ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
มิลินทปัญหา
ฉบับแปลในมหามกุฏราชวิทยาลัย
วรรคที่หก
4 โลมกัสสปปัญหา
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน แม้พระพุทธพจน์นี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
'เราได้เกิดเป็นมนุษย์ในกาลก่อนทีเดียวได้เป็นผู้มีชาติแห่งบุคคลไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย'
ดังนี้ และพระโพธิสัตว์เป็นฤษีชื่อ โลมกัสสป ได้เห็นนางจันทวดีกัญญา
ฆ่าสัตว์ทั้งหลายมิใช่ร้อยเดียว บูชามหายัญชื่อว่าวาชเปยยะ
พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า
'เราเป็นมนุษย์ในกาลก่อนทีเดียว
เป็นผู้มีชาติแห่งบุคคลไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ดังนี้, ถ้ากระนั้น คำว่า
'ฤษีชื่อโลมกัสสป ฆ่าสัตว์ทั้งหลายมิใช่ร้อยเดียวบูชามหายัญชื่อวาชเปยยะ'
ดังนี้ นั้นผิด ถ้าว่าฤษีชื่อโลมกัสสป ฆ่าสัตว์ทั้งหลายมิใช่ร้อยเดียว
บูชามหายัญชื่อ วาชเปยยะ, ถ้าอย่างนั้น คำทีว่า
'เราเกิดเป็นมนุษย์ในกาลก่อนเทียว
ได้เป็นผู้มีชาติแห่งบุคคลไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด
ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว
พระผู้เป็นเจ้าพึงแก้ไขขยายให้แจ้งชัดเถิด"
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร แม้พระพุทธพจน์นี้
อันพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงภาสิตแล้วว่า 'เราเกิดเป็นมนุษย์ในกาลก่อนเทียว
ได้เป็นผู้มีชาติแห่งบุคคลไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย' ดังนี้,
และฤษีชื่อโลมกัสสปฆ่าสัตว์ทั้งหลายมิใช่ร้อยเดียว บูชามหายัญชื่อวาชเปยยะ;
ก็แหละมหายัญนั้นอันฤษีชื่อโลมกัสสปนั้นมีสัญญาวิปลาศแล้ว
บูชาแล้วด้วยอำนาจแห่งราคะ จะเป็นผู้มีเจนาเป็นปกติอยู่บูชาแล้วหามิได้"
ร
"พระผู้เป็นเจ้านาคเสน บุคคลทั้งหลายแปดเหล่านี้ ย่อมฆ่าสัตว์,
บุคคลทั้งหลายแปด เป็นไฉน: บุคคลทั้งหลายแปด คือ บุคคลกำหนัดแล้ว
ย่อมฆ่าสัตว์ด้วยอำนาจแห่งราคะ บุคคลอันโทสะประทุษร้านแล้ว
ย่อมฆ่าสัตว์ด้วยอำนาจแห่งราคะ บุคคลอันโทสะประทุษร้ายแล้ว
ย่อมฆ่าสัตว์ด้วยอำนาจแห่งโทสะ บุคคลหลงแล้ว ย่อมฆ่าสัตว์ ด้วยอำนาจแห่งโมหะ
บุคคลมีมานะ ย่อมฆ่าสัตว์ด้วยอำนาจแห่งมานะ บุคคลโลภแล้ว
ย่อมฆ่าสัตว์ด้วยอำนาจแห่งความโลภบุคคลไม่มีทรัพย์น้อยหนึ่ง
ย่อมฆ่าสัตว์เพื่อประโยชน์แก่การเลี้ยงชีวิตบุคคลพาลย่อมฆ่าสัตว์ด้วยอำนาจแห่งความไม่รู้
เพราะเหตุมีสหายเป็นพาล พระมหากษัตริย์ย่อมฆ่าสัตว์ด้วยอำนาจแห่งกฎหมาย
บุคคลทั้งหลายแปดเหล่านี้ ย่อมฆ่าสัตว์ มหายัญเป็นปกติทีเดียว
อันพระโพธิสัตว์ทำแล้ว
ถ
"ขอถวายพระพร มหายัญโดยปกติทีเดียว อันพระโพธิสัตว์ทำแล้ว หามิได้
ถ้าว่าพระโพธิสัตว์พึงน้อมลงไปโดยความเป็นปกติเพื่อจะบูชามหายัญไซร้,
พระโพธิสัตว์ไม่พึงกล่าวคาถาว่า
'เราไม่พึงปรารถนาแผ่นดินซึ่งมีสมุทรเป็นเครื่องล้อม คือ มีทะเลล้อมอยู่รอบ
ดุจกุณฑลซึ่งพันไว้ด้วยเถาวัลย์ดำ พร้อมด้วยนินทา, แน่ะสัยหะ
ท่านจงรู้อย่างนี้'
ขอถวายพระพร พระโพธิสัตว์มีวาทะอย่างนี้ พอเห็นนางราชกัญญาชื่อจันทวดี
เป็นผู้มีสัญญาผิด มีจิตฟุ้งซ่าน กำหนัดแล้ว, ครั้นมีสัญญาผิดแล้ว
เป็นผู้อากูลและอากูล ด่วนและด่วน บูชามหายัญชื่อว่า วาชเปยยะ
เป็นที่ฆ่าสัตว์ของเลี้ยงและสั่งสมเลือดในคอใหญ่ด้วยจิตฟุ้งซ่านแล้ว
และวิงเวียนแล้ว และมัวเมาแล้วนั้น เปรียบเหมือนคนบ้า มีจิตฟุ้งซ่านแล้ว
เหยียบไฟรุ่งเรืองแล้วบ้าง จับอสรพิษอันกำเริบแล้วบ้าง
เข้าไปใกล้ช้างซับมันแล้วบ้าง ไม่เห็นฝั่งแล่นไปสู่สมุทรบ้าง ย่อมขยำคูถบ้าง
ย่อมลงบ่อคูถบ้าง ย่อมขึ้นไปสู่ที่มีหนามบ้าง ย่อมโดดในเหวบ้าง
ย่อมกินอสุจิบ้าง เป็นคนเปลือยเที่ยวไปกลางถนนบ้าง
ย่อมทำกิริยาไม่ควรทำมากอย่าง แม้อื่นบ้างฉันใด;
พระโพธิสัตว์พอเห็นนางราชกัญญาชื่อ จันทวดี เป็นผู้มีสัญญาผิด มีจิตฟุ้งซ่าน,
ครั้นมีสัญญาผิดแล้วเป็นผู้อากูลและอากูล ด่วนและด่วน, บูชามหายัญชื่อ วาชเปยยะ
เป็นที่ฆ่าสัตว์ของเลี้ยงและสั่งสมเลือดในคอใหญ่ ๆ ด้วยจิตฟุ้งซ่านแล้ว
และวิงเวียนแล้ว และมัวเมาแล้ว ฉันนั้นนั่นเทียวแล
ขอถวายพระพร บาปอันบุคคลมีจิตฟุ้งซ่านแล้ว ทำแล้ว
ซึ่งจะเป็นมหาสาวัชชะเป็นไปกับด้วยโทษใหญ่
แม้ในทิฏฐธรรมหามิได้จะเป็นมหาสาวัชชะ แม้โดยวิบากในสัมปรายะก็หาไม่
ในโลกนี้ใคร ๆ เป็นบ้า พึงต้องอาชญาประหารชีวิต
บรมบพิตรจะทรงวางอาชญาอะไรแก่เขา"
ร
"อาชญาอะไร จักพึงมีแกคนบ้าเล่า, พระผู้เป็นเจ้า
ข้าพเจ้ายังราชบุรุษทั้งหลายให้โบยแล้วจึงนำคนบ้านั้นออกเสีย,
ความให้ราชบุรุษโบยนำออกเสียนั่นแหละ เป็นอาชญาของคนบ้านั้น"
ถ
"ขอถวายพระพร แม้พระราชอาชญา เพราะความผิดของคนบ้าไม่มี, เพราะเหตุนั้น
เมื่อความผิดอันคนบ้าแม้ทำแล้ว ย่อมไม่มีโทษ คนบ้าเป็นสเตกิจโฉ
ฤษีชื่อโลมกัสสปมีสัญญาผิด มีจิตฟุ้งซ่านแล้ว กำหนัดแล้ว
พร้อมด้วยการเห็นนางราชกัญญาชื่อ จันทวดี, ครั้นเป็นผู้มีสัญญาผิดแล้ว
มีความกระสับกระส่ายฟุ้งซ่านแล้ว อากูลและอากูล ด่วนและด่วน บูชามหายัญชื่อ
วาชเปยยะ เป็นที่ฆ่าสัตว์ของเลี้ยงและสั่งสมเลือดในคอใหญ่ ๆ ด้วยจิตฟุ้งซ่าน
และวิงเวียนแล้ว และมัวเมาแล้วนั้น
ก็และพระโพธิสัตว์นั้นมีจิตเป็นปกติกลับได้สติในกาลใด, บวชแล้วอีก
ยังอภิญญาทั้งหลายห้าให้เกิดแล้วเป็นผู้เข้าไปสู่พรหมโลกนั่นเทียว ในกาลนั้น"
ร "ดีละ
พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหานั้นสมอย่างนั้น,
ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น"
วรรคที่ 1
วรรคที่ 2
วรรคที่ 3
วรรคที่ 4
วรรคที่ 5
วรรคที่ 6
ปฏิปทาโทสปัญหา
นิปปปัญจปัญหา
คิหิอรหัตตปัญหา
โลมกัสสปปัญหา
ฉันททันตโชติปาลอารัพภปัญหา
ฆฏีการปัญหา
ภควโต ราชปัญหา
ทวินนัง พุทธานัง โลเก นุปปัชชนปัญหา
คิหิปัพพชิตสัมมาปฏิปัตติปัญหา
วรรคที่ 7
วรรคที่ 8
วรรคที่ 9