ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อชา สุภัทโท

ตุจโฉโปฏฐิละ

 2

            เมื่อท่านขึ้นมาแล้วสามเณรจึงสอนให้ โดยใช้วิธีกำหนดอารมณ็จับอารมณ์ ให้รู้จักจิตของตน ให้รู้จักอารมณ์ของตน เณรก็ยกอุบายอันหนึ่งขึ้นมาว่า ให้ใช้วิธีที่บุรุษทั้งหลายจะจับเหี้ย เหี้ยตัวหนึ่งเข้าไปในโพรงจอมปลวกซึ่งมีรูอยู่หกรู ถ้าเหี้ยเข้าไปในที่นั้น จะทำอย่างไรเราจึงจะจับมันได้ จะต้องปิดไว้สักห้ารูเอาอะไรมาปิดมันไว้ให้เหลือแค่รูเดียว
สำหรับให้เหี้ยออก นอกนั้นปิดไว้หมดแล้วให้นั่งจ้องมองอยู่ที่รูนั้น ครั้นเหี้ยวิ่งออกก็จับ อันนี้ฉันใด การกำหนดจิตก็ฉันนั้น ตาก็ปิดไว้ หูก็ปิดไว้ จมูกก็ปิดไว้ ลิ้นก็ปิดไว้ กายก็ปิดไว้ เหลือแค่จิตอันเดียว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ปิดมันไว้ คือสำรวมสังวร ให้กำหนดจิตอย่างเดียว

            การภาวนาก็เหมือนกันกับบุรุษจับเหี้ย อย่างเราจะกำหนดลมหายใจให้มีสติ สติ คือ ความระมัดระวังรู้อยู่ว่าเดี๋ยวนี้เราทำอะไรอยู่ สัมปชัญญะ คือ รู้ตัวว่าเรากำลังทำอันนั้นอยู่ ผู้รู้รู้ว่ามันเป็นอย่างนั้นอยู่ให้กำหนดลมหายใจเข้าด้วยการมีสติ – ความระลึกได้สัมปชัญญะความรู้ตัว

            การที่ว่าระลึกได้ คือ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในจิตไม่ใช่การที่เราไปศึกษาที่ไหนมา ให้รู้จักแต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นมา จิตมันอยู่เฉยๆ มันก็มีความรู้สึกขึ้นมา อันนี้แหละเป็นความรู้สึก สติที่ควบคู่กันกับความรู้สึก มีสติอยู่ คือความระลึกได้ว่า เราพูดอยู่ หรือเราทำอยู่ หรือเราไปเดินอยู่ หรือเรานั่งอยู่ จะไปจะมาก็รู้ นั่นเรียกว่า สติระลึกได้ สัมปชัญญะ คือ ความรู้ตัวว่า บัดนี้เรากำลังเดินอยู่ เรานั่งอยู่ เรานอนอยู่ เรารับอารมณ์อะไรอยู่เดี๋ยวนี้ สองอย่างนี้ ทั้งสติความระลึกได้ และสัมปชัญญะความรู้ตัว ในการที่เราระลึกได้อยู่เสมอกัน เราก็สามารถรู้ใจของเราว่าในเวลานี้มันคิดอย่างไร เมื่อถูกอารมณ์ชนิดนั้นมา มันคิดอย่างไร อันนั้นเราจะรู้จัก

            ผู้ที่รับรู้อารมณ์นั้น คือ ตัวจิต อารมณ์ คือสภาวะที่มันจรเข้ามา เช่น มีเสียง อย่างเสียงเขาไสกบ อยู่นี่ มันเข้าทางหูแล้ว จิตก็รับรู้ว่าเสียงกบ นั่นผู้ที่รับรู้อารมณ์รับรู้เสียงกบนั้น เรียกว่าจิต ที่นี่ จติที่รับรู้นี่เป็นจิตที่หยาบๆ เป็นจิตที่ปกติของจิต บาทีเรานั่งฟังเสียงกบอยู่รำคาญในความรู้สึกของผู้ที่รับรู้ เราจะต้องอบรมผู้ที่รับรู้นั้นให้มันรู้ตามเป็นจริงอีกทีหนึ่ง ที่เรียกว่าพุทโธ

            ถ้าหากว่าเราไม่รู้แจ้งตามเป็นจริงเราอาจจะรำคาญในเสียงคนหรือเสียงรถ หรือเสียงกบ มีแต่จิตเฉยๆ รับรู้ว่ารำคาญ รู้ตามสัญญา ไม่ได้รู้ตามความเป็นจริง เราจะต้องให้มันรู้ในญาณทัศนะ คือ อำนาจของจิตที่ละเอียดให้รู้ว่าเสียงกบที่ดังอยู่นั้น ก็สักแต่ว่าเสียงเฉยๆ ถ้าหากว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นมันก็ไม่น่ารำคาญอะไร เสียงก็ดังของมันไป เราก็นั่งรับรู้ไป อันนั้นก็เรียกว่ารู้ถึงอารมณ์ขึ้นมา นี่ถ้าหากว่าเราภาวนาพุทโธ มีความรู้แจ้งในเสียงกบ เสียงกบนั้นไม่ได้มากวนใคร มันก็ดังอยู่ตามสภาวะ เสียงนี้ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเราเขา เรียกว่าเสียงเท่านั้น มันก็ทิ้งไป วางไป

            ถ้ารู้อย่างนี้ คือจิตรู้โดยสภาวะที่เรียกว่า พุทโธ คือ ความรู้แจ้งตลอดเบิกบาน รู้ตามความเป็นจริง เสียงก็ปล่อยไปตามเรื่องของเสียงไม่ได้รบกวนใคร นอกจากเราจะไปยึดมั่นว่า “เออ... เรารำคาญ ไม่อยากจะได้ยินคนพูดอย่างนั้น ไม่อยากได้ยินเสียงอย่างนั้น” ก็เลยเกิดทุกข์ขึ้นมา นี่เหตุให้ทุกข์เกิดขึ้นมา เหตุที่มีทุกข์ขึ้นมาก็เพราะอะไร ก็เพราะเราไม่รู้จักเรื่องตามความจริง ยังไม่ได้ภาวนาพุทโธ ยังไม่เบิกบาน ยังไม่ตื่น ยังไม่รู้จัก มีแต่เฉพาะจิตล้วนๆ ที่ยังไม่บริสุทธิ์ เป็นจิตที่ใช้การงานอะไรยังไม่ได้เต็มที่ ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงให้ฝีกหัด ฝีกจิตนี้ให้มีกำลัง การทำจิตให้มีกำลังกับการทำกายให้มีกำลังมีลักษณะอันเดียวกัน แต่มีวิธีการต่างกัน การฝึก กำลังกายเราต้องเคลื่อนไหวอวัยวะ มีการนวดกายเหยียดกายเช่น วิ่งตอนเช้าตอนเย็น เป็นต้น นี่เรียกว่า ออกกำลังกาย กายนั้นก็จะมีกำลังขึ้นมา จะคล่องแคล่วขึ้นมาเลือดลมจะมีกำลังวิ่งไปมาสะดวกตามเส้นประสาท ต่างๆ ได้ กายจะมีกำลังดีกว่าเมื่อไม่ได้ฝึกแต่การฝึกจิตให้มีกำลัง ไม่ใช่ให้มันวิ่งให้มันเคลื่อนไหวอย่างกับการออกกำลังกาย คือ ทำจิตให้มันหยุด ทำจิตให้พักผ่อน เช่น เราทำสมาธิยกอารมณ์อันใดอันหนึ่งขึ้นมา เช่นอานาปานสติ ลมหายใจเข้าออก อันนี้เป็นรากฐาน เป็นเป้าหมายในการเพ่งในการพิจารณาเราก็ กำหนดลมหายใจ การกำหนด ก็คือ การรู้ตามลมนั่นเอง กำหนดลมเข้าแล้วกำหนดลมออก กำหนดให้รู้ระยะของลมให้มีความรู้อยู่ในลม ตามรู้ลมเข้าออกสบายแล้วพยายามปล่อยสิ่งทั้งหลายออก จิตของเราก็จะมีกำลังเพราะว่ามีอารมณ์เดียว ถ้าหากว่าเราปล่อยให้จิตคิดอย่างนั้นอย่างนี้สารพัด มีหลายอารมณ์ มันไม่รวมเป็นอารมณ์เดียว จิตเราก็จะหยุดไม่ได้ ที่ว่าจิตหยุดได้นั้นก็คือ หยุดในความรู้สึก ไม่คิดแล่นไปทั่ว เช่น เรามีมีดเล่มหนึ่งที่เราลับไว้ดีแล้ว แล้วมัวแต่ฟันหินฟันอิฐฟันหญ้าไปทั่ว ถ้าเราฟันไม่เลือกอย่างนี้ มีดของเราก็จะหมดความคม เราจึงต้องฟันแต่สิ่งที่จะเกิดประโยชน์ จิตนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราปล่อยให้จิตแล่นไปในสิ่งที่ไม่เป็นสาระประโยชน์ ก็จะไม่ได้ปล่อยอะไรจิตนั้นจะไม่มีกำลัง ไม่ได้พักผ่อน ถ้าจิตไม่มีกำลังปัญญามันก็ไม่เกิด จิตไม่มีกำลังคือ จิตที่ไม่มีสมาธิเลย

            ถ้าจิตไม่ได้หยุดจะเห็นอารมณ์นั้นไม่ได้ชัดเจน ถ้าเรารู้จักว่าจิตนี้เป็นจิต อารมณ์เป็นอารมณ์ นี่คือหัวข้อแรกที่จะตั้งพระพุทธศาสนาขึ้นมาได้ นี้คือตัวศาสนาเราบำรุงให้จิตนี้เกิดขึ้น เป็นลักษณะของการปฏิบัติให้เป็นสมถะให้เป็นวิปัสสนา รวมกันเข้าเป็นสมถะ วิปัสสนา เป็นข้อปฏิบัติ มาบำรุงจิตใจให้มีศีลมีธรรมให้จิตได้หยุด ให้จิตได้เกิดปัญญา
ให้รู้เท่าตามความเป็นจริงของมัน ถ้าพูดตามความเป็นจริง อย่างที่ว่าเราเกิดมาเป็นมนุษย์ กิริยาที่เราอยู่ กิริยาที่เรากิน กิริยาที่มันเป็นอยู่ทุกวันนี้ เราก็เหมือนกันกับเด็กน้อย เด็กน้อยมันไม่รู้เรื่องอะไร ถ้าผู้ใหญ่มามองดูกิริยาของเด็ก การเล่นการกระโดดนั้น มันไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร จิตเราที่ไม่ได้ฝึกก็เหมือนกัน เป็นจิตที่ไม่มีกำลัง จะพูดก็ไม่มีสติการกระทำก็ไม่มีปัญญา เสื่อมไม่รู้จักว่ามันเสื่อมเสียก็ไม่รู้ว่ามันเสีย ไม่รู้เรื่องเล่นไปตามประสมเด็กน้อย จิตที่เราไม่รู้จักจะเป็นอย่างนั้น

<< ย้อนกลับ | หน้าถัดไป >>

» การปล่อยวาง

» จิตที่ตื่นรู้

» ตามดูจิต

» สมถวิปัสสนา

» บัว 4 เหล่า

» ธาตุ 4

» มรรค 8

» ทางพ้นทุกข์

» บ้านที่แท้จริง

» ฝึกจิตให้มีกำลัง

» ตุจโฉโปฏฐิละ

» การทำจิตให้สงบ

» อ่านใจธรรมชาติ

» สองหน้าของสัจธรรม

» ทางสายกลาง

» ธรรมะกับธรรมชาติ

» นอกเหตุเหนือผล

» อยู่กับงูเห่า

» ภาวนาพุทโธ

» อยู่เพื่ออะไร

» อยากเกิดแต่ไม่อยากตาย

» ไม่มีอะไรได้ไม่มีอะไรเสีย

» ปลาไม่เห็นน้ำ

» สงบจิตได้ปัญญา

» สมาธิภาวนา

» ธรรมะเชิงอุปมาอุปมัย

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย