ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

มิลินทปัญหา
ฉบับแปลในมหามกุฏราชวิทยาลัย


เมณฑกปัญหา

วรรคที่หนึ่ง

7 สัทธัมมอันตรธานปัญหา

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงภาสิตพุทธพจน์แม้นี้ไว้แก่พระอานนทเถระว่า 'ดูก่อนอานนท์ สัทธรรมจักตั้งอยู่ได้ในกาลต่อไป เพียงห้าร้อยปีเท่านั้น' ดังนี้ ส่วนในสมัยเป็นที่ปรินิพพาน สุภัททปริพพาชกทูลถามปริศนา พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสแล้วว่า 'ดูก่อนสุภัททะ ถ้าภิกษุทั้งหลายเหล่านี้พึงปฏิบัติอยู่โดยชอบในกาลทั้งปวง, โลกพึงเป็นของไม่ว่างเปล่าจากพระอรหันต์ทั้งหลาย' ดังนี้อีก; พระพุทธพจน์นี้กล่าวกาลหาส่วนเหลือมิได้ ฯลฯ กล่าวกาลไม่มีส่วนเหลือ ฯลฯ กล่าวกาลไม่มีปริยาย ถ้าพระตถาคตเจ้าได้ตรัสแล้วว่า 'ดูก่อนอานนท์ ในกาลต่อไป พระสัทธรรมจักตั้งอยู่ได้ เพียงห้าร้อยปีเท่านั้น' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'โลกพึงเป็นของไม่ว่างเปล่าจากพระอรหันต์ทั้งหลาย' ดังนี้ นั้นผิด ถ้าพระตถาคตเจ้าได้ตรัสแล้วว่า 'โลกพึงเป็นของไม่ว่างเปล่าจากพระอรหันต์ทั้งหลาย' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ดูก่อนอานนท์ ในกาลต่อไป พระสัทธรรมจักตั้งอยู่ได้เพียงห้าร้อยปีเท่านั้น' ดังนี้นั้นเป็นผิด ปัญหาแม้นี้มีเงื่อนสอง
เป็นชัฏยิ่งแม้กว่าชัฏโดยปกติ, มีกำลังยิ่งแม้กว่าปัญหาที่มีกำลังโดยปกติ, มีขอดยิ่งแม้กว่าขอดโดยปกติ, ปัญหานั้นมาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว, พระผู้เป็นเจ้าจงเป็นผู้ดังมังกรไปแล้วในภายในแห่งสาคร แสดงความแผ่ไพ.ศ.าลแห่งกำลังญาณของพระผู้เป็นเจ้าในปัญหานั้น"
      พระนาคเสนเถระถวายพระพรว่า "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงภาสิตพระพุทธพจน์แม้นี้แก่พระอานนทเถระแล้วว่า 'ดูก่อนอานนท์ ในกาลต่อไป พระสัทธรรมจักตั้งอยู่ได้ เพียงห้าร้อยปีเท่านั้น'ดังนี้ ส่วนในสมัยเป็นที่ปรินิพพาน ได้ตรัสแล้วแก่สุภัททปริพพาชกว่า 'ดูก่อนสุภัททะ ถ้าภิกษุทั้งหลายเหล่านี้พึงปฏิบัติอยู่โดยชอบ ในกาลทั้งปวงไซร้ โลกพึงเป็นของไม่ว่างเปล่าจากพระอรหันต์ทั้งหลาย' ดังนี้ ก็แหละ พระพุทธพจน์ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นพระพุทธพจน์มีเนื้อความต่างกันด้วย มีพยัญชนะต่างกันด้วยแท้ ส่วนทั้งสอง คือ ส่วนพระพุทธพจน์นี้กำหนดศาสนา พระวาจานี้แสดงความปฏิบัติเหล่านั้น เว้นไกลกันและกัน
      ขอถวายพระพร มีอุปมาเหมือนฟ้าเว้นไกลแต่แผ่นดิน นรกเว้นไกลแต่สวรรค์ กุศลเว้นไกลแต่อกุศล สุขเว้นห่างไกลแต่ทุกข์ ฉันใด ส่วนพระพุทธภาสิตทั้งหลายสองเหล่านั้น เว้นห่างไกลจากกันและกัน มีอุปไมยฉันนั้นนั่นเทียวแล เออก็ ปุจฉาของบรมบพิตรอย่าเป็นของเปล่าเลย, อาตมภาพจักเปรียบเทียบโดยรสแสดงแก่บรมบพิตร, พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพุทธพจน์ใดว่า 'ดูก่อนอานนท์ ในกาลต่อไป พระสัทธรรมจักตั้งอยู่ได้ เพียงห้าร้อยปีเท่านั้น' ดังนี้ เมื่อพระองค์ตรัสพุทธพจน์นั้น ทรงแสดงกาลที่สิ้นไป ทรงกำหนดกาลที่เหลือว่า 'ดูก่อนอานนท์ ถ้านางภิกษุณีทั้งหลายไม่พึงบรรพชาไซร้ พระสัทธรรมจักพึงตั้งอยู่ได้หนึ่งพันปี, ดูก่อนอานนท์ กาลต่อไปนี้ พระสัทธรรมจักตั้งอยู่ได้ เพียงห้าร้อยปีเท่านั้น' เออก็ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้ จะตรัสตามอันตรธานแห่งพระสัทธรรมหรือ หรือทรงคัดค้านอภิสมัยความตรัสรู้ เป็นไฉน  ขอถวายพระพร"
      ร "หามิได้ พระผู้เป็นเจ้า"
      ถ "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงระบุกาลที่ฉิบหายไปแล้ว ทรงแสดงกาลที่เหลืออยู่ ทรงกำหนดแล้ว เหมือนบุรุษมีของหาย         หยิบภัณฑะที่เหลืออยู่ทั้งสิ้น แสดงแก่ประชุมชนว่า
'ภัณฑะเท่านี้ของข้าพเจ้าหายไปแล้ว ภัณฑะนี้เหลืออยู่' ฉันใด, พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงกาลที่ฉิบหายไปแล้ว ตรัสกาลที่เหลืออยู่แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายว่า 'ดูก่อนอานนท์ กาลต่อไปนี้ พระสัทธรรมจักตั้งอยู่ได้ เพียงห้าร้อยปีเท่านั้น' ดังนี้ ก็พระพุทธพจน์อันใด ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสแล้วว่า 'ดูก่อนอานนท์ กาลต่อไปนี้ พระสัทธรรมจักตั้งอยู่ได้ เพียงห้าร้อยปีเท่านั้น' ดังนี้, พระพุทธพจน์นี้กำหนดศาสนกาล; ส่วนพระองค์ทรงระบุสมณะทั้งหลายตรัสพุทธพจน์ใด แก่สุภัททปริพพาชกว่า 'ดูก่อนสุภัททะ ถ้าภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ พึงปฏิบัติอยู่โดยชอบ ในกาลทั้งปวง, โลกพึงเป็นของไม่ว่างเปล่าจากพระอรหันต์ทั้งหลาย'ดังนี้, พระวาจานั้นแสดงความปฏิบัติ ส่วนบรมพิตรมาทรงกระทำความกำหนดนั้นด้วยพระวาจาเครื่องแสดงนั้นด้วย ให้เป็ฯของมีรสเป็นอันเดียวกัน ก็ถ้าว่าเป็นความพอพระหฤทัยของบรมบพิตรอาตมภาพจักกล่าวกระทำให้มีรสเป็นอันเดียวกัน, บรมบพิตรจงเป็นผู้มีพระหฤทัยไม่วิปริต ทรงสดับกระทำไว้ในพระหฤทัยให้สำเร็จประโยชน์
      ขอถวายพระพร ถ้าในที่นี้ มีสระเต็มแล้วด้วยน้ำใหม่ใสสะอาด น้ำขึ้นเสมอกำหนดเพียงขอบ, เมื่อสระนั้นยังไม่ทันแห้ง เมฆใหญ่เนื่องประพันธ์กันให้ฝนตกเติมซ้ำ ๆ ลงบนน้ำในสระนั้น, น้ำในสระนั้นพึงถึงความสิ้นไปและแห้งไปหรือเป็นไฉน"
      ร "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า"
      ถ "เพราะเหตุไร ขอถวายพระ"
      ร "เพราะความที่เมฆเป็นของเนื่องประพันธ์กันเป็นเหตุ น้ำในสระนั้นจึงไม่ถึงความสิ้นไปแห้งไปซิ พระผู้เป็นเจ้า"
      ถ "ขอถวายพระพร สระ คือ พระสัทธรรมในศาสนาอันประเสริฐ ของพระพุทธเจ้าผู้ชนะมารทั้งปวง เต็มแล้วด้วยดีด้วยน้ำใหม่ปราศจากมลทิน คือ อาจาระและศีลคุณและวัตรปฏิบัติ น้ำปราศจากมลทินนั้นขึ้นไปท่วมที่สุดแห่งภพตั้งอยู่แล้ว ฉันนั้นนั่นเทียวแล ถ้าพระพุทธโอรสทั้งหลาย ยังฝนแห่งเมฆ คือ อาจาระและศีลคุณและวัตรปฏิบัติ ให้เนื่องประพันธ์กัน ให้ตกเติมร่ำไปในสระ คือ พระสัทธรรมนั้นไซร้, สระ คือ พระสัทธรรมในศาสนาอันประเสริฐ ของพระชินพุทธเจ้านี้ พึงตั้งอยู่สิ้นกาลนานยืดยาวได้,  อนึ่ง โลกพึงเป็นของไม่ว่างเปล่าจากพระอรหันต์ทั้งหลาย ฉันนั้น, พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเนื้อความนี้ ภาสิตแล้วว่า 'ดูก่อนสุภัททะ ถ้าภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ พึงปฏิบัติอยู่โดยชอบในกาลทั้งปวง, โลกพึงเป็นของไม่ว่างเปล่าจากพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้
      ขอถวายพระพร อนึ่ง ในที่นี้มีกองแห่งไฟใหญ่ ๆ โพลงอยู่, ชนทั้งหลายพึงนำหญ้า และไม้ และโคมัยแห้งแล้วทั้งหลายเข้าไปเติมซ้ำ ๆ ลงในกองไฟใหญ่นั้น, กองไฟนั้นพึงดับไปหรือไฉน"
      ร "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า กองไฟนั้นพึงโพลงยิ่ง ๆ ขึ้นไป พึงสว่างยิ่ง ๆ ขึ้นไป
      ขอถวายพระพร พระศาสนาอันประเสริฐของพระพุทธเจ้าผู้ชนะแล้ว ย่อมชัชวาลอยู่ในโลกธาตประมาณหมื่นหนึ่ง ทำโลกธาตุให้สว่างทั่วด้วยอาจาระ และศีลคุณ และวัตรปฏิบัติ ก็ถ้าว่าพระพุทธโอรสทั้งหลาย มาตามพร้อมแล้วด้วยองค์ของบุคคลผู้ตั้งความเพียร ห้าประการ พึงเป็นผู้ไม่ประมาทแล้วพากเพียรเนือง ๆ, พึงเป็นผู้มีฉันทะเกิดแล้วศึกษาอยู่ในสิกขาสาม, พึงบำเพ็ญจารีตศีลและวารีตศีลให้บริบูรณ์ ไม่บกพร่องยิ่งกว่านั้นไซร้, พระชินศาสนาอันประเสริฐนี้พึงตั้งอยู่สิ้นกาลนานยืดยาวได้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป, โลกพึงเป็นของไม่ว่างเปล่าจากพระอรหันต์ทั้งหลาย, พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเนื้อความนี้ภาสิตแล้วว่า 'ดูก่อนสุภัททะ ถ้าภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ พึงปฏิบัติอยู่โดยชอบ, โลกพึงเป็นของไม่ว่างเปล่าจากพระอรหันต์ทั้งหลาย' ดังนี้ อนึ่ง ในโลกนี้ ชนทั้งหลาย พึงขัดแว่นปราศจากมลทินสนิทเสมอ และขัดดีแล้ว กระจ่างด้วยดีด้วยจุรณ์แห่งหรดาลอันละเอียดสุขุมเนือง ๆ, มลทินและเปือกตมละอองธุลีพึงเกิดขึ้นในแว่นนั้นได้หรือไม่ ขอถวายพระพร "
      ร "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า แว่นนั้นพึงปราศจากมลทิน ผ่องใสวิเศษหนักขึ้นโดยแท้"
      ถ "ขอถวายพระพร แว่นนั้นพึงปราศจากมลทินผ่องใสวิเศษหนักขึ้น ฉันใด, ศาสนาอันประเสริฐของพระพุทธเจ้า ไม่มีมลทินโดยปกติปราศจากมลทินละอองธุลี คือ กิเลสแล้ว; ถ้าพระพุทธบุตรทั้งหลายพึงขูดเกลาพระศาสนาอันประเสริฐของพระพุทธเจ้านั้น ด้วยอาจาระและศีลคุณ และวัตรปฏิบัติ และสัลเลขธรรม และธุดงคคุณ, ศาสนาอันประเสริฐของพระชินพุทธเจ้านี้ พึงตั้งอยู่ได้สิ้นกาลนานยืดยาว, อนึ่ง โลกพึงเป็นของไม่ว่างเปล่าจากพระอรหันต์ทั้งหลาย ฉันนั้นนั่นเทียว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมุ่งหมายเนื้อความนี้ ทรงภาสิตแล้วว่า 'ดูก่อนสุภัททะ ถ้าภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ พึงอยู่ คือ ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่, โลกพึงเป็นของไม่ว่างเปล่าจากพระอรหันต์ทั้งหลาย' ดังนี้ พระศาสนาของพระบรมศาสดามีความปฏิบัติเป็นมูลราก มีความปฏิบัติเป็นแก่นสาร เมื่อความปฏิบัติยังไม่อันตรธานแล้ว พระพุทธศาสนาย่อมตั้งอยู่ได้"
      ร "พระผู้เป็นเจ้า พระผู้เป็นเจ้ากล่าว 'สัทธรรมอันตรธาน' ว่า ดังนี้ สัทธรรมอันตรธานนั้นอย่างไร "
      ถ "ขอถวายพระพร ความเสื่อมแห่งพระพุทธศาสนาเหล่านี้มีสามประการ, ความเสื่อมแห่งพระพุทธศาสนาสามประการนี้อย่างไร  ความเสื่อมแห่งพระพุทธศาสนาสามประการนี้ คือ: อธิคมอันตรธานความเสื่อมมรรคและผลที่บุคคลจะพึงได้พึงถึงหนึ่ง ปฏิปัตติอันตรธานความเสื่อมปฏิบัติหนึ่ง ลิงคอันตรธาน ความเสื่อมเนุ่งผ้ากาสาวพัสตร์หนึ่ง เมื่ออธิคม คือ มรรคและผลที่บุคคลจะพึงได้พึงถึงอันตรธานเสื่อมสูญแล้ว แม้เมื่อบุคคลปฏิบัติดีแล้ว ไม่มีธรรมาภิสมัยความถึงพร้อมเฉพาะ คือ ความตรัสรู้ธรรม, เมื่อความปฏิบัติอันตรธานเสื่อมสูญแล้ว สิกขาบทบัญญัติก็อันตรธาน ยังเหลืออยู่แต่นุ่งเหลืองอย่างเดียวเท่านั้น, เมื่อเพศนุ่งเหลืออันตรธานแล้ว ก็ขาดประเพณี อันตรธานสามประการดังพรรณานามานี้แล้ว ขอถวายพระพร"
      ร "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ปัญหาลึกพระผู้เป็นเจ้ามากระทำให้ตื้น ให้ข้าพเจ้ารู้แจ้งด้วยดีแล้ว, ขอดพระผู้เป็นเจ้าทำลายเสียแล้วปรัปปวาททั้งหบายพระผู้เป็นเจ้าหักรานให้ฉิบหายแล้ว กระทำให้เสื่อมรัศมีแล้ว, ปรัปปวาททั้งหลายมากระทำ พระผู้เป็นเจ้าผู้ประเสริฐกว่าคณาจารย์ผู้ประเสริฐ,         พระผู้เป็นเจ้าหักราน
ปรัปปวาททั้งหลายเหล่านั้นให้หายเสื่อมสูญไปได้แล้ว"

 


วรรคที่ 1
วัชฌาวัชฌปัญหา
สัพพัญญูภาวปัญหา
เทวทัตตปัพพาชิตปัญหา
มหาภูมิจาลนปาตุภาวปัญหา
สิวิราชจักขุทานปัญหา
คัพภาวัคกันติปัญหา
สัทธัมมอันตรธานปัญหา
สัพพัญญุตปัตตปัญหา
ตถาคตอุตตริกรณียาภาวปัญหา
อิทธิปาทพลทัสสนปัญหา
วรรคที่ 2
วรรคที่ 3
วรรคที่ 4
วรรคที่ 5
วรรคที่ 6
วรรคที่ 7
วรรคที่ 8
วรรคที่ 9
 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย