ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อชา สุภัทโท

ตุจโฉโปฏฐิละ

4

            ยกตัวอย่าง เช่น ศีรษะของเรา ในเมืองไทยเราหัวนี้เป็นสิ่งที่สำคัญแท้ๆ แตะมันไม่ได้ จะไปจับหัวกันกลางทางก็ตีกันเลย คือมันยังไม่ยอม ถ้ายอมเหมือนนายพลนายพันทั้งหลายที่มาหาอาตมาให้เป่าศีรษะก็ไม่เป็นไร จับศีรษะได้สบาย เขากับมีกำลังใจอีกด้วยซ้ำแต่ว่าเรายอมเสียสละคราวหนึ่ง ถ้าเจอกันตามทางไปจับศีรษะอย่างนั้นตีกันเลย นี่มันเกิดทุกข์ตรงตัวนี้ มันยึดมั่นถือมั่นตัวนี้ อาตมาเคยไปในประเทศต่างๆ เขาจับหัวกันเลย ผู้หญิงก็ตาม ผู้ชายก็ตาม จับหัวกันเลย มันก็จริงของเขานะนี่ ถ้าไม่ยึดมั่นมากมันก็ผาสุกจริงๆ ถ้ามาในเมืองไทยนี้ จะจับหัวเขานี่ก็ไม่เป็นไรเราไม่ได้ถือมันถ้าจับศีรษะก็ถือกันจริงๆ ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด นี่คือความยึดความหมายมั่น ที่จริงทุกๆ ส่วนในร่างกายนี้มันก็เท่าๆ กัน แต่ส่วนที่เรายึดแท้ๆ นี่คนเราก็ผูกพันไว้ ซึ่งความยึดมั่นถือมั่น

            อันนั้นแหละเป็นเหตุ ที่นั่นเป็นเหตุให้ทุกข์เกิดฉะนั้น เราดับเหตุเสียไม่ให้มันมีรากฐาน อย่าให้มันมีพื้นฐานที่ทุกข์จะเกิด เช่นเราพิจารณาร่างกายของเรามันก็เสมอกันทั้งนั้น ด้านล่างกับด้านหัวมันก็เท่ากันด้านข้างๆ กับด้านหัวมันก็เท่ากัน มันก็เท่านั้นอยู่ ถ้าเราคิดให้ดีๆ เขามาตบหัวเรามันก็เหมือนเดิมอยู่ไม่เป็นไร นี่คือผู้ที่ละเหตุได้ มันมีเรื่องเท่านี้แหละ มนุษย์ เรานี้มีความยึดมั่นรูปเดียวเท่านี้ อาศัยรูปเดียวเท่านั้นก็ฆ่ากันเลย มันก็เรื่องเท่านี้เองไม่มีเรื่องมาก พูดถึงส่วนบุคคลก็เป็นเรื่องเท่านี้ เรื่องครอบครัวก็เรื่องเท่านั้น เรื่องประเทศชาติก็ไม่มีอะไร มีเท่านี้ ไม่มีรายได้ เลยรบกันฆ่ากันเลย ไม่มีใครได้อะไรสักคน ไม่รู้เป็นอะไร ฆ่ากันเฉยๆ มีอำนาจ มีลาภ มียศ มีสรรเสริญ มีสุข มีทุกข์ มันเป็นโลกธรรม ธรรมที่ครอบงำสัตว์โลกอยู่ สัตว์โลกจึงเป็นไปตามโลกธรรม มีลาภหนึ่ง ไม่มีลาภหนึ่ง มียศหนึ่ง ไม่มียศหนึ่ง มีสรรเสริญหนึ่ง มีนินทาหนึ่ง มีสุขหนึ่ง มีทุกข์หนึ่ง ท่านเรียกว่า โลกธรรม ธรรมเหล่านี้เป็นธรรมที่ชั่ว เป็นธรรมที่นำความทุกข์มาให้ ถ้าไม่ภาวนา ถ้าไม่พิจารณารู้เท่ามันก็เป็นทุกข์ ฆ่ากันก็ได้ ทำอะไรกันก็ได้เรื่องลาภ เรื่องยศ เรื่องอำนาจนี่ เพราะอะไร เพราะไม่ได้ภาวนา ไม่ได้พิจารณามันให้สม่ำเสมอกันเดี๋ยวเขาตั้งเป็นนั่นเป็นนี่ขึ้นมา เป็นผู้ใหญ่บ้านเป็นกำนันขึ้น เป็นนั่นเป็นนี่ เป็นขึ้นเลย แต่ก่อนเคยมีผู้เฒ่าเล่าเรื่องเป็นผู้ใหญ่บ้านชั่วให้ฟัง พอเขาให้ยศเป็นผู้ใหญ่บ้าน ตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านขึ้นมาก็หลงอำนาจตนเพื่อนเก่าก็เล่นด้วยไม่ได้เหมือนเก่าละ มาแล้วก็ว่า “อย่ามาใกล้กันนะ มันไม่เหมือนเก่าแล้วนะ”

            มีลาภก็ดี มียศก็ดี มีสรรเสริญก็ดี มีสุข มีทุกข์ก็ดี พระพุทธองค์ก็ให้รู้มันเสีย ให้มันเหมือนเดิมเท่านั้นแหละ เอาไว้เพื่อใช้ในการงาน แล้วก็วางไว้พอปานเก่าเป็นคนผู้เดียวกับผู้เก่า ถ้าไม่รู้เท่าลาภยศสรรเสริญนินทาก็ฆ่ากันเลย หลงอำนาจของตน หลงลูกหลานหมดทุกคนถ้ารู้จักดีแล้วก็เห็นว่าเป็นพวกเดียวกันเถอะ เรื่องนี้เป็นเรื่องสมมติแท้ๆ แต่มันเป็นกิเลสมาก ท่านเรียกว่า โลกธรรม สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามธรรมนี้ มีคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า เรื่องทั้งหลายเหล่านี้มันเกิดขึ้นมาทีหลัง เมื่อเกิดมาแรกๆ ก็มีแต่รูปกับนามเกิดขึ้นเฉยๆ ครั้นเอานาย “ก” เข้ามาใส่ นี่เป็นไปด้วยสมมติ ต่อมาก็เมีเรื่องนายพล นายพันขึ้นมา ถ้าไม่รู้เรื่องสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นของจริง ก็เลยแบกไว้ แบกลาภไว้ แบกยศไว้ แบกชื่อไว้ แบกเสียงไว้ มีอำนาจ ชี้นกให้เป็นนก ชี้หนูให้เป็นหนูหมดทุกอย่างก็ได้ เกิดอำนาจขึ้นมาเอาคนนั้นไปฆ่าเสีย เอาคนนี้ไปติดคุกเสียอย่างนี้แหละ จึงมีอำนาจขึ้นมาเพราะเกียรติ คำที่ว่าเกียรตินั้น ตรงนั้นแหละ มันเป็นอุปาทานพอมีเกียรติขึ้นมาเป็นต้นก็สั่งเลย ผิดๆ ขัดๆ ก็ทำไปตามอำนาจของตน ทำไปตามอารมณ์ของตน ก็เลยไปตามความผิดอันนั้นเรื่องมันจึงขาดจากธรรมะ

            นี่เรื่องข้อปฏิบัติ ถ้ารู้แล้วก็ไม่ทำอย่างนั้น ความดีความชั่วมันมีแต่ไหนแต่ไรมา ลาภยศก็มีขึ้นมา ก็ให้มันมีแต่เฉพาะลาภนั้นยศนั้น อย่าให้มันมีมาถึงเรา เอามาใช้เฉยๆ ตามการงานแล้วก็แล้วไป เราก็เหมือนเดิม ถ้าเราได้ภาวนาเรื่องสิ่งเหล่านี้แล้ว ถึงมันจะได้อะไรขึ้นมาก็ดีก็ไม่มีหลง สบายอยู่เหมือนเก่า สม่ำเสมออยู่เหมือนเก่ามีลักษณะคล้ายคลึงกันทั้งหมดไม่มีอะไรเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าให้พิจารณาอย่างนี้ จึงจะรู้เรื่องมันตามเป็นจริงถ้าเราได้อะไรขึ้นมาไม่มีอะไรจะปรุงได้แต่งได้ เขาตั้งให้เป็นกำนันเป็นแต่ไม่เป็น เขาจะให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน ก็เป็นอยู่แต่ไม่เป็น เบื้องปลายเราจะเป็นอะไร? มันก็ตายเหมือนเก่าเท่านั้นแหละ เขาจะให้เป็นกำนันเป็นผู้ใหญ่บ้านก็ยังเหมือนเก่าจะทำอย่างไร ถ้าเราคิดอย่างนั้นแล้วมันก็ดีแน่นหนาดี มันก็พอปานเก่าเท่านั้นแหละ นี่เรียกว่า คนไม่หลง จะเอาอะไรมาให้มันก็ยังเป็นอย่างนั้นแหละ เขาจะให้เป็นกำนันเป็นผู้ใหญ่บ้านมันก็ยังเหมือนเก่าจะว่าอย่างไรถ้าเราคิดอย่างนั้นแล้วมันก็ดี แน่นหนาดี มันก็พอปานเก่า เท่านั้นแหละ นี่เรียกว่า คนไม่หลง จะเอาอะไรมาให้มันก็ยังเป็นอย่างนั้นแหละ มันสักแต่ว่าสังขาร ไม่มีอะไรจะมาปรุงจะมาแต่งจิตใจอันนี้ได้อีก ไม่มีอะไรจะมาย้อมมันได้อีก เครื่องย้อมใจให้เกิดราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีอันนี้แหละเป็นผู้ที่บำรุงพระพุทธศาสนา ให้ผู้ที่ถูกบำรุงก็ดี ผู้ที่ตั้งใจบำรุงก็ดี ให้คิดในแง่นี้ให้มาก ให้มีศีลธรรมเกิดขึ้นในจิตใจของตน

            นี่สรุปได้ว่า การบำรุงพระพุทธศาสนานี่แน่นอนต้องบำรุงอย่างนี้ บำรุงให้อาหาร ให้การขบการฉัน ให้ที่อยู่อาศัย ให้ยาบำบัดโรคก็ถูกเหมือนกัน แต่มันถูกแต่กระพี้ของมัน ฉะนั้น ทายกทายิกาทั้งหลาย ที่ได้มาฟังเทศน์ฟังธรรมบำเพ็ญกุศลนั้น อย่าลืมอันนี้ ไม้มันก็มีเปลือกมีกระพี้ มีแก่น สิ่งทั้งสามนี้อาศัยซึ่งกันและกัน จะมีแก่นไม้เพราะเปลือก จะมีเปลือกได้ก็เพราะกระพี้ จะมีกระพี้ได้ก็เพราะแก่น มันรวมกันเหมือนกับศีล สมาธิ ปัญญา ศีลคือ การตั้งกายวาจาใจให้เรียบร้อย สมาธิก็คือ การตั้งใจมั่น ปัญญาคือ การรอบรู้ในกองสังขารทั้งหลาย ให้เรียนกันอย่างนี้ ให้ปฏิบัติอย่างนี้เป็นปฏิบัติบูชา จึงจะเป็นผู้ที่บำรุงพระพุทธศาสนาที่ลึกซึ้ง ถ้าหากว่าเราไม่ได้เอาสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มาปฏิบัติที่ใจ ที่มีลาภมากก็หลง มียศก็หลง จะมีอะไรก็หลงหมดทุกอย่างมันเป็นเรื่องอย่างนั้น ถ้าหากว่าเราบำรุง แต่สิ่งทั้งหลายภายนอก เรื้องทะเลาะขัดแย้งกันไม่มีหยุด เรื่องผู้นั้นก่อกรรมกับคนนี้ก็ไม่หยุด เรื่องการแทงมีดกัน ยิงปืนกัน ก็ไม่มีหยุด ก่อนจะหยุดได้ต้องพิจารณาเรื่องลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ทุกข์ นินทา พิจารณาข้อปฏิบัติให้เป็นศีลธรรม ให้ระลึกว่าชาวโลกเรานี้ก็เป็นก้อนเดียวกัน เห็นว่าเราก็เหมือนเขาเห็นเขาก็เหมือนเรา เขาสุขเราก็สุขเขาทุกข์เราก็ทุกข์เหมือนกัน มันก็พอปานกัน พิจารณาอย่างนี้ก็จะเกิดความสบายเกิดธรรมะขึ้นมา นี่เป็นหลักของพระพุทธศาสนา ผู้ที่บำรุงพระพุทธศาสนา ก็บำรุงศีล บำรุงสมาธิ บำรุงปัญญา ให้เกิดขึ้นสม่ำเสมอได้จึงจะเป็นผู้ที่บำรุงพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง อันนี้ให้เราไปคิดดู

            โอกาสที่บรรยายธรรมะแก่ญาติโยมทั้งหลายก็สมควรแล้ว ท้ายที่สุดนี้ ก็ขอให้จงพากันตั้งอกตั้งใจนำข้อความเหล่านี้ไปพินิจพิจารณา ให้บำรุงด้วยการปฏิบัติอย่างแท้จริงทุกๆ คน ขอให้จงเป็นสุขเป็นสุขกันทุกๆคนเถิด..

<< ย้อนกลับ

» การปล่อยวาง

» จิตที่ตื่นรู้

» ตามดูจิต

» สมถวิปัสสนา

» บัว 4 เหล่า

» ธาตุ 4

» มรรค 8

» ทางพ้นทุกข์

» บ้านที่แท้จริง

» ฝึกจิตให้มีกำลัง

» ตุจโฉโปฏฐิละ

» การทำจิตให้สงบ

» อ่านใจธรรมชาติ

» สองหน้าของสัจธรรม

» ทางสายกลาง

» ธรรมะกับธรรมชาติ

» นอกเหตุเหนือผล

» อยู่กับงูเห่า

» ภาวนาพุทโธ

» อยู่เพื่ออะไร

» อยากเกิดแต่ไม่อยากตาย

» ไม่มีอะไรได้ไม่มีอะไรเสีย

» ปลาไม่เห็นน้ำ

» สงบจิตได้ปัญญา

» สมาธิภาวนา

» ธรรมะเชิงอุปมาอุปมัย

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย