สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
โดย : คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
หมวด ๑๕
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
-----------------------------------------
มาตรา ๒๕๕
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทำมิได้
มาตรา ๒๕๖
ภายใต้บังคับมาตรา ๒๕๕
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้
(๑) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี
หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกวาห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
(๒)
ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภาและให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ
(๓) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ
ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย
และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น
ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
ซึ่งในจำนวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
(๔) การพิจารณาในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา
โดยการออกเสียงในวาระที่สองนี้ ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ
แต่ในกรณีที่เป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ
ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนของประชาชนที่เข้าชื่อกันได้แสดงความคิดเห็นด้วย
(๕) เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน
เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สามต่อไป
(๖) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย
ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย
และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
โดยในจำนวนนี้ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร
เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน
และมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
(๗) เมื่อมีการลงมติเห็นชอบตาม (๖) แล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน
แล้วจึงนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย
และให้นำความในมาตรา ๘๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
(๘) ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด ๑ บททั่วไป หมวด
๒ พระมหากษัตริย์ หรือหมวด ๑๕ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ
ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ
หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้
ก่อนดำเนินการตาม (๗)
ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ
ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม
จึงให้ดำเนินการตาม (๗) ต่อไป
(๙) ก่อนนายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยตาม (๗)
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน
มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา
หรือของทั้งสองสภารวมกัน แล้วแต่กรณี
มีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกหรือประธานรัฐสภา
แล้วแต่กรณี ว่าร่างรัฐธรรมนูญตาม (๗) ขัดต่อมาตรา ๒๕๕ หรือมีลักษณะตาม (๘)
และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับเรื่องดังกล่าวส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ
และให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง
ในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
นายกรัฐมนตรีจะนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยมิได้
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
- หมวด ๑ บททั่วไป
- หมวด ๒ พระมหากษัตริย์
- หมวด ๓ สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย
- หมวด ๔ หน้าที่ของปวงชนชาวไทย
- หมวด ๕ หน้าที่ของรัฐ
- หมวด ๖ แนวนโยบายแห่งรัฐ
- หมวด ๗ รัฐสภา
- หมวด ๘ คณะรัฐมนตรี
- หมวด ๙ การขัดกันแห่งผลประโยชน์
- หมวด ๑๐ ศาล
- หมวด ๑๑ ศาลรัฐธรรมนูญ
- หมวด ๑๒ องค์กรอิสระ
- หมวด ๑๓ องค์กรอัยการ
- หมวด ๑๔ การปกครองส่วนท้องถิ่น
- หมวด ๑๕ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
- หมวด ๑๖ การปฏิรูปประเทศ
- บทเฉพาะกาล
ประวัติ-ความเป็นมา
รายชื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ
การลงประชามติ
การประกาศใช้
ข้อวิจารณ์