สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ

ตาบอดจากต้อกระจก

ต้อกระจก(Cataract) เป็นภาวะที่แก้วตาหรือเลนส์ตาภายในลูกตามีลักษณะขุ่นขาวขึ้นจากปกติที่มีลักษณะโปร่งใสเหมือนกระจก เมื่อแก้วตาขุ่นขาวก็จะมีลักษณะทึบแสง ไม่ยอมให้แสงผ่านเข้าสู่ลูกตาไปรวมที่จอตา (เรตินา) ทำให้เกิดอาการตาฝ้าฟาง หรือมืดมัว

สาเหตุ

ประมาณ ร้อยละ 80 เกิดจากภาวะเสื่อมตามวัย คนที่มีอายุมากกว่า 60 ปี จะเป็นต้อกระจกแทบทุกคน แต่อาจเป็นมาน้อยต่างกันไป เรียกว่า ต้อกระจกในสูงอายุ(senile cataract) ส่วนน้อยที่เกิดจากสาเหตุอื่น ในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานก็มักจะเกิดต้อกระจกก่อนวัยได้ และภาวะขาดอาหารก็อาจทำให้เกิดต้อกระจกได้เร็วกว่าปกติ

อาการ

ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าตาค่อยๆ มัวลงเรื่อยๆ ทีละน้อย ในระยะเริ่มแรกจะรู้สึกมีอาการตามัวเหมือนมีหมอกบัง มองในที่มืดชัดกว่าที่สว่าง หรือถูกแสงสว่างจะรู้สึกตาพร่ามัว สู้แสงไม่ได้ หรือมองเห็นภาพซ้อน โดยไม่มีอาการเจ็บปวดหรือตาแดงแต่อย่างไร อาการตามัวจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ กินเวลาเป็นแรมเดือนแรมปี จนในที่สุดเมื่อแก้วตาขุ่นขาวจนหมด (เรียกว่า ต้อสุก) ก็จะมองไม่เห็น ต้อกระจกในผู้สูงอายุมักจะเป็นที่ตาทั้งสองข้างแต่จะสุกไม่พร้อมกัน

สิ่งที่ตรวจพบ

การตรวจดูตา จะพบแก้วตามีลักษณะขุ่นขาว เวลาใช้ไฟส่องผู้ป่วยจะรู้สึกตาพร่า

อาการแทรกซ้อนหรือผลกระทบของต้อกระจก

เมื่อต้อสุกและไม่ได้รับการผ่าตัดจะทำให้ตาบอดสนิท ในบางคนแก้วตาอาจบวมหรือหลุดลอยไปอุดกั้นทางระบายของของเหลวในลูกตา ทำให้ความดันภายในลูกตาสูงขึ้นจนกลายเป็นต้อหินได้ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตาอย่างรุนแรง

การรักษา

ในรายที่ที่เริ่มเป็นน้อยๆ ไม่ต้องทำอะไรรอจนกว่าต้อสุกจึงแนะนำไปผ่าตัดรักษาต้อกระจกในโรงพยาบาลที่มีจักษุแพทย์ ซึ่งเป็นวิธีเดียว ไม่มียาที่ใช้กินหรือหยอดยาแก้อาการต้อกระจกได้

ข้อแนะนำ

1. ผู้สูงอายุควรได้รับการตรวจตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ซึ่ง อสม. สามารถให้การดูแลเบื้องต้นผู้สูงอายุในชุมชนได้ โดยการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงหรือสงสัยเป็นต้อกระจก

2. เป็นต้อกระจกควรได้รับการดูแลรักษาจากจักษุแพทย์เท่านั้น การเสี่ยงรักษากับหมอพื้นบ้านๆ จะทำการเขี่ยให้แก้วตาหลุดไปด้านหลังของลูกตาแสงก็ผ่านเข้าไปในตาได้ทำให้มองเห็นได้ทันทีแต่ไม่ช้าจะเกิดภาวะแทรกซ้อนจะตามมา เช่น ต้อหิน เลือดออกในวุ้นลูกตา หรือประสาทตาเสื่อม ทำให้ตาบอดถาวร

เอกสารอ้างอิง :โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง). คู่มือต้อกระจก, 2550.

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย