ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อชา สุภัทโท

นอกเหตุเหนือผล

            คำสอนของพระบางอย่างเราฟังดูแล้ว ไม่ค่อยจะเข้าใจเลย บางทีคิดว่ามันน่าจะเป็นไปอย่างนั้นไม่ได้ ก็เลยไม่ทำ ความเป็นจริงนั้นคำพูดของพระมีเหตุผลทุกอย่าง ครั้งแรกที่อาตมาไม่นั่งหลับตา แล้วก็ไม่เชื่อเหมือนกัน ไม่เห็นว่าจะเกิดประโยชน์อะไรจากการหลับตาไปหมด นอกจากนั้นก็ไปเดินเดินจงกรม เดินไปจากต้นไม้ต้นนี้ไปต้นนั้น เดินไปเดินมาก็ขี้เกียจ เดินทำไม? กลับไปกลับมาไม่เกิดประโยชน์อะไร อย่างนี้มันก็คิดไป

            แต่ความจริงการเดินจงกรมนี้ มีประโยชน์มากการนั่งสมาธินี้ก็มีประโยชน์มาก แต่จริตของคนเราบางคนแรงไปในการเดินจงกรม บางคนแรงในการนั่ง จริตของท่านเป็นปนเปกันอยู่ แต่เราจะทิ้งกันไม่ได้ จะนั่งสมาธิอย่างเดียวก็ไม่ได้ จะเดินจงกรมอย่างเดียวก็ไม่ได้

            พระกรรมฐานท่านสอนว่า อิริยาบถสี่ การยืน การเดิน การนั่ง การนอน คนเราอาศัยอิริยาบถอย่างนี้อยู่ แล้วแต่ว่มันจะแรงการยืน การเดิน การนั่ง หรือการนอน แต่มันจะเร็วหรือช้า มันก็ค่อยๆเข้าไปในตัวของมัน

            อย่างวันหนึ่งเราเดินกี่ชั่วโมง นั่งกี่ชั่วโมง นอนกี่ชั่วโมง แต่เท่าไรก็ช่างมันเถอะ จับจุดมันเข้าก็เป็นการยืน การเดิน การนั่ง การนอนเสมอ การยืนเดินนั่งนอนนี้ให้เสมอกัน ท่านบอกไว้ในธรรมะ การปฏิบัติให้ปฏิบัติสม่ำเสมอกัน ให้อิริยาบถเสมอกัน อิริยาบถคืออะไร? คือการยืน การเดิน การนั่ง การนอน ให้มันเสมอกันเอ! คิดไม่ออก ให้มันเสมอนี้มันก็คงจะว่านอน 2 ชั่วโมง ก็ยืน 2 ชั่วโมง นั่งก็ 2 ชั่วโมง คงจะเป็นอย่งนั้นกระมัง

            อาตมาก็มาลองทำดูเหมือนกัน โอ๊ะ! มันไปไม่ไหว ไปไม่ไหวแน่นอนเลย จะยืนก็ให้ 2 ชั่วโมง หรือนั่งก็ให้ 2 ชั่วโมง เดินก็ 2 ชั่วโมง นอนก็ 2 ชั่วโมง เรียกว่าอิริยาบถเสมอกัน อย่างนี้เราฟังผิด ฟังตามแบบนี้ มันผิด อิริยาบถเสมอกัน ท่านพูดถึงจิตของเรา ความรู้สึกของเราเท่านั้น ไม่ใช่ท่านพูดทั่วไป คอทำจิตของเราให้มันเกิดปัญญาแล้ว ให้มันมีปัญญา ให้มันสว่าง

           ความรู้สึก หรือปัญญาของเรานั้น แม้เราจะอยู่ในอิริยาบถ ยืน เดิน นั่งนอน ก็รู้อยู่เสมอ เข้าใจอยู่เสมอในอารมณ์ต่างๆ แม้ฉันจะยืนอยู่ก็ช่าง จะนั่งหรือเดินก็ช่าง มันจะรู้อารมณ์อยู่เสมอไป ว่าอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นมันจะเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เท่านั้นแหละ

            คำพูดอย่างนี้ก็เป็นไป ความรู้สึกความรู้อย่างนั้นก็เป็นไป จิตใจก็น้อมเข้าไปอย่างนั้น เมื่อถูกอารมณ์เมื่อไรก็เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตลอดเวลาอยู่อย่างนั้น แม้ว่ามันจะรัก หรือจะเกลียดมันก็ยังไม่ทิ้งปฏิปทาของมัน รู้ของมันอยู่ถ้าหากว่ามาเพ่งถึงจิตให้เป็นปฏิปทา ให้สม่ำเสมอกัน ความสม่ำเสมอกัน คือมันปล่อยวางเสมอกัน เมื่อหากว่ามันได้อารมณ์ที่ดีตามสมมติของเขา มันก็ยังไม่ลืมตัวของมัน เมื่อมันรู้อารมณ์ที่ชั่ว มันก็ยังไม่ลืมตัวของมันมันไม่หลงในความชั่ว มันไม่หลงในความดี สมมติทั้งหลายเหล่านี้ มันจะตรงไปของมันอยู่เรื่อยๆ อิริยาบถนี้เอาเสมอได้ ถ้ามันยังไม่เสมอจัดให้มันเสมอได้

            ถ้าพูดถึงภายในไม่พูดถึงภายนอก พูดถึงเรื่องจิตใจ พูดถึงความรู้สึก ถ้าหากว่าอิริยาบถจิตใจสม่ำเสมอกัน จะถูกสรรเสริญมันก็อยู่แค่นั้น จะถูกนินทามันก็อยู่แค่นั้น มันไม่วิ่งขึ้น มันไม่วิ่งลง มันอยู่อย่างนี้ ก็เพราะอะไร? มันรู้อันตราย รู้อุปสรรค ในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เห็นโทษ เห็นโทษในการสรรเสริญ เห็นโทษในการนินทาเสมอกันแล้ว เรียกว่ามันเสมอกันแล้วนั้นอย่างนี้ ความรู้สึกอย่างนี้เรียกว่าทางใน มองดูด้านใน ไม่มองดูด้านนอก

            อารมรณ์ทั้งหลายนั้นนะ ถ้าหากว่าเราได้อารมณ์ที่ดี จิตของเรามันก็ดีด้วย ได้อารมณ์ที่ไม่ดีจิตของเราก็ไม่ดีไม่ชอบ มันจะเป็นอยู่อย่างนี้ นี้เรียกว่าอิริยาบถมันไม่สม่ำเสมอกันแล้ว มันสม่ำเสมอแต่ว่ามันรู้อารมณ์ ว่ามันยึดดีก็รู้ ยึดชั่วก็รู้จักแค่นี้ก็นับว่าดีแล้ว อิริยาบถนี้มัน สม่ำเสมอแต่มันยังวางไม่ได้ แต่ว่ามันรู้สม่ำเสมอ ยึดความดีก็รู้จัก ยึดความชั่วก็รู้จัก ความยึดเช่นนี้มันเป็นสิ่งที่ไม่ใช่หนทาง ก็รู้อยู่เข้าใจอย่างนี้ แต่ว่ามันทำยังไม่ได้เต็มที่ ยังไม่ได้ปล่อยวางจริง แต่มันรู้ว่า ถ้าจะปล่อยวางตรงนี้มันจะสงบ

            ปล่อยวางจากสิ่งทั้งปวง
แล้วเมื่อเราพยายามทำไปๆ เห็นโทษในอารมณ์ที่ว่า มันชอบใจหรือว่ามันไม่ชอบใจ หรือเห็นโทษในสรรเสริญ เห็นโทษในการนินทา สม่ำเสมอกันอยู่นั้นแหละ ไม่มีอะไรแปลกกัน นินทาก็สม่ำเสมอกันสรรเสริญมันก็สม่ำเสมอกัน

            เมื่อพูดถึงจิตคนเราในโลกนี้ ถ้านินทาละก็ไม่ได้บีบหัวใจเรา ถ้าถูกสรรเสริญมันแช่มชื่นสบาย มันเป็นอย่างนี้ตามธรรมชาติของมัน เมื่อมันรู้ตามความเป็นจริงเสียแล้วว่าอารมณ์ที่เขานินทานั้นมันก็มีโทษ อารมณ์ที่เขาสรรเสริญนั้นมันก็มีโทษ ติดในสรรเสริญมันก็มีโทษ ติดในการนินทามันก็มีโทษ มันเป็นโทษทั้งหมดทั้งนั้น ถ้าเราไปหมายมั่นมันอยู่อย่างนั้น

            เมื่อความรู้อย่างนี้เกิดขึ้นมา เราก็จะรู้สึกอารมณ์ ถ้าไปหมายมั่นมันก็เป็นทุกข์จริงๆ มันทุกข์ให้เห็น ถ้าไปยึดดียึดชั่วมันก็เป็นทุกข์ขึ้นมา แล้วก็มาเห็นโทษนั้นว่าความยึดทั้งหลายนั้นมันเป็นเหตุให้เราเป็นทุกข์ เพราะชั่วก็ตะครุบ ดีก็ตะครุบ ทำไมจึงเห็นโทษมัน? เพราะเราเคยยึดมั่นมันมา เคยตะครุบมันมาอย่างนี้ จึงเห็นโทษ มันไม่มีสุข ทีนี้ก็หาทางปล่อยมัน จะปล่อยมันไปตรงไหนหนอ?

            ในทางพระพุทธศาสนาท่านว่า อย่าไปยึดมั่นถือมั่น แต่เราฟังไม่จบไม่ตลอด ที่ว่าอย่าไปยึดมั่นถือมั่นนั้นคือว่า ท่านให้ยึดอยู่แต่อย่าให้มั่น เช่นอย่างนี้ อย่างไฟฉายนี่น่ะ นี่คืออะไร ไปยึดมันมาแล้วก็ดู พอรู้ว่าเป็นไฟฉายแล้วก็วางมัน อย่าไปมั่นยึดแบบนี้ ถ้าหากว่าเราไปยึดเราจะทำได้ไหม? จะเดินจงกรมก็ไม่ได้ จะทำอะไรก็ไม่ได้ ต้องยึดเสียก่อน

            ครั้งแรกจะว่ามันเป็นตัณหาก็ได้ แต่ว่าต่อไปมันจะเป็นบารมี อย่างเช่นท่านชาคโร จะมาวัดป่าพง ก็ต้องอยากมาก่อน ถ้าไม่รู้สึกว่าอยากมาก็ไม่ได้มา โยมทั้งหลายก็เหมือนกัน ก็มีความอยากนั่นแหละ จึงได้มานี้จึงมาด้วยความอยาก เมื่อมีความอยากขึ้นมา ท่านก็ว่าอย่ายึดมั่นคือมาแล้วก็กลับ อย่างที่สงสัยว่านี่อะไร แล้วก็ยึดขึ้นมา เออ มันเป็นไฟฉายนะ นี่น่ะแล้วก็วางมัน นี้เรียกว่ายึดแต่ไม่ให้มั่น ปล่อยวาง รู้แล้วปล่อยวาง พูดง่ายๆ ก็รู้ว่ารู้แล้วปล่อยวาง จับมาดูรู้แล้วปล่อยวาง

            อันนี้เขาสมมติว่ามันดี อันนี้เขาสมมติว่ามันไม่ดี รู้แล้วก็ปล่อยทั้งดี ทั้งชั่ว แต่ว่าการปล่อยนี้ไม่ได้ทำด้วยความโง่ ไม่ได้ยึดด้วยความโง่ ให้ยึดด้วยปัญญาอย่างนี้อันนี้อิริยาบถนี้เสมอได้ ต้องเสมอได้อย่างนี้ คือจิตมันเป็น ทำจิตให้รู้ ทำจิตให้เกิดปัญญา เมื่อจิตมีปัญญาแล้วอะไรมันจะเหนือไปกว่านั้นอีกเล่า ถ้าหากจะยึดมา มันก็ยึดไม่มีโทษยึดขึ้นมาแต่ไม่มั่น ยึดดูแล้วรู้แล้วก็วาง

            อารมรณ์เกิดมาทางหู อันนี้เรารู้โลกเขาว่ามันดี แล้วมันวาง โลกเขาว่ามันไม่ดี มันก็วาง มันรู้ดีรู้ชั่ว คนที่ไม่รู้ดี รู้ชั่ว ไปยึดทั้งดีทั้งชั่วแล้วเป็นทุกข์ทั้งนั้น คนรู้ดีรู้ชั่ว ไม่ได้ยึดในความดี ไม่ได้ยึดในความชั่ว คนที่ยึดในความดีความชั่ว นั่นคือคนไม่รู้ดีรู้ชั่ว และคำที่ว่า เราทำอะไร ตลอดที่ว่าเราอยู่ไปนี้ เราอยู่เพื่อประโยชน์อะไรเราทำงานนี้เราทำเพื่อต้องการอะไร แต่โลกเขาว่าทำงานอันนี้เพราะต้องการอันนั้น เขาว่าเป็นคนมีเหตุผล แต่พระท่านสอนยิ่งไปกว่านั้นอีก ท่านว่าทำงานอันนี้ทำไปแต่ไม่ต้องการอะไร ทำไมไม่ต้องการอะไร? โลกเขาต้องทำงานอันนี้เพื่อต้องการอันนั้น ทำงานอันนั้นเพื่อต้องการอันนี้ นี่เป็นเหตุผลอย่างชาวโลกเขา

หน้าถัดไป >>

» การปล่อยวาง

» จิตที่ตื่นรู้

» ตามดูจิต

» สมถวิปัสสนา

» บัว 4 เหล่า

» ธาตุ 4

» มรรค 8

» ทางพ้นทุกข์

» บ้านที่แท้จริง

» ฝึกจิตให้มีกำลัง

» ตุจโฉโปฏฐิละ

» การทำจิตให้สงบ

» อ่านใจธรรมชาติ

» สองหน้าของสัจธรรม

» ทางสายกลาง

» ธรรมะกับธรรมชาติ

» นอกเหตุเหนือผล

» อยู่กับงูเห่า

» ภาวนาพุทโธ

» อยู่เพื่ออะไร

» อยากเกิดแต่ไม่อยากตาย

» ไม่มีอะไรได้ไม่มีอะไรเสีย

» ปลาไม่เห็นน้ำ

» สงบจิตได้ปัญญา

» สมาธิภาวนา

» ธรรมะเชิงอุปมาอุปมัย

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย