ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

รวมธรรมบรรยายของ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

พระอภิธัมมาติกาบรรยาย

4

3. “อพฺยากตา ธมฺมา”

     ในลำดับนี้ จะได้แก้ไขในบทที่ 3 สืบต่อไป โดยพระบาลีว่า อพฺยากตา ธมฺมา แปลว่า ธรรมอันเป็นอารมณ์แห่งจิตอันเป็นอัพยากฤต แปลว่า ธรรมอันพระพุทธเจ้าไม่ได้พยากรณ์ว่าเป็นบุญเป็นบาป ดังนี้ โดยอธิบายว่า ไม่ยินดียินร้าย ไม่โสมนัสโทมนัส ได้ชื่อว่าอัพยากฤต
      เปรียบเหมือนหนึ่งว่าใบบัวอันน้ำดีและชั่วตกถูกต้องแล้ว ก็ย่อมไหลไปไม่ขังอยู่ได้ฉะนั้น ถ้ามิฉะนั้น เปรียบเสมือนเสาไม้แก่น อันบุคคลฝังไว้เหนือแผ่นดิน ถึงผงเผ้าเถ้าธุลีจะปลิวมาสักเท่าใด ๆ ก็ดี ก็ย่อมปลิวหนีไปไม่ติดอยู่ที่เสานั้นได้ จิตที่เป็นอัพยากฤตนั้น ถึงใครจะบูชาดี ก็ดี บูชาชั่ว ก็ดี ไม่ยินดียินร้าย ท่านสักกวาทีจึงขออุปมาอุปมัยอีกว่า ขแต่ท่านปรวาที ซึ่งได้ชี้แจงแสดงมาก็ถูกต้องตามพระบาลีอยู่แล้ว ข้าพเจ้าได้ฟังก็มีความยินดีชอบใจทุกประการแล้ว แต่ข้าพเจ้าขออุปมาอุปไมยอีกสักหน่อยเถิด ท่านปรวาทีจึงแสดงอุปมาว่า ดูก่อนสักกวาที “นครโธวาริกปุริโส วิย” จิตที่เป็นอัพยากฤตนั้นเปรียบเหมือนหนึ่ง โธวาริกบุรุษผู้เฝ้าประตูพระนคร จิตที่เป็นกุศลนั้นเปรียบเหมือนชนที่เข้าไปในประตูนคร จิตที่เป็นอกุศลนั้น เปรียบเหมือนชนที่ออกไปจากประตูนคร นายโธวาริกผู้เฝ้าประตูนครนั้นก็ไม่ได้ไต่ถามคนที่เข้าออกนั้น เป็นแต่รู้ เป็นแต่เห็น หาได้ไต่ถามชนที่เข้าออกนั้นไม่ เช่นนี้แลชื่อว่า อัพยากฤต
      ถ้ามิฉะนั้น เปรียบเหมือนภาชนะที่ใส่น้ำ เป็นต้น ภาชนะที่เต็มแล้วด้วยน้ำนั้น ถึงใคร ๆ จะเอาน้ำเทลงไปอีกสักเท่าใด ๆ ก็ดี น้ำนั้นก็ไหลล้นออกไปจากภาชนะ ไม่สามารถขังอยู่ได้ ฉันใดก็ดี จิตที่เป็นอัพยากฤต ที่พระพุทธเจ้าไม่พยากรณ์ว่าเป็นบุญและบาปนั้น ชื่อว่าบุญและบาปไม่มี ถึงบุญบาปจะมีสักเท่าใด ๆ ก็ดี ก็ไม่สามารถจะติดขังอยู่ได้ อุปไมยดังภาชนะที่เต็มแล้วด้วยน้ำฉะนั้น
      จิตที่เป็นอัพยากฤตนี้ ย่อมมีแต่พระอริยเจ้าจำพวกเดียวเท่านั้น หาได้มีแก่ปุถุชนทั่วไปไม่ ปุถุชนนั้นมีแต่จิตที่เป็นบุญเป็นบาปทั้ง 2 ประการ จิตที่เป็นอัพยากฤตนั้นหาได้มีไม่ เพราะฉะนั้นจิตที่เป็นอัพยากฤตจึงมิได้บังเกิดมีแก่ปุถุชน ท่านปรวาทีได้ฟังก็ชอบใจ จึงไต่ถามต่อไปว่า บุคคลที่มีจิตเป็นกุศล (ส่วน) อกุศลและอัพยากฤตไม่มี บุคคลผู้ที่มีจิตเป็นกุศลและอกุศล (ส่วน) อัพยากฤตไม่มี บุคคลใดที่มีแต่จิตเป็นอัพยากฤต (ส่วน) กุศลและอกุศลไม่มีเล่าพระเจ้าข้า
      พระปรวาทีจึงวิสัชนาว่า บุคคลที่มีจิตเป็นบาปเป็นอกุศลนั้น ก็ได้แก่ นายพราน คิดแต่จะล่าเนื้อ ฆ่าปลาอยู่เป็นนิตย์ กุศลจิตและอัพยากฤตนั้นไม่บังเกิดมีแก่นายพรานเลยดังนี้
บุคคลที่มีจิตเป็นบุญเป็นกุศลนั้น ได้แก่ พระอริยะสัปบุรุษ ท่านคิดแต่การบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญเมตตาภาวนา สดับฟังพระสัทธรรมเทศนาอยู่เป็นนิตย์ อกุศลจิตและอัพยากฤตก็ไม่บังเกิดมีแก่ท่านดังนี้
      เพราะฉะนั้นจึงว่า จิตที่เป็นอัพยากฤตนี้ ย่อมบังเกิดมีแก่พระอรหันต์จำพวกเดียว พระอรหันต์เมื่อท่านเข้าสู่นิโรธสมาบัติแล้ว จิตที่เป็นบุญเป็นบาปนั้นไม่บังเกิดมีแก่ท่านฉะนี้
อาตมาแก้ไขมาในปฐมมาติกาบทที่ 3 ก็ขอยุติลงไว้แต่เพียงเท่านี้

4. “สุขาย เวทนาย สมฺปยุตฺตา ธมฺมา”
      ในลำดับต่อไปนี้จักได้แสดงในติกมาติกาบทที่ 4 สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า “สุขาย เวทนาย สมฺปยุตฺตา ธมฺมา” ธรรมทั้งหลายซึ่งเป็นอารมณ์แห่งจิตอันสัมปยุตแล้วด้วยเวทนา 2 แปลว่า เสวยอารมณ์ “สุขาย” แปลว่า เป็นสุข โดยอธิบายว่า ธรรมทั้งหลายอันสัมปยุตแล้ว ด้วยการเสวยอารมณ์เป็นสุขนั้น คือ จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย ใจ ที่ได้สัมผัสรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่รักที่เจริญใจ คือว่าไม่ยังใจให้เดือดร้อน มีแต่ความโสมนัสยินดี ในกาลเมื่อสัมผัสให้ถูกต้องกับทวาร มีจักขุทวารเป็นต้น เพราะฉะนั้นธรรมะดวงนี้ สมเด็จพระชินศรีจึงได้ทรงตรัสว่า “สุขาย เวทนาย สมฺปยุตฺตา ธมฺมา” ดังนี้
      พระสักกวาทีจึงขอความอุปมาต่อไปว่า ข้าแต่ท่านปรวาที ขอพระผู้เป็นเจ้าจงแสดงให้พิสดารออกไปอีกสักหน่อยเถิดพระเจ้าข้า คนหนาวได้ห่มผ้า คนร้อนได้อาบน้ำ คนหิวข้าวได้รับประทานอาหารบรรเทาเวทนาเก่าลงได้ และห้ามกันเวทนาใหม่มิให้กำเริบขึ้นได้ฉะนี้ ก็จัดได้ชื่อว่าสัมผัสถูกต้องเวทนาที่เป็นสุข
      ถ้ามิฉะนั้น เปรียบเสมือนคนยากจนเข็ญใจ เมื่อได้ลาภยศที่ฐานอันใดอันหนึ่งแล้ว ก็ย่อมมีความชื่นชมยินดีเป็นกำลัง เหมือนดังนายควาญช้างคนหนึ่ง เดิมทีก็เป็นคน
ยากจนอนาถา ครั้นต่อมาได้รับจ้างเขาเลี้ยงช้างพอได้อาหารเลี้ยงอาตมาเป็นสุข ก็มีความดีใจเป็นกำลัง หรือถ้ามิฉะนั้น ก็เปรียบเหมือนพระเจ้าสักกมันธาตุราช เมื่อเดิมทีเป็นคนยากจนเข็ญใจ แม้แต่จะแสวงหาอาหารบริโภคแต่ละมื้อก็ทั้งยาก จนที่สุดผ้าที่จะนุ่งห่มก็ไม่มี ต้องเอาใบไม้มานุ่งห่มแทนผ้า ครั้นอยู่ต่อมาภายหลัง ก็ได้เสวยราชสมบัติเป็นบรมกษัตริย์ แล้วก็ได้เป็นถึงบรมจักร แสนที่มีความสุขสบายยิ่งขึ้นดังนี้

<< ย้อนกลับ || หน้าถัดไป >>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย