ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
มิลินทปัญหา
ฉบับแปลในมหามกุฏราชวิทยาลัย
วรรคที่หนึ่ง
5 สิวิราชจักขุทานปัญหา
ร "พระผู้เป็นเจ้า ท่านทั้งหลายกล่าวแล้วอย่างนี้ว่า
'จักษุทั้งหลายอันพระเจ้าสิวิราชได้พระราชทานแล้วแก่ยาจก,
ทิพยจักษุทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วใหม่แก่พระเจ้าสิวิราชนั้น เมื่อเป็นบุคคลบอด'
คำแม้นั้นกับทั้งกากเป็นไปด้วยนิคคหะ เป็นไปกับด้วยโทษ คำท่านกล่าวไว้แล้วในสูตรว่า
'ความเกิดขึ้นแห่งทิพยจักษุ ไม่มีในสิ่งที่มิใช่วัตถุมีเหตุอันถอนขึ้น มิได้มีเหตุ'
ถ้าจักษุทั้งหลายอันพระเจ้าสิวิราชได้พระราชทานแล้วแก่ยาจก, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า
'ทิพยจักษุทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วใหม่' นั้นผิด
ถ้าทิพยจักษุทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วไซร้, ถ้าอย่างนั้น แม้คำที่ว่า
'จักษุทั้งหลายอันพระเจ้าสิวิราชพระราชทานแล้วแก่ยาจก' นั้นก็ผิด ปัญหาแม้นี้
มีเงื่อนสอง มีขอดยิ่งแม้กว่าขอดโดยปกติ,
มีความฟั่นเฝือยิ่งแม้กว่าฟั่นเฝือโดยปกติ, เป็นชัฏยิ่งแม้ว่าชัฏโดยปกติ,
ปัญหานั้นมาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว, พระผู้เป็นเจ้าจงยังฉันทะให้เกิดยิ่งในปัญหานั้น
เพื่อความขยาย เพื่อความข่มปรัปปวาททั้งหลายเสีย"
ถ
"ขอถวายพระพร จักษุทั้งหลายอันพระเจ้าสิวิราชพระราชทานแล้วแก่ยาจก,
พระองค์อย่ายังความสงสัยให้เกิดขึ้นในข้อนั้นเลย; อนึ่ง
จักษุทั้งหลายเป็นทิพย์เกิดขึ้นแล้วใหม่,
พระองค์อย่ายังความสงสัยให้เกิดในข้อแม้นั้น"
ร "เออก็
ความเกิดขึ้นแห่งทิพยจักษุ ในสิ่งที่มีเหตุอันถอนขึ้นแล้ว ในสิ่งที่ไม่มีเหตุ
ไม่มีวัตถุหรือ พระผู้เป็นเจ้า"
ถ "หามิได้
ขอถวายพระพร"
ร
"พระผู้เป็นเจ้า สิ่งไรเป็นเหตุในเรื่องนี้เล่า
ทิพยจักษุจะเกิดขึ้นในสิ่งมีเหตุอันถอนขึ้นแล้ว ไม่มีเหตุ ไม่มีวัตถุ
ด้วยเหตุไรเล่า พระผู้เป็นเจ้าจงให้ข้าพเจ้าทราบชัดในเรื่องนี้โดยเหตุก่อน"
ถ
"ขอถวายพระพร บุคคลผู้กล่าวคำจริงทั้งหลาย ย่อมกระทำสัจจกิริยาด้วยคำสัตย์ใด
คำสัตย์นั้นมีอยู่ในโลกหรือไม่ ขอถวายพระพร"
ร "มีซิ
พระผู้เป็นเจ้า ธรรมดาคำสัตย์ย่อมมีในโลก, ผู้กล่าวคำสัตย์ทั้งหลาย
ทำสัจจกิริยาด้วยคำสัตย์ให้ฝนตก ให้ไฟดับ กำจัดยาพิษ ย่อมกระทำกิจที่จะพึงกระทำต่าง
ๆ แม้อย่างอื่นบ้าง"
ถ
"ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า
'ทิพยจักษุทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วแด่พระเจ้าสิวิราชด้วยกำลังสัจจะ' นี้ ย่อมชอบ
ย่อมสม, ทิพยจักษุย่อมเกิดขึ้นในสิ่งไม่มีวัตถุนั้น ด้วยกำลังแห่งสัจจะ,
สัจจะนั่นเทียว เป็นวัตถุเพื่อความเกิดทิพยจักษุ ในสิ่งที่ไม่มีวัตถุนั้น
ขอถวายพระพร
ผู้สำเร็จสัจจเหล่าใดเหล่าหนึ่ง พร่ำขับคำสัตว์ว่า 'เมฆใหญ่จงให้ฝนตก' ดังนี้,
เมฆใหญ่ให้ฝนตกพร้อมด้วยความพร่ำขับคำสัตย์ของผู้สำเร็จสัจจะเหล่านั้น; เออก็
มหาเมฆให้ฝนตกด้วยเหตุใด เหตุนั้น เป็นเหตุแห่งฝนสะสมอยู่แล้ว มีในอากาศหรือ
ขอถวายพระพร"
ร "หามิได้
สัจจะนั่นเทียวเป็นเหตุ ณ อากาศนั้น เพื่อความที่มหาเมฆจะกระทำฝนให้ตก
พระผู้เป็นเจ้า"
ถ
"ขอถวายพระพร ข้อนั้นฉันใด, เหตุโดยปกติของความที่ทิพยจักษุจะเกิดขึ้นนั้นไม่มี,
สัจจะนั่นเทียว เป็นวัตถุเพื่อความที่ทิพยจักษุเกิดขึ้นในสิ่งที่ไม่มีวัตถุ
ก็ฉันนั้นนั่นเทียวแล
ขอถวายพระพร
อีกอย่างหนึ่ง ผู้สำเร็จสัจจะพวกใดพวกหนึ่งพร่ำขับคำสัตย์ด้วยตั้งใจว่า
'กองไฟใหญ่ที่โพลงชัชวาลอยู่แล้ว จงกลับคืนดับไป' ดังนี้,
กองไฟใหญ่ที่โพลงชัชวาลแล้ว กลับคืนดับไปโดยขณะหนึ่ง
พร้อมด้วยความพร่ำขับคำสัตย์ของผู้สำเร็จสัจจะเหล่านั้น, เออก็
กองไฟใหญ่ที่โพลงชัชวาลแล้วกลับคืนดับไปโดยขณะหนึ่งโดยเหตุใด เหตุนั้น
เป็นเหตุสะสมอยู่ในกองไฟใหญ่ที่โพลงชัชวาลแล้วนั้น มีอยู่หรือ ขอถวายพระ"
ร "หามิได้
สัจจะนั่นเทียว เป็นวัตถุในสิ่งที่ไม่มีวัตถุ
เพื่อความที่กองไฟใหญ่โพลงชัชวาลแล้วนั้นจะกลับคืนดับไป"
ถ
"ขอถวายพระพร ข้อนั้นฉันใด, เหตุโดยปกติของความที่ทิพยจักษุจะเกิดขึ้นนั้นไม่มี,
สัจจะนั่นเที่ยวเป็นวัตถุในที่ไม่มีวัตถุ เพื่อความที่ทิพยจักษุจะเกิดขึ้น
ฉันนั้นนั่นเที่ยวแล
ขอถวายพระพร
อีกอย่างหนึ่ง ผู้สำเร็จสัจจะเหล่าใดเหล่าหนึ่ง พร่ำขับคำสัตย์ด้วยตั้งใจว่า
'พิษแรงกล้า จงกลายเป็นยาไป,' พิษแรงกล้ากลายเป็นยาไปโดยขณะหนึ่ง
พร้อมด้วยความพร่ำขับคำสัตย์ของผู้สำเร็จสัจจะเหล่านั้น, เออก็
พิษอันแรงกล้ากลายเป็นยาไปโดยขณะหนึ่งด้วยเหตุอันใด เหตุนั้น
เป็นเหตุสะสมในพิษอันแรงกล้านั้นมีอยู่หรือ ขอถวายพระพร"
ร "หามิได้
พระผู้เป็นเจ้า สัจจะนั่นเทียว เป็นเหตุในสิ่งที่ไม่มีเหตุนั้น
เพื่อความกำจัดคืนพิษแรงกล้าโดยขณะ"
ถ
"ขอถวายพระพร ข้อนี้ฉันใดล สัจจะนั่นเทียว เว้นเหตุโดยปกติ เป็นวัตถุในข้อนี้
เพื่อความที่ทิพยจักษุจะเกิดขึ้น ฉันนั้นโดยแท้
ขอถวายพระพร
วัตถุอื่นเพื่อความแทงตลอดอริยสัจจะทั้งหลาย แม้สี่ไม่มี, การกบุคคลทั้งหลาย
กระทำสัจจะให้เป็นวัตถุ แทงตลอดตรัสรู้อริยสัจจะทั้งหลายสี่ประการ
ขอถวายพระพร
มีพระเจ้าจีนราชอยู่ในจีนวิสัย พระองค์ใครจะทรงกระทำพลีกรรมในทะเลใหญ่
ทรงกระทำสัจจะกิริยาแล้วเสด็จเข้าไปในภายในมหาสมุทรโยชน์หนึ่ง
โดยรถเทียมแล้วด้วยราชสีห์สี่เดือนเสด็จครั้งหนึ่ง ๆ,
ห้วงแห่งน้ำใหญ่ข้างหน้าแห่งศีรษะรถของพระเจ้าจีนราชนั้นเท้อกลับ,
เมื่อพระองค์เสด็จออกแล้ว ห้วงแห่งมหาวารีท่วมเต็มที่ดังเก่า, เออก็ มหาสมุทรนั้น
อันโลกแม้กับทั้งเทพดาและมนุษย์อาจให้เท้อกลับได้หรือ ขอถวายพระ"
ร
"น้ำในสระน้อย ๆ อันโลกแม้ทั้งเทพดาและมนุษย์ไม่อาจเพื่อจะให้เท้อกลับได้
ด้วยกำลังแห่งกายปกติเลย, จะป่วยกล่าวอะไรถึงความกระทำน้ำในมหาสมุทรให้เท้อกลับเล่า
พระผู้เป็นเจ้า"
ถ
"ขอถวายพระพร เพราะเหตุแม้นี้ พระองค์พึงทรงทราบกำลังของสัจจะ, สถานใด ที่ใคร ๆ
จะพึงถึงด้วยสัจจะไม่ได้ สถานนั้นย่อมไม่มี ขอถวายพระพร
อนึ่ง
พระเจ้าอโศกราชในเมืองปาฏลิบุตร อันชาวนิคมและชาวชนบท
และอมาตย์น้อยและราชภัฏหมู่พลและมหาอมาตย์ทั้งหลาย แวดล้อมเป็นราชบริวาร
ทอดพระเนตรเห็นแม่น้ำคงคาสมบูรณ์ด้วยน้ำใหม่เต็มเสมอขอบ เต็มเปี่ยมไหลไปอยู่
จึงตรัสกะอมาตย์ทั้งหลายอย่างนี้ว่า 'พนาย ผู้ใดใคร ๆ
ซึ่งสามารถจะยังคงคาใหญ่นี้ให้ไหลกลับทวนกระแสได้ มีหรือไม่'
อมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า 'ขอเดชะปกเกล้าปกกระหม่อม
ข้อซึ่งจะกระทำคงคาใหญ่นี้ให้ไหลกลับทวนกระแสนั้น ยากที่ใคร ๆ จะกระทำได้
นางคณิกาชื่อว่าพินทุมดี ยืนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคานั้นนั่นเที่ยว ได้ฟังแล้วว่า
'ได้ยินว่า พระมหากษัตริย์ตรัสแล้วอย่างนี้ว่า 'ใคร ๆ
อาจเพื่อจะยังแม่น้ำคงคาใหญ่นี้ให้ไหลกลับทวนกระแสได้หรือไม่'
นางพินทุมดีนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า 'ข้าพเจ้านั่นเทียว เป็นนางคณิกา
อาศัยซึ่งรูปเป็นอยู่ มีการเลี้ยงชีพด้วยกรรมอันเลว ในเมืองปาฏลิบุตรนี้,
พระมหากษัตริย์จงทอดพระเนตรสัจจกิริยาของข้าพเจ้าก่อน'
พระมหากษัตริย์จงทอดพระเนตรสัจจกิริยาของข้าพเจ้าก่อน' ลำดับนั้น
นางพินทุมดีนั้นได้กระทำสัจจกิริยาแล้ว เมื่อประชุมแห่งชนหมู่ใหญ่เห็นอยู่
คงคาใหญ่นั้นป่วนไหลกลับทวนกระแสโดยขณะพร้อมด้วยสัจจกิริยาของนางพินทุมดีนั้น
ลำดับนั้น
พระเจ้าอโศกราชได้ทรงฟังเสียงพิลึกกึกก้อง
อันกำลังแห่งคลื่นในวังวนให้เกิดแล้วในคงคาใหญ่ จึงมีความพิศวง
เกิดอัศจรรย์ขึ้นในพระหฤทัย ตรัสถามอมาตย์ทั้งหลายว่า 'พนาย
คงคาใหญ่นี้ไหลทวนกระแสได้เพราะเหตุไร'
อมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า 'ขอเดชะปกเกล้าปกกระหม่อม นางคณิกาชื่อ พินทุมดี
ได้ฟังพระราชโองการของพระองค์แล้ว ได้กระทำสัจจกิริยา, คงคาใหญ่ไหลขึ้นไปในเบื้องบน
ด้วยสัจจกิริยาของนางพินทุมดีนั้น'
ลำดับนั้น
พระเจ้าอโศกราชสลดพระหฤทัย รีบเสด็จไปเอง แล้วจึงตรัสถามนางคณิกานั้นว่า 'นางสาวใช้
ได้ยินว่า แม่น้ำคงคานี้เจ้าให้ไหลทวนกระแสแล้วด้วยสัจจกิริยาของเจ้า จริงหรือ
นางพินทุมดีทูลว่า 'พระพุทธเจ้าข้า
คงคาใหญ่นี้ไหลทวนกระแสด้วยสัจจกิริยาของหม่อมฉัน'
พระเจ้าอโศกราชตรัสถามว่า 'อะไรเป็นกำลังของเจ้าในสัจจกิริยานั้น,
หรือใครที่ไม่ใช่บ้าจะเชื่อถือคำของเจ้า,
เจ้ากระทำแม่น้ำคงคาใหญ่นี้ให้ไหลทวนกระแสด้วยกำลังอะไร'
นางพินทุมดีทูลว่า 'หม่อมฉันกระทำคงคาใหญ่นี้ให้ไหลทวนกระแสแล้วด้วยกำลังแห่งสัจจะ
พระพุทธเจ้าข้า'
พระเจ้าอโศกราชตรัสว่า 'กำลังแห่งสัจจะอะไร จะมีแก่เจ้าผู้เป็นโจร เป็นหญิงนักเลง
ไม่มีสติ มีหิริอันขาดแล้ว เป็นหญิงลามกทำลายแดนเสียแล้ว ล่วงเกินปล้นชนตาบอด'
นางพินทุมดีกราบทูลว่า 'ขอเดชะปกเกล้าปกกระหม่อม หม่อมฉันเป็นหญิงเช่นนั้นจริง,
หม่อมฉันจะปรารถนา พึงเปลี่ยนโลกแม้กับทั้งเทพดา ด้วยสัจจกิริยาอันใด,
สัจจกิริยานั้นของหม่อมฉันแม้เช่นนั้นมีอยู่'
พระเจ้าอโศกราชตรัสถามว่า 'สัจจกิริยานั้นเป็นอย่างไรเล่า
เชิญเจ้าเล่าให้เราฟัง'
นางพินทุมดีทูลว่า 'ขอเดชะปกเกล้าปกกระหม่อม บุรุษใด เป็นกษัตริย์ หรือเป็นพราหมณ์
หรือเป็นเวศย์ หรือเป็นศูทร หรือเป็นบุรุษอื่นใคร ๆ ให้ทรัพย์แก่หม่อมฉัน
หม่อมฉันบำรุงบุรุษทั้งหลายเหล่านั้นเสมอกันเป็นอย่างเดียว, ความแปลกว่า
กษัตริย์ไม่มี ความดูหมิ่นว่าศูทรไม่มี, หม่อมฉันพ้นจากความเอ็นดูและปฏิฆะ
บำเรอบุรุษผู้เป็นเจ้าของแห่งทรัพย์, หม่อมฉันทำคงคาใหญ่นี้ให้ไหลทวนกระแส
แล้วด้วยสัจจกิริยาใด, สัจจกิริยานี้เป็นสัจจะของหม่อมฉัน' ดังนี้
ขอถวายพระพร ชนทั้งหลายผู้ตั้งอยู่ในสัจจะแล้ว ซึ่งจะไม่ได้ประโยชน์หน่อยหนึ่ง
หามิได้ ด้วยประการฉะนี้ พระเจ้าสิวิราชได้พระราชทานจักษุทั้งหลายแก่ยาจกด้วย
ทิพยจักษุทั้งหลายเกิดขึ้นด้วย, ก็แหละ ความที่ทิพยจักษุเกิดขึ้นนั้น
เกิดขึ้นเพราะสัจจกิริยา ก็คำอันใดที่ท่านกล่าวไว้ในพระสูตรว่า
'ครั้นเมื่อมังสจักษุฉิบหายแล้ว ความที่ทิพยจักษุจะเกิดขึ้นในสถานไม่มีเหตุ
ไม่มีวัตถุ' ดังนี้ คำนั้นท่านหมายเอาจักษุสำเร็จแล้วด้วยภาวนากล่าวแล้ว
ขอถวายพระพร บรมบพิตรจงทรงจำไว้ซึ่งความข้อนี้ ด้วยประการอย่างนี้" ดังนี้
ร "ดีละ
พระผู้เป็นเจ้า ปัญหาพระผู้เป็นเจ้าแก้ดีแล้ว,
นิคคหธรรมพระผู้เป็นเจ้าแสดงออกดีแล้ว, ปรับปวาททั้งหลาย พระผู้เป็นเจ้าย่ำยีแล้ว,
ข้อวิสชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้านี้ สมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ารับรองอย่างนั้น"
วรรคที่ 1
วัชฌาวัชฌปัญหา
สัพพัญญูภาวปัญหา
เทวทัตตปัพพาชิตปัญหา
มหาภูมิจาลนปาตุภาวปัญหา
สิวิราชจักขุทานปัญหา
คัพภาวัคกันติปัญหา
สัทธัมมอันตรธานปัญหา
สัพพัญญุตปัตตปัญหา
ตถาคตอุตตริกรณียาภาวปัญหา
อิทธิปาทพลทัสสนปัญหา
วรรคที่ 2
วรรคที่ 3
วรรคที่ 4
วรรคที่ 5
วรรคที่ 6
วรรคที่ 7
วรรคที่ 8
วรรคที่ 9