ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

มิลินทปัญหา
ฉบับแปลในมหามกุฏราชวิทยาลัย


เมณฑกปัญหา

วรรคที่สอง

7 เสฏฐธัมมปัญหา

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ตรัสแล้วว่า 'ดูก่อนวาสิฏฐโคตร ธรรมนั่นเทียวเป็นของประเสริฐสุดในชนนั้น ในทิฏฐธรรม คือ ภพเห็นประจักษ์นี้นั่นเทียวด้วย ในภพอันสัตว์พึงถึงในเบื้องหน้าพร้อมเฉพาะด้วย' ดังนี้, ส่วนคฤหัสถ์เป็นอุบาสก เป็นโสดาบัน ปิดอบายได้แล้ว มีทิฏฐิบรรลุแล้ว ทราบแจ้งศาสนาแล้วด้วยใจ ย่อมไหว้ ย่อมลุกรับภิกษุบ้าง สามเณรบ้าง ที่ยังเป็นปุถุชน ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า 'ดูก่อนวาสิฏฐโคตร ธรรมนั่นเทียว เป็นของประเสริฐสุดในชนนั้น ในทิฏฐธรรมคือภพเห็นประจักษ์นี้นั่นเทียวด้วย ในภาพอันสัตว์พึงถึงในเบื้องหน้าพร้อมเฉพาะด้วย' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'คฤหัสถ์เป็นอุบาสกเป็นโสดาบัน ปิดอบายได้แล้ว มีทิฏฐิบรรลุแล้ว รู้แจ้งศาสนาแล้วด้วยใจ ย่อมไหว้ ย่อมลุกรับภิกษุบ้าง สามเณรบ้าง ที่ยังเป็นปุถุชน' ดังนี้ นั้นเป็นผิด ถ้าคฤหัสถ์เป็นอุบาสก เป็นโสดบัน ปิดอบายได้แล้ว มีทิฏฐิบรรลุแล้ว รู้แจ้งศาสนาด้วยใจ ย่อมไหว้ ย่อมลุกรับ ภิกษุบ้าง สามเณรบ้าง ที่เป็นปุถุชน, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ดูก่อนวาสิฏฐโคตรธรรมนั่นเทียว เป็นของประเสริฐสุดในชนนั้น ทั้งในทิฏฐิธรรมและอภิสัมปรายะ' ดังนี้ แม้นั้นก็เป็นผิด ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว, พระผู้เป็นเจ้าพึงขยายให้แจ้งชัดเถิด"
      พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ทรงภาสิตพระพุทธพจน์นี้ แก่มาณพผู้เหล่ากอวาสิฏฐโคตรว่า 'ดูก่อนวาสิฏฐโคตร ธรรมนั่นเทียว เป็นของประเสริฐสุดในชนนั้น ทั้งในทิฏฐิธรรมด้วย ในอภิสัมปรายะด้วย' ดังนี้, อนึ่ง คฤหัสถ์เป็นอุบาสกเป็นโสดาบัน ปิดอบายได้แล้ว มีทิฏฐิบรรลุแล้ว รู้แจ้งศาสนาด้วยใจย่อมไหว้ ย่อมลุกรับ ภิกษุและสามเณรที่เป็นปุถุชน ก็แต่ว่า เหตุในปัญหานั้นมีอยู่, เหตุนั้นอย่างไร ธรรมทั้งหลายที่กระทำให้เป็นสมณะของสมณะยี่สิบ เพศทั้งหลายสองด้วย เหล่านี้ซึ่งเป็นเหตุให้พระสมณะเป็นผู้ควรไหว้และลุกรับและความนับถือและบูชา, ธรรมทั้งหลายที่กระทำให้เป็นสมณะของสมณะยี่สิบ และเพศทั้งหลายสองอย่างไร คือ นิยมประเสริฐที่สุด ได้แก่ความมุ่งต่อพระนฤพานหนึ่ง นิยมเลิศ คือ นิยมในพระอรหัตหนึ่ง ความประพฤติหนึ่ง ธรรมเครื่องอยู่หนึ่ง ความสำรวมหนึ่ง ความระวังหนึ่ง ความอดทนหนึ่ง ความเป็นผู้ยินดีในธรรมอันงาม คือ ความเป็นผู้เรียบร้อยหนึ่ง ความประพฤติในความเป็นผู้เดียวหนึ่ง ความยินดียิ่งในความเป็นผู้เดียวหนึ่ง ความหลีกออกเร้นอยู่หนึ่ง หิริโอตตัปปะหนึ่ง ความเพียรหนึ่ง ความไม่ประมาทหนึ่ง ความสมาทานสิกขาหนึ่ง อุทเทสความเรียนพระบาลีหนึ่ง ปริปุจฉา ความเรียนอัฏฐกถาและฎีกาหนึ่ง ความยินดียิ่งในศีลคุณเป็นต้นหนึ่ง ความเป็นผู้ไม่มีอาลัยหนึ่ง ความเป็นผู้กระทำสิกขาบทให้บริบูรณ์หนึ่ง, ความทรงผ้ากาสาวะไว้หนึ่ง ความเป็นผู้มีศีรษะโล้นหนึ่ง; ธรรมทั้งหลายกระทำให้เป็นสมณะของสมณะยี่สิบ และเพศทั้งหลายสองเหล่านี้แล อุบาสกโสดาบันคิดว่า 'ภิกษุมาสมาทานคุณทั้งหลายเหล่านี้ ประพฤติอยู่, ภิกษุนั้น เพราะความที่ธรรมทั้งหลายเหล่านั้น เป็นของไม่บกพร่อง เพราะความที่ธรรมทั้งหลายเหล่านั้น เป็นของเต็มบริบูรณ์แล้ว เพราะความที่ธรรมทั้งหลายเหล่านั้น เป็นของถึงพร้อมแล้ว เพราะความที่ธรรมมาตามพร้อมแล้ว ด้วยธรรมทั้งหลายเหล่านั้น เธอหยั่งลงสู่อเสขภูมิ อรหันตภูมิ, เธอหยั่งลงสู่ภูมิอื่นที่ประเสริฐ, เธอมาตามพร้อมแล้วด้วยพระอรหัต' จึงควรไหว้ ควรลุกรับ, อุบาสกโสดาบัน คิดว่า "ภิกษุนั้นเข้าถึงความเป็นผู้เสมอด้วยพระขีณาสพทั้งหลาย, ความถึงพร้อมนั้นของเราไม่มี' จึงควรไหว้ ควรลุกรับ ภิกษุที่เป็นปุถุชน, อุบาสกโสดาบัน คิดว่า 'ภิกษุนั้นเข้าถึงบริษัทเลิศ เรามิได้เข้าถึงที่นั้นแล้ว' จึงควรไหว้ ลุกรับ ภิกษุที่เป็นปุถุชน, อุบาสกโสดาบัน คิดว่า 'ภิกษุนั้นย่อมได้เพื่อจะฟังปาฏิโมกขุทเทส เราย่อมไม่ได้เพื่อจะฟังปาฏิโมกขุทเทสนั้น' จึงควรไหว้ ลุกรับ ภิกษุที่เป็นปุถุชน, อุบาสกโสดาบัน คิดว่า 'ภิกษุนั้นยังกุลบุตรทั้งหลายอื่นให้บวชให้อุปสมบท ยังศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ชนะแล้วให้เจริญ เราย่อมไม่ได้เพื่อจะกระทำกิจทั้งสามนั้น' จึงควรไหว้ควรลุกรับ ภิกษุที่เป็นปุถุชน, อุบาสกโสดาบัน คิดว่า 'ภิกษุนั้นเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในสิกขาบททั้งหลายไม่มีประมาณ เราไม่ได้ประพฤติในสิกขาบททั้งหลายเหล่านั้น' ดังนี้ จึงควรไหว้ ควรลุกรับ ภิกษุที่เป็นปุถุชน, อุบาสก โสดาบัน คิดว่า 'ภิกษุนั้นเข้าถึงแล้วซึ่งเพศแห่งสมณะ ตั้งอยู่ในความประสงค์ของพระพุทธเจ้า เราหลีกไปแล้วสู่ที่ไกลจากเพศนั้น' ดังนี้ จึงควรไหว้ ควรลุกรับ ภิกษุที่เป็นปุถุชน, อุบาสกโสดาบัน คิดว่า 'ภิกษุนั้นมีขนในรักแร้รุงรังแล้ว มิได้หยอดประดับมีกลิ่นแห่งศีลฉาบทาแล้ว ส่วนเราเป็นผู้ยินดียิ่งในการประเทืองผิวและประดับ' ดังนี้ จึงควรไหว้ ควรลุกรับ ภิกษุที่เป็นปุถุชน, ก็อุบาสกโสดาบัน คิดว่า 'ธรรมทั้งหลายที่กระทำให้เป็นสมณะยี่สิบ และเพศเหล่านั้นใด ธรรมทั้งหลายแม้ทั้งปวงเหล่านี้ ย่อมมีพร้อมแก่ภิกษุ ภิกษุนั้นนั่นเทียว ย่อมทรงธรรมทั้งหลายเหล่านั้นไว้ ยังกุลบุตรทั้งหลายแม้อื่นให้ศึกษาอยู่ในธรรมทั้งหลายเหล่านั้น นิกายเป็นที่มา และความยังกุลบุตรให้ศึกษานั้นของเราไม่มี' ดังนี้ จึงควรไหว้ ควรลุกรับภิกษุที่เป็นปุถุชน
      ขอถวายพระพร เออก็ ราชกุมารเรียนวิทยาศึกษาธรรมเนียมของกษัตริย์ในสำนักแห่งปุโรหิต, โดยสมัยอื่น ราชกุมารนั้นได้อภิเษกแล้ว จึงควรไหว้ ควรลุกรับอาจารย์ ด้วยความดำริว่า 'ปุโรหิต นี้เป็นอาจารย์ให้ศึกษาของเรา" ดังนี้ ฉันใด; อุบาสกโสดาบัน คิดว่า 'ท่านผู้ดำรงวงศ์ เป็นผู้ยังกุลบุตรให้ศึกษา ดังนี้' จึงควรไหว้ ควรลุกรับ ภิกษุที่เป็นปุถุชน ฉันนั้นนั่นเทียวแล เออก็ บรมบพิตรจงทรงทราบความที่ภูมิของภิกษุเป็นของใหญ่ ความที่ภูมิของภิกษุเป็นของไพบูลย์ ไม่มีภูมิอื่นเสมอนั้นโดยปริยายนี้: ถ้าอุบาสกโสดาบันกระทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัต, คติทั้งหลายสองเท่านั้น ไม่มีคติอื่น ย่อมมีแก่อุบาสกผู้กระทำให้แจ้งพระอรหัตนั้น คือ: อุบาสกผู้อรหันต์นั้น พึงปรินิพพานบ้าง พึงเข้าไปถึงความเป็นภิกษุบ้าง ในวันนั้นทีเดียว; เพราะว่าภูมิของภิกษุนี้ใด ภูมิของภิกษุนั้น เป็นบรรพชาไม่เขยื้อน เป็นของใหญ่บริสุทธิ์สูงยิ่ง"
      ร "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ปัญหาไปแล้วโดยญาณ พระผู้เป็นเจ้าผู้มีความรู้ยิ่ง มีกำลังคลี่คลายออกด้วยดีแล้ว, บุคคลอื่นนอกจากท่านผู้มีความรู้เช่นพระผู้เป็นเจ้า ไม่อาจเพื่อจะคลี่คลายปัญหานี้ออกให้แจ้งชัดอย่างนี้ได้แล"

 


วรรคที่ 1
วรรคที่ 2
ขุททานุขุททกปัญหา
ฐปนียาพยากรณปัญหา
มัจจุภายนปัญหา
มัจจุปาสามุตติกปัญหา
ภควโต ลาภันตรายปัญหา
สัพพสัตตหิตจรณปัญหา
เสฏฐธัมมปัญหา
ตถาคตอเภชชปริสปัญหา
อซานโตปาปกรณอปุญญปัญหา
ภิกขุคณอเปกขภาวปัญหา
วรรคที่ 3
วรรคที่ 4
วรรคที่ 5
วรรคที่ 6
วรรคที่ 7
วรรคที่ 8
วรรคที่ 9
 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย