ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
ความหมาย การเรียกชื่อย่อ การจัดหมวดหมู่
๔. โครงสร้างและเนื้อหาของพระวินัยปิฎก
พระวินัยปิฎก แบ่งคัมภีร์ออกเป็น ๘ เล่ม ในแต่ละเล่มมีเนื้อหาโดยสังเขปดังนี้
เล่มที่ ๑ : มหาวิภังค์ ภาค ๑ แบ่งเป็น ๔ กัณฑ์ แต่ละกัณฑ์มีสาระสำคัญดังนี้
(๑) เวรัญชกัณฑ์ กล่าวถึงการเสด็จจำพรรษาที่เมืองเวรัญชา
สถานที่ทรงบัญญัติพระวินัยครั้งแรก
(๒) ปาราชิกกัณฑ์ ว่าด้วยปาราชิก มี ๔ สิกขาบท ซึ่งปรับอาบัติหนัก (ครุกาบัติ)
แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด ทำให้ขาดจากความเป็นภิกษุ ต้องสละสมณเพศ
และไม่มีสิทธิ์ที่จะอุปสมบทใหม่ได้อีก
(๓) สังฆาทิเสสกัณฑ์ ว่าด้วยสังฆาทิเสส มี ๑๓ สิกขาบท
ซึ่งปรับอาบัติหนักรองจากปาราชิก เป็นอาบัติหนัก (ครุกาบัติ)
แต่เป็นอาบัติที่แก้ไขได้ (สเตกิจฉา)
(๔) อนิยตกัณฑ์ ว่าด้วยอนิยต มี ๒ สิกขาบท คำว่า อนิยต แปลว่า ไม่แน่นอน
ขึ้นอยู่กับ ที่ลับ ๒ อย่าง คือ ที่ลับตาและที่ลับหู
เล่มที่ ๒ : มหาวิภังค์ ภาค ๒ แบ่งเป็น ๔ กัณฑ์ กับ ๑ เรื่อง คือ
(๕) นิสสัคคิยกัณฑ์ ตอนว่าด้วยนิสสัคคิยปาจิตตีย์
เป็นอาบัติที่ภิกษุเมื่อล่วงละเมิดแล้วจะต้องสละวัตถุที่เป็นเหตุให้ต้องอาบัติเสียก่อน
จึงจะแสดงอาบัติตก พูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือ คน (ภิกษุ) เป็นปาจิตตีย์ ของ (วัตถุ)
เป็นนิสสัคคีย์ จะแสดงอาบัติก่อนสละวัตถุไม่ได้ นิสสัคคิยกัณฑ์ มี ๓๐ สิกขาบท
แบ่งเป็น ๓ วรรค มีวรรคละ ๑๐ สิกขาบท
(๖) ปาจิตติยกัณฑ์ ตอนว่าด้วยอาบัติปาจิตตีย์ล้วน เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า
สุทธิกปาจิตตีย์ แปลว่า ปาจิตตีย์ล้วน ปาจิตติยกัณฑ์ มี ๙๒ สิกขาบท แบ่งเป็น ๙ วรรค
มีวรรคละ ๑๐ สิกขาบท ยกเว้นวรรคที่ ๘ คือสหธรรมิกวรรค มี ๑๒ สิกขาบท
(๗) ปาฏิเทสนียกัณฑ์ ตอนว่าด้วยอาบัติปาฏิเทสนียะ แปลว่า พึงแสดงคืน มี ๔ สิกขาบท
อาบัติชื่อนี้แม้เป็นอาบัติชนิดเบา (ลหุกาบัติ) แต่ภิกษุไม่ได้แสดงแล้ว
(๘) เสขิยกัณฑ์ ตอนว่าด้วยข้อที่ควรสำเหนียก เป็นเรื่องเกี่ยวกับมารยาท
ปรับอาบัติทุกกฎเมื่อไม่สำรวม แบ่งเป็น ๔ หมวด มี ๗๕ สิกขาบท
(๙) อธิกรณสมถะ ว่าด้วยอธิกรณสมถะ อธิกรณ์ แปลว่า เหตุ โทษ เรื่องราว คดีความ
แต่ในที่นี้หมายถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในสงฆ์ เป็นสิ่งที่สงฆ์จะต้องดำเนินการ คำว่า
สมถะ แปลว่า การระงับ การทำให้สงบ ดังนั้น อธิกรณสมถะ แปลว่า
ธรรมเครื่องระงับอธิกรณ์ หรือ วิธีการระงับอธิกรณ์ มี ๗ ประการ
เล่มที่ ๓ : ภิกขุนีวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทของภิกษุณี แบ่งเป็น ๖ กัณฑ์ มี ๓๑๑ สิกขาบท
ในภิกขุนีวิภังค์นี้แบ่งสิกขาบทออกเป็น ๒ ประเภท คือ
(๑) สาธารณบัญญัติ แปลว่า ข้อบัญญัติทั่วไป หมายถึง
สิกขาบทที่ใช้ร่วมกันระหว่างภิกษุกับภิกษุณี มีจำนวน ๑๘๑ สิกขาบท ดังนั้น
ในภิกขุนีวิภังค์จึงไม่กล่าวซ้ำอีก ผู้ศึกษาต้องไปค้นคว้าจากมหาวิภังค์
(๒) อสาธารณบัญญัติ แปลว่า ข้อบัญญัติที่ไม่ทั่วไป หมายถึง
สิกขาบทที่เป็นของเฉพาะภิกษุณีเท่านั้น มี ๑๓๐ สิกขาบทในวิภังค์ทั้ง ๓ เล่ม
เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อุภโตวิภังค์ แปลว่า วิภังค์ทั้งสอง ได้แก่
ภิกขุวิภังค์และภิกขุนีวิภังค์นั่นเอง
เล่มที่ ๔ : มหาวรรค ภาค ๑ กล่าวถึงสิกขาบทที่มานอกพระปาฏิโมกข์ เกี่ยวเนื่องกับ
มารยาท ขนบธรรมเนียมของภิกษุ ปรับอาบัติทุกกฏแก่ภิกษุผู้ไม่สำรวม จัดเป็นหมวด ๆ เรียกว่า ขันธกะ มี ๔ ขันธกะ คือ
(๑) มหาขันธกะ กล่าวถึงเรื่องตั้งแต่พระพุทธเจ้าตรัสรู้จนถึงได้อัครสาวก
(๒) อุโปสถขันธกะ ว่าด้วยเรื่องอุโบสถ คือการฟังพระปาฏิโมกข์ของภิกษุทุกกึ่งเดือน
(๓) วัสสูปนายิกขันธกะ ว่าด้วยเรื่องการเข้าพรรษาของภิกษุ
(๔) ปวารณาขันธกะ ว่าด้วยเรื่องการออกพรรษาของภิกษุ เรียกว่าปวารณา
เล่มที่ ๕ : มหาวรรค ภาค ๒ แบ่งเป็น ๖ ขันธกะ คือ
(๑) จัมมขันธกะ ว่าด้วยการใช้เครื่องหนังของภิกษุ เช่น การใช้รองเท้า เป็นต้น
(๒) เภสัชชขันธกะ ว่าด้วยเรื่องยา เช่น ยามหาวิกัติ ๔ เป็นต้น
(๓) กฐินขันธกะ ว่าด้วยเรื่องผ้ากฐิน
(๔) จีวรขันธกะ ว่าด้วยเรื่องจีวร และผ้าชนิดต่าง ๆ (บริขารโจล)
(๕) จัมเปยยขันธกะ ว่าด้วยเรื่องภิกษุกัสสปโคตรอยู่ในแคว้นกาสี
ถูกสงฆ์ลงโทษด้วยอุกเขปนียกรรม เข้าไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่าเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม
(๖) โกสัมพิกขันธกะ
ว่าด้วยเรื่องภิกษุชาวเมืองโกสัมพีทะเลาะกันเพราะอาบัติเล็กน้อยจนเกิดแตกแยกกัน
เล่มที่ ๖ : จุลวรรค ภาค ๑ แบ่งเป็น ๔ ขันธกะ คือ
(๑) กรรมขันธกะ ว่าด้วยเรื่องกรรมต่าง ๆ เหมือนในจัมเปยยขันธกะ
แต่ในที่นี้มีความ พิสดารกว่า
(๒) ปริวาสิกขันธกะ ว่าด้วยเรื่องวัตรของภิกษุผู้อยู่ปริวาส
เพื่อการออกจากอาบัติสังฆาทิเสส
(๓) สมุจจยขันธกะ ว่าด้วยเรื่องการขอและการให้ปริวาส มานัต ชื่อของปริวาส
ชื่อของมานัต การขออัพภานและวิธีอัพภาน
(๔) สมถขันธกะ ว่าด้วยเรื่องลักษณะอธิกรณ์ และวิธีพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์
เล่มที่ ๗ : จุลวรรค ภาค ๒ แบ่งเป็น ๘ ขันธกะ คือ
(๑) ขุททกวัตถุขันธกะ ว่าด้วยมารยาทของภิกษุ เรียกว่า อภิสมาจาร
เป็นสิกขาบทนอกพระปาติโมกข์ เช่น การห้ามไว้หนวด ไว้เครา ไว้ผมยาว เป็นต้น
(๒) เสนาสนขันธกะ ว่าด้วยเรื่องเสนาสนะ และเครื่องใช้ในเสนาสนะ เป็นต้น
(๓) สังฆเภทขันธกะ ว่าด้วยเรื่องการทำสังฆเภทของพระเทวทัต และเรื่องต่าง ๆ
ที่เกี่ยวกับสังฆเภท
(๔) วัตตขันธกะ ว่าด้วยเรื่องธรรมเนียมของภิกษุที่จะต้องประพฤติต่อบุคคลต่าง ๆ
(๕) ปาฏิโมกขัฏฐปนขันธกะ ว่าด้วยเรื่องการสวดปาฏิโมกข์
และเรื่องอัศจรรย์ในพระธรรมวินัย
(๖) ภิกขุนีขันธกะ ว่าด้วยเรื่องประวัติของพระนางมหาปชาบดีโคตรมี ทูลขอให้สตรีบวช
และว่าด้วยครุธรรม ๘ ประการสำหรับภิกษุณี และวัตรข้อปฏิบัติของภิกษุณีอย่างพิสดาร
(๗) ปัญจสติกขันธกะ ว่าด้วยเรื่องปฐมสังคายนาโดยพิสดาร
(๘) สัตตสติกขันธกะ ว่าด้วยเรื่องทุติยสังคายนาโดยพิสดาร
สรุป ในมหาวรรคและจุลวรรค ทั้งหมดนี้ จัดแบ่งเป็น ขันธกะ รวมทั้งสิ้น ๒๒ ขันธกะ
เป็นสิกขาบทที่มานอกพระปาฏิโมกข์ ว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับกิริยามารยาท
และขนบธรรมเนียมของภิกษุ หากไม่เอื้อเฟื้อและไม่สำรวม ปรับอาบัติทุกกฎทุกกรณี
เล่มที่ ๘ : ปริวาร ว่าด้วยข้อปลีกย่อย
เป็นการอธิบายเรื่องราวในพระวินัยให้พิสดารขึ้น
เป็นข้อถามตอบ วินิจฉัยอาบัติ อนาบัติ อาบัติที่ทั่วไปแก่ภิกษุและภิกษุณี อาบัติที่ไม่ทั่วไปทั้ง ๒ ฝ่าย ตอนท้ายเป็นปัญหาวินัยเรียกว่า เสทโมจนคาถา (คาถาเหงื่อแตก) คือเป็นปัญหาที่ลึกลับซับซ้อน คิดแก้กันจนเหงื่อไหล แต่ก็มีคำเฉลยในปัญหานั้น
๑. ความหมายของพระวินัยปิฎก
๒. การเรียกชื่อย่อคัมภีร์พระวินัยปิฎก
๓. การจัดหมวดหมู่พระวินัยปิฎก
๔. โครงสร้างและเนื้อหาของพระวินัยปิฎก
» ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระไตรปิฎก
» ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระวินัยปิฎก
» ความหมาย การเรียกชื่อย่อ การจัดหมวดหมู่
» ประเภทและลำดับชั้นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา
บรรณานุกรม
- กลุ่มวิชาการพระพุทธศาสนาและจริยศึกษา กองศาสนศึกษา กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ.
- อธิบายวินัย สำหรับนักธรรมชั้นตรี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, ๒๕๔๑.
- กองวิชาการ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๕.
- พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). รู้จักพระไตรปิฎกเพื่อเป็นชาวพุทธที่แท้. กรุงเทพฯ : บริษัทสหธรรมิก จำกัด, ๒๕๔๓.
- พระเมธีธรรมาภรณ์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต). การปกครองคณะสงฆ์ไทย. กรุงเทพฯ : บริษัทสหธรรมิกจำกัด, ๒๕๓๙.
- พระราชธรรมนิเทศ (ระแบบ ฐิตญาโณ). พระวินัยปิฎกย่อ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๐.
- _______________. พระวินัยปิฎกย่อ เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๐.
- พระอมรมุนี (จับ ฐิตธมฺโม ป. ๙). นำเที่ยวในพระไตรปิฎก. กรุงเทพฯ : สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๕.
- สุชีพ ปุญญานุภาพ. พระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.
- เสถียรพงษ์ วรรณปก. คำบรรยายพระไตรปิฎก. กรุงเทพฯ : ธรรมสภา, ๒๕๔๓.
- สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ เปรียญ ๙). พระวินัยแปล. กรุงเทพฯ : หจก. โรงพิมพ์ชวนพิมพ์,๒๕๓๙.
- อุทัย บุญเย็น. พระไตรปิฎกสำหรับผู้เริ่มศึกษา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โพธิ์เนตร, ๒๕๔๘.
- Sayagyi U ko Lay. Guide to Tipitaka. Selangor Buddhist Vipassana Meditation Society : Selangor Malaysia, ๒๐๐๐.