ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อชา สุภัทโท

อยู่เพื่ออะไร

พระธรรมเทศนา แสดงที่วัดถ้ำแสงเพชร กันยายน พ.ศ. 2525

            นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมพุทฺธสฺส พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ นมสฺสามิ อิโต ปรํ สกฺกจฺจํ ธมฺโม โสตพฺโพติ

            ขอให้ตั้งอยู่ในความสงบ รับโอวาทพอสมควรวันนี้มีทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตมาถวายดอกไม้ตามกาลเวลา เรื่องสักการะ เรื่องคารวะการเคารพต่อผู้ใหญ่เป็นมงคลอันเลิศ พรรษานี้อาตมาไม่ค่อยมีเรี่ยวแรงไม่สบาย สุขภาพไม่แข็งแรง ฉะนั้น จึงหลบมาอยู่บนภูเขานี้ ก็ได้รับอากาศบริสุทธิ์สักพรรษาหนึ่งญาติโยมสานุศิษย์ทั้งหลายไปเยี่ยม ก็ไม่ได้สนองศรัทธาอย่างเต็มที่ เพราะว่าเสียงมันจะหมดแล้ว ลมมันก็จะหมดแล้ว นับว่าเป็นบุญที่เป็นตัวเป็นตนมานั่ง ให้ญาติโยมเห็นอยู่นี่นับว่าดีแล้ว ต่อไปก็จะไม่ได้เห็น ลมมันก็จะหมด เสียงมันก็จะหมด มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของสังขาร ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านสอนไว้ ขะยะวะยัง คือความสิ้นไปเสื่อมไปของสังขาร

            เสื่อมไปอย่างไร ? เปรียบให้ฟังเสมือนก้อนน้ำแข็งแต่ก่อนมันเป็นน้ำเขาเอามาทำให้เป็นก้อน แต่มันก็อยู่ไมกี่วันหรอกมันก็เสื่อมไป เอาก้อนน้ำแข็งใหญ่ๆเท่าเท่านี้ไปวางไว้กลางแจ้ง จะดูความเสื่อมของก้อนน้ำแข็งก็เหมือนสังขารนั้นมันจะเสื่อมทีละน้อย ทีละน้อยไม่กี่นาทีไม่กี่ชั่วโมง ก้อนน้ำแข็งก็จะหมด ละลายเป็นน้ำไป นี่เรียกว่าเป็น ขะยะวะยัง ความสิ้นไปเสื่อมไปของสังขารทั้งหลาย เป็นมานานแล้ว ตั้งแต่ตั้งโลกขึ้นมาเราเกิดมาเราเก็บเอาสิ่งเหล่านี้มาด้วย ไม่ใช่ว่าเราทิ้งไปไหน พอเกิดเราเก็บเอาความเจ็บ ความแก่ ความตายมา พร้อมกัน

            ดังนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านจึงตรัสไว้ว่า ขะยะวะยัง ความสิ้นไปเสื่อมไปของสังขารทั้งหลาย เรานั่งอยู่บนศาลานี้ ทั้งอุบาสกอุบาสิกาทั้งพระทั้งเณรทั้งหมดนี้ มีแต่ก้อนเสื่อมทั้งนั้น นี่ที่ก้อนมันแข็ง เปรียบเช่นก้อนน้ำแข็งแต่ก่อนเป็นน้ำมันเป็นก้อนน้ำแข็งแล้วก็เสื่อมไป เห็นความเสื่อมมันไหม? ดูอาการที่มันเสื่อมซี ร่างกายของเรานี่ทุกส่วนมันเสื่อมผมมันก็เสื่อมไป ขนมันก็เสื่อมไป เล็บมันก็เสื่อมไป หนังมันก็เสื่อมไป อะไรทุกอย่างมันเสื่อมไปทั้งนั้น

            ญาติโยมทุกคนเมื่อครั้งแรกคงจะไม่เป็นอย่างนี้นะ คงจะมีตัวเล็กกว่านี้ นี่มันโตขึ้นมามันเจริญขึ้นมา ต่อไปนี้มันก็จะเสื่อม เสึ่อมไปตามธรรมชาติของมัน เสื่อมไปเหมือนก้อนน้ำแข็ง เดี๋ยวก็หมดก้อนน้ำแข็งมันก็กลายเป็นน้ำ เรานี่ก็เหมือนกันทุกคนมีดินมีน้ำมีไฟมีลม เมื่อมีตัวตนประกอบกันอยู่ธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟตั้งขึ้นเรียกว่าคน แต่เดิมไมู่ร้ว่าเป็นอะไรหรอกเรียกว่าคน เราก็ดีอกดีใจเป็นคนผู้ชายเป็นคนผู้หญิง สมมติชื่อให้นายนั้นนางนี้ตามเรื่องเพื่อเรียกตามภาพให้จำง่ายให้การงานง่าย แต่ความเป็นจริงก็ไม่มีอะไร มีน้ำหนึ่ง ดินหนึ่ง ลมหนึ่ง ไฟหนึ่งมาปรุงกันเข้ากลายเป็นรูปเรียกว่าคนโยมอย่าพึ่งดีใจนะ ดูไปดูมาก็ไม่มีคนหรอก ที่มันเข้มเข็งพวกเนื้อพวกหนังพวกกระดูกทั้งหลายเหล่านี้เป็นดิน อาการที่มันเหลวๆตามสภาพร่างกายนั้นเราเรียกว่าน้ำ อาการที่มันอบอุ่นอยู่ในร่างกายเราเรียกว่าไฟ อาการที่มันพัดไปมาอยู่ในร่างกายของเรานี้ ลมพัดขึ้นเบื้องบนพัดลงเบื้องต่ำนี้เรียกว่าลม ทั้ง 4 ประการนี้มาปรุงกันเข้าเรียกว่าคนคนฟังยังมีเป็นผู้หญิงผู้ชายอีก จึงมีเครื่องหมายตามสมมติ ของ เรา

            แต่อยู่ที่วัดป่าพง ที่ไม่เป็นผู้หญิงไม่เป็นผู้ชายก็มีเป็นนะปุงสกลึงค์ไม่ใช่อิตถีลึงค์ ไม่ใช่ปุงลึงค์ คือซากศพที่เขาเอาเนื้อเอาหนังออกหมดแล้ว เหลือแต่โครงกระดูกเท่านั้น เป็นซากโครงกระดูกเขาแขวนไว้ ไปดูก็ไม่เห็นว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ใครไปถามว่านี่เป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ได้แต่มองหน้ากัน เพราะมันมีแต่โครงกระดูกเท่านั้นเนื้อหนังออกหมดแล้ว พวกเราทั้งหลายก็ไม่รู้ ทุกคนไปวัดป่าพงเข้าไปในศาลาก็ไปดูโครงกระดูกบางคนดูไม่ได้ วิ่งออกจากศาลาเลยกลัว...กลัวเจ้าของอย่างนั้นเข้าใจว่าไม่เคยเห็นตัวเราเองสักที ไปกลัวกระดูกไม่นึกถึงคุณค่าของกระดูก เราเดินมาจากบ้าน นั่งรถมาจากบ้าน ถ้าไม่มีกระดูกจะเป็นอย่างไร? จะเดินไปมาได้ไหม? นั่งรถมาถึงวัดป่าพง พอลงรถเข้าศาลาไปดูโครงกระดูก พอเห็นวิ่งออกจากศาลาเลย กลัวโครงกระดูก คนเราไม่เคยเห็น เกิดมาพร้อมกันไม่เคยเห็นกันนอนเบาะอันเดียวกันไม่เคยเห็นกัน นี่แสดงว่าเราบุญมากที่มาเห็น แก่แล้ว 50 ปี 60 ปี 70 ปีนมัสการวัดป่าพงเห็นโครงกระดูก กลัว นี่อะไรไม่รู้ แสดงว่าเราไม่คุ้นเคยเลย ไม่รู้จักตัวของเราเลย กลับไปบ้านก็ยังนอนไม่หลับอยู่ 3-4 วัน แต่ก็นอนกับโครงกระดูกนั่นแหละไม่ใช่นอนที่อื่นหรอก ห่มผ้าผืนเดียวกันอะไรๆ ด้วยกัน นั่งบริโภคข้าวด้วยกันแต่เราก็กลัว นี่แสดงว่าเราห่างเหินจากตัวเรามากที่ลุด น่าสงสาร ไปดูแต่อย่างอื่น ไปดูแต่วัตถุของอื่นนอกจากตัวเรา ไม่เคยมองดูตัวเราเลย ถ้าพูดตรง ๆ แล้วก็น่าสงสารมนุษย์เหมือนกันดังนั้นคนเราจึงขาดที่พึ่ง

            อาตมาเคยบวชนาคมาหลายองค์ “เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ” นาคที่เคยเป็นนักศึกษาคงนึกหัวเราะว่า “ท่านอาจารย์เอาอะไรมาสอนนี่ เอาผมที่มันมีอยู่นานแล้วมาสอน ไม่ต้องสอนแล้ว รู้จักแล้วเอาของที่รู้จักแล้วมาสอนทำไม?” นี่คนที่มันมืดมากมันก็เป็นอย่างนี้ คิดว่าเราเห็นผม อาตมาบอกว่าคำที่ว่าเห็นผมนั้น คือเห็นตามความเป็นจริง เห็นขนก็เห็นตามความเป็นจริง เห็นเล็บเห็นหน้าเห็นฟันก็เห็นตามความเป็นจริง จึงเรียกว่าเห็น ไม่ใช่ว่า เห็นอย่างผิวเผินแต่เห็นตามความเป็นจริง อย่างไรๆ เราคงจะไม่หมกมุ่นอยู่ในโลกอย่างนี้ถ้าเห็นตามความจริง ผม ขน เล็บ ฟันหนัง เป็นอย่างไร ตามความเป็นจริงเป็นอย่างไร? เป็นของสวยไหม? เป็นของสะอาดไหม เป็นของมีแก่นสารไหม? เป็นของเที่ยงไหม? เปล่า...มันไม่มีอะไรหรอก ของไม่สวยแต่เราไปสำคัญว่ามันสวยของไม่จริงไปสำคัญว่ามันจริง

            อย่าง เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ คือ ผมขน เล็บ ฟัน หนัง คนเราไปติดอยู่นี่ พระพุทธองค์ท่านยกมาทั้ง 5 ประการนี้ เป็นมูลกรรมฐานสอนให้รู้จักกรรมฐานทั้ง 5นี้ มันเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนไม่ใช่เราไม่ใช่เขา เราเกิดขึ้นมาก็หลงมันอันนี้เป็นของโสโครก ดูซิ คนเราไม่อาบน้ำสัก 2 วันสิเข้าใกล้กันได้ไหม? มันเหม็น เหงื่อออกมากๆไปนั่งทำงานรวมกันอย่างนี้ เอาสิเหม็นทั้งนั้นแหละกลับไปบ้านอาบน้ำเอาสบู่มาถูออกหายไปนิดหนึ่งก็หอมสบู่ขึ้นมา ได้ถูสบู่มันก็หอม ไอ้ตัวเหม็นมันก็อยู่อย่างเดิมนั้นแหละ มันยังไม่ปรากฏเท่านั้นกลิ่นสบู่มันข่มไว้เมื่อหมดสบู่มันก็เหม็นตามเคยอันนี้เรามักจะเห็นรูปที่นั่งอยู่นี่ นึกว่ามันสวยมันงามมันแน่น มันหนา มันตรงตา มันไม่แก่ มันไม่เจ็บมันไม่ตาย หลงเพลิดเพลินอยู่ในสากลโลกนี้ ฉะนั้นจึงไม่รู้จักพึ่งตัวเอง ตัวที่พึ่งของเราคือตัวใจ ใจของเราเป็นที่พึ่งจริงๆ ศาลาหลังนี้มันใหญ่ก็ไม่ใช่ที่พึ่ง มันเป็นที่อาศัยชั่วคราว นกพิราบมันก็มาอาศัยอยู่ ตุ๊กแกมันก็มาอาศัยอยู่ จิ้งเหลนนี้มันก็มาอาศัยอยู่ ทุกสิ่งทุกอย่างมาอาศัยอยู่ได้ เรานึกว่าของเรามันไม่ใช่ของเราหรอกมันอยู่ด้วยกัน หนูมันก็มาอยู่สารพัดอย่าง นี่เรียกว่าที่อาศัยชั่วคราว เดี๋ยวก็หนีไปจากไป เราก็นึกว่าอันนี้เป็นที่พึ่งของเรา คนมีบ้านหลังเล็กๆ ก็เป็นทุกข์เพราะบ้านมันเล็ก มีบ้านหลังใหญ่ ๆ ก็เป็นทุกข์เพราะกวาดไม่ไหวตอนเช้าก็บ่น ตอนเย็นก็บ่น จับอะไรวางตรงไหนก็ไม่ค่อยได้เก็บ คุณหญิงคุณนายนี่จึงเป็นโรคประสาท...ทุกข์

            ฉะนั้น พระพุทธองค์จึงให้หาที่พึ่ง คือ หาใจของเรา ใจของเราเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยมากคนเราไม่ค่อยมองดูในสิ่งที่สำคัญ ไปมองที่อื่นที่ไม่สำคัญ เป็นต้นว่ากวาดบ้าน ล้างจานก็มุ่งความสะอาด ล้างถ้วยล้างจานให้มันสะอาดทุกสิ่งทุกอย่างมุ่งความสะอาด แต่ใจเจ้าของไม่เคยมุ่งเลย ใจของเรามันเน่า บางทีก็โกรธหน้าบูดหน้าบึ้งอยู่นั่นแหละ ก็ไปมุ่งแต่จานให้จานมันสะอาดใจของเราไม่สะอาดเท่าไร ถ็ไม่มองดู นี่เราขาดที่พึ่งเอาแต่ที่อาศัยแต่งบ้านแต่งช่อง แต่งอะไรสารพัดอย่างแต่ใจของเราไม่ค่อยจะแต่งกัน ทุกข์ไม่ค่อยจะมองดูมันใจนี่แหละเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นพระพุทธองค์ ท่านจึงพูดว่าให้หาที่พึ่งทางใจ “อัตตา หิ อัตตะโน นาโถ” ใครจะเป็นที่พึ่งได้? ที่เป็นที่พึ่งที่แน่นอนก็คือใจของเรานี่เอง ไม่ใช่สิ่งอื่น พึ่งสิ่งอื่นก็พึ่งได้แต่ไม่ใช่ของที่แน่นอน เราจะพึ่งได้ก็เพราะเราพึ่งตัวของเราเราต้องมีที่พึ่งก่อนจะพึ่งอาจารย์ พึ่งญาติมิตรสหายทั้งหลาย จะพึ่งได้ดีนั้น เราต้องทำตัวของเราเป็นที่พึ่งให้ได้เสียก่อน

            ดังนั้น วันนี้ที่มากราบนมัสการทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ขอให้รับโอวาทนี้ไปพินิจพิจารณา เราทุกคนให้นึกเสมอว่าเราคืออะไร? เราเกิดมาทำไม? นี่ถามปัญหาเจ้าของอยู่เสมอว่า เราเกิดมาทำไม? ให้ถามเสมอ บางคนไม่รู้นะ แต่อยากได้ความสุขใจมันทุกข์ไม่หาย รวยก็ทุกข์จนก็ทุกข์ เป็นเด็กเป็นคนโตก็ทุกข์ ทุกข์หมดทุกอย่าง เพราะอะไร? เพราะว่ามันขาดปัญญา เป็นคนจนก็ทุกข์เพราะมันจน เป็นคนรวยก็ทุกข์เพราะมันรวยมาก ของมากๆรักษาคนเดียว ในสมัยก่อนอาตมาเคยเป็นสามเณร เคยเทศน์ให้โยมฟังครูบาอาจารย์ท่านให้เทศน์ พูดถึงความร่ำรวยในการมีทาส ให้มีทาสสักร้อย ผู้หญิงก็ให้ได้สักร้อยหนึ่งผู้ชายก็ร้อยหนึ่ง มีช้างก็ร้อยหนึ่ง มีวัวก็ร้อยหนึ่งมีควายก็ร้อยหนึ่ง มีแต่สิ่งละร้อยละร้อยทั้งนั้นญาติโยมได้ฟังแล้วก็สบายใจ ให้โยมไปเลี้ยงควายสักร้อยหนึ่งเอาไหม? เอาควายร้อยหนึ่ง เอาวัวร้อยหนึ่งมีทาสผู้หญิงผู้ชายอย่างละร้อยให้โยมรักษาคนเดียวมันจะดีไหม? นี่ไม่คิดดู แต่ความอยากมีวัว มีควาย มีช้าง มีม้า มีทาส สิ่งละร้อยละร้อย น่าฟัง...อุ๊ย! อิ่มใจเหลือเกินมันสบายนะ แต่อาตมาเห็นว่าได้สัก 50 ตัวก็พอแล้วแค่ฟั่นเชือกเท่านั้นก็เต็มทีแล้ว อันนี้โยมไม่คิด คิดแต่ได้.ไม่คิดถึงว่ามันจะยากจะลำบาก

            สิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ในตัวเรานี้ ถ้าเราไม่มีปัญญาจะทำให้เราทุกข์นะ ถ้าเรามีปัญญานำออกจากทุกข์ได้ ตาหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตาไม่ใช่ของดีนะ ถ้าเราใจไม่ดีไปมองคนบางคน ไปเกลียดเขาอีกแล้ว มานอนเป็นทุกข์อีกแล้ว ไปมองดูคนบางคนรักเขาอีกแล้ว รักเป็นทุกข์อีกแล้วมันไม่ได้ก็เป็นทุกข์ เกลียดก็เป็นทุกข์ รักก็เป็นทกข์เพราะมันอยากได้ อยากได้ก็เป็นทุกข์ ไม่อยากได้ก็เป็นทุกข์ของที่ไม่ชอบใจอยากทิ้งมันไป อยากได้ของที่ชอบใจเข้ามามันก็ทุกข์ ของที่ชอบใจได้มาแล้วกลัวมันจะหายอีกแล้ว มันก็เป็นทุกข์ทั้งนั้น ไม่รู้ว่า
จะอยู่อย่างไรบ้านหลังใหญ่ๆ ขนาดนี้ก็นึกว่าจะให้มันสบายขึ้น เก็บความสบายเก็บความดีไว้ในนี้ ถ้าคิดไม่ดีมันก็ไปไม่ได้ทั้งนั้นแหละ

            ดังนั้น ญาติโยมทั้งหลายจงมองดูตัวของเราว่าเราเกิดมาทำไม? เราเคยได้อะไรไว้ไหม อาตมาเคยรวมคนแก่ เอาคนแก่อายุเลย 80ขึ้นไปแล้วมาอยู่รวมกันอาชีพทำนา ตามบ้านนอกของเราทำนามาตั้งแต่โน้นเกิดมาได้ 17-18 ปีก็รีบแต่งงาน กลัวจะไม่รวยทำงานตั้งแต่เล็กๆให้มันรวย ทำนาจน70ปีก็มี 80ปีก็มี90 ปีก็มี ที่มานั่งรวมกันฟังธรรม “โยม” อาตมาถาม “โยมจะเอาอะไรไปไหมนี่? เกิดมาก็ทำอยู่จนเดี๋ยวนี้แหละผลที่สุดจะไป จะได้อะไรไปไหม?” ไม่รู้จัก ตอบได้แต่ว่า “จังว่า จังว่า จังว่า” นี่ตามภาษาเขาว่า “กินลูกหว้าเพลินกับลูกหว้า มันจะเสียเวลา” เพราะยังว่านี่แหละจะไปก็ไม่ไป จะอยู่ก็ไม่อยู่ มันอยู่ที่จังว่า นั่งอยู่กง อยู่ง่านั่งอยู่คาคบนั่น แล้วมีแต่จังว่าๆ

หน้าถัดไป >>

» การปล่อยวาง

» จิตที่ตื่นรู้

» ตามดูจิต

» สมถวิปัสสนา

» บัว 4 เหล่า

» ธาตุ 4

» มรรค 8

» ทางพ้นทุกข์

» บ้านที่แท้จริง

» ฝึกจิตให้มีกำลัง

» ตุจโฉโปฏฐิละ

» การทำจิตให้สงบ

» อ่านใจธรรมชาติ

» สองหน้าของสัจธรรม

» ทางสายกลาง

» ธรรมะกับธรรมชาติ

» นอกเหตุเหนือผล

» อยู่กับงูเห่า

» ภาวนาพุทโธ

» อยู่เพื่ออะไร

» อยากเกิดแต่ไม่อยากตาย

» ไม่มีอะไรได้ไม่มีอะไรเสีย

» ปลาไม่เห็นน้ำ

» สงบจิตได้ปัญญา

» สมาธิภาวนา

» ธรรมะเชิงอุปมาอุปมัย

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย