหรับผู้เริ่มศึกษา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โพธิ์เนตร, ๒๕๔๘.
- Sayagyi U ko Lay. Guide to Tipitaka. Selangor Buddhist Vipassana Meditation Society : Selangor Malaysia, ๒๐๐๐.