ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

หลักสูตรพุทธศาสนา

หลักสูตรพุทธศาสนา (ระดับมัธยมต้น-ปลาย)

บทที่ ๑๕ ปรมัตถธรรม

๑. พระพุทธเจ้าสอนอะไร
คำสอนของพระพุทธเจ้าก็สรุปได้ ๒ ระดับคือ
๑. ระดับศีลธรรม ซึ่งสอนให้ละการทำชั่วแล้วสอนให้ทำแต่ความดี
๒. ระดับปรมัตถธรรม(ลึกซึ้งสูงสุด) ซึ่งสอนให้ทำจิตให้บริสุทธิ์

ศีลธรรมนั้นเป็นคำสอนที่จะช่วยให้ชีวิตมีความปกติสุข ไม่เดือดร้อน แต่ก็ยังมีความทุกข์ที่ลึกซึ้งอยู่อีกมาก เช่นความทุกข์จากความพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งที่รัก, ความทุกข์จากความแก่ ,และความตาย เป็นต้น ที่คำสอนระดับศีลธรรมก็ยังกำจัดไม่ได้ จึงต้องมีคำสอนระดับสูง(ปรมัตถธรรม)เพื่อมากำจัดความทุกข์ในส่วนนี้.

๒. อริยสัจ ๔ หลักในการดับทุกข์
ธรรมะในระดับปรมัตถธรรมนี้ก็สรุปอยู่ที่ อริยสัจ ๔ ที่หมายถึง ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ อันได้แก่
๑. ทุกข์ คือความทุกข์
๒. สมุทัย คือสาเหตุของความทุกข์
๓. นิโรธ คือความดับลงของทุกข์(นิพพาน)
๔. มรรค คือวิธีปฏิบัติเพื่อดับทุกข์

อริยสัจ ๔ นี้สรุปได้ ๒ ประการ คือ มีทุกข์ กับ ไม่มีทุกข์ โดยทุกข์ก็มาจากเหตุ และเมื่อไม่มีเหตุทุกข์ก็ไม่มี

๓. หลักการศึกษาอริยสัจ ๔
ในการศึกษาอริยสัจ ๔ นี้จะต้องมีการศึกษาและปฏิบัติตามลำดับคือ
๑. กำหนดรู้จักตัวความทุกข์ให้ถูกต้องก่อน
๒. กำหนดรู้และกำจัดสาเหตุของทุกข์นี้ให้ได้
๓. เห็นแจ้งในความดับลงของทุกข์นี้ด้วยจิตจริงๆ
๔. พยายามปฏิบัติเพื่อให้ทุกข์นี้ดับลงอย่างถาวร

๔. ความทุกข์เป็นอย่างไร
สิ่งที่มนุษย์ทุกคนเกลียดกลัวอย่างยิ่งก็คือ ความทุกข์ ซึ่งความทุกข์ทั้งหลายนั้นก็สรุปอยู่ใน
ความรู้สึกว่ามีตนเองแก่
ความรู้สึกว่ามีตนเองจะตาย
ความรู้สึกว่ามีตนเองพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รัก
ความรู้สึกว่ามีตนเองประสบกับบุคลหรือสิ่งอันไม่เป็นที่รักอยู่
ความรู้สึกว่ามีตนเองที่อยากได้สิ่งใดไว้แล้วไม่สมตามที่อยาก

สรุปได้ว่าความทุกข์นั้นอยู่ที่ความรู้สึกว่ามีตัวเราที่กำลังประสบกับความรู้สึกที่ไม่อยากจะประสบอยู่ ซึ่งเมื่อเราประสบเข้าก็จะทำให้เกิดความทุกข์ในลักษณะต่างๆขึ้นมา มากบ้างน้อยบ้าง จนทำให้เกิดตั้งแต่ความรู้สึกไม่สบายใจ ขึ้นไปเป็นความทุกข์ใจ ทรมานใจ ที่แสดงออกมาเป็นความเศร้าโศก เสียใจ แห้งเหี่ยวใจ จนร้องไห้คร่ำครวญ เป็นต้นนั่นเอง.  

๕. สาเหตุของทุกข์คืออะไร
พุทธศาสนาจะมีหลักอยู่ว่า “ทุกสิ่งย่อมเกิดมาจากเหตุ” ดังนั้นความทุกข์ก็ต้องมีเหตุมาทำให้เกิด ซึ่งเมื่อสรุปแล้วสาเหตุของความทุกข์ทั้งหลายนั้นก็คือ “ความรู้สึกว่ามีตัวเรา” อย่างเช่น คนที่มีร่างกายแก่ ถ้าเกิดความรู้สึกว่ามีตนเองแก่ จิตใจเขาก็จะเป็นทุกข์ หรือคนที่กำลังจะตาย ถ้าเกิดความรู้สึกว่ามีตนเองกำลังจะตาย จิตใจเขาก็จะเป็นทุกข์ หรือเมื่อเกิดความรู้สึกว่ามีตนเองที่กำลังพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รักอยู่ จิตใจ ก็จะเป็นทุกข์ เป็นต้น.

๖. ความดับทุกข์เป็นอย่างไร
เมื่อความทุกข์มาจากเหตุ ถ้าไม่มีเหตุความทุกข์ก็จะไม่มี ดังนั้น ถ้าไม่มีความรู้สึกว่ามีตัวเราเสียอย่างเดียวเท่านั้น ความทุกข์ทั้งหลายก็จะไม่เกิดขึ้นแก่จิตใจที่สมมติเรียกว่าเรานี้

เมื่อจิตเกิดทุกข์ ก็จะมีความรู้สึกทรมาน ไม่น่ายินดี แต่ถ้าจิตไม่มีทุกข์ จิตก็จะบริสุทธิ์ และเป็นปรกติ คือเบาสบาย สงบ เยือกเย็น ปลอดโปร่ง แจ่มใส ซึ่งนี่คืออาการที่เรียกว่า “นิพพาน” ที่แปลว่า สงบเย็น

นิพพานนี้ก็มีทั้งอย่างชั่วคราว(ไม่ถาวร) สำหรับผู้คนทั่วๆไปที่สามารถปฏิบัติได้เป็นครั้งคราว และอย่างถาวรสำหรับพระอริยบุคคลขั้นสูง ซึ่งนิพพานชั่วคราวนี้เองที่เราจะต้องพยายามปฏิบัติให้เห็นแจ้งให้ได้ เพื่อจะได้ค้นพบความดับลงของทุกข์ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องเชื่อใคร.

๗. วิธีปฏิบัติเพื่อดับทุกข์เป็นอย่างไร
วิธีปฏิบัติเพื่อให้ความทุกข์นี้ดับลงนั้นเรียกว่า มรรค ที่แปลว่า ทาง หรือ อริยมรรค ที่แปลว่า หนทางอันประเสริฐ ซึ่งวิธีปฏิบัตินี้มีองค์ประกอบอยู่ถึง ๘ องค์ประกอบ แต่สรุปลงเหลือ ๓ ส่วนคือ
๑. ศีล คือ การมีจิตที่เป็นปรกติ
๒. สมาธิ คือการมีจิตที่ตั้งมั่น
๓. ปัญญา คือมีความรอบรู้ในเรื่อง “ไม่มีตัวเรา”

ในการปฏิบัติจริงนั้นเราจะต้องมีทั้ง ศีล สมาธิ และปัญญามาทำหน้าที่พร้อมกันจึงจะทำให้ความทุกข์ดับลงได้ ซึ่งก่อนอื่นเราก็ต้องตั้งใจรักษาศีลเอาไว้ก่อน แล้วก็ต้องมีการฝึกฝนสมาธิเอาไว้ด้วย และที่สำคัญเราจะต้องมีความรอบรู้หัวใจของอริยสัจ ๔ นั่นก็คือเรื่องที่ว่า “ความจริงมันไม่มีตัวเรา” (พุทธศาสนาเรียกว่า วิชชา).

๘. ศีล คือ ความปรกติ
ศีล แปลว่า ปรกติ คือหมายถึงการมีจิตที่เป็นปรกติ ซึ่งการที่เราจะมีจิตปรกติได้นั้นเราจะต้องมีกาย และวาจาที่เรียบร้อย ซึ่งศีลของมรรคนี้ก็ได้แก่
๑. การไม่ทำร้ายสิ่งที่มีชีวิต
๒. การไม่เบียดเบียนทรัพย์ของผู้อื่น
๓. การไม่ประพฤติผิดในเรื่องทางเพศ
๔. การไม่พูดโกหก
๕. การไม่พูดคำหยาบ
๖. การไม่พูดคำส่อเสียดยุยง
๗. การไม่พูดเรื่องเพ้อเจ้อไร้สาระ

๙. สมาธิ คือ ความตั้งใจมั่น
สมาธิ แปลว่า ตั้งมั่นอยู่เสมอ คือมีจิตที่ตั้งมั่นอยู่เสมอ ซึ่งจิตที่มีสมาธิจะมีลักษณะ ๓ ประการคือ
๑. บริสุทธิ์ คือไม่มีกิเลส ไม่มีนิวรณ์
๒. ตั้งมั่น คือ มั่นคง เข้มแข็ง
๓. เหมาะแก่การงาน คือมีความอ่อนโยน สุขุม รอบครอบ

๑๐. สมาธิ ๒ ประเภท
สมาธินี้ก็มีอยู่ ๒ ประเภท อันได้แก่
๑. สมาธิใช้งาน หรือสมาธิตามธรรมชาติที่ใช้กันอยู่เสมอ
๒. สมาธิขั้นสูง(ฌาน) คือความตั้งใจที่สูงมาก

สมาธิใช้งานนี้ก็คือความตั้งใจในการเรียน การพูด การคิด และการทำงานทั้งหลาย ซึ่งเราก็พอจะมีกันอยู่บ้างแล้วแต่ว่าไม่มาก ส่วนสมาธิขั้นสูงนี้จะเกิดจากการฝึกฝนและถ้าเกิดขึ้นจะไม่มีแม้การคิดนึกใดๆอยู่เลย ซึ่งสมาธิขั้นสูงนี้จะเป็นพื้นฐานให้แก่สมาธิใช้งานสมบูรณ์ได้

๑๑. นิวรณ์ ๕
สิ่งที่เป็นศัตรูของสมาธิก็คือกิเลสอ่อนๆที่เรียกว่า นิวรณ์ ที่หมายถึง สิ่งปิดกั้นจิต ซึ่งนิวรณ์นี้ก็มีอยู่ ถึง ๕ อาการ อันได้แก่
๑. ความรู้สึกพึงพอในเรื่องกามารมณ์
๒. ความรู้สึกอึดอัดขัดเคืองใจหรือ อาฆาตพยาบาท
๓. ความคิดฟุ้งซ่านรำคาญใจ
๔. ความรู้สึกหดหู่ เซื่องซึม มึนชา
๕. ความลังเลสงสัยในสิ่งที่เอาเป็นที่พึ่ง

นิวรณ์แต่ละตัวนี้เองที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเกิดขึ้นมาครอบงำจิตของเราอยู่เกือบจะทั้งวัน แล้วก็ทำให้จิตของเรา เศร้าหมอง ไม่สงบ ไม่ปลอดโปร่งแจ่มใส และไม่มีแม้สมาธิใช้งาน ซึ่งนี่ก็คือความทุกข์ชนิดอ่อนๆที่เกิดขึ้นแก่จิตของเราอยู่เกือบจะทั้งวันจนชินชาโดยเราไม่รู้จักหรือไม่สนใจ จึงทำให้จิตของเรา ไม่นิพพาน.

๑๒. การฝึกอานาปานสติ
อานาปานสติ แปลว่า การมีสติกำหนดสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ทุกลมหายใจเข้า-ออก ซึ่งอานาปานสตินี้เป็นการฝึกสมาธิขั้นสูง(ฌาน)ที่ดีวิธีหนึ่ง ซึ่งหลักการฝึกโดยสรุปก็มีดังนี้
๑. นั่งขัดสมาธิ ตัวตรงจะหลับตาหรือลืมตาก็ได้
๒. กำหนดอยู่ที่ลมหายใจที่กระทบอยู่บริเวณจมูกตลอดเวลา
๓. พยายามบังคับลมหายใจให้เบาและยาวอยู่เสมอ
๔. พยายามระวังตัวอยู่เสมออย่าให้นิวรณ์หรือความคิดใดๆเกิดขึ้นมา

ในการฝึกเราจะต้องอดทนหมั่นฝึกอยู่เสมอๆ จนความคิดหรือนิวรณ์เบาบางลง แล้วจิตก็จะเริ่มสงบขึ้น เบาสบายขึ้น มีความสุขที่สงบขึ้น มีสติมากขึ้น ซึ่งนี่แสดงว่าเราเริ่มจะมีสมาธิขั้นสูงขึ้นมาบ้างแล้ว และถ้าสามารถฝึกฝนจนนิวรณ์และความคิดต่างๆระงับดับลงได้เป็นเวลานานๆ จนจิตสงบมากขึ้น มีความสุขที่สงบมากขึ้น และมีสติตลอดเวลา ก็แสดงว่าจิตบรรลุถึงสมาธิขั้นสูงที่เรียกว่า “ฌาน”ในขั้นต้นๆแล้ว ซึ่งก็ให้พยายามฝึกต่อไปอย่างสม่ำเสมอจนชำนาญ แล้วจิตก็จะเลื่อนไปสู่ฌานที่สูงๆขึ้นต่อไป.

๑๓. ปัญญาสูงสุดคือความรู้ว่าไม่มีตัวเรา
คำว่า ปัญญา ในทางพุทธศาสนาจะหมายถึง ความรอบรู้ในเรื่องการดับทุกข์ ซึ่งปัญญาสูงสุดในพุทธศาสนาก็คือความรอบรู้เรื่อง อนัตตา ความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง(พุทธศาสนาเรียกว่า วิชชา)

เรื่องอนัตตานี้เป็นเรื่องลึกซึ้งมาก การที่จะเข้าใจได้ถูกต้องนั้นยาก ยิ่งเห็นแจ้งก็ยิ่งยาก เพราะจะต้องมีการเรียนรู้หลักพื้นฐานขึ้นไปเรื่อยๆ พร้อมกับมีการคิดพิจารณาด้วยเหตุผล จนเข้าใจถูกต้อง แล้วก็ต้องมีการทดลองปฏิบัติจนเห็นแจ้ง จึงจะเรียกว่ามีปัญญาได้อย่างแท้จริง ซึ่งเราจะได้เรียนรู้กันต่อไป.

๑๔. กฎอิทัปปัจจยตา
กฎอิทัปปัจจยตา ก็คือกฎที่บอกให้รู้ว่าเมื่อมีเหตุจึงมีผล คือกฎนี้จะบังคับเอาไว้เลยว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจะต้องมีเหตุมาทำให้เกิด และไม่มีสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาได้เองลอยๆ ซึ่งสามารถแยกแยะได้ดังนี้ เมื่อมีเหตุ จึงมีผล
เมื่อไม่มีเหตุ ผลจึงไม่มี
เมื่อเหตุเกิดขึ้น ผลจึงเกิดขึ้น
เมื่อเหตุดับลง ผลจึงดับลง

เมื่อพิจารณาให้ละเอียดเราก็จะพบว่า เหตุจะทำให้เกิดผล และผลก็จะกลับมาเป็นเหตุให้เกิดผลใหม่ขึ้นมาได้อีก คือมันจะผลักดันกันไปเรื่อยๆเป็นเหมือนสายโซ่ที่คล้องต่อกันไปเรื่อยๆ และเพียงเหตุเดียวก็สามารถทำให้เกิดหลายๆผลได้ รวมทั้งผลเดียวก็จะมาจากหลายๆเหตุได้อีก ซึ่งนี่คือการปรุงแต่งผลักดันกันให้เกิดสิ่งต่างๆทั้งวัตถุ ร่างกาย และจิตใจของเราขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์

๑๕. ธาตุ ๖
ธาตุ หมายถึง สิ่งที่เป็นพื้นฐานของสิ่งต่างๆ ซึ่งธาตุที่เป็นพื้นฐานที่สุดของทุกสิ่งนี้ก็มีอยู่ ๖ ธาตุ อันได้แก่
๑. ธาตุดิน คือของแข็ง
๒. ธาตุน้ำ คือของเหลว
๓. ธาตุไฟ คือความร้อน
๔. ธาตุลม คือก๊าซต่างๆ
๕. ธาตุว่าง คือสุญญากาศ
๖. ธาตุวิญญาณ คือการรับรู้

วัตถุทั้งหลายจะเกิดมาจากการที่ธาตุดิน, ธาตุน้ำ, ธาตุไฟ, และธาตุลมปรุงแต่งหรือสร้างขึ้นมา และอาศัยธาตุว่างตั้งอยู่ ซึ่งธาตุทั้ง ๔ นี้จัดเป็นวัตถุธาตุ(ธาตุที่มีรูปร่าง) ส่วนธาตุวิญญาณนั้นจัดเป็นนามธาตุ(ธาตุที่ไม่มีรูปร่าง).

๑๖. วิญญาณธาตุ
วิญญาณธาตุหรือธาตุวิญญาณนี้ก็คือกิริยาที่รู้ หรือรับรู้ ที่เกิดขึ้นที่อวัยวะตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย,และใจ(สมอง)ของเรานี่เอง เช่นเมื่อตาเห็นรูป การรับรู้รูปก็จะเกิดขึ้น ซึ่งการรับรู้รูปนั่นเอง ที่เรียกว่าเป็นวิญญาณที่เกิดขึ้นทางตา เป็นต้น คือวิญญาณนี้จะสามารถเกิดขึ้นได้ที่ตา, หู, จมูก, ลิ้น,กาย,และใจที่ยังดีอยู่ของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย(มนุษย์,สัตว์,พืช) และจะเป็นพื้นฐานให้เกิดจิตใจที่สามารถรู้สึกนึกคิดได้ของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายนั่นเอง

ธาตุวิญญาณนี้ไม่มีตัวตนเป็นของตนเอง จะต้องอาศัยสิ่งอื่นๆช่วยกันปรุงแต่งขึ้นมา เมื่อสิ่งที่สร้างขึ้นมานั้นเสียหายไป ธาตุวิญญาณนี้ก็จะดับหายไป หรือไม่มี เหมือนกับแสงสว่างที่ต้องอาศัยเปลวไฟจากเทียนที่ติดไฟอยู่เกิดขึ้นมา.

๑๗ . ขันธ์ ๕
ขันธ์ แปลว่า พวก ,หมู่ ,ส่วน ซึ่งชีวิตของเรานี้จะประกอบด้วยขันธ์ ๕ ขันธ์ อันได้แก่
๑. รูป คือส่วนที่เป็นรูปร่างหรือวัตถุ
๒. เวทนา คือส่วนที่เป็นความรู้สึกทั้งหลาย
๓. สัญญา คือส่วนที่เป็นความจำทั้งหลาย
๔. สังขาร คือส่วนที่เป็นความคิดทั้งหลาย
๕. วิญญาณ คือส่วนที่เป็นการรับรู้ทั้งหลาย

ส่วนที่เป็นรูปนี้ก็คืออวัยวะต่างๆที่ประกอบขึ้นมาเป็นร่างกายของเรา ส่วนที่เป็นเวทนา,สัญญา,สังขาร,และวิญญาณนี้ก็คือส่วนที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นจิตใจของเราที่รับรู้,แล้วก็รู้สึก,และจำได้,พร้อมทั้งคิดอยู่ในขณะที่ตื่นอยู่นี่เอง.

๑๘. อายตนะ ๖
อายตนะ แปลว่า สิ่งเชื่อมต่อ ซึ่งอายตนะนี้มีอยู่ ๒ ประเภท อันได้แก่
๑. อายตนะภายใน คือ สิ่งเชื่อมต่อที่อยู่ภายในอันได้แก่ ๑. ตา ๒. หู ๓. จมูก ๔. ลิ้น ๕. กาย ๖. ใจ
๒. อายตนะภายนอก คือสิ่งเชื่อต่อที่อยู่ภายนอก อันได้แก่ ๑. รูป ๒. เสียง ๓. กลิ่น ๔. รส ๕.สิ่งที่สัมผัสด้วยกาย (เช่น เย็น ,ร้อน,อ่อน,แข็ง) ๖. สิ่งที่สัมผัสด้วยใจ( ทุกอย่างที่ใจสัมผัสได้)

การศึกษาพุทธศาสนานั้นจะต้องเริ่มศึกษาจากอายตนะทั้ง ๒ นี้ เพราะทุกสิ่งจะเริ่มจากการที่อายตนะทั้ง ๒ นี้มาสัมผัสกันเข้า แล้วก็ทำให้เกิดสิ่งอื่นๆตามมา เช่น เมื่อตาสัมผัสกับรูป, แล้วเกิดความรู้สึก, เกิดความจำ, และเกิดการคิดให้รู้สึกว่ามีตัวเราขึ้นมา จนเกิดความทุกข์ตามมาอีก เป็นต้น.

๑๙. กฎไตรลักษณ์
กฎไตรลักษณ์ หมายถึง ลักษณะ ๓ ประการของสิ่งทั้งหลายที่ “เกิดขึ้นมา” ซึ่งกฎนี้ก็ได้แก่
๑. อนิจจัง คือความไม่เที่ยงแท้ถาวร
๒. ทุกขัง คือความที่ต้องทน
๓. อนัตตา คือความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง
สิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาจากการที่ธาตุทั้งหลายสร้างหรือปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมานี้ จะต้องตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์นี้ทั้งสิ้น คือจะไม่เที่ยงแท้ถาวร มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและต้องแตกดับไปในที่สุดไม่ช้าก็เร็ว และขณะที่ยังตั้งอยู่ก็ต้องทนต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะด้วย รวมทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นมานี้ก็ไม่มีตัวตนเป็นของตนเองอีกด้วย(คือต้องอาศัยสิ่งอื่นๆปรุงแต่งขึ้นมา).

๒๐. อัตตาคือความเห็นผิด
คำว่า อัตตา หมายถึง ตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวร ซึ่งเป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ ที่สอนว่า จิต หรือวิญญาณของเรานี้เป็นตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวร ไม่มีดับสลาย สามารถออกจากร่างกายที่ตายแล้วไปเกิดใหม่ยังร่างกายใหม่ๆได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งก็ทำให้เกิดความเชื่อเรื่องวิญญาณเวียนว่ายตายเกิด และเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า เทวดา นางฟ้า และเรื่องชาติก่อน ชาติหน้าเป็นต้นขึ้นมา อย่างที่ปลอมบนอยู่ในพุทธศาสนาของเราในปัจจุบัน.

ลักษณะของอัตตานี้จะตรงข้ามกับอนัตตาของพุทธศาสนา คือจะเที่ยงแท้ถาวร ไม่มีดับสลาย ไม่ต้องทนอยู่ และมีตัวตนเป็นของตนเองโดยไม่ต้องอาศัยสิ่งอื่นสร้างขึ้นมา ซึ่งความเชื่อนี้ได้ฝังแน่นอยู่ในจิตใต้สำนึกของทุกคน จึงทำให้ยอมรับความเชื่อเรื่องอัตตานี้กันอย่างฝังแน่นและเกือบจะทุกคน แล้วก็ส่งผลให้ความเชื่อเรื่องอนัตตาของพระพุทธเจ้าไม่ค่อยจะมีคนยอมรับ.

๒๑. ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา
จุดสำคัญที่จะทำให้เกิดปัญญาขึ้นมาก็คือการนำเอาขันธ์ ๕ นี้มาพิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง แล้วก็จะพบว่าแท้จริงมันไม่มีตัวเรา ซึ่งการพิจารณาก็คือ
๑. ขันธ์ทั้ง ๕ นี้จะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่มีขันธ์ใดที่จะอยู่นิ่งได้ และสุดท้ายก็ต้องแตกดับไปอย่างแน่นอน นี่แสดงว่าขันธ์ทั้ง ๕ นี้ไม่เที่ยงแท้ถาวร(อนิจจัง)

๒. ขันธ์ทั้ง ๕ นี้จะต้องทนต่อความไม่เที่ยงแท้ถาวรนี้อยู่ตลอดเวลาด้วย ถ้าทนง่ายก็เรียกว่าสุข ถ้าทนยากก็เรียกว่าทุกข์ นี่แสดงว่าขันธ์ทั้ง ๕ นี้เป็นทุกข์(ทุกขัง)

๓. ขันธ์ทั้ง ๕ นี้ต้องอาศัยสิ่งอื่นๆปรุงแต่งตัวมันขึ้นมา มันไม่มีตัวตนเป็นของตนเอง นี่แสดงว่าขันธ์ทั้ง ๕ นี้ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง(อนัตตา)

๒๒. แท้จริงตัวเราจริงๆไม่มี
จากการพิจารณาขันธ์ ๕ ที่ตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์แล้วก็จะพบว่า “แท้จริงสิ่งที่จะมาเป็นตัวตนของเราหรือของใครๆนั้นไม่มี” จะมีก็เป็นเพียงสิ่งชั่วคราว ที่ไม่เที่ยงแท้ถาวร ไม่ช้ามันก็จะแตก (ใช้กับวัตถุ) ดับ(ใช้กับจิตใจ)ไปอย่างแน่นอน

สรุปได้ว่า ทุกสิ่งที่ “เกิดขึ้นมา”จะถูกสร้างหรือปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมาจากธาตุ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นมานี้ก็จะไม่เที่ยง ต้องทนอยู่ และไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง จึงทำให้เห็นได้ว่าสิ่งที่จะมาเป็นตัวตนของเรา ไม่ว่าจะเป็นร่างกายหรือจิตใจก็ตามนั้นแท้จริงมันไม่สามารถจะมีได้เลย ส่วนสิ่งที่มีอยู่ก็เป็นเพียง “สังขาร” หรือสิ่งที่ถูกปรุงแต่งหรือสร้างสรรค์ขึ้นมาตามธรรมชาติเท่านั้น.

๒๓. เห็นแจ้งอริยสัจ ๔
เมื่อเราเข้าใจอย่างถูกต้องแล้วว่าแท้จริงตัวเราหรือของใครๆไม่มีแล้ว ก็เรียกว่ามีปัญญาขั้นคิดพิจารณาจนเกิดความเข้าใจ ขึ้นมาแล้ว ต่อจากนั้นก็ต้องมีการทดลองปฏิบัติโดยใช้จิตที่มีสมาธิ(จากการฝึก)มากำจัดความรู้สึกว่ามีตัวเรานี้ให้ดับหายไป และถ้าทำได้ความทุกข์ที่กำลังเกิดอยู่ก็จะดับหายไป หรือที่ยังไม่เกิดก็จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งก็จะทำให้จิตสงบ เยือกเย็น ปลอดโปร่ง แจ่มใส เบาสบายอย่างที่สุด(นิพพาน) พร้อมทั้งจะเกิดความรู้ขึ้นมาเองว่านี่คือความดับลงของทุกข์ที่แท้จริงอีกด้วย

๒๔. พระอริยบุคคล
พระอริยบุคคล หมายถึง บุคคลที่ประเสริฐ ซึ่งพระอริยบุคคลนี้มีอยู่ ๔ ประเภท อันได้แก่
๑. พระโสดาบัน คือผู้ที่เห็นแจ้งอริยสัจ ๔ แล้ว สามารถดับทุกข์ได้จริงแล้วในบางครั้ง
๒. พระสกิทาคามี คือผู้ที่ปฏิบัติสูงขึ้นจนสามารถดับทุกข์ได้ทุกครั้งที่เผลอให้ทุกข์เกิดขึ้นมาได้ตามต้องการ
๓. พระอนาคามี คือผู้ที่ปฏิบัติสูงขึ้นจนแทบไม่มีทุกข์เหลือมาให้ดับอีกแล้ว
๔. พระอรหันต์ คือผู้ที่ปฏิบัติสูงขึ้นจนไม่มีทุกข์กลับมาเกิดอีกอย่างถาวร

ผู้ที่เริ่มเห็นแจ้งอริยสัจ ๔ นั้นจะยังเผลอให้ความทุกข์เกิดขึ้นได้บ่อยๆ เพราะสันดานหรือจิตใต้สำนึกยังคงมีความรู้สึกว่ามีตัวตนอยู่ จะต้องมีการปฏิบัติที่สูงขึ้นและต่อเนื่องมั่นคง จนทำให้ความรู้สึกว่ามีตัวตนเลือนหายไปจากสันดานหรือจิตใต้สำนึก(ไม่มีสัญชาตญาณของความมีตัวตน) จิตก็จะไม่มีความทุกข์อย่างถาวรได้.

๒๕. จิตว่างคืออริยมรรค
ในการปฏิบัติตามหลักอริยสัจ ๔ นี้ก็สรุปอยู่ที่การมีศีลเป็นพื้นฐานอยู่ก่อน และก็มีการฝึกสมาธิประกอบอยู่ด้วย แล้วก็ต้องเรียนรู้จนเข้าใจว่าแท้จริงมันไม่มีตัวเราด้วย ซึ่งนี่คือพื้นฐานที่จำเป็นอย่างยิ่ง.

ทีนี้เวลาจะนำมาใช้งานก็ต้องคอยระวังจิตอยู่เสมออย่าให้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวเราหรือตัวตนใดๆเกิดขึ้นมา ซึ่งเรียกว่าทำ “จิตให้ว่าง”จากกิเลส หรือจากตัวตน และเมื่อทำได้ ไม่ว่าเราจะปฏิบัติหน้าที่การงานใดๆอยู่ก็ตาม หรือจะเกิดอะไรที่ไม่น่ายินดีอย่างที่สุดขึ้นมาก็ตาม จิตก็จะไม่เกิดความทุกข์ใดๆขึ้นมา ซึ่งนี่ก็คือลักษณะของนิพพานที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวันของเรา ถ้าปฏิบัติได้เป็นครั้งคราวก็ยังเป็นเพียงนิพพานชนิดชั่วคราว แต่ถ้าปฏิบัติได้ถาวรก็จะเป็นนิพพานชนิดถาวรได้

 

» บทที่ ๑ หลักพุทธศาสนาโดยสรุป

» บทที่ ๒ หลักพื้นฐานพุทธศาสนา

» บทที่ ๓ พุทธธรรม

» บทที่ ๔ คุณธรรมประจำใจ

» บทที่ ๕ พุทธประวัติ

» บทที่ ๖ ประวัติพุทธสาวก

» บทที่ ๗ หน้าที่ชาวพุทธ

» บทที่ ๘ การฝึกสมาธิ

» บทที่ ๙ การพัฒนาปัญญา

» บทที่ ๑๐ พระสงฆ์

» บทที่ ๑๑ ชาวพุทธ และศาสนพิธี

» บทที่ ๑๒ ภาษาบาลีและพุทธภาษิต

» บทที่ ๑๓ ศาสนาโลก

» บทที่ ๑๔ ธรรมประยุกติ

» บทที่ ๑๕ ปรมัตถธรรม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย