ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
พระพุทธมนต์
ประวัติคัมภีร์อุปปาตะสันติ
คัมภีร์อุปปาตะสันติ เป็นวรรณกรรมภาษาบาลีของล้านนาไทย จัดเข้าในหนังสือประเภท เชียงใหม่คันถะ คือ คัมภีร์เชียงใหม่มีอายุประมาณ ๖๐๐ ปีเศษแล้ว แต่งโดย พระมหามังคละสีลวังสะ พระเถระนักปราชญ์ของชาวเชียงใหม่รูปหนึ่ง ในสมัยของ พระเจ้าสิริธรรมจักกวัตติลกราชาธิราช (พระเจ้าติโลกราช) รัชกาลที่ ๑๑ แห่งราชวงศ์มังรายระหว่าง พ.ศ.๑๙๘๕-๒๐๓๐ เป็นคาถาล้วนจำนวน ๒๗๑ คาถา
คัมภีร์นี้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย ในหมู่ชนชาวล้านนามาแต่โบราณกาล ทั้งพระสงฆ์ สามเณร และชาวบ้าน พากันสวดและฟังอุปปาตะสันติ เพื่อกลับความร้ายให้กลายเป็นความดี มีคำเล่าว่า สมัยที่ท่านพระมหามังคละสีลวังสะแต่งอุปปาตะสันตินั้น ที่เชียงใหม่มีโจรผู้ร้ายและคนอันธพาลชุกชุมผิดปกติ มีเหตุร้ายและสิ่งกระทบกระเทือนอยู่เสมอ
พระมหาเถระสีละวังสะ จึงให้พระสงฆ์สามเณรและประชาชนพากันสวด และฟังอุปปาตะสันติ เพื่อสงบเหตุร้ายทั้งมวลที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง ต่อมาชาวพม่ามีความเลื่อมใส นำคัมภีร์นี้เข้าไปในประเทศพม่า ชาวพม่าทั้งพระสงฆ์และประชาชน นับถือว่าพระคัมภีร์อุปปาตะสันตินี้มีความศักดิ์สิทธ์มาก พากันนิยมท่อง นิยมสวด และนิยมฟังกันอย่างกว้างขวาง แพร่หลายไปทั่วประเทศพม่าในสมัย ๕๐๐ ปีที่ล่วงแล้ว ในงานพิธีสืบชะตา งานขึ้นบ้านใหม่เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม กล่าวได้ว่าคัมภีร์อุปปาตะสันติเป็นคัมภีร์ของไทย แต่ต้นฉบับได้จากเมืองไทยไปอยู่เมืองพม่าเสียนาน จนแทบกล่าวได้ว่า คนไทยในสมัยหลังๆ นี้ไม่มีใครรู้จัก ไม่เคยได้ยินแม้แต่ชื่อของคัมภีร์นี้ แต่บัดนี้เป็นที่โสมนัสยินดียิ่ง ที่ เจ้าคุณธรรมคุณาภรณ์ (เช้า ฐิตปัญโญ) ป.ธ. ๙ วัดมหาโพธาราม ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ท่านได้ชำระคัมภีร์นี้เป็นภาษาบาลีอักษรไทย เพื่อความสะดวกแก่ผู้อ่านที่ไม่สันทัดบาลี โดยได้ต้นฉบับภาษาบาลีอักษรพม่าจากท่าน พระอาจารย์ภัททันตะ ธัมมานันทมหาเถระ อัครมหาบัณฑิตแห่งวัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง นับว่าเป็นการนำคัมภีร์ของล้านนาไทยโบราณ กลับคืนมาสู่เมืองไทยให้ชาวไทยในยุคปัจจุบันได้รู้จัก ได้ศึกษา ได้สวด ได้ฟังให้เกิดประโยชน์ทางสันติ เพื่อความสงบระงับจากภัยพิบัติทั้งปวง และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชาวล้านนา ชาวไทยตลอดจนชาวโลกทั้งมวล
หลักฐานคัมภีร์ อุปปาตะสันติ ฉบับหนึ่งในล้านนาไทย ซึ่งเขียนไว้ในสมุดข่อย หมึกจีน อาบน้ำชาด ที่เรียกว่าประวัติย่อ ดังนี้... ในปีจุลศักราช ๑๒๗๙ ปีดับไก๊ เดือน ๘ เหนือ เพ็ญ วันศุกร์ ปีกุน ปตศก พ.ศ.๒๔๗๘ เจ้าภาพเขียนต้นฉบับนี้ คือ นายน้อยปิง มารวิชัย บ้านประตูท่าแพเป็นประธานพร้อมทั้งภริยาลูกและญาติทุกคน ได้จ้างคนเขียนธรรม ๕ ผูก คือมลชัย ๑ ผูก..อินทนิล ๑ ผูก.. สังยมาปริตตคลสูตร ๑ มังผูก..นัครฐาน ๑ ผูก... อุปปาตสันติ ๑ ผูก รวม ๕ ผูก พร้อมทั้งสร้างบ่อน้ำถวาย พระครูบาศรีวิชัย (ปฏิคาหก) ทานวัดศรีโสดา และถนนขึ้นดอยสุเทพ ขอกุศลบุญเยี่ยงนี้ จงเป็นปัจจัยค้ำชูตัวแห่งผู้ข้า ฯ (นายน้อยปิง) ทั้งหลายทุกคนตราบถึงนิพพานในอนาคตกาลโน้นเทอญ ฯ
- การสวดอุปปาตะสันติ (มหาสันติงหลวง)
- ประวัติคัมภีร์อุปปาตะสันติ
- เนื้อความในอุปปาตะสันติมหาสันติงหลวง
- บุคคลและสภาวะที่อ้างถึงในคัมภีร์อุปปาตะสันติมี ๑๓ ประเภท
- คัมภีร์อุปปาตะสันติ ๓ ประการ
- บทสวดถวายพรพระ
- อิติปิโส นพเคราะห์
- วิธีการสวดบูชาดาวเพื่อสะเดาะเคราะห์ต่อชะตา
- คาถาสะเดาะเคราะห์ บูชาดาว (ตำราหลวงพ่อเขียน)
- คาถาบูชา 12 ราศี
- บทสวดชุมนุมเทวดา
- คาถาอุปปาตะสันติ (บทสวดสงบเหตุร้าย)
- คันถารัมภะ (คำเริ่มต้นคัมภีร์)
- พระพุทธเจ้าในอดีต ๒๘ พระองค์