เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>

มลพิษจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์

มลพิษทางเสียง (Noise Pollution)

เสียง เกิดจากการสั่นสะเทือนของโมโลกุลในอากาศ ทำให้เกิดคลื่นเสียง เคลื่อนที่ผ่านสื่อกลาง (อากาศ) จนกระทั่งกระทบเครื่องรับจึงทำให้ได้ยินเสียงโดยมีหูเป็นเครื่องรับ

มลพิษทางเสียงเกิดขึ้นจากเสียงรบกวนหรือเสียงที่ดังเกินขนาด มลพิษทางเสียงส่ง ผลกระทบในวงกว้างมากขึ้นตามความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทั้งการนำเอาเครื่องจักรกลมาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม การใช้ยานพาหนะขับเคลื่อนด้วยกำลังขับเคลื่อนล้อหน้า การก่อสร้างอาคารด้วยเครื่องมือขนาดใหญ่ เสียงดังเกินขนาดย่อมทำให้เกิดอันตรายต่อระบบการได้ยิน สุขภาพจิต และสุขภาพ ส่วนความรุนแรงของอันตรายที่ได้รับขึ้นอยู่กับความดัง ความถี่ และระยะเวลาที่ได้ยิน

อันตรายจากมลพิษทางเสียง

1) อันตรายต่อการได้ยิน (Hearing Damage) การที่ได้รับฟังเสียงดังมากๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการหูตึง หรือหูหนวก คือ ทำให้ไม่ได้ยินการพูดคุยแบบธรรมดา อาการหูตึงหรือหูหนวก มีอาการได้ 2 แบบ คือ

  • อาการหูตึงหรือหูอื้อชั่วคราว เกิดจากการฟังเสียงระดับสูง ช่วงระยะเวลาสั้นๆ อาการหูตึงชั่วคราวจะไม่ได้ยินเสียงพูดคุยธรรมดาประมาณ 7 วัน เมื่อได้พักจากการฟังก็จะอาการดีขึ้น องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (EPA) ได้สรุปว่า ผู้ที่ได้รับเสียงดังตลอด 24 ชั่วโมง เฉลี่ยเกิน 70 เดซิเบล จะกลายเป็นคนหูตึงในเวลา 40 ปี
  • อาการหูตึงหรือหูหนวกถาวร เนื่องจากเสียงที่ได้รับนั้นดังมากเกินไปจนถึงขั้นทำลายปลายประสาทและเซลล์ประสาทไปอย่างถาวร จนสูญเสียการได้ยินและไม่สามารถฟื้นคืนสภาพได้
  • อันตรายแบบเฉียบพลัน เป็นอาการของหูหนวกที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน จากการได้รับเสียงที่ดังมากเกินไป จนทำให้ปลายประสาทและเซลล์ประสาทรับเสียงถูกทำลาย และแก้วหูฉีกขาดไปในทันที เช่น เสียงระเบิด เสียงฟ้าผ่า เป็นต้น

2) อันตรายต่อสุขภาพทั่วไปและจิตใจ ได้แก่ การรบกวนการทำงาน และประสิทธิภาพความถูกต้องของงานสูญเสียไป รบกวนการติดต่อสื่อสาร ขัดขวางการได้ยินสัญญาณอันตรายต่างๆ รบกวนการนอนหลับ ทางด้านสุขภาพทั่วไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียทั้งทางร่างกายและจิตใจ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หงุดหงิด มีความดันโลหิตสูง อาจทำให้เกิดโรคหัวใจ ชีพจรเต้นผิดปกติ เกิดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ รวมทั้งอาจเกิดโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษได้

หลักการจัดการมลพิษทางเสียง

หลักการลดหรือควบคุมเสียง แบ่งเป็น 3 ประการ คือ

  • การลดหรือควบคุมระดับเสียงที่จุดกำเนิด (Source) เป็นการลดหรือควบคุมระดับเสียงที่ต้นเหตุ ซึ่งจะประหยัดและได้ผลกว่าวิธีอื่นๆ เช่น การติดตั้งเครื่องลดหรือเครื่องกรองเสียง อาทิ การใช้ท่อไอเสียที่ได้มาตรฐาน การใช้หรือปรับแต่งเครื่องยนต์ให้มีความสมบูรณ์ การจัดหาเครื่องมือที่มีเสียงเบามาแทนหรือปรับปรุงแก้ไขเครื่องมือที่มีเสียงดังให้ลดน้อยลงจนเป็นที่ปลอดภัย เป็นต้น
  • การลดหรือควบคุมระดับเสียงที่ทางผ่าน (Paht) โดย
    - ใช้ผนังกั้นอุปกรณ์ที่เป็นต้นกำเนิดเสียงหรือหุ้มทับ ซึ่งมักใช้แผ่นตะกั่วหรือแผ่นไวนิล-ตะกั่ว
    - การใช้ฉนวนหรืออุปกรณ์ลดเสียง เช่น ผ้านวม ผ้าใยแก้ว ฯลฯ หุ้มส่วนที่เป็นทางผ่านของเสียง เพื่อบังคับไม่ให้ท่อต่างๆ สั่นไปตามเครื่องจักรนั้น
    - การใช้วัสดุบุผนังเก็บเสียงสะท้อน ทำให้ใช้แผ่นไฟเบอร์กลาส แผ่นกระเบื้องอะคูสติกหุ้มส่วนผนัง ฝ้า และเพดานของโรงงาน
    - ติดเครื่องเก็บเสียงหรือออกแบบท่อเก็บเสียงชนิดพิเศษเข้าที่ท่อไอเสียของเครื่องยนต์
    - ติดตั้งเครื่องจักรไว้บนวัตถุที่กันสะเทือนและกันเสียงดังได้
    - การเพิ่มระยะทางจากแหล่งกำเนิดเสียงถึงผู้รับ (Receiver) เช่น การเว้นช่องระหว่างถนนและบ้านเรือนหรืออาคารริมถนน การกำหนดให้มีระยะห่างระหว่างเครื่องจักร ที่มีเสียงดังกับแนวเขตของโรงงาน การกำหนดให้มีพื้นที่ว่างระหว่างขอบของโรงงานหรือกิจกรรมที่มีเสียงดังกับบ้านเรือนของประชาชน เป็นต้น
  • การลดหรือควบคุมระดับเสียงที่ผู้รับ (Receiver) เป็นวิธีการสุดท้ายที่ไม่สามารถลดระดับเสียงที่ทางผ่านได้ อาจทำได้โดย
    - ใช้เครื่องป้องกัน เช่น เครื่องป้องกันหู ได้แก่ เครื่องอุดหู (Ear Plugs) ใช้สอดเข้าไปใส่รูหูช่วยลดเสียงได้ประมาณ 25-30 เดซิเบล ส่วนเครื่องปิดหูหรือเครื่องครอบหู (Ear Muffs) เป็นเครื่องครอบปิดทั้งหูที่ผู้ใช้สามารถเลือกขนาดให้พอเหมาะกับศีรษะ สามารถลดเสียงได้ดีกว่าเครื่องอุดหูประมาณ 10-15 เดซิเบล และหมวกซึ่งปกติเป็นเครื่องป้องกันศีรษะ แต่อาจประยุกต์มาใช้ป้องกันเสียงดังได้
    - ลดระยะเวลาที่ต้องทำงานอยู่กับเสียงให้น้อยลง โดยสลับไปทำงานอื่นที่ไม่เกี่ยวกับเสียงบ้าง
    - แยกคนงานที่ไม่ทำงานเกี่ยวข้องกับเสียงหรือเครื่องจักรที่มีเสียงดังออกไปจากงานที่เกี่ยวข้องกับเสียงดัง เพื่อลดปริมาณคนงานที่เสี่ยงต่ออันตรายจากเสียงดัง
    - ทำการทดสอบการได้ยินในคนงานที่เกี่ยวข้องกับเสียงดังทุกคน โดยตรวจก่อนทำงาน และระหว่างการทำงานเป็นระยะๆ เพื่อค้นหาอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับคนงาน

มาตรการทางการบริหารหรือกฎหมาย ได้แก่

1) การจัดวางผังเมือง โดยแยกชุมชนออกจากแหล่งกำเนิดเสียง เช่น
- ไม่ให้มีพื้นที่ระเบิด และย่อยหินใกล้แหล่งชุมชน ในรัศมี 10 กิโลเมตร
- การกำหนดลักษณะอาคารริมถนนในย่านชุมชนที่มีธุรกิจ การค้าหนาแน่น
- การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมนอกเขตชุมชน

2).การใช้กฎหมายควบคุมการระบายมลพิษทางเสียงจากแหล่งกำเนิดประเภทต่างๆ
- มาตรฐานระดับเสียงในชุมชน
- มาตรฐานระดับเสียงจากสถานประกอบการ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย