ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
กฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร
บทที่ ๔
บันทึกข้อตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงมหาดไทย
ในระเบียบการอันเกี่ยวกับพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗
---------------------------
การเรียกคนเข้ากองประจำการ
ข้อ ๕ ทหารกองเกินที่มีอายุตั้งแต่ยี่สิบเอ็ดปีบริบูรณ์ขึ้นไป และยังไม่ถึงสามสิบปีบริบูรณ์ ซึ่งอยู่ในกำหนดเรียกเข้ารับการตรวจเลือก เพื่อส่งเข้ากองประจำการ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๙ (พ.ศ.๒๔๙๘) (๒) นั้น นายอำเภอจะจัดการส่งหมายเรียกไปมอบให้แก่ผู้ถูกเรียก หรือจะเรียกผู้ถูกเรียกมารับหมายเรียกที่อำเภอท้องที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาทหารของผู้นั้น ก็ให้นายอำเภอกระทำได้ตามความเหมาะสม
ข้อ ๖ ในเดือนมิถุนายนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดส่งบัญชีจำนวนทหารกองเกิน ที่จะเรียกเข้ารับราชการกองประจำการประจำปีให้ผู้บัญชาการมณฑล หรือผู้บังคับการจังหวัดทหารบกทราบ เพื่อจะได้เฉลี่ยคนในจังหวัดต่าง ๆ ให้เหมาะกับส่วนจำนวนคน
ข้อ ๗ การเรียกทหารกองเกินเข้ารับราชการกองประจำการในปีใดนั้น ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายที่ต้องการคน แจ้งต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ดังนี้
(๑) สำหรับทหารบก ทหารเรือ และทหารอากาศ เป็นหน้าที่ของผู้บัญชาการมณฑลหรือผู้บังคับการจังหวัดทหารบกแล้วแต่กรณี
(๒) สำหรับตำรวจจังหวัดอื่น ๆ นอกจากจังหวัดพระนครและธนบุรี ให้เป็นหน้าที่ ผู้กำกับการหรือผู้บังคับกองตำรวจจังหวัดนั้น ส่วนจังหวัดพระนครและธนบุรี ให้เป็นหน้าที่อธิบดีกรมตำรวจ
การเรียกนี้ต้องบอกให้ชัดว่าจะต้องการคนเท่าใด กำหนดรับคนเสร็จเมื่อใด ถ้าไม่มีเหตุการณ์ จำเป็นแล้ว ให้แจ้งต่อผู้ว่าราชการจังหวัดล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกเดือน เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายที่ต้องการคนแล้ว ให้เฉลี่ยคนที่ถูกเรียก ในจังหวัดนั้นเป็นอำเภอตามส่วนที่มีคนมากและน้อย และแจ้งจำนวนคนที่เฉลี่ยแล้วให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายที่ต้องการคนทราบก่อนวันตรวจเลือกไม่น้อยกว่าสามเดือน
ข้อ ๘ การขอเรียก ถ้าจำนวนคนที่ขอเรียกไว้นั้นจำเป็นจะต้องเพิ่มขึ้น หรือลดลง ให้ผู้ขอเรียก ชี้แจงไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวันแต่ถ้าความจำเป็นนั้นเกิดขึ้นภายหลังที่กำหนดนี้ ให้ผู้ขอเรียกชี้แจงตรงต่อคณะกรรมการตรวจเลือก ในคราวรวมคนตรวจเลือกนั้นได้
ข้อ ๙ คนซึ่งต้องขึ้นทะเบียนกองประจำการนั้น คือ
(๑) คนซึ่งต้องส่งเข้ากองประจำการในวันตรวจเลือก
(๒) คนซึ่งนายอำเภอนัดส่งเข้ากองประจำการภายหลังวันตรวจเลือก
(๓) คนซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดส่งเข้ากองประจำการภายหลังวันตรวจเลือก
(๔) คนซึ่งร้องขอเข้ากองประจำการก่อนวันตรวจเลือก
ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้รับไว้ สำหรับใน (๑) เจ้าหน้าที่ฝ่ายรับคนเป็นผู้นำขึ้นทะเบียน สำหรับใน (๒) นายอำเภอท้องที่เป็นผู้นำขึ้นทะเบียน สำหรับใน (๓) ปลัดจังหวัดเป็นผู้นำขึ้นทะเบียน สำหรับใน (๔) เจ้าหน้าที่ฝ่ายรับคนเป็นผู้นำขึ้นทะเบียน ทะเบียนกองประจำการให้ใช้ตาม (แบบ สด.๓) ท้ายบันทึกนี้
ข้อ ๑๐ เครื่องหมายประจำตัวทหารหรือตำรวจซึ่งต้องลงในทะเบียนกองประจำการนั้น ให้ใช้ดังนี้
(๑) ให้ลงอักษรย่อแผนกแล้วลงเลขพุทธศักราชต่อท้ายไว้บรรทัดบน และลงอักษรย่อชื่อจังหวัดที่เป็นภูมิลำเนาทหาร กับลงเลขประจำตัวบุคคลที่เข้ารับราชการกองประจำการในจังหวัดนั้นไว้บรรทัดล่าง
(๒) อักษรย่อแผนก คือ ทหารบก เขียนว่า ท.บ. ทหารเรือ เขียนว่า ท.ร.
ทหารอากาศ เขียนว่า ท.อ. ตำรวจ เขียนว่า ต.ร.
(๓) อักษรย่อชื่อจังหวัด คือ
กระบี่ เขียนว่า ก.บ.
กาญจนบุรี เขียนว่า ก.จ.
กาฬสินธุ์ เขียนว่า ก.ส.
กำแพงเพชร เขียนว่า ก.พ.
กรุงเทพมหานคร เขียนว่า ก.ท.
ขอนแก่น เขียนว่า ข.ก.
จันทบุรี เขียนว่า จ.บ.
ฉะเชิงเทรา เขียนว่า ฉ.ช.
ชลบุรี เขียนว่า ช.บ.
ชัยนาท เขียนว่า ช.น.
ชัยภูมิ เขียนว่า ช.ย.
ชุมพร เขียนว่า ช.พ.
เชียงราย เขียนว่า ช.ร.
เชียงใหม่ เขียนว่า ช.ม.
ตรัง เขียนว่า ต.ง.
ตราด เขียนว่า ต.ร.
ตาก เขียนว่า ต.ก.
นครนายก เขียนว่า น.ย.
นครปฐม เขียนว่า น.ฐ.
นครพนม เขียนว่า น.พ.
นครราชสีมา เขียนว่า น.ม.
นครศรีธรรมราช เขียนว่า น.ศ.
นครสวรรค์ เขียนว่า น.ว.
นนทบุรี เขียนว่า น.บ.
นราธิวาส เขียนว่า น.ธ.
น่าน เขียนว่า น.น.
หนองคาย เขียนว่า น.ค.
หนองบัวลำภู เขียนว่า น.ภ.
บุรีรัมย์ เขียนว่า บ.ร.
ปทุมธานี เขียนว่า ป.ท.
ประจวบคีรีขันธ์ เขียนว่า ป.ข.
ปราจีนบุรี เขียนว่า ป.จ.
ปัตตานี เขียนว่า ป.น.
พระนครศรีอยุธยา เขียนว่า อ.ย.
พังงา เขียนว่า พ.ง.
พัทลุง เขียนว่า พ.ท.
พิจิตร เขียนว่า พ.จ.
พิษณุโลก เขียนว่า พ.ล.
เพชรบุรี เขียนว่า พ.บ.
เพชรบูรณ์ เขียนว่า พ.ช.
แพร่ เขียนว่า พ.ร.
พะเยา เขียนว่า พ.ย.
ภูเก็ต เขียนว่า ภ.ก.
มหาสารคาม เขียนว่า ม.ค.
มุกดาหาร เขียนว่า ม.ห.
แม่ฮ่องสอน เขียนว่า ม.ส.
ยะลา เขียนว่า ย.ล.
ยโสธร เขียนว่า ย.ส.
ร้อยเอ็ด เขียนว่า ร.อ.
ระนอง เขียนว่า ร.น.
ระยอง เขียนว่า ร.ย.
ราชบุรี เขียนว่า ร.บ.
ลพบุรี เขียนว่า ล.บ.
ลำปาง เขียนว่า ล.ป.
ลำพูน เขียนว่า ล.พ.
เลย เขียนว่า ล.ย.
ศรีสะเกษ เขียนว่า ศ.ก.
สกลนคร เขียนว่า ส.น.
สงขลา เขียนว่า ส.ข.
สตูล เขียนว่า ส.ต.
สมุทรปราการ เขียนว่า ส.ป.
สมุทรสงคราม เขียนว่า ส.ส.
สมุทรสาคร เขียนว่า ส.ค.
สระบุรี เขียนว่า ส.บ.
สระแก้ว เขียนว่า ส.ก.
สิงห์บุรี เขียนว่า ส.ห.
สุโขทัย เขียนว่า ส.ท.
สุพรรณบุรี เขียนว่า ส.พ.
สุราษฎร์ธานี เขียนว่า ส.ฎ.
สุรินทร์ เขียนว่า ส.ร.
อ่างทอง เขียนว่า อ.ท.
อุดรธานี เขียนว่า อ.ด.
อุตรดิตถ์ เขียนว่า อ.ต.
อุทัยธานี เขียนว่า อ.น.
อุบลราชธานี เขียนว่า อ.บ.
อำนาจเจริญ เขียนว่า อ.จ.