ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
คู่มือพระสังฆาธิการ
ส่วนที่ ๑ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ๒ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕
ส่วนที่ ๓ กฎมหาเถรสมาคม
ส่วนที่ ๔ ระเบียบ คำสั่ง ประกาศ และมติมหาเถรสมาคม
ส่วนที่ ๓ กฎมหาเถรสมาคม
กฎมหาเถรสมาคม
ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๒๑)
ว่าด้วยการลงนิคหกรรม
---------------------
ลักษณะ ๑
บทนิยาม
ข้อ ๔ ในกฎมหาเถรสมาคมนี้
(๑) พระภิกษุ หมายถึง
ก. พระภิกษุซึ่งมิใช่ผู้ปกครองสงฆ์
รวมถึงพระภิกษุซึ่งดำรงสมณศักดิ์ต่ำกว่าชั้นพระราชาคณะ และ
ข. พระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ รวมถึงพระภิกษุผู้เป็นกิตติมศักดิ์ผู้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาเจ้าคณะ ผู้ดำรงตำแหน่งเทียบพระสังฆาธิการ และผู้ดำรงสมณศักดิ์ชั้นพระราชาคณะขึ้นไป
(๒) ความผิด หมายถึง การล่วงละเมิดพระธรรมวินัย
(๓) นิคหกรรม หมายถึง การลงโทษตามพระธรรมวินัย
(๔) ผู้มีส่วนได้เสีย หมายถึง พระภิกษุปกตัตตะ ซึ่งมีสังกัดในวัดเดียวกัน และมีสังวาสเสมอกันกับพระภิกษุผู้เป็นจำเลย
(๕) ผู้เสียหาย หมายถึง ผู้ได้รับความเสียหายเฉพาะตัว เนื่องจากกระทำความผิดของพระภิกษุผู้เป็นจำเลย และหมายความรวมถึงผู้จัดการแทนผู้เสียหายในกรณีดังต่อไปนี้
ก. ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลตามกฎหมาย หรือตามที่พระภิกษุผู้มีอำนาจลงนิคหกรรมพิจารณาเห็นสมควรให้เป็นผู้จัดการแทนผู้เสียหายเฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทำต่อผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถ ซึ่งอยู่ในความดูแล
ข. ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา พี่น้องร่วมบิดามารดาหรือต่างบิดาหรือต่างมารดา เฉพาะแต่ในความผิดซึ่งผู้เสียหายตายก่อน หรือหลังฟ้อง หรือป่วยเจ็บไม่สามารถจะจัดการเองได้
ค. ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นๆ ของนิติบุคคล เฉพาะความผิดซึ่งกระทำแก่นิติบุคคล
(๖) โจทก์ หมายถึง
ก. ผู้มีส่วนได้เสีย หรือผู้เสียหายซึ่งฟ้องพระภิกษุต่อพระภิกษุผู้พิจารณาในข้อหาว่าได้กระทำความผิด หรือ
ข. พระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่โจทก์แทนสงฆ์ ในชั้นพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมเกี่ยวกับความผิดของพระภิกษุผู้ถูกกล่าวหา
(๗) จำเลย หมายถึง
ก. พระภิกษุซึ่งถูกโจทก์ฟ้องต่อพระภิกษุผู้พิจารณา ในข้อหาว่าได้กระทำความผิดหรือ
ข. พระภิกษุผู้ถูกกล่าวหาซึ่งตกเป็นจำเลยในชั้นพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรม
(๘) ผู้กล่าวหา หมายถึง ผู้บอกกล่าวการกระทำความผิดของพระภิกษุ ต่อพระภิกษุผู้พิจารณา โดยที่ตนมิได้เป็นผู้มีส่วนได้เสีย หรือมิได้เป็นผู้เสียหายและประกอบด้วยคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ก. เป็นพระภิกษุปกตัตตะหรือสามเณร ซึ่งถึงพร้อมด้วยศีลและอาจาระ และมีสังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง
ข. เป็นคฤหัสถ์ผู้นับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปีบริบูรณ์ มีความประพฤติเรียบร้อย มีวาจำเป็นที่เชื่อถือได้ และมีอาชีพเป็นหลักฐาน
(๙) ผู้แจ้งความผิด หมายถึง พระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ ซึ่งไม่มีอำนาจลงนิคหกรรมแจ้งการกระทำความผิด หรือประพฤติการณ์อันเป็นที่น่ารังเกียจสงสัยในความผิดของพระภิกษุซึ่งได้พบเห็นต่อพระภิกษุผู้พิจารณา
(๑๐) ผู้ถูกกล่าว หมายถึง
ก. พระภิกษุซึ่งถูกผู้กล่าวหาบอกกล่าวการกระทำความผิดต่อพระภิกษุผู้พิจารณา
ข. พระภิกษุซึ่งถูกแจ้งความผิด แจ้งการกระทำความผิด หรือพฤติการณ์อันเป็นที่น่ารังเกียจสงสัย ในความผิดต่อพระภิกษุผู้พิจารณา
(๑๑) ผู้มีอำนาจลงนิคหกรรม หมายถึง พระภิกษุผู้พิจารณาและคณะผู้พิจารณา
(๑๒) เจ้าสังกัด หมายถึง พระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ชั้นเจ้าอาวาส เจ้าคณะ เจ้าสังกัดซึ่งมีอำนาจลงนิคหกรรมแก่พระภิกษุผู้กระทำความผิดในเขตจังหวัดที่สังกัดอยู่
(๑๓) เจ้าของเขต หมายถึง พระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ชั้นเจ้าคณะซึ่งเป็นเจ้าของเขตซึ่งมีอำนาจลงนิคหกรรมแก่พระภิกษุผู้กระทำความผิดในเขตจังหวัดที่มิได้สังกัดอยู่
(๑๔) ผู้พิจารณา หมายถึง เจ้าสังกัดหรือเจ้าของเขตแล้วแต่กรณี ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามวิธีปฏิบัติเบื้องต้น
(๑๕) คณะผู้พิจารณา หมายถึง มหาเถรสมาคม และคณะผู้พิจารณาซึ่งมีผู้ดำรงตำแหน่งสูงเป็นหัวหน้า มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามวิธีไต่สวนมูลฟ้องและวิธีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรม
(๑๖) คณะผู้พิจารณาชั้นต้น หมายถึง คณะผู้พิจารณาตามความในข้อ ๒๔ซึ่งประกอบด้วยอันดับ ๗ อันดับ ตามข้อ ๗ มีอำนาจลงนิคหกรรม ตามวิธีไต่สวนมูลฟ้องและวิธีพิจารณาวินิจฉัยและการลงนิคหกรรมชั้นต้น
(๑๗) คณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์ หมายถึง คณะผู้พิจารณาตามความในข้อ ๒๕ ซึ่งประกอบด้วยอันดับ ๔ อันดับ มีอำนาจลงนิคหกรรมตามวิธีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นอุทธรณ์
(๑๘) คณะผู้พิจารณาชั้นฎีกา หมายถึง คณะผู้พิจารณาตามความในข้อ ๒๖ ซึ่งเป็นชั้นและอันดับสูงสุด ตามข้อ ๒๗ มีอำนาจลงนิคหกรรม ตามวิธีพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมชั้นฎีกา
กฎมหาเถรสมาคม
-
ว่าด้วยการลงนิคหกรรม