ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

กรรมฐาน 2

อินทรียสังวร

หัดทำสติให้มีประจำใจรักษาใจ คอยระลึกรู้คอยเตือนใจอยู่เสมอดั่งนี้ นี่แหละเรียกตัว อินทรียสังวร คือความสำรวมอินทรีย์ อินทรีย์แปลว่าสิ่งที่เป็นใหญ่ ในที่นี้หมายถึงตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจ เพราะว่าตาเป็นใหญ่ในการเห็นรูป หูเป็นใหญ่ในการฟังเสียง ลิ้นเป็นใหญ่ในการลิ้มรส จมูกเป็นใหญ่ในการดมกลิ่น ลิ้นเป็นใหญ่ในการลิ้มรส กายเป็นใหญ่ในการถูกต้อง และมโนเป็นใหญ่ในการรู้เรื่องคิดเรื่อง

และนอกจากนี้หากไม่มีสติคอยรักษาอยู่ดังกล่าว ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะคือใจ ยังมาเป็นใหญ่ครอบงำจิตใจอีกด้วย ทำให้จิตใจนี้ต้องปฏิบัติไปตามอำนาจของกิเลส เช่นว่าอยากดูอะไรทางตา ก็ต้องไปดู อยากได้ยินอะไรทางหูก็ต้องไปให้ได้ยินได้ฟังเหล่านี้เป็นต้น ก็ยิ่งเป็นใหญ่ครอบงำจิต คนเราจึงต้องปฏิบัติเอาอกเอาใจตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจอยู่ตลอดเวลา ก็ล้วนแต่หาเรื่องต่างๆ มาป้อนให้ตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจทั้งนั้น และเมื่อดูลึกซึ้งเข้าไปอีกแล้ว ก็คือป้อนให้แก่ตัวกิเลสนี้เอง ซึ่งตั้งอยู่ในจิตใจ เพราะเหตุที่รับอารมณ์ทั้งหลายทางตาหูเป็นต้นนั้นเข้ามาปรุงจิตใจให้เป็นกิเลส แล้วก็ต้องไปปฏิบัติเอาอกเอาใจกิเลส มาป้อนกิเลส ตามที่กิเลสต้องการ

ให้มีสติพร้อมทั้งปัญญารับรู้ดั่งนี้อยู่เสมอ ในเวลาที่เห็นอะไรได้ยินอะไรทุกอย่างก็เป็นอินทรียสังวร ซึ่งเป็นศีลที่อยู่ในระหว่างของตัวศีลภายนอกเองกับศีลที่เป็นตัวศีลภายใน ตลอดจนถึงสมาธิ

และนอกจากนี้ก็ต้องตั้งสติไว้ในทางที่ดีที่ชอบ อันเรียกว่าสัมมาสติ ในมหาสติปัฏฐานสูตร หรือในสติปัฏฐานที่ตรัสสอนให้ตั้งสติทำสติให้ปรากฏ ตรัสสอนให้หัดทำสติตั้งอยู่ ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม 4 ประการเป็นหัวข้อใหญ่ และได้ตรัสสอนจำแนกออกไป ในข้อกายนั้นก็ตั้งต้นแต่ให้กำหนดลมหายใจเข้าออก

จิตที่เคยคิดไปในเรื่องต่างๆ ภายนอกต่างๆ นั้น ก็ให้นำกลับเข้ามาหัดคิดกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกของตนเอง กล่าวสั้นๆ ในวันนี้ว่า หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ ตั้งต้นแต่ตรัสสอนให้เข้าไปสู่ป่า เข้าไปสู่โคนไม้ เข้าไปสู่เรือนว่าง คือเข้าไปสู่ที่สงบ ดั่งในที่นี้แม้จะอยู่ด้วยกันมาก ก็กล่าวได้ว่าเป็นเรือนว่างได้ เพราะว่าต่างคนต่างตั้งอยู่ในความสงบ ไม่แสดงความไม่สงบทางกายทางวาจา เพราะฉะนั้นก็ชื่อว่าเรือนว่างได้ คือเข้าไปสู่ที่สงบนั้นเอง

และตรัสสอนให้นั่งขัดบัลลังก์คือขัดสมาธิหรือขัดสะหมาด ที่นิยมปฏิบัติกันก็ใช้ขัดสะหมาด เท้าขวาทับเท้าซ้าย และตั้งกายตรง มือทั้งสองวางให้นิ้วหัวแม่มือชนกัน มือขวาทับ มือซ้าย หรือจะวางให้นิ้ว เพียงให้นิ้วชนกันก็ได้ หรือจะวางให้ห่างกันก็ได้ ไม่ได้มีกำหนดไว้ ดำรงสติจำเพาะหน้า กำหนดเข้ามาที่ลมหายใจเข้าออก ที่ปลายจมูกหรือที่ริมฝีปากเบื้องบนอันเป็นจุดที่ลมกระทบ หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้

และหากว่าจะใช้วิธีนับ หายใจเข้านับหนึ่ง หายใจออกนับหนึ่ง เรื่อยไปจนถึงสิบแล้วก็ตั้งต้นใหม่ดั่งนี้ก็ได้ หรือจะไม่ใช้วิธีนับ ใช้วิธีพุทโธ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ก็ได้ เป็นการช่วยทำให้จิตรวมเข้ามาตั้งอยู่ได้ เพราะฉะนั้นในวันแรกนี้จะหัดทำสติเพียงเท่านี้ก่อนก็ได้

จิตตภาวนา 2 กรรมฐาน 2
คันถธุระ วิปัสสนาธุระ
ศีลเป็นที่ตั้งของกุศลธรรมทั้งหลาย
สิกขา
สติ จิตตภาวนาข้อแรก
อินทรียสังวร

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย