ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
กฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร
บทที่ ๓
กฎกระทรวง ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗
กฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๗ (พ.ศ.๒๕๑๖)
ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗
-------------------------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๘ ทวิ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๐๐ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้ยกเลิก
(๑) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ.๒๔๙๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.๒๔๙๗
(๒) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๗ (พ.ศ.๒๕๑๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.๒๔๙๗
ข้อ ๒ ให้คณะกรรมการตรวจเลือก มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการตรวจเลือกโดยแยกหน้าที่กันกระทำดังต่อไปนี้
(๑) ประธานกรรมการตรวจเลือก มีหน้าที่อำนวยการและควบคุมการตรวจเลือกให้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย และออกเสียงชี้ขาดในกรณีที่เป็นปัญหาในทางปฏิบัติเมื่อคณะกรรมการตรวจเลือกไม่อาจตกลงกันโดยเสียงข้างมากได้ กับให้มีหน้าที่ตรวจสอบการปล่อยทหารกองเกิน พร้อมกับมอบใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการตามแบบ สด.๔๓ ท้ายกฎกระทรวงนี้ ให้ทหารกองเกินรับไปเป็นหลักฐาน
(๒) กรรมการนายทหารสัญญาบัตร มีหน้าที่
(ก) เรียกชื่อทหารกองเกินซึ่งถูกเรียกมาตรวจเลือก จัดดูแลทหารกองเกินซึ่ง ตรวจเลือกแล้วให้รวมอยู่เป็นจำพวก ป้องกันมิให้ทหารกองเกินซึ่งตรวจเลือกแล้วปะปนกับทหารกองเกินซึ่งยังไม่ได้ตรวจเลือก และรับทหารกองเกินซึ่งคณะกรรมการตรวจเลือกกำหนดให้เข้ากองประจำการ เพื่อนำขึ้นทะเบียนหรือนำตัวส่งนายอำเภอเพื่อออกหมายนัด
(ข) วัดขนาด เก็บยอดเป็นจำพวก ตรวจสอบจำนวนสลาก ควบคุมการทำสลากและอ่านสลากในระหว่างการจับสลาก
(๓) กรรมการสัสดีจังหวัด มีหน้าที่บันทึกผลการตรวจเลือกในบัญชีเรียก รับเรื่องราวร้องขอในเหตุต่าง ๆ ซึ่งนายอำเภอได้สอบสวนแล้ว เตรียมทำสลากบันทึกผลการจับสลาก และรวบรวมสลากที่จับแล้วไว้เป็นหลักฐานตรวจสอบขึ้นทะเบียน และทำบัญชีคนที่ส่งเข้ากองประจำการ
(๔) กรรมการซึ่งเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้น ๑
สาขาเวชกรรม
มีหน้าที่ตรวจร่างกายผู้ที่ถูกเรียกมาตรวจเลือกและออกใบสำคัญให้แก่คนจำพวกที่ ๓
และคนจำพวกที่ ๔ รวมทั้งควบคุมการจับสลาก
ข้อ ๓ ในการตรวจร่างกาย ให้คณะกรรมการแบ่งคนที่ได้ตรวจเลือกออกเป็น ๔ จำพวก
จำพวกที่ ๑ ได้แก่ คนซึ่งมีร่างกายสมบูรณ์ดีไม่มีอวัยวะพิการหรือผิดส่วนแต่อย่างใด
จำพวกที่ ๒ ได้แก่ คนซึ่งมีร่างกายที่เห็นได้ชัดว่าไม่สมบูรณ์ดีเหมือนคนจำพวกที่ ๑ แต่ไม่ถึงทุพพลภาพ คือ
(๑) ตาหรือหนังตาผิดปกติจนปรากฏชัดอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ แม้เพียงข้างเดียว
(ก) ตาเหล่ (Squint)
(ข) ลูกตาสั่น (Nystagmus)
(ค) แก้วตาขุ่น (Cataract)
(ง) กระจกตาขุ่น (Opacity of Cornea)
(จ) หนังตาตก ( Ptosis)
(ฉ) หนังตาม้วนเข้า (Entropion)
(ช) หนังตาม้วนออก (Ectropion)
(ซ) ช่องหนังตา (Palpebral Fissure) ทั้งสองข้างกว้างไม่เท่ากันจนดูน่าเกลียด
(๒) หูผิดปกติอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้แม้เพียงข้างเดียว
(ก) ใบหูผิดรูปหรือผิดขนาดปรากฏชัดเจนจนดูน่าเกลียด เช่น
ลีบหรือเล็ก หรือใหญ่ หรือบี้
(ข) ช่องหูมีหนองเรื้อรังและทั้งแก้วหูทะลุ
(๓) จมูกผิดรูปจนดูน่าเกลียด เช่น บี้ หรือแหว่ง
(๔) ปากผิดรูปจนดูน่าเกลียด เช่น แหว่งหรือผิดรูปจนพูดไม่ชัด
(๕) ช่องปากผิดรูป หรือผิดปกติจนพูดไม่ชัด
(๖) หน้าผิดปกติจนดูน่าเกลียดอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(ก) อัมพาต ( Facial Paralysis )
(ข) เนื้อกระตุก ( Tics )
(ค) แผลเป็นหรือปานที่หน้า มีเนื้อที่ตั้งแต่ ๑/๔ ของหน้าขึ้นไป หรือยาวมาก
(ง) เนื้องอก ( Benign Tumou Tumous )
(๗) คอพอก (Simple Coitre )
(๘) ซอกคอหรือซอกรักแร้ติดกัด
(๙) อวัยวะเคลื่อนไหวผิดปกติอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ แม้เพียงข้างเดียว
(ก) ข้อติด ( Ankylosis ) หรือหลวมหลุดง่ายหรือเคลื่อนไหวไม่สะดวก
จนทำงานไม่ถนัด
(ข) นิ้วมือหรือนิ้วเท้ามีจำนวนหรือขนาดของนิ้วผิดปกติจนดูน่าเกลียด
หรือนิ้วบิดเกจนดูน่าเกลียดหรือจนทำงานไม่ถนัด
หรือช่องนิ้วติดกันหรือนิ้วมือด้วนถึงโคนเล็บ
(ค) มือหรือแขนลีบหรือบิดเก
(ง) เท้าหรือขาลีบหรือบิดเก
(๑๐) กระดูกชิ้นใหญ่ผิดรูปจนทำให้อวัยวะนั้นทำงานไม่สะดวกหรือจนดูน่าเกลียด
(๑๑) ไส้เลื่อนลงถุง
จำพวกที่ ๓ ได้แก่ คนซึ่งมีร่างกายยังไม่แข็งแรงพอที่จะรับราชการทหารในขณะนั้นได้ เพราะป่วยซึ่งจะบำบัดให้หายภายในกำหนด ๓๐ วันไม่ได้
จำพวกที่ ๔ ได้แก่ คนพิการทุพพลภาพ หรือมีโรคที่ไม่สามารถจะรับราชการทหารได้ตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๔๑
การวินิจฉัยลักษณะพิการและโรคต่าง ๆ นั้น ถ้าผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้ตรวจยังมีความสงสัย ก็ให้คณะกรรมการตรวจเลือกจัดเข้าไว้ในคนจำพวกที่ ๑ ก่อน
ใบสำคัญที่จะออกให้แก่คนจำพวกที่ ๓ และคนจำพวกที่ ๔ ให้เป็นไปตามแบบ สด.๔ และแบบ สด. ๕ ท้ายกฎกระทรวงนี้ เมื่อคณะกรรมการตรวจเลือกลงชื่อแล้วมอบให้กรรมการสัสดีจังหวัดไว้เป็นหลักฐาน เพื่อดำเนินการตามระเบียบต่อไป
บุคคลซึ่งคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเห็นว่าเข้าอยู่ในคนจำพวกที่ ๒
จำพวกที่ ๓หรือจำพวกที่ ๔
ถ้ากรรมการซึ่งมิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมมีความเห็นแย้งรวมกันสองคน
ให้ส่งตัวบุคคลนั้นเข้าตรวจเลือก ร่วมกับคนในจำพวกเดียวกัน
ตามความเห็นแย้งของกรรมการซึ่งมิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
ถ้าบุคคลนั้นต้องเข้ากองประจำการ ก็ให้กรรมการ
ซึ่งมีความเห็นแย้งกันนั้นต่างฝ่ายต่าง ทำคำชี้แจงยื่นต่อกรรมการชั้นสูง
ภายในเจ็ดวัน นับแต่วันเสร็จการตรวจเลือกในจังหวัดนั้น
ข้อ ๔ บุคคลซึ่งจะเข้ารับราชการทหารกองประจำการนั้น ต้องมีขนาดรอบตัวตั้งแต่เจ็ดสิบหกเซนติเมตร ขึ้นไปในเวลาหายใจออกและสูงตั้งแต่หนึ่งเมตรสี่สิบหกเซนติเมตรขึ้นไป
วิธีวัดขนาดนั้น ให้กระทำดังนี้ คือ ให้ยืนตั้งตัวตรงส้นเท้าชิดกัน ขนาดสูงให้วัดตั้งแต่ ส้นเท้าจนสุดศีรษะขนาดรอบตัวให้คล้องแถบเมตรรอบตัวให้ริมล่างของแถบได้ระดับราวนมโดยรอบ วัดเมื่อหายใจออกเต็มที่หนึ่งครั้งและหายใจเข้าเต็มที่หนึ่งครั้ง
ข้อ ๕ วิธีคัดเลือกนั้น ให้เลือกคนจำพวกที่ ๑ ซึ่งมีขนาดสูงตั้งแต่หนึ่งเมตรหกสิบเซนติเมตรขึ้นไปก่อน ถ้ามีจำนวนมากกว่าจำนวนที่ต้องการก็ให้จับสลาก
ถ้าคนจำพวกที่ ๑ ซึ่งมีขนาดสูงตั้งแต่หนึ่งเมตรหกสิบเซนติเมตรขึ้นไปมีไม่เพียงพอกับ จำนวนที่ต้องการ ให้เลือกขนาดสูงถัดรองลงมา ตามลำดับจนพอกับความต้องการ ถ้าเลือกถึงขนาดใดเกินจำนวนต้องการ ให้จับสลากเฉพาะขนาดนั้น
ถ้าคนจำพวกที่ ๑ มีไม่พอกับจำนวนที่ต้องการ ให้เลือกจากคนจำพวกที่
๒ ถ้ายังไม่พออีก
ก็ให้เลือกจากคนที่จะได้รับการผ่อนผันโดยวิธีเดียวกับที่กล่าวในวรรคหนึ่งและวรรคสอง
คนจำพวกที่ ๓ ให้เรียกมาตรวจเลือกในคราวถัดไป
เมื่อคณะกรรมการตรวจเลือกได้ตรวจเลือกแล้วยังคงเป็นคนจำพวกที่ ๓ อยู่รวม ๓ ครั้ง
ให้งดเรียก
ข้อ ๖ การตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการกองประจำการนั้น ถ้ามีจำนวนมากกว่าจำนวนที่ต้องการก็ให้จับสลาก ผู้ใดจับได้สลากเป็นแผนกทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ หรือตำรวจ ให้ส่งเข้ากองประจำการแผนกนั้น สลากนั้นให้มีเท่าจำนวนทหารกองเกินที่จะต้องจับสลาก แบ่งเป็นเครื่องหมายสีแดงอย่างหนึ่งสีดำอย่างหนึ่ง สีแดงให้มีเท่ากับจำนวนที่ต้องการรับเข้ากองประจำการ นอกนั้นเป็นสีดำ ถ้าในแห่งเดียวกันนั้นจะต้องส่งทหารกองเกินเข้ากองประจำการหลายแผนก ให้เขียนนามแผนกนั้น ๆ ในสลากเครื่องหมายสีแดงตามจำนวนที่ต้องการ
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๖
จอมพล ถ. กิตติขจร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
พลเอก ป. จารุเสถียร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
(๙๐ ร.จ. ๙ ตอนที่ ๓๐ (ฉบับพิเศษ) ลงวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๑๖ ความในข้อ ๓ นี้ ถูกยกเลิกและใช้ความใหม่แทนแล้ว โดย กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๗ (พ.ศ.๒๕๑๘) ฯ ตาม ๙๒ ร.จ. ๘ ตอนที่ ๒๓๗ (ฉบับพิเศษ) ลงวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๘)