ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

มิลินทปัญหา
ฉบับแปลในมหามกุฏราชวิทยาลัย


เมณฑกปัญหา

วรรคที่หก

2 นิปปปัญจปัญหา

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน แม้พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสอนไว้ว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้มีนิปปปัญจะเป็นที่มายินดี มีความยินดีในนิปปปัญจธรรมไม่มีเครื่องเนิ่นช้า' ดังนี้ นิปปปัญจะนั้นเป็นไฉน คือ ธรรมพวกไร"
      พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร โสดาปัตติผลก็ชื่อนิปปปัญจะสกทาคามิผลก็ชื่อนิปปปัญจะ อนาคามิผลก็ชื่อนิปปปัญจะ อรหัตตผลก็ชื่อนิปปปัญจะ ธรรมไม่มีเครื่องเนิ่นช้า"
      ร "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าว่าโสดาปัตติผลก็ชื่อนิปปปัญจะสกทาคามิผลก็ชื่อ
นิปปปัญจะ อนาคามิผลก็ชื่อนิปปปัญจะ อรหัตตผลก็ชื่อนิปปปัญจะไซร้, ภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ ย่อมแสดงขึ้น ย่อมไต่ถาม พระสูตร เคยยะ เวยยากรณ์ คาถา อุทาน อิติวุตตก ชาตก อัพภูตธรรม
เวทัลละ ยังกังวลอยู่ด้วยนวกรรม คือ การให้ด้วย การบูชาด้วย เพื่อประโยชน์อะไร ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ได้ชื่อว่ากระทำอยู่ซึ่งกรรม ที่พระชินห้ามไว้แล้ว ไม่ใช่หรือ"
      ถ "ขอถวายพระพร ภิกษุทั้งหลายเหล่าใดนั้น ย่อมแสดงขึ้น ย่อมไต่ถามพระสูตร เคยยะ เวยยากรณ์ คาถา อุทาน อิติวุตตก ชาตก อัพภูตธรรม เวทัลละ ยังกังวลอยู่ด้วยนวกรรม คือ การให้ด้วย การบูชาด้วย, ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นทั้งปวง ชื่อว่ากระทำความเพียรเพื่อจะถึงซึ่งนิปปปัญจธรรม ภิกษุทั้งหลายเหล่าใดนั้น เป็นผู้บริสุทธิ์แล้วโดยสภาพ มีวาสนาเคยอบรมมาแล้ว, ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น มีนิปปปัญจธรรมโดยขณะแห่งจิตอันเดียว ฝ่ายว่าภิกษุทั้งหลายเหล่าใดนั้น เป็นผู้มีธุลี คือ กิเสลในนัยน์ตา คือ ปัญญามาก, ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมเป็นผู้มีนิปปปัญจธรรม ด้วยประโยคทั้งหลายเหล่านี้ เปรียบเหมือนบุรุษปลูกพืชลงในนาแล้วเก็บข้าวเปลือก ด้วยความเพียรตามกำลังของตน เว้นแล้วจากรั้วเป็นเครื่องป้องกัน, บุรุษอีกคนหนึ่งปลูกพืชลงในนาแล้วเข้าไปสู่ป่า ตัดไม้แห้งด้วย กิ่งไม้ด้วย เรียวหนามด้วย กระทำรั้วแล้วจึงเก็บข้าวเปลือก, ความแสวงหาของบุรุษนั้น ด้วยกั้นรั้วในนานั้น เพื่อประโยชน์แก่ข้าวเปลือก ฉันใด;
      ขอถวายพระพร ภิกษุทั้งหลายเหล่าใดนั้น เป็นผู้บริสุทธิ์แล้วโดยสภาวะ มีวาสนาเคยอบรมแล้ว, ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น เป็นผู้มีเครื่องเนิ่นช้าออกแล้วโดยขณะแห่งจิตอันหนึ่ง เหมือนบุรุษเว้นความกั้นด้วยรั้วเสีย เก็บข้าวเปลือก; ฝ่ายภิกษุทั้งหลายเหล่าใดนั้น เป็นผู้มีธุลี คือ กิเสลในนัยน์ตา คือ ปัญญาใหญ่หลวง, ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นเป็นผู้มีเครื่องเนิ่นช้าออกแล้ว ด้วยประโยคทั้งหลายเหล่านี้ เหมือนบุรุษกระทำความกั้นด้วยรั้วแล้ว เก็บข้าวเปลือก ฉันนั้นนั้นเทียวแล
      อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนช่อแห่งผลไม้ พึงมีที่ยอมแห่งต้นมะม่วงใหญ่, ถ้าว่า ในที่นั้นผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้มีฤทธิ์มาแล้ว พึงนำผลแห่งต้นมะม่วงนั้นไปได้, ในที่นั้น ฝ่ายบุคคลผู้ไม่มีฤทธิ์ ตัดไม้แห้งและเถาวัลย์ ผูกให้เป็นพะองแล้วขึ้นสู่ต้นมะม่วงนั้นโดยพะองนั้นนำผลไปได้, จึงควรแสวงหานั้นเพื่อเอาแต่ผล ฉันใด;บุคคลทั้งหลายเหล่าใดนั้น บริสุทธิ์แล้วโดยสภาวะ มีวาสนาอบรมแล้วในปางก่อน, บุคคลทั้งหลายเหล่านั้น เป็นผู้มีธรรมเครื่องเนิ่นช้าออกแล้วโดยขณะแห่งจิตอันหนึ่ง เหมือนบุคคลมีฤทธิ์ที่นำผลมะม่วงไปได้นั้น; ฝ่ายว่า ภิกษุทั้งหลายใดนั้น เป็นผู้มีธุลี คือ กิเสลในนัยน์ตา คือ ปัญญาใหญ่หลวง, ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมตรัสรู้สัจจะทั้งหลายด้วยประโยคนี้ เหมือนบุรุษนำผลแห่งมะม่วงไปโดยพะอง ฉันนั้นนั่นเทียวแล
      อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษผู้กระทำความต้องการ คือแสวงหาทรัพย์คนหนึ่งคนเดียวทีเดียว เข้าไปใกล้เจ้านายแล้วยังทรัพย์นั้นให้สำเร็จได้, คนหนึ่งเป็นผู้มีทรัพย์ ยังบริษัทให้เจริญแล้วด้วยอำนาจแห่งทรัพย์ ยังทรัพย์นั้นให้สำเร็จด้วยบริษัท, ความแสวงหาด้วยบริษัทในทรัพย์นั้นของบุรุษนั้น อันใด ความแสวงหาบริษัทนั้น เพื่อประโยชน์แก่ทรัพย์ ฉันใด;บุคคลทั้งหลายเหล่าใดนั้น บริสุทธิ์แล้วโดยสภาวะ มีวาสนาอบรมมาแล้วในปางก่อน, บุคคลทั้งหลายเหล่านั้นย่อมถึงความเป็นผู้ชำนาญในอภิญญาทั้งหลายหก โดยขณะแห่งจิตอันหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษคนหนึ่งกระทำซึ่งอันยังทรัพย์ให้สำเร็จ; ฝ่ายภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นใด มีธุลี คือ กิเลสในนัยน์ตา คือ ปัญญาใหญ่หลวง, ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมยังทรัพย์ คือ สามัญญคุณให้สำเร็จเฉพาะด้วยประโยคทั้งหลายเหล่านี้ เปรียบเหมือนบุรุษกระทำซึ่งอันยังทรัพย์ให้สำเร็จด้วยบริษัท
      ขอถวายพระพร แม้อุทเทสเป็นของมีอุปการมาก แม้ปริปุจฉาเป็นของมีอุปการมาก แม้นวกรรมเป็นของมีอุปการมาก แม้การให้เป็นของมีอุปการมาก แม้การบูชาเป็นของมีอุปการมาก ในกิจที่ควรกระทำทั้งหลายเหล่านั้น ๆ
      ขอถวายพระพร บุรุษผู้จะเป็นข้าราชการกระทำแล้วซึ่งราชกิจด้วยชนผู้เป็นราชบริษัททั้งหลาย คือ อมาตย์ราชภัฏกรมวังผู้รักษาพระทวารและราชองครักษ์, ครั้นเมื่อกิจควรกระทำยังไม่เกิดขึ้นแล้ว ราชบุรุษทั้งหลายเหล่านั้นแม้ทั้งหมด เป็นผู้มีอุปการแก่บุรุษข้าราชการนั้นฉันใด; แม้อุทเทส ปริปุจฉา นวกรรม การให้และการบูชาล้วนเป็นของมีอุปการมาก ในกิจควรกระทำทั้งหลายเหล่านั้น ฉันนั้น ถ้าว่า ชนทั้งหลวงทั้งปวง พึงเป็นผู้บริสุทธิ์แล้วโดยอภิชาติไซร้, กิจอันผู้พร่ำสอนจะพึงกระทำไม่พึงมี; ก็เพราะเหตุใดแล กิจอันผู้พร่ำสอนจะพึงกระทำด้วยการฟังมีอยู่ พระเถระสารีบุตรผู้มีกุศลมูลสั่งสมแล้ว สิ้นอสงไขยและกัปป์อันนับไม่ได้แล้ว ถึงแล้วซึ่งที่สุดแห่งปัญญา, แม้พระเถระสารีบุตรนั้นเว้นจากการฟัง ไม่อาจแล้วเพื่อจะพึงอาสวักขัย
      ขอถวายพระพร เพราะเหตุนั้น การฟังชื่อมีอุปการมาก, แม้อุทเทสแม้ปริปุจฉามีอุปการมาก ก็เหมือนกัน, เพราะเหตุนั้น อุทเทสปริปุจฉาจึงเป็นนิปปปัญจธรรม มีเครื่องเนิ่นช้าออกแล้วเป็นอสังขตะ"
      ร "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ปัญหาพระผู้เป้นเจ้าเพ่งดีแล้วข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้านั้นสมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น"

 


วรรคที่ 1
วรรคที่ 2
วรรคที่ 3
วรรคที่ 4
วรรคที่ 5
วรรคที่ 6
ปฏิปทาโทสปัญหา
นิปปปัญจปัญหา
คิหิอรหัตตปัญหา
โลมกัสสปปัญหา
ฉันททันตโชติปาลอารัพภปัญหา
ฆฏีการปัญหา
ภควโต ราชปัญหา
ทวินนัง พุทธานัง โลเก นุปปัชชนปัญหา
คิหิปัพพชิตสัมมาปฏิปัตติปัญหา
วรรคที่ 7
วรรคที่ 8
วรรคที่ 9
 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย