ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

กฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร

บทที่ ๔

บันทึกข้อตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงมหาดไทย

ในระเบียบการอันเกี่ยวกับพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗
---------------------------

การปลดและจำหน่าย

ข้อ ๑๖ การปลดทหาร ตำรวจออกจากกองประจำการ และการปลดบุคคลซึ่งสำเร็จการ ฝึกวิชาทหารที่ได้ขึ้นทะเบียนกองประจำการแล้วปลดเป็นทหารกองหนุน ให้ปฏิบัติดังนี้

(๑) ทหารบก ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่จังหวัดใด ให้ผู้บังคับหน่วยทหารส่งรายชื่อผู้ที่จะครบกำหนดปลดเป็นทหารกองหนุนต่อผู้บังคับการจังหวัดทหารบก ที่หน่วยทหารนั้นอยู่ในเขตพื้นที่ เพื่อยื่นหางว่าวนำปลดต่อสัสดีจังหวัดที่เป็นภูมิลำเนาทหาร

(๒)ทหารเรือ ให้ผู้บังคับหน่วยทหารส่งรายชื่อผู้ที่จะครบกำหนดปลดเป็นทหารกองหนุนต่อกรมกำลังพลทหารเรือ หรือหน่วยที่ผู้บัญชาการทหารเรือมอบหมายให้เป็นหน้าที่แล้วให้หน่วยที่ได้รับรายชื่อนี้ยื่นหางว่าวนำปลดต่อสัสดีจังหวัดตามภูมิลำเนาทหาร และส่งรายชื่อต่อผู้บังคับการ จังหวัดทหารบกที่จังหวัดภูมิลำเนาทหาร อยู่ในเขตพื้นที่ในโอกาสเดียวกันด้วย

(๓) ทหารอากาศ ให้ผู้บังคับหน่วยทหารส่งรายชื่อผู้ที่จะครบกำหนดปลดเป็นทหารกองหนุนต่อกรมกำลังพลทหารอากาศหรือหน่วยที่ผู้บัญชาการทหารอากาศมอบหมายให้เป็นหน้าที่ แล้วให้หน่วยที่ได้รับรายชื่อนี้ยื่นหางว่าวนำปลดต่อแผนกสัสดีจังหวัดตามภูมิลำเนาทหาร และส่งรายชื่อ ต่อผู้บังคับการจังหวัดทหารบกที่จังหวัดภูมิลำเนาทหาร อยู่ในเขตพื้นที่ในโอกาสเดียวกัน

(๔) ตำรวจ ซึ่งรับราชการประจำอยู่ในท้องที่จังหวัดใดให้ผู้กำกับการตำรวจจังหวัดนั้น เว้นแต่กรุงเทพมหานคร ให้ผู้บังคับการกองกำลังพลกรมตำรวจ ส่งรายชื่อผู้ที่ครบกำหนดปลดเป็นกองหนุนต่อผู้บังคับการจังหวัดทหารบกที่จังหวัดภูมิลำเนาทหารอยู่ในพื้นที่ เพื่อขอทราบสังกัดเมื่อปลดเป็นกองหนุน แล้วจึงยื่นหางว่าวนำปลดต่อสัสดีจังหวัดที่เป็นภูมิลำเนาทหาร
การยื่นหางว่าวนำปลดให้ผู้ยื่นส่งถึงสัสดีจังหวัดก่อนวันครบกำหนด ปลดเป็นทหารกองหนุนไม่น้อยกว่าหกสิบวันเว้นแต่ในกรณีที่ปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ ๒ หรือปลดเป็นพ้นราชการทหารประเภทที่ ๑ ให้ยื่นหางว่าวนำปลดภายในสามสิบวัน

หางว่าวนำปลดให้ใช้ตาม (แบบ สด.๗) ท้ายบันทึกนี้

(๕) การปลดผู้ซึ่งสำเร็จการฝึกวิชาทหารตามกฎหมาย ให้ขึ้นทะเบียนกองประจำการแล้วปลดเป็นทหารกองหนุนโดยมิต้องรับราชการในกองประจำการนั้น ให้กรมการรักษาดินแดนหรือหน่วยซึ่งผู้บัญชาการทหารบกมอบหมายให้เป็นหน้าที่ ส่งบัญชีรายชื่อขอนำตัวขึ้นทะเบียนกองประจำ การและนำปลดต่อแผนกสัสดีจังหวัดที่เป็นภูมิลำเนาทหาร

บัญชีรายชื่อขอนำตัวขึ้นทะเบียนกองประจำการและนำปลด ให้ใช้ตาม (แบบ สด.๔๒) ท้ายบันทึกนี้

ข้อ ๑๗ การปลดทหารหรือตำรวจกองประจำการเป็นกองหนุนชั้นที่ ๑ ให้ถือวันเข้ารับราชการก่อนขึ้นทะเบียนกองประจำการ หรือตามวันที่ได้ขึ้นทะเบียนกองประจำการ แล้วแต่กรณี แล้วนับตั้งแต่เดือนที่เข้ารับราชการเป็นต้นไปเป็นรายเดือนจนครบกำหนด จึงให้นำปลดในวันที่ ๑ ของเดือนถัดไป เช่นผู้ที่ต้องเข้ารับราชการมีกำหนดยี่สิบสี่เดือน และขึ้นทะเบียนกองประจำการในเดือนเมษายน ๒๔๙๗ จะเป็นวันที่เท่าใดก็ตามต้องปลดในวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๙๙ ส่วนผู้ที่กำหนดให้รับราชการประจำการน้อยกว่าที่กล่าวนี้ ก็ให้นับวันรับราชการสำหรับการปลดโดยอนุโลมทำนองที่กล่าวแล้ว

ข้อ ๑๘ การคำนวณวันรับราชการกองประจำการนั้น ให้นับวันป่วย วันลา ตามข้อบังคับทหารว่าด้วยการลา วันถูกควบคุมหรือต้องโทษเข้ารวมด้วย ส่วนผู้รับราชการยังไม่ครบกำหนดเพราะเหตุอื่นนอกจากที่กล่าวแล้ว ต้องให้รับราชการจนครบกำหนดแล้วจึงปลดในวันที่ ๑ ของเดือนถัดไป

ข้อ ๑๙ ผู้ที่ครบกำหนดปลดในระหว่างที่ถูกควบคุม หรือต้องโทษอยู่ ให้นำปลดทีเดียวไม่ต้องรอจนพ้นโทษ ต่อเมื่อพ้นโทษแล้วจึงปล่อยตัวไป

ข้อ ๒๐ การปลดทหารหรือตำรวจกองประจำการ สัสดีจังหวัดต้องถือหลักฐานวันรับราชการตามหางว่าวนำปลดประกอบกับวันรับราชการตามทะเบียนกองประจำการ
ทหารที่อยู่ในกองประจำการ ถ้าปรากฏว่าพิการ ทุพพลภาพ หรือมีโรค ซึ่งไม่สามารถจะรับราชการทหารได้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ต้องให้แพทย์แผนปัจจุบัน ชั้น ๑ เป็นกรรมการอย่างน้อยสามนาย ในจำนวนนี้ต้องเป็นแพทย์ในหน่วยทหารอย่างน้อยหนึ่งนายจัดการตรวจ ถ้าเป็นจริงให้ออก ใบสำคัญตาม (แบบ สด.๖) ท้ายบันทึกนี้ และนำปลดเป็นพ้นราชการทหาร

แต่การปลดตำรวจในกรณีดังกล่าวในวรรคก่อน ถ้าแห่งใดมีแพทย์แผนปัจจุบันชั้น ๑ ที่จัดการตรวจไม่ครบตามจำนวน ให้จัดแพทย์ชั้นที่ต่ำกว่าสมทบให้ครบจำนวน แต่ต้องให้มีแพทย์แผนปัจจุบันชั้น ๑ เป็นกรรมการในจำนวนนั้นอย่างน้อยหนึ่งนาย

การปลดผู้ซึ่งสำเร็จการฝึกวิชาทหาร สัสดีจังหวัดต้องถือหลักฐาน ตามบัญชีรายชื่อขอนำตัวขึ้นทะเบียนกองประจำการและนำปลด ประกอบกับทะเบียนกองประจำการ และสำเนาหนังสือสำคัญประจำตัวแสดงวิทยฐานะ

ข้อ ๒๑ การปลดทหารกองประจำการมาตรา ๔๐ นั้น ถ้าอายุยังไม่ครบสามสิบปีบริบูรณ์ ให้ปลดเป็นกองหนุนชั้นที่๑ ประเภทที่ ๒ จนกว่าอายุจะครบสามสิบปีบริบูรณ์ถ้าอายุครบสามสิบปีบริบูรณ์แล้ว ให้ปลดเป็นกองหนุน ชั้นที่เหมาะกับอายุเช่นเดียวกับการปลดทหารกองเกิน

ข้อ ๒๒ การปลดทหารกองหนุนให้กระทำด้วยวิธีต่อไปนี้

(๑) ประเภทที่ ๑ ปลดเป็นกองหนุนในเดือนใด ให้นับครบกำหนดปลดชั้นต่อไปในวันที่ ๑ ของเดือนที่ครบกำหนดปลดนั้น ไม่ต้องคิดรายวัน

(๒) ประเภทที่ ๒ แม้จะลงบัญชีทหารกองเกินหรือทหารกองหนุนในวันเดือนปีใดก็ตาม ถ้าอายุครบกำหนดในปีใดให้ปลดในวันที่ ๑ ของปีที่อายุครบไม่ต้องคิดรายวันรับราชการ เช่น บุคคล อายุยี่สิบแปดปีบริบูรณ์ลงบัญชีทหารกองเกินเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๔๙๗ คิดครบกำหนดเป็นกองหนุนชั้นที่ ๒ วันที่ ๑ มกราคม ๒๔๙๙

(๓) ในการเรียกระดมพล การเรียกเข้าฝึกวิชาทหาร หรือในการทดลองความพรั่งพร้อมคราวใด ถ้าปรากฏว่าทหารกองเกินหรือทหารกองหนุนผู้ใดพิการทุพพลภาพ หรือมีโรคตามกฎกระทรวง ซึ่งจะต้องปลดเป็นพ้นราชการทหารตามมาตรา ๔๑ ให้ออกใบสำคัญ (แบบ สด.๖) แต่ให้แพทย์ที่ตรวจร่างกาย ๑ นายทหารผู้อำนวยการ ๑ และนายทหารสัญญาบัตรซึ่งแทนหน่วยทหารในการนั้น ๑ เป็นผู้ลงชื่อในใบสำคัญ

ข้อ ๒๓ ผู้มีหน้าที่ออกหนังสือสำคัญหรือใบสำคัญ คือ

(๑) หนังสือสำคัญซึ่งออกให้ตามมาตรา ๙ นั้น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพร้อมด้วย สัสดีจังหวัดออกตาม (แบบ สด.๘) ท้ายบันทึกนี้ และลงชื่อประทับตราประจำตำแหน่งเป็นสำคัญ

(๒) ใบสำคัญซึ่งออกให้ตามมาตรา ๔๐ นั้น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมด้วยสัสดีจังหวัดออกตาม (แบบ สด.๙) ท้ายบันทึกนี้ แต่ต้องแก้ตำแหน่งนายอำเภอ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด และเติมตำแหน่งสัสดีจังหวัดลงด้วย แล้วลงชื่อประทับตราประจำตำแหน่งเป็นสำคัญ

(๓) ในกรณีที่ปลดพ้นราชการทหารตามมาตรา ๔๑ นั้น จะต้องพิจารณาว่าการปลดนั้นปลดพ้นราชการทหารประเภทที่ ๑ หรือ ที่ ๒ ถ้าเป็นการปลดพ้นราชการทหารประเภทที่ ๑ ให้ออกหนังสือสำคัญตาม (๑) ถ้าปลดพ้นราชการทหารประเภทที่ ๒ ให้ออกใบสำคัญตาม (๒)

(๔) ใบสำคัญซึ่งออกให้ตามมาตรา ๑๖ มาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๑๙ นั้นให้ออกตาม (แบบ สด.๙) และให้นายอำเภอลงชื่อประทับตราประจำตำแหน่งเป็นสำคัญ และให้สัสดีอำเภอลงชื่อรับรองว่าเป็นการถูกต้องในหลังใบสำคัญนั้นด้วย

(๕) หนังสือสำคัญสำหรับการปลดตำรวจในจังหวัดที่เรียกคนเข้ารับราชการแต่เฉพาะตำรวจนั้น ให้ออกตาม (แบบ สด.๘) และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลงชื่อ และประทับตราประจำตำแหน่งเป็นสำคัญ กับให้ผู้กำกับ หรือผู้บังคับกองตำรวจลงชื่อในหนังสือสำคัญนี้ด้วย

ข้อ ๒๔ การออกหนังสือสำคัญหรือใบสำคัญในหน้าที่สัสดีจังหวัดให้จัดการดังนี้

(๑) หนังสือสำคัญซึ่งออกให้ตามมาตรา ๙ หรือใบสำคัญซึ่งออกให้ตามมาตรา ๔๐ นั้น ให้ส่งไปยังเจ้าหน้าที่ผู้ขอปลดเพื่อส่งแก่หน่วยต้นสังกัดจัดการมอบให้ตัวรับไป

(๒) ถ้าทหารกองหนุนที่ได้รับหนังสือสำคัญหรือใบสำคัญตามข้อ ๒๓ (๑) หรือ (๒) ไปแล้ว มีเหตุต้องปลดพ้นราชการทหาร ก็ให้เรียกหนังสือสำคัญหรือใบสำคัญนั้นมาลงวันปลดพ้นราชการทหารในด้านหลังหนังสือสำคัญหรือใบสำคัญ แล้วผู้ว่าราชการจังหวัดและสัสดีจังหวัด ลงชื่อและประทับตราประจำตำแหน่งเป็นสำคัญ ส่วนวันปลดที่ได้ลงไว้เดิม ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดนั้นให้ขีดฆ่าและลงชื่อสัสดีจังหวัดกำกับไว้ (๓) ทหารกองเกินที่นายอำเภอออกใบสำคัญให้ไว้ ถ้าต้องปลดพ้นราชการทหารตามมาตรา ๔๑ ให้ออกใบสำคัญให้ใหม่ตามข้อ ๒๓ (๓) และให้เรียกใบสำคัญเดิมมาทำลายเสีย

ข้อ ๒๕ นายอำเภอท้องที่ได้รับหลักฐานการขอเปลี่ยนชื่อตัวก็ดี ชื่อสกุลก็ดีหรือทั้งชื่อตัวชื่อสกุล ก็ดี ตามมาตรา ๑๒ วรรคท้าย เมื่อตรวจสอบถูกต้องแล้ว ให้แก้ใบสำคัญเฉพาะที่อำเภอออกให้ โดยขีดฆ่าคำเดิมด้วยหมึกดำ แล้วเขียนคำที่ขอแก้ลงใต้หรือต่อคำที่ขีดฆ่า แล้วประทับตราประจำตำแหน่ง นายอำเภอตรงที่ขีดฆ่า แล้วแก้บัญชี (แบบ สด.๑) ที่อำเภอและบอกให้จังหวัดแก้บัญชี (แบบ สด.๒๗) ไว้ให้ตรงกัน

ส่วนหนังสือสำคัญหรือใบสำคัญที่จังหวัดออกให้ ต้องส่งสำเนาหลักฐานเปลี่ยนชื่อให้จังหวัดแก้ไข โดยปฏิบัติเช่นเดียวกับวรรคแรก แต่ประทับตราประจำตำแหน่งสัสดีจังหวัดตรงที่ขีดฆ่า ถ้าที่ใดยังไม่มีตราประจำตำแหน่งสัสดีจังหวัดก็ให้ประทับตราประจำตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดแทน

หนังสือสำคัญหรือใบสำคัญที่ผิดชื่อหรือคำต่าง ๆ ซึ่งต้องแก้ไข ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับวรรคแรก

ข้อ ๒๖ ถ้าผู้ที่ได้รับหนังสือสำคัญหรือใบสำคัญตามข้อ ๒๓ นั้น ต้องจำหน่ายด้วยประการใด ๆ ซึ่งจะไม่ต้องถืออีกต่อไปแล้ว ให้จัดการเรียกหนังสือสำคัญหรือใบสำคัญนั้นมาทำลายเสีย ถ้าเรียกไม่ได้ให้สอบสวนว่าเรียกไม่ได้เพราะเหตุใด ถ้ามีต้นขั้วต้องบันทึกไว้ในต้นขั้วให้ทราบเรื่องตามหลักฐานในหนังสือหรือบัญชีฉบับใด พ.ศ. ใดด้วย

ข้อ ๒๗ ทหารหรือตำรวจกองประจำการ ทหารกองเกิน หรือทหารกองหนุน ตายให้จัดการจำหน่ายทะเบียนกองประจำการและบัญชี

การจำหน่ายตายนี้ ถ้าเป็นทหารหรือตำรวจกองประจำการ ให้หน่วยต้นสังกัดแจ้งต่อสัสดีจังหวัดตามภูมิลำเนาทหารของผู้ตาย แล้วให้จังหวัดนั้นแจ้งต่อนายอำเภอท้องที่ ซึ่งเป็นภูมิลำเนาทหารของผู้ตาย เพื่อจำหน่ายทะเบียนบัญชีตามระเบียบ ถ้าเป็นทหารกองเกินหรือทหารกองหนุนในจังหวัดที่เรียกคนเข้ารับราชการทหาร ให้นายอำเภอท้องที่ที่ทหารนั้นตายแจ้งต่อจังหวัดตามภูมิลำเนาทหารของ ผู้ตาย ถ้าเป็นจังหวัดที่มิได้เรียกคนเข้ารับราชการทหาร ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งต่อสัสดีจังหวัดที่ทำการแทนด้วย

ทั้งนี้ ให้แจ้งต่อกันภายในสามสิบวัน

<< ย้อนกลับ | หน้าถัดไป>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย