ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

รวมธรรมบรรยายของ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

พระอภิธัมมาติกาบรรยาย

19

44. “สมฺมตฺตนิยตา ธมฺมา”

     ในบทที่ 44 มีพระบาลีว่า “สมฺมตฺตนิยตา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายมีทิฏฐิอันชอบ และเป็นธรรมเที่ยงที่จะไปสู่พระนิพพาน โดยความอธิบายว่า ทิฏฐิอันชอบนั้นมีอยู่ 4 ประการ “ทุกฺเข ญาณํ” ความเห็นในปัญจขันธ์ทั้ง 5 ว่าเป็นทุกข์ 1 “ทุกฺขสมุทเย ญาณํ” ความเห็นในตนว่าเป็นที่บังเกิดขึ้นแห่งทุกข์ 1 “ทุกฺขนิโรเธ ญาณํ” ความเห็นในธรรมว่าเป็นเครื่องดับทุกข์ได้ 1 “ทุกฺขนิโรธคามินิยา ปฏิปทาย ญาณํ” ความเห็นว่าพระนิพพานเป็นหนทางดับทุกข์ได้ 1 ความเห็นทั้ง 4 ประการนี้แล ท่านเรียกว่าสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐินั้นแปลว่า ความเห็นดีเห็นชอบ ความเห็นดีเห็นชอบนี้แล เที่ยงที่จะไปสู่สุคติ โดยความอธิบายว่า ความเห็นธรรมของจริงเป็นความเห็นชอบ ความเห็นชอบนั้นก็คือความเห็นสมมติว่าเป็นธรรมที่ไม่จริง ธรรมที่โลกสมมติตามใจนั้นแลเป็นธรรมอันไม่จริง เมื่อเห็นสมมติและถอนสมมตินัยได้แล้ว ก็เรียกว่าวิมุติ ธรรมที่เป็นวิมุตินี้แลเรียกว่า ความเห็นจริงเห็นชอบ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า “สมฺมตฺตนิยตา ธมฺมา” ดังนี้

45. “อนิยตา ธมฺมา”
      ในบทที่ 45 นั้น มีพระบาลีว่า “อนิยตา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง บาปก็ไม่เที่ยง โดยอธิบายว่า ปุถุชนนั้น บุญก็กระทำ บาปก็กระทำ แต่ไม่เที่ยงที่จะไปสู่สวรรค์ และไม่เที่ยงที่จะไปสู่นรก เพราะไม่เป็นใหญ่ เมื่อเวลาใกล้ตาย ถ้าบุญส่งให้ก็ไปสวรรค์ ถ้าบาปส่งก็ไปสู่นรก เพราะเหตุนี้ จึงแปลว่า เป็นธรรมที่ไม่เที่ยง ในเวลาอาสันนกรรมใกล้จะตาย เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า “อนิยตา ธมฺมา” ฉะนี้ แก้ไขมาในติกมาติกาบทที่ 45 ก็ยุติลงไว้แต่เพียงเท่านี้

46. “มคฺคารมฺมณา ธมฺมา”
      ในลำดับนี้ จะได้แสดงในมาติกาบทที่ 46 สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า “มคฺคารมฺมณา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายมีพระอริยมรรคเป็นอารมณ์ โดยนัยอธิบายว่า ธรรมดาว่าพระอริยเจ้า ก็ย่อมยินดีแต่ในหนทางของพระอริยเจ้า เหมือนพระโสดาบัน ท่านก็ยินดีในธรรมที่ได้ละแล้ว 3 อย่าง คือ “สักกายทิฏฐิ” ความไม่ถือตัว ไม่ถือตน 1 “วิจิกิจฉา” ความไม่สงสัยในธรรมทั้งหลาย 1 “สีลัพตปรามาส” ความไม่ลูบคลำในวัตรปฏิบัติอย่างอื่น 1 ธรรมทั้ง 3 ประการนี้ เป็นอารมณ์แห่งพระโสดาบันบุคคล พระสกิทาคา ก็มีอารมณ์ 5 พระอนาคามี ก็มีอารมณ์ 7 พระอรหันต์ก็มีอารมณ์ 10 เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า “มคฺคารมฺมณา ธมฺมา” ฉะนี้

47. “มคฺคเหตุกา ธมฺมา”
      ในบทที่ 47 นั้น มีพระบาลีว่า “มคฺคเหตุกา ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นเครื่องอุดหนุนแก่พระอริยมรรค โดยความอธิบายว่า ธรรมทั้งหลายที่เป็นหิตานุหิตประโยชน์แก่พระอริยมรรคนั้น มีอยู่ 3 ประการ ธรรมทั้ง 3 ประการนั้น คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลนั้นแปลว่า ละเสียจากบาป สมาธินั้นแปลว่า จิตถอนจากบาปที่ตั้งอยู่ในที่ชอบ ไม่ตกไปในบาป ปัญญา นั้นแปลว่า รู้จักว่ากิเลสเครื่องเศร้าหมองไม่มีในจิต จิตไม่ตกไปในกิเลส ความที่รู้จักว่ากิเลสเครื่องเศร้าหมองไม่มีในจิตดังนี้เรืยกชื่อว่า ปัญญา ธรรมทั้ง 3 ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญานี้แล เป็นหิตานุหิตประโยชน์แก่พระอริยมรรค หรืออีกประการหนึ่ง ความเห็นเป็นพระไตรลักษณญาณก็จัดว่าเป็นปัญญาในที่นี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น จึงสมกับพระบาลีว่า “มคฺคเหตุกา ธมฺมา” ดังนี้

<< ย้อนกลับ || หน้าถัดไป >>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย