ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อชา สุภัทโท
สมาธิภาวนา
4ทีนี้ ความสุขนี้ก็ยังไม่ใช่ความสงบเที่ยงแท้ แน่นอนเหมือนกัน เป็นกิเลสอันหนึ่ง เป็นกิเลสอย่างละเอียดที่คนทั้งหลายชอบกัน ทุกคนชอบ มีความสุขที่เป็นสุขก็เพราะเราไปชอบมันเองน่ะ เมื่อเวลาที่ไม่ชอบนี่มันจะทุกข์เกิดขึ้นมา อันนี้ให้พิจารณาทับมันขึ้นไปอีกทีหนึ่งว่า สุขนี้มันก็ไม่แน่เหมือนกัน ให้เห็นโทษของความสุข เมื่อมันเปลี่ยนขึ้นมาแล้ว มันมีทุกข์เกิดขึ้นนี่คือของไม่แน่นอนเหมือนกัน อย่า ไปหมายมั่นมันอันนี้เรียกว่าอาทีนวกถา คือให้พิจารณา ความสุขอีกทีหนี่งอย่าปล่อยเฉยอย่างนั้น ให้เห็นเช่นนี้ ให้เห็นความสุขนั้นว่าเป็นเรื่องไม่แน่นอน เมื่อเห็นเป็นของไม่แน่นอนเช่นนั้น เราก็ต้องไม่เข้าไปจับอย่างเต็มที่ เราไม่ยึดอย่างเต็มที่ มันก็ยึดมาโดยปล่อยวาง ไม่ใช่ยึดไม่วาง ให้เห็นความสุขอย่างนี้ ให้ครึ่งหนึ่งเป็นส่วนดีครึ่งหนึ่งเป็นส่วนชั่ว ถ้าเรารู้จักประมาณว่าความสุขนี้มันก็เป็นโทษเหมือนกัน ให้พิจารณาอย่างนี้มีสุขก็พิจารณาสุขให้ดี แล้วเห็นโทษของความสุขนี้อันนี้เป็นคุณสมบัติของผู้ประพฤติปฏิบัติ
ทีนี้เมื่อมองเห็นว่าอันนั้นก็เป็นทุกข์ อันนี้ก็เป็นทุกข์จิตใจมันก็เห็น เนกขัมมกถา แล้วก็จิตใจมันก็ต้องบอกเบื่อแล้ว เบื่อแล้วว่า รูปก็เป็นอย่างนั้น เสียงก็เป็นอย่างนั้นกลิ่นก็เป็นอย่างนั้น รู้สึกเป็นอย่างนั้น ความรักก็เป็นอย่างนั้น ความเกลียดก็เป็นอย่างนั้น เบื่อไม่อยากจะยึดมั่นต่อไป ไม่อยากจะยึดมั่นถือมั่นเฉยๆ ไม่ต้องไปยึดมั่นถือมั่น นั่นก็คือความสงบของการปฏิบัติ
ฉะนั้นวันนี้ก็ให้โยมทั้งหลายรู้จักพิจารณา และก็ให้อภัยด้วยนะ วันนี้พูดมากเสียด้วย พูดมากเพราะว่ารักโดยธรรมะ อยากจะถามถึงการปฏิบัติของญาติโยม เราทั้งหลายซึ่งได้ทำกรรมฐานมานี้ว่า เราแน่ใจแล้วหรือยังกับการทำกรรมฐาน ถามอย่างนี้ว่า มีความแน่ในใจแล้วหรือยัง เพราะว่าอาจารย์ที่สอนกรรมฐานทุกวันนี้มีมาก ทั้งพระสงฆ์ด้วย มีทั้งฆราวาสหลายคนเป็นอาจารย์กรรมฐาน ดังนั้นกลัวญาติโยมจะลังเลสงสัยในการกระทำนี้ จึงได้ไต่ถาม อย่างนั้น เรื่องของพุทธศาสนา คำสอนของพระพุทธศาสนาที่เราปฏิบัตินี้ไม่มีอะไรอื่นจะยิ่งไปกว่านี้อีกแล้ว ถ้าเราเข้าใจให้ชัดเจนจะทำจิตใจเราให้สงบได้เป็นมั่นคง
การทำจิตให้สงบ เรียกว่าการทำสมาธิ หรือเรียกว่าการทำกรรมฐาน จิตของเรานี้มันเป็นสิ่งที่กลับกลอกมาก ดังที่เราทำกันมา เห็นไหมล่ะ บางวันนั่งสมาธิพักเดียวก็สงบแล้ว บางวันนั่งยังไงมันก็ไม่สงบมันดิ้นออกมาอยู่จนได้ บางวันก็สบาย บางวันมันก็ไม่สบาย มันแสดงอาการขึ้นมาให้เราเห็น อย่างนี้ให้เข้าใจว่ามรรคมีองค์ 8ประการนั้นมันรวมอยู่ที่ศีล สมาธิ ปัญญาไม่ได้รวมอยู่ที่อื่น เมื่อเรารวมเข้ามาแล้ว มันมีศีล มีสมาธิมีปัญญา เช่นเราทำกรรมฐาน ปัจจุบันนี้ ก็คือเราทำมรรคให้เกิดขึ้นนั่นเอง ไม่ใช่อื่นไกลหรอก
วิธีการนั่ง ท่านให้หลับตา ไม่ให้มองเห็นสิ่งต่างๆก็เพราะว่าท่านจะให้รู้จิตของเรานั่นเอง ให้มองดูจิตของเราน่ะ ถ้าหากว่าเราหลับตาเข้าไป มันจะกลับเข้ามาข้างใน มันจะมีความรู้หลายๆอย่าง เกิดขึ้นมาในที่นั้นนี้ก็เป็นวิธีหนึ่ง เป็นวิธีที่ให้เกิดสมาธิ
เมื่อเรานั่งหลับตา ให้ยกความรู้ขึ้นไว้เฉพาะที่ลมหายใจ เอาลมหายใจเป็นประธาน เรียกว่าน้อมความรู้สึกตามลมหายใจไว้ เราจึงจะรู้ว่า สติมันจะมารวมอยู่ตรงนี้ ความรู้มันจะมารวมอยู่ตรงนี้ ความรู้สึกมันจะมารวมอยู่ตรงนี้ เมื่อมรรคนี้มันสามัคคีกันเมื่อไร เราจะมองเห็นได้ว่า ลมเราเป็นอย่างนี้ความรู้สึกเราเป็นอย่างนี้ จิตเราเป็นอย่างนี้ อารมณ์เราเป็นอย่างนี้ แล้วจึงจะรู้จักที่รวมสมาธิ รวมแห่งมรรคสามัคคีในที่แห่งเดียวกัน
เมื่อเราทำสมาธิ กำหนดจิตกับลม นึกในใจว่าที่นี่เรานั่งอยู่คนเดียว
รอบๆข้างเรานี่ไม่มีใคร ไม่มีอะไรทั้งนั้น ทำความรู้สึกอย่างนี้
เรานั่งอยู่คนเดียวให้กำหนดอย่างนี้ จนกว่าจิตของ
เรามันวางข้างนอกหมดรู้ลมออกอย่างเดียวเท่านั้น มันวางข้างนอก
อย่ามีความนึกว่าคนนี้นั่งอยู่ตรงโน้น คนโน้นนั่งอยู่ตรงนี้ อะไรให้วุ่นวาย
อย่าให้มันเข้ามา เราเหวี่ยงมันออกเสียดีกว่าไม่มีใครอยู่ที่นี่
มีแต่เราคนเดียวนั่งอยู่ตรงนี้ จนกว่าทำสัญญาอย่างนี้ให้มันหมดไป
จนกว่าจะไม่มีความสงสัยในรอบๆข้างเรานี้ แล้วก็กำหนดลมเข้าออกอย่างเดียว
ปล่อยลมให้เป็นธรรมชาติ ปล่อยลมหายใจออกและเข้าให้เป็นธรรมชาติ
อย่าไปบังคับลมให้มันยาวอย่าบังคัมลมให้มันสั้น
อย่าไปบังคับลมให้มันแรงอย่าไปบังคับลมให้มันไม่แรง
ปล่อยสภาพมันให้มันพอดีแล้วก็นั่งดูลมหายใจที่เข้าออก
เมื่อมันปล่อยอารมณ์ข้างนอก เสียงรถยนต์ก็ไม่รำคาญ เสียงอะไรก็ไม่รำคาญ ไม่รำคาญชักอย่างหนึ่งข้างนอกจะเป็นรูป เป็นเสียงไม่รำคาญทั้งนั้นแหละเพราะว่ามันไม่รับ แล้วมันมารวมอยู่ที่ลมหายใจเรานี้
ถ้าจิตของเราวุ่นวาย สิ่งต่างๆ มันไม่ยอมรวมเข้ามา ก็ต้องสูดลมเข้าให้มากที่สุด จนกว่าไม่มีที่เก็บแล้วปล่อยลมออกให้มากที่สุด จนกว่ามันหมดในท้องเราสักสามครั้ง ก็ตั้งอยู่ในความรู้ใหม่ รวมอีกต่อไปเราตั้งขึ้นใหม่พักหนึ่งมันก็สงบไป เป็นธรรมดาของมันสงบไปอีกสักพักหนึ่งมันก็ไม่สงบอีก ก็มีวุ่นวายติดมาเมื่อมันเป็นเช่นนั้นขึ้นมาอีก ก็กำหนดจิตเราให้ตั้งมั่นแล้วก็สูดลมเข้าให้มากที่สุด ปล่อยลมออกไปให้หมดในท้องเรา แล้วก็สูดลมเข้าให้มากที่สุดพักหนึ่งแล้วก็ตั้งใหม่อีก กำหนดลมนั่นต่อไปอีก แล้วก็กลับมาตั้งสติกับลมหายใจออก-เข้า ทำความ รู้สึกต่อไปอีกอย่างนี้
ในเมื่อ เป็นเช่นนี้หลา ย ครั้งได้จะชำนาญมันจะวางข้างนอกมันจะไม่มีอะไร อารมณ์ข้างนอกก็จส่งเข้ามาไม่ถึง เมื่อส่งเข้ามาไม่ถึงแล้วก็เห็นจิตของเราจิตคือความรู้สึกอย่างหนึ่ง แล้วก็ลมหนึ่ง แล้วก็อารมณ์หนึ่ง อยู่ที่ปลายจมูกเรานึ้ สติตั้งมั่นดูลมเข้าออกสบายต่อไปอีก ถ้าจิตสงบ ลมที่มันหยาบ แล้วมันจะน้อยเข้าน้อยเข้า น้อยเข้าไปทุกที มันน้อยเข้าไป อารมณ์มันละเอียด อารมณ์ละเอียด มันจะน้อยเข้าไปๆ ร่างกายเราก็เบา จิตเรามันก็เบาขึ้น มันก็วางอารมณ์ข้างนอกดู ข้างใน ต่อไป
ต่อนั้นใป ความรู้ข้างนอกมันจะรวมเข้าข้างในเมื่อรวมเข้าข้างในแล้ว ให้ความรู้สึกอย่างในที่มันรวมเมื่อเราหายใจนั้น มันจะเห็นลมชัด เห็นลมออกลมเข้าชัดแล้วมันจะมีสติชัด จะเห็นอารมณ์ชัดขึ้นทุกอย่างในตรงนั้นมันจะเห็นศีล เห็นสมาธิ เห็นปัญญา โดยอาการมันรวมกันอยู่นี้เรียกว่า มรรคสามัคคี เมื่อความสามัคคีเกิดขึ้นมาแล้ว มันก็ไม่มีอาการทีวุ่นวายในจิตใจของเรามันก็รวมลงเป็นหนึ่ง เรียกว่าสมาธิ เมื่อเรามองในที่อันเดียว คือ ลมหายใจเข้าออกนั้น มันจึงมีความรู้สึกเห็นชัดเพราะว่าเรามีสติอยู่เสมอ จะเห็นลมชัด เห็นลมชัดมันมีสติขึ้นมา แล้วมีความรู้สึกชัดขึ้นมาหลายอย่างเห็นจิตอยู่ในทีนั่นรวมเป็นอันเดียวกัน มีความรู้สึกเข้าข้างใน ไม่ส่งออกไปข้างนอก ข้างนอกคล้ายๆ กันหมดไม่มีใครทำงานหรอก อยู่ข้างในบ้านรวมเป็นก้อนหนึ่งสบาย ความรู้สึกนั้นวางจากข้างนอก บางทีมันก็มีความรู้สึกอยู่กับลมหายใจ นานไปดูลมหายใจเข้าไปอีกจนกว่าที่มันละเอียดเข้าไปอีกแล้ว ความรู้สึกนั้นมันจะหมดไป หมดไปจากลมหายใจก็ได้ อื้อ ลมหายใจนี่หมดไปก็ได้มีความรู้สึกอันหนึ่ง ขึ้นมา ลมหายใจมันจะหาย คือมันละเอียดจนเกินไปน่ะ
บางทีนั่งอยู่เฉยๆ ลมไม่มี ที่จริงมันมีอยู่แต่เหมือนว่ามันไม่มี เพราะอะไร เพราะว่าจิตตัวนี้มันละเอียดมากที่สุด มันมีความรู้เฉพาะของมัน มีเหลือความรู้อันเดียวถึงลมมันหายไปแล้ว ความรู้ที่ว่าลมมันหายไปก็ตั้งอยู่ ทีนี้จะเอาอะไรเป็นอารมณ์ต่อไปอีก ก็เอาความรู้นี่แหละเป็นอารมณ์ต่อไปอีก อารมณ์ที่ว่า ลมไม่มี ลมไม่มีอยู่อย่างนี้เสมอ นี่เรียกว่ามีความรู้อันหนึ่งตั้งขึ้นมาอีก
» ตามดูจิต
» ธาตุ 4
» มรรค 8