ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>
พระยาพิชัยดาบหัก
พระยาพิชัยดาบหัก มีชื่อเดิมว่า "จ้อย" เกิดที่บ้านห้วยคา หลังเมืองพิชัยไปทางทิศตะวันออก หรือ จ.อุตรดิตถ์ ในปัจจุบัน บิดาและมารดาอาชีพทำนา พี่น้องทั้งหมด 4 คน แต่เป็นไข้ทรพิษตายเสีย 3 คน จึงท่านเพียงคนเดียว เมื่ออายุได้ 8 ขวบ ได้เรียนหนังสือกับพระครูวัดมหาธาตุในเมืองพิชัย ในขณะที่ร่ำเรียนหนังสืออยู่ ก็แบ่งเวลาให้กับการชกมวยด้วย เวลามีเรื่องชกต่อยกับเด็กวัดด้วยกัน ก็ชนะตลอด
วันหนึ่งเมื่อเจ้าเมืองพิชัยนำบุตรชายมาฝากเรียนหนังสือกับท่านพระครู แล้วเกิดทะเลาะชกต่อยกัน ด้วยความกลัวจะถูกลงโทษและกลัวว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะอีกฝ่ายเป็นลูกเจ้าลูกนาย จึงหนีออกจากวัดไปเสีย ตั้งใจจะไปฝึกหัดชกมวยที่บ้านท่าเสา แต่ระหว่างเดินทางถึงวัดบ้านแก่งได้เห็นครูเที่ยงกำลังสอนมวยอยู่จึงสมัครเข้าเป็นศิษย์ และเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามใหม่ว่า "ทองดี" ฝีไม้ลายมือของทองดีจัดจ้านกว่าทุกคน ทำให้ถูกอิจฉาริษยาจนเกิดเรื่องชกต่อยกันขึ้น ทองดีเห็นว่าอยู่ต่อไปก็ไม่มีความสุข จึงเดินทางติดตามพระภิกษุรูปหนึ่งไป และได้ไปฝึกวิชามวยกับ "ครูเมฆ"
ในขณะที่ทองดีอายุได้ 18 ปี ก็แสดงความสามารถด้วยการจับขโมยที่มาลักควายได้ จึงได้รับคำชมเชยและบำเหน็จรางวัล ฝีมือและลีลามวยของทองดีเป็นที่ครั้นคร้ามในวงการหมัดมวย จนนักมวยในเมืองพิชัยและเมืองใกล้เคียงไม่มีใครกล้าขึ้นชก
ต่อมาพระสงฆ์จากเมืองสวรรค์โลกชักชวนเขาให้เดินทางไปเมืองสวรรค์โลกด้วยกัน และได้ฝากเขาไว้กับครูฝึกการฟันดาบที่ฝึกให้กับบุตรของเจ้าเมืองสวรรคโลก ฝึกอยู่ได้ 3 เดือนก็สามารถใช้ดาบได้อย่างคล่องแคล่ว จากนั้นก็ลาครูสอนฟันดาบเดินทางไปเมืองสุโขทัยและได้มีโอกาสเรียนมวยจีนกับครูจีนแต้จิ๋วอีกด้วย
วันหนึ่งมีชาวจีนบังเอิญมาเห็นฝีไม้ลายมือของทองดีเข้า ก็เกิดความสนใจจึงชักชวนไปเมืองตากด้วยกัน โดยบอกกับนายทองดีว่า พระยาตากมีความสนใจและชอบคนที่มีฝีมือ แต่ความจริงแล้วชาวจีนคนนี้หวังให้ทองดีไปคุ้มครองให้ระหว่างเดินทางมากกว่า เพราะในป่าภัยอันตรายมันรอบด้าน
เมื่อวันหนึ่ง "เจ้าพระยาตาก" มาถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่วัดใหญ่ และทางวัดก็จัดงานฉลองให้มีการชกมวยขึ้น นายทองดีได้ชกกับครูมวยและสามารถเอาชนะได้ เจ้าพระยาตากอยากดูฝีมือของนายทองดีอีกจึงได้จัดให้ชกกับครูมวยอีกคน นายทองดีก็ชกชนะอีก เจ้าพระยาตากชอบฝีมือนายทองดีมากจึงให้รางวัลเป็นเงิน 5 ตำลึง และรับเข้าทำงานด้วย
เมื่อนายทองดีมีอายุครบบวช เจ้าพระยาตากก็อุปสมบทให้ บวชครบ 1 พรรษาก็สึกออกมารับใช้เจ้าพระยาตากต่อไป โดยได้รับแต่งตั้งให้เป็น "หลวงพิชัยอาสา" และยังได้ยกนางสาวรำยงซึ่งเป็นสาวใช้ของภริยาของเจ้าพระยาตากให้เป็นภรรยาของหลวงพิชัยอาสาอีกด้วย
ตั้งแต่นั้นมาท่านก็ติดตามเจ้าพระยาตากไปร่วมทำศึกสงครามมากมาย ไม่ว่าจะเป็นศึกที่พม่ายกมาตีเมืองกรุงศรีอยุธยาอยู่หลายครั้งหลายครา ก็ได้รับชัยชนะทุกครั้งไป
ครั้งหนึ่งหลวงพิชัยอาสาบุกเลยเข้าไปตีค่ายโพธิ์สามต้น ได้ล้อมค่ายของสุกี้พระนายกองอยู่ถึงสองวันก็สามารถตีค่ายโพธิ์สามต้นจนแตก โดยตัวสุกี้พระนายกองตายในสนามรบ เมื่อได้ชัยชนะแล้ว "พระยาวชิรปราการ" หรือ "พระยาตาก" ได้เข้าไปตั้งพลับพลาอยู่ในพระนครเห็นประสาทและตำหนักต่างๆ ถูกเพลิงเผาไหม้เสียหายมาก จึงได้เคลื่อนย้ายทหารและพลเรือนไปสร้างเมืองธนบุรีให้เป็นราชธานีแห่งใหม่ และได้ทำพิธีปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อปี พ.ศ. 2311 ทรงพระนามว่า "พระบรมราชาธิราชที่ 4" แต่มักเรียกกันว่า "สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี" หรือ "สมเด็จพระเจ้าตากสิน" และทรงพระกรุณาให้หลวงพิชัยอาสาเป็น "เจ้าหมื่นไวยวรนาถ" มีตำแหน่งเป็นนายทหารเอกองครักษ์
เมื่อกรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานีแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสิน ก็รับสั่งให้ เจ้าหมื่นไวยวรนาถ ไปทำการปราบปรามพวกที่ตั้งก๊กตามหัวเมืองต่างๆ ที่ไม่ยอมสวามิภักดิ์กับกรุงธนบุรี โดยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือปราบได้ก๊กของกรมหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งอยู่เมืองพิมาย และได้แต่งตั้งให้เจ้าหมื่นไวยวรนาถเป็น "พระยาสีหราชเดโช" หลังจากนั้นก็ได้ปราบก๊กฝ่ายเหนือสำเร็จ ครั้งนี้ได้รับแต่งตั้งให้เป็น "พระยาพิชัย" ให้ครองเมืองพิชัย
พ.ศ. 2316 โปสุพลา แม่ทัพพม่ายกพลมาตีเมืองพิชัย พระยาพิชัยก็ยกพลทหารออกไปรับศึกก่อนที่ทัพพม่าจะเข้ามาถึงเมือง พระยาพิชัยถือดาบสองมือนำหน้าเหล่าทหารออกไล่ฟันพม่าจนดาบหักคามือ และสามารถตีกองทัพพม่าจนแตกพ่ายไป จนเลื่องลือเรียกขานนามของท่านว่า "พระยาพิชัยดาบหัก" ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
เมื่อสิ้นแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นเถลิงถวัลราชสมบัติกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เรียกตัวพระยาพิชัยดาบหักไปถามว่าจะอยู่ทำราชการต่อไปหรือไม่ ถ้ายอมอยู่ทำราชการต่อไปก็จะชุบเลี้ยงเพราะถือว่าไม่มีความผิดอะไร แต่พระยาพิชัยเกรงว่าอยู่ต่อไปภายหน้าก็อาจมีภัยมาถึงตัว ทั้งยังโศกเศร้าเสียใจและจงรักภักดีต่อสมเด็จพระเจ้าตากสิน จึงขอให้ประหารชีวิตตนไปเสีย พร้อมทั้งขอฝากบุตรชายให้ทำราชการสนองพระเดชพระคุณแทนตนสืบตระกูลต่อไปภายหน้า พระยาพิชัยดาบหักจึงจบชีวิตลงเมื่ออายุได้เพียง 41 ปีเศษ