ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

กฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร

บทที่ ๑

ประวัติเกี่ยวกับกฎหมายรับราชการทหาร

ยุคกรุงรัตนโกสินทร์ถึงปัจจุบัน

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔ ยังคงใช้วิธีการเกณฑ์ทหาร ข้อกำหนด เช่นเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยา ยังมิได้ออกกฎหมายเป็นการเฉพาะ จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ได้ตราพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารขึ้นเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๘ ตรงกับปีมะเส็ง ร.ศ.๑๒๔ ถือได้ว่าเป็นบทกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร ฉบับแรก การใช้กฎหมายฉบับนี้ ประกาศใช้เป็นพื้นที่ โดยเริ่มจากมณฑลนครราชสีมา นครสวรรค์ ฯลฯ ใน พ.ศ.๒๔๕๑ ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติเพิ่มเติมลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ.๑๒๗ จนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ.๑๒๔ ต่อไปโดยได้ประกาศใช้ทั่วราชอาณาจักร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ รวมเป็นเวลา ๑๑ ปี ในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร พ.ศ. ๒๔๖๐ ขึ้นใหม่ ซึ่งกำหนดอายุการลงบัญชีกองเกินอัตรา การเรียกเกณฑ์เข้ารับราชการทหารกองประจำการ การรับราชการในกองประจำการ และกองหนุนชั้นต่าง ๆ ตลอดจนพ้นราชการทหาร ตามที่ได้ใช้อยู่ในปัจจุบัน และยกเลิกพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ.๑๒๔,พระราชบัญญัติเพิ่มเติมลักษณะเกณฑ์ ร.ศ. ๑๒๗ (พ.ศ.๒๔๕๑) และในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารเพิ่มเติม พ.ศ.๒๔๖๖ ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่ ๒๓ มกราคม ๒๔๖๖ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้า อยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร พ.ศ. ๒๔๗๕ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ และยกเลิกพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร พ.ศ. ๒๔๖๖ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๗๙ ขึ้นใหม่ ใช้บังคับตั้งแต่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยกเลิกพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร พ.ศ. ๒๔๗๕ และพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารเพิ่มเติม พ.ศ.๒๔๖๖

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช รัชกาลปัจจุบัน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗ ใช้บังคับตั้งแต่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๗ และให้ยกเลิกพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๗๙ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ ซึ่งได้ใช้มาเป็นระยะเวลา ๔๔ ปีแล้ว โดยมิได้มีการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ สังคมที่เปลี่ยนแปลงไป แม้แต่กฎหมายรัฐธรรมนูญ ก็ตาม

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ ๑๖ ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ตราไว้ ณ วันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือได้ว่าประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกกฎหมายรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ได้ให้ความคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของบุคคลอย่างแท้จริง

สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับที่ ๑๖ ได้กล่าวถึง ในหมวด ๔ หน้าที่ของชนชาวไทย มาตรา ๖๙ บุคคลมีหน้าที่ป้องกันประเทศ รับราชการทหาร เสียภาษีอากร ช่วยเหลือราชการ รับการศึกษาอบรม พิทักษ์ ปกป้องและสืบสานศิลปะวัฒนธรรมของชาติ และภูมิปัญญาท้องถิ่นและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งในที่นี้ คือพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗ นอกจากนี้หมวด ๕ แนวนโยบาย พื้นฐานแห่งรัฐได้กำหนดหน้าที่ของรัฐไว้ในมาตรา ๗๒ ว่ารัฐต้องจัดให้มีกำลังทหารไว้เพื่อพิทักษ์รักษาเอกราช ความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์แห่งชาติและการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นพระประมุข และ เพื่อการพัฒนาประเทศ

ตามที่กล่าวมานี้เพื่อจะให้นายทหารนักเรียนได้ทราบถึงความเป็นมาของกฎหมาย และความเกี่ยวข้องของกฎหมาย ในระดับต่าง ๆ จากกฎหมายสูงสุดคือกฎหมายรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้บุคคลให้ปฏิบัติ นอกจากนี้กฎหมายระดับรอง ๆ ลงมาอีกคือ กฎกระทรวงและยังมีเงื่อนไขต่าง ๆ หรือข้อตกลงระหว่างหน่วยงาน อาทิเช่น บันทึกข้อตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗ กฎหมายเกี่ยวกับการรับราชการทหาร นี้ ได้พัฒนาจากจารีตประเพณีจนเป็นกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร เริ่มต้นด้วยมีการกำหนดกฎเกณฑ์จนตราเป็นพระราชบัญญัติอันเปรียบเสมือนกฎหมายลูกของ รัฐธรรมนูญเพื่อให้เจ้าพนักงานของรัฐยึดถือปฏิบัติและบังคับใช้กับประชาชน

สรุป ความสำคัญของกฎหมายรับราชการทหาร พระราชบัญญัติรับราชการทหารเป็นกฎหมายสำคัญฉบับหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กับครอบครัวเกือบทุกครัวเรือน ซึ่งมีบทบังคับให้บรรดาชายที่มีสัญชาติเป็นไทยทุกคนเข้ารับราชการทหารเพื่อรับใช้ประเทศชาติในยามปกติและยามสงครามฉะนั้นชายไทยทุกคนจำเป็นต้องรู้กฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นทหารก็ควรจะต้องรู้กฎหมายของตนเอง แต่ปรากฎว่าในปีหนึ่งๆจะมีผู้ที่รับโทษหรือขาดสิทธิอันควรจะได้รับจากกฎหมายฉบับนี้ โดยมิได้มีเจตนาฝ่าฝืน หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์เป็นจำนวนมิใช่น้อย ทั้ง ๆ ที่ กฎหมายในเรื่องนี้ได้ประกาศใช้มานานหลายสิบปีแล้วแต่ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงและยกเลิกตามกาลสมัยหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน ดังนี้

๑. ข้อบังคับลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ.๑๒๒ (พ.ศ.๒๔๔๖)

๒. พระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร ร.ศ.๑๒๔ (พ.ศ.๒๔๔๘) ได้มีพระราชบัญญัติและประกาศแก้ไขเพิ่มเติม ๓ ครั้ง คือ
๒.๑ พระราชบัญญัติเพิ่มเติมลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ.๑๒๗ (ว่าด้วยคนสมัครคนอาสาและลูกจ้าง (พ.ศ.๒๔๕๑)
๒.๒ ประกาศแก้ไข เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ร.ศ.๑๒๙ (พ.ศ.๒๔๕๓)
๒.๓ ประกาศแก้ไข เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๖

๓. ข้อบังคับการเรียกเข้ารับราชการตำรวจภูธร ร.ศ.๑๒๖ (พ.ศ.๒๔๕๐)

๔. พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ๑ ครั้ง คือ พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารเพิ่มเติม พ.ศ.๒๔๖๖

๕. พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร พ.ศ.๒๔๗๕ ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ๑ ครั้ง คือ พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๔๗๗

๖. พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๗๙ ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ๔ ครั้ง คือ
๖.๑ พระราชบัญญัติรับราชการทหาร (ฉบับที่ ๒ ) พ.ศ.๒๔๘๑
๖.๒ พระราชบัญญัติรับราชการทหาร (ฉบับที่ ๓ ) พ.ศ.๒๔๘๓
๖.๓ พระราชบัญญัติรับราชการทหาร (ฉบับที่ ๔ ) พ.ศ.๒๔๘๙
๖.๔ พระราชบัญญัติรับราชการทหาร (ฉบับที่ ๕ ) พ.ศ.๒๔๙๔

๗. พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.๒๔๙๗ ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมจนถึงปัจจุบัน ๔ ครั้ง คือ
๗.๑ พระราชบัญญัติรับราชการทหาร (ฉบับที่ ๒ ) พ.ศ. ๒๔๙๘
๗.๒ พระราชบัญญัติรับราชการทหาร (ฉบับที่ ๓ ) พ.ศ. ๒๕๐๗
๗.๓ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๒๖ ลง ๑๕ ต.ค.๑๕
๗.๔ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๐๐ ลง ๑๓ ธ.ค. ๑๕

<< ย้อนกลับ | หน้าถัดไป>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย