ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อชา สุภัทโท

ธรรมะเชิงอุปมาอุปมัย
รวบรวมคำอุปมาของ หลวงพ่อชา สุภัทโท (พระโพธิญาณเถร)

12

เตา
ให้เห็นชัดในตัวของเราเป็น ปัจจัตตัง
จะมีอารมณ์ภายนอกกระทบกระทั่งเข้ามา มันก็เป็นปัจจัตตังสม่ำเสมอ
มันไม่ทิ้ง พูดง่าย ๆ เหมือนเขาเผาถ่านเผาอิฐ เตาถ่านเตาอิฐ
เคยเห็นไหม ก่อไฟขึ้นหน้าเตาสักสองศอก หรือเมตรหนึ่ง
มันจะดูดควันไฟเข้าไปในเตาหมดเลย ดูอันนั้นก็ได้ มันเห็นชัดอย่างนั้น
อันนี้มันเป็นรูปเปรียบเทียบ ถ้าทำเตาเผาถ่าน
เผาอิฐให้ถูกเรื่อง ถูกลักษณะของมัน ก่อไฟอยู่หน้าเตาสักสองสามศอก
เมื่อมีควันขึ้นมา มันจะดูดเข้าไปในเตาหมดไม่มีเหลือเลย
ความร้อนก็จะเข้าไปบรรจุในเตาหมดไม่หนีไปไหน ความร้อนจะเข้าไป
ทำลายเร็วที่สุด นี่มันเป็นอย่างนั้น
ความรู้สึกของผู้ประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน
จะมีความรู้สึกดูดเข้าไปให้เป็นสัมมาทิฏฐิทั้งนั้น ตาเห็นรูป
หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรสทั้งหลาย
มันจะดูดเข้าไปให้เป็นสัมมาทิฐิทั้งนั้น
จะเป็นสัมผัสที่เกิดปัญญาอย่างนั้นสม่ำเสมอตลอดเวลา


กล้วย มะพร้าว
เปรียบง่าย ๆ ให้ฟัง เราไปซื้อกล้วยหรือซื้อมะพร้าวใบหนึ่ง
จากตลาดแล้วก็เดินหิ้วมา อีกคนหนึ่งก็ถาม "ท่านซื้อกล้วยมาทำไม"
"ซื้อไปรับประทาน" "เปลือกมันต้องรับประทานด้วยหรือ"
"เปล่า"
"ไม่เชื่อหรอก ไม่รับประทานแล้วเอาไปทำไมเปลือกมัน"
หรือเอามะพร้าวใบหนึ่งมาก็เหมือนกัน
"เอามะพร้าวไปทำไม"
"จะเอาไปแกง"
"เปลือกมันแกงด้วยหรือ"
"เปล่า"
"จะเอาไปทำไมล่ะ"
เอ้า จะว่าอย่างไรล่ะ จะตอบปัญหาเขาอย่างไร
ด้วยความอยาก ถ้าไม่อยากเราก็ไม่ได้ทำให้มันมีปัญญานะ
การทำความเพียรก็เป็นเช่นนั้น คือทำด้วยการปล่อยวาง
อย่างกล้วยอย่างมะพร้าว เอาไปทำไมเปลือกมัน
ก็เพราะว่ายังไม่ถึงเวลาเอามันทิ้ง มันก็ห่อเนื้อในมันไปอยู่นั้น
ยังไม่ถึงเวลาจะทิ้งก็ถือมันไว้ก่อน การประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน
สมมติ วิมุตติ ก็ต้องปนกันอยู่อย่างนั้น
เหมือนมะพร้าวมันจะปนอยู่ทั้งเปลือกทั้งกะลาทั้งเนื้อเราก็เอามาทั้งหมดแหละ
เขาจะหาว่าเรากินเปลือกมะพร้าวอย่างไรก็ช่างเขา เรารู้จักของเราอยู่


อ้อยตาลหวานลิ้น
เคยกินอ้อยไหมล่ะ กินจากปลายไปโคนมันเป็นยังไง
นั่นแหละยิ่งใกล้โคนเข้าไป ความหวานมันก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ๆ
ขนาดว่าเหลือแค่นิ้วมือเท่านั้นยังไม่อยากทิ้งเลย
มันเสียดายมดง่ามอยากจะกินด้วยยังไม่ได้กิน ให้มันเป็นอย่างนั้น
ปฏิบัติธรรมให้เหมือนคนกินอ้อย


สีไฟ
การประพฤติปฏิบัติเหมือนกันกับบุรุษที่ไปสีไฟ
ได้ฟังท่านบอกว่า เอาไม้ไผ่สองอันมาสีกันเข้าไปเถอะ
แล้วจะมีไฟเกิดขึ้น บุรุษนั้นก็จับไม้ไผ่เข้าสองอัน สีกันเข้า
แต่ใจร้อน สีไปได้หน่อย ก็อยากให้มันเป็นไฟ ใจก็เร่งอยู่เรื่อย
ให้เป็นไฟเร็ว แต่ไฟก็ไม่เกิดสักที
บุรุษนั้นก็เกิดความขี้เกียจแล้วก็หยุดพัก แล้วจึงลองสีอีกนิด
แล้วก็หยุดพัก ความร้อนที่พอมีอยู่บ้าง ก็หายไปล่ะซิ
เพราะความร้อนมันไม่ติดต่อกัน
ถ้าทำไปเรื่อย ๆ อย่างนี้ เหนื่อยก็หยุด
มีแต่เหนื่อยอย่างเดียวก็พอได้ แต่มีขี้เกียจปนเข้าด้วย เลยไปกันใหญ่
แล้วบุรุษนั้นก็หาว่าไฟไม่มี ไม่เอาไฟ ก็ทิ้ง เลิก ไม่สีอีก
แล้วก็ไปเที่ยวประกาศว่า ไฟไม่มี ทำอย่างนี้ไม่ได้ ไม่มีไฟหรอก
เขาได้ลองทำแล้ว


ไฟไหม้ น้ำท่วม
พระพุทธองค์ท่านก็ทรงสอนว่า
ร่างกายจิตใจมันก็เป็นอยู่อย่างนั้น มันจะเป็นของมันอยู่อย่างนั้น
มันจะไม่เป็นไปอย่างอื่น คือ เริ่มเกิดขึ้นมาแล้วก็แก่
แก่มาแล้วก็เจ็บ เจ็บมาแล้วก็ตาย อันนี้เป็นความจริงเหลือเกิน
ซึ่งคุณยายก็พบอยู่ในปัจจุบันนี้ มันก็เป็นสัจธรรมอยู่แล้ว
ก็มองดูมันด้วยปัญญาให้เห็นมันเสียเท่านั้น
ถึงแม้ว่าไฟมันจะมาไหม้บ้านของเราก็ตาม
ถึงแม้ว่าน้ำมันจะท่วมบ้านของเราก็ตาม ก็ให้มันเป็นเฉพาะบ้าน
เฉพาะเรือน ถ้าไฟมันไหม้ ก็อย่าให้มันไหม้หัวใจเรา
ถ้าน้ำมันท่วมก็อย่าให้มันท่วมหัวใจเรา ให้มันท่วมแต่บ้าน
ให้มันไหม้แต่บ้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่นอกกายของเรา
ส่วนจิตใจของเรานั้น ให้มันมีการปล่อยวางเพราะในเวลานี้มันสมควรแล้ว
มันสมควรที่จะปล่อยแล้ว

<< ย้อนกลับ | หน้าถัดไป >>

» การปล่อยวาง

» จิตที่ตื่นรู้

» ตามดูจิต

» สมถวิปัสสนา

» บัว 4 เหล่า

» ธาตุ 4

» มรรค 8

» ทางพ้นทุกข์

» บ้านที่แท้จริง

» ฝึกจิตให้มีกำลัง

» ตุจโฉโปฏฐิละ

» การทำจิตให้สงบ

» อ่านใจธรรมชาติ

» สองหน้าของสัจธรรม

» ทางสายกลาง

» ธรรมะกับธรรมชาติ

» นอกเหตุเหนือผล

» อยู่กับงูเห่า

» ภาวนาพุทโธ

» อยู่เพื่ออะไร

» อยากเกิดแต่ไม่อยากตาย

» ไม่มีอะไรได้ไม่มีอะไรเสีย

» ปลาไม่เห็นน้ำ

» สงบจิตได้ปัญญา

» สมาธิภาวนา

» ธรรมะเชิงอุปมาอุปมัย

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย