ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม >>

การขอพระราชทานเพลิงศพ


หลักเกณฑ์การขอพระราชทานเพลิงศพ

ผู้มีสิทธิได้รับพระราชทานเพลิงศพ

  1. พระสมณศักดิ์ ตั้งแต่ชั้น “พระครูสัญญาบัตร” ขึ้นไป
  2. พระราชวงศ์ ตั้งแต่ชั้น “หม่อมเจ้า” ขึ้นไป
  3. ผู้ที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์
  4. ข้าราชการพลเรือนสามัญตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป
  5. ข้าราชการฝ่ายทหาร ตำรวจ ยศชั้นร้อยตรี ขึ้นไป
  6. พนักงานเทศบาลตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป
  7. ผู้ที่ไดรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตั้งแต่ “เบญจมดิเรกคุณาภรณ์“ (บ.ภ.) “เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย” (บ.ม.) ขึ้นไป
  8. ผู้มีเกียรติที่ไดรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ “จุลจอมเกล้า” (จ.จ.) หรือ “ตราสืบตระกูล” (ต.จ.) ขึ้นไป
  9. ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญ “รัตนาภรณ์” รัชกาลปัจจุบัน
  10. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาล ที่ถึงแก่กรรมในขณะดำรงตำแหน่ง
  11. รัฐมนตรีที่ถึงแก่อนิจกรรม
  12. ผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นกรณีพิเศษ

หลักเกณฑ์ในการขอพระราชทานเพลิงศพ เป็นกรณีพิเศษ

ผู้ที่สมควรได้รับการพิจารณาในการขอพระราชทานเพลิงศพ กรณีพิเศษ ควรอยู่ในหลักเกณฑ์ ดังนี้

  1. ผู้ที่อยู่ในราชสกุล ชั้นหม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวง
  2. พระสงฆ์ที่พระราชาคณะพิจารณาขอพระราชทานให้
  3. พนักงานรัฐวิสาหกิจระดับสูง
  4. ผู้ที่ไดรับพระราชเหรียญราชรุจิ เหรียญกล้าหาญ และเหรียญชัยสมรภูมิ
  5. ผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติเช่น ศิลปินแห่งชาติ นักกีฬาระดับชาติ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ อดีตสมาชิกสภาจังหวัด หรืออดีตสมาชิกสภาเทศบาล
  6. ผู้ที่ทำคุณประโยชน์ เช่น บริจาคเพื่อการกุศล คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 300,000 บาท บริจาคร่างกายหรืออวัยวะ
  7. บิดา มารดาของข้าราชการผู้ใหญ่ระดับ 6 ขึ้นไป
  8. บิดา มารดาของผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ “ตริตาภรณ์ช้างเผือก” (ต.ช.) ขึ้นไป
  9. บิดา มารดาของพระสมณศักดิ์ ตั้งแต่ชั้น “พระครูสัญญาบัตร” ขึ้นไป
  10. บิดา มารดาของข้าราชการทหาร ตำรวจ ตั้งแต่ระดับพันโท นาวาโท นาวาอากาศโท และพันตำรวจโท ขึ้นไป

ขั้นตอนในการขอพระราชทานเพลิงศพ

  1. การขอพระราชทานเพลิงศพ เจ้าภาพหรือทายาทผู้ประสงค์ขอพระราชทานเพิงศพ จะต้องทำหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงเจ้าสังกัดของผู้ถึงแก่กรรม โดยระบุ
    - ชื่อ ตำแหน่ง ชั้น ยศ ของผู้ถึงแก่กรรม
    - ถึงแก่กรรมด้วยโรคอะไร ที่ไหน เมื่อใด
    - ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อะไรบ้าง
    - มีความประสงค์จะขอรับพระราชทานเครื่องเกียรติยศประกอบศพอย่างใดบ้าง
    - ระบุวัน เวลา สถานที่ที่จะฌาปนกิจ
     
  2. การขอพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ เจ้าภาพหรือทายาท ผู้ประสงค์ขอพระราชทานเพลิงศพกรณีพิเศษ ต้องทำหนังสือถึงเลขาธิการพระราชวัง โดยระบุ
    - ชื่อ-สกุล และประวัติโดยย่อของผู้ถึงแก่กรรม
    - ถึงแก่กรรมด้วยโรคอะไร ทีไหน เมื่อใด
    - ระบุคุณงามความดีที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ หรือคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์การพิจารณาขอพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ
    - ระบุ วัน เวลา สถานที่ที่จะฌาปนกิจ

หลักฐานที่ต้องนำมาแสดง

ในการขอพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษนั้น จะต้องนำหลักฐานมาแสดงแก่เจ้าหน้าที่ ดังนี้

- ใบมรณะบัตรของผู้ถึงแก่กรรม
- ทะเบียนบ้านของทายาทของผู้ถึงแก่กรรม
- บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรข้าราชการของทายาทของผู้ถึงแก่กรรม
- หนังสือรับรองจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ใบอนุโมทนาบัตร ใบประกาศเหรียญกล้าหาญ หรือเหรียญชัยสมรภูมิ ทั้งนี้ ต้องนำเอกสารต้นฉบับและนำเนาแนบมาพร้อมกับหนังสือด้วย

หมายเหตุ บุคคลผู้ทำลายชีพตนเองไม่พระราชทานเพลิงศพ และเครื่องประกอบเกียรติยศ

การขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ

ขั้นตอนการขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ

เจ้าภาพหรือทายาท จะต้องจัดดอกไม้กระทง 1 กระทง ธูปไม้ระกำ 1 ดอก เทียน 1 เล่ม มีพานรองพร้อม ไปกราบถวายบังคมลาพร้อมด้วยหนังสือกราบบังคมทูลลา โดยติดต่อที่กองพระราชพิธี
สำนักพระราชวัง ในพระบรมมหาราชวัง พร้อมทั้งนำใบมรณบัตร และหลักฐานที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่ได้รับ (พร้อมสำเนา 1 ชุด)ไปแสดง แก่เจ้าหน้าที่กองพระราชพิธี เพื่อการจัดเครื่องเกียรติยศประกอบศพได้ถูกต้อง

ส่วนพระสงฆ์สมณศักดิ์ ไม่ต้องมีดอกไม้ธูปเทียน เป็นหน้าที่ของกรมศาสนาแจ้งการมรณภาพ และขอพระราชทาน

การขอรับหีบเพลิงพระราชทาน

ระเบียบการขอรับหีบเพลิงพระราชทาน

เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ขอพระราชทานเพลิงศพจำนวนมาก เลขาธิการพระราชวังได้มีบัญชาว่าเพลิงที่พระราชทานไปเผาศพ ณ วัดที่อยู่ห่างจากพระบรมมหาราชวัง นอกรัศมี 50 กิโลเมตร ให้จัดเป็นหีบเพลิงพระราชทานมอบเจ้าภาพเชิญไปดำเนินการเอง โดยไม่มีเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังไปปฏิบัติ ดังนั้น กองพระราชพิธีจึงได้กำหนดระเบียบการขอรับหีบเพลิงพระราชทาน ดังนี้

  1. ให้เจ้าภาพศพไปติดต่อขอรับหีบเพลิงพระราชทานที่กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง
  2. กรณีที่เจ้าภาพไม่สามารถไปรับหีบพระราชทานด้วยตนเองจะมอบให้ผู้อื่นไปรับแทนก็ได้ โดยนำต้นเรื่อง หนังสือมอบฉันทะ และสำเนาบัตรประจำตัวผู้แทน ไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่
  3. เจ้าภาพหรือผู้แทนควรไปรับหีบเพลิงก่อนกำหนดวันพระราชทานเพลิงอย่างน้อย 3 วัน
  4. ผู้ที่มารับหีบเพลิงควรแต่งกายสุภาพ
  5. ให้รับหีบเพลิงพระราชทานที่โต๊ะหมู่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์

หมายเหตุ

  1. การติดต่อขอพระราชทานเพลิงศพที่ได้ตามเกณฑ์ และกรณีพิเศษ ซึ่งไม่มีเครื่องเกียรติยศประกอบศพ ในกรุงเทพมหานคร เขตปริมณฑล และต่างจังหวัด เจ้าภาพไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
    ยกเว้น กรณีเขตปริมณฑล 50 กิโลเมตร เจ้าภาพจะต้องจัดรถรับ - ส่ง เจ้าหน้าที่เชิญเพลิง
  2. เลขาธิการพระราชวังมีคำสั่งห้ามเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังไปปฏิบัติโดยเด็ดขาด ดังนั้น เจ้าภาพจะต้องเป็นผู้ดำเนินการจัดการหีบเพลิงพระราชทานเอง
  3. ห้ามเปิด หรือบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีในการพระราชทานเพลิงศพ เมื่อเจ้าภาพเชิญหีบพระราชทานไปถึงมณฑลพิธี

การติดต่อวัดเพื่อเตรียมการพระราชทานเพลิงศพ

ในการขอพระราชทานเพลิงศพ ทั้งตามเกณฑ์ที่ได้รับพระราชทานและกรณีพิเศษนั้น จะต้องไม่ตรงกับวัน เฉลิมพระชนมพรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และวันเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ พระราชพิธีฉัตรมงคล (และตามประเพณีนิยมไม่มีการเผาศพในวันศุกร์)

การพระราชทานเพลิงศพที่เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส หากมีพระราชประสงค์ที่จะทรงกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพ ตรงกับวันที่มีผู้ขอรายใดกำหนดไว้แล้ว
เจ้าภาพผู้ขอนั้นจะต้องเลื่อนไปโดยไม่มีข้อแม้ทั้งสิ้น

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย