ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

มิลินทปัญหา
ฉบับแปลในมหามกุฏราชวิทยาลัย


เมณฑกปัญหา

วรรคที่เก้า

4 นิพพานอทุกขมิสสภาวปัญหา

          พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน นิพพานเป็นสุขส่วนเดียวหรือ หรือว่าเจือด้วยทุกข์"
      พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร นิพพานเป็นสุขส่วนเดียวหาเจือด้วยทุกข์ไม่"
      ร "ข้าพเจ้าไม่เชื่อ คำว่า 'นิพพานเป็นสุขส่วนเดียว' นั้น ข้าพเจ้าเห็นในปัญหาข้อนี้อย่างนี้ว่า 'นิพพานเป็นของเจือด้วยทุกข์'ฉะนี้; และข้าพเจ้าจับเหตุในปัญหาข้อนี้ว่า 'นิพพานเป็นของเจือด้วยทุกข์' ฉะนี้ได้, เหตุในปัญหาข้อนี้ เป็นไฉน คือ ชนเหล่าใดแสวงหานิพพาน ความเพียรยังกิเลสให้เร่าร้อน ย่อมปรากฏแก่กายและจิตแห่งชนเหล่านั้น, และความระวัง การยืน การเดิน การนั่ง การนอน และอาหาร, การปราบปรามความง่วงเหงา ความลำบากแห่งอายตนะทั้งหลาย ความละทรัพย์ที่ควรสงวนและญาติมิตรเป็นที่รัก ย่อมปรากฏแก่กายและจิตแห่งชนเหล่านั้น; ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกเป็นผู้ถึงความสุขอิ่มไปด้วยความสุข ชนเหล่านั้นทั้งหมด เขาย่อมยังอายตนะทั้งหลายให้ยินดี ให้เจริญจิตด้วยกามคุณทั้งห้า คือ เขายังจักษุให้ยินดีให้เจริญด้วยรูปที่เป็นสุภนิมิตมีอย่างมาก ยังใจให้เอิบอาบ, ยังโสตให้ยินดีให้เจริญจิตด้วยเสียที่เป็นสุภนิมิตมีอย่างมาก คือ ขับร้องและประโคมเครื่องดนตรีที่ยังใจให้เอิบอาบ, ยังฆานะให้ยินดีให้เจริญจิตด้วยกลิ่นที่เป็นสุภนิมิตมีอย่างมาก คือ ดอกไม้ ผลไม้ ใบไม้ เปลือกไม้ รากไม้ แก่นไม้ ที่ยังใจให้เอิบอาบ, ยังชิวหาให้ยินดี ให้เจริญจิตด้วยรสที่เป็นสุภนิมิตมีอย่างมาก  คือ ของควรเคี้ยว ของควรบริโภค ของควรลิ้ม ของควรดื่ม ของควรชิม ที่ยังใจให้เอิบอาบ, ยังกายให้ยินดี ให้เจริญจิต ด้วยผัสสะที่เป็นสุภนิมิตมีอย่างมาก คือ ละเอียดนุ่มอ่อนละมุน ที่ยังใจให้เอิบอาบ, ยังใจให้ยินดี ให้เจริญ ด้วยความตรึกความทำในใจมีอย่างมาก คือ อารมณ์ดีและชั่ว อารมณ์งามและไม่งาม ที่ยังใจให้เอิบอาบ ท่านทั้งหลายกำจัดเสีย ฆ่าเสีย ดับเสีย ทอนเสีย ปิดเสีย กั้นเสียซึ่งความเจริญแห่งจักษุ โสต ฆานะ ชิวหา กาย ใจนั้น, ด้วยเหตุนั้น แม้กายของผู้แสวงหานิพพาน ก็เร่าร้อน แม้จิตของผู้แสวงหานิพพาน ก็เร่าร้อน, ครั้นกายเร่าร้อน ผู้แสวงหานิพพาน ก็ย่อมเสวยทุกขเวทนาที่เป็นไปในกาย, ครั้นจิตเร่าร้อน ผู้แสวงหานิพพาน ก็ย่อมเสวยทุกขเวทนาที่เป็นไปในจิต, แม้ปริพพาชกชื่อ มาคันทิยะ เมื่อติเตียนพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้กล่าวอย่างนี้ว่า "พระสมณโคดมฆ่าความเจริญเสีย" ฉะนี้ เหตุนี้เป็นเหตุที่ข้าพเจ้ากล่าวในปัญหาข้อนี้ว่า "นิพพานเป็นของเจือด้วยทุกข์" ฉะนี้
      ถ "ขอถวายพระพร นิพพานไม่เจือด้วยทุกข์เลย นิพพานเป็นสุขส่วนเดียว ก็แต่บรมบพิตรรับสั่งข้อใดว่า 'นิพพานเป็นทุกข์' ข้อนั้น จะชื่อว่านิพพานเป็นทุกข์ก็หาไม่, ก็แต่ข้อนั้น เป็นส่วนเบื้องต้นแห่งการทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน, ข้อนั้น เป็นการแสวงหานิพพาน นิพพานเป็นสุขส่วนเดียวแท้ หาเจือด้วยทุกข์ไม่ อาตมภาพจะกล่าวเหตุในปัญหานั้นถวาย ขึ้นชื่อว่าสุขในราชสมบัติมีแด่พระราชาทั้งหลายหรือขอถวายพระพร"
      ร "มีซิ พระผู้เป็นเจ้า สุขในราชสมบัติมีแด่พระราชาทั้งหลาย"
      ถ "ราชสมบัตินั้นเจือทุกข์บ้างหรือ ขอถวายพระพร"
      ร "หามิได้ พระผู้เป็นเจ้า"
      ถ "ก็เพื่อเหตุไร ขอถวายพระพร พระราชาเหล่านั้น ครั้นปัจจันตชนบทกำเริบแล้ว จึงต้องพร้อมด้วยอมาตย์ราชภัฏขุนพลทวยหาญทั้งหลาย เสด็จไปประทับแรมเป็นผู้อันเหลือม และยุง ลม และแดดเบียดเบียนแล้ว ต้องทรงวิ่งไปในที่เสมอและไม่เสมอ ทรงกระทำการรบกันใหญ่ด้วย ถึงซึ่งความไม่แน่พระหฤทัยในพระชนมชีพด้วย เพื่ออันทรงเกียดกันเสียซึ่งข้าศึกทั้งหลายที่อาศัยปัจจันตชนบทอยู่เหล่านั้นแล"
      ร "ข้อนั้น หาชื่อว่าเป็นสุขในราชสมบัติไม่, ข้อนั้น เป็นส่วนเบื้องต้นแห่งความแสวงหาสุขในราชสมบัติ พระราชาทั้งหลายแสวงหาราชสมบัติ ด้วยความทุกข์แล้ว ย่อมเสวยสุขในราชสมบัติ เมื่อเป็นเช่นนี้ สุขในราชสมบัติไม่เจือด้วยทุกข์, สุขในราชสมบัตินั้นก็ต่างหากทุกข์ต่างหาก"
      ถ "ขอถวายพระพร นิพพานเป็นสุขส่วนเดียว ไม่เจือด้วยทุกข์, ก็แต่ชนเหล่าใด แสวงหานิพพานนั้น ชนเหล่านั้น ต้องยังกายและจิตให้ระส่ำระสาย ต้องระวังการยืน การเดิน การนั่ง การนอน และอาหารต้องปราบปรามความง่วงเหงา ต้องให้อายตนะลำบาก ต้องสละกายและชีวิต ต้องแสวงหานิพพานด้วยความทุกข์ แล้วย่อมเสวยนิพพานอันเป็นสุขส่วนเดียว ดุจพระราชาทั้งหลาย กำจัดปัจจามิตรเสียได้แล้ว เสวยสุขในราชสมบัติ ฉะนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ นิพพานเป็นสุขส่วนเดียวไม่เจือด้วยทุกข์, นิพพานต่างหาก ทุกข์ต่างหาก ฉันนั้นแล
      ขอถวายพระพร บรมบพิตรจงทรงสดับเหตุในปัญหาว่า 'นิพพานเป็นสุขส่วนเดียว ไม่เจือด้วยทุกข์ ทุกข์ต่างหาก นิพพานต่างหาก' ฉะนี้อื่นอีกให้ยิ่งขึ้นไป ชื่อว่าสุขเกิดแต่ศิลปศาสตร์ มีแก่อาจารย์ทั้งหลายผู้มีศิลปศาสตร์หรือ ขอถวายพระพร"
      ร "มีซิ พระผู้เป็นเจ้า สุขเกิดแต่ศิลปศาสตร์ มีแก่อาจารย์ทั้งหลายผู้มีศิลปศาตร์"
      ถ "เออก็ สุขเกิดแต่ศิลปศาสตร์นั้น เจือด้วยทุกข์หรือ ขอถวายพระพร"
      ร "ไม่เจือเลย"
      ถ "ก็เพื่อเหตุอะไร ขอถวายพระพร อาจารย์เหล่านั้น เมื่อยังเป็นศิษย์ท่านอยู่ ยังกายให้ร้อนรน เพราะไม่เป็นอันนอนไม่เป็นอันกินด้วยต้องวางจิตของตนเสียประพฤติตามจิตของผู้อื่น คือ ต้องกราบไหว้และบำรุงอาจารย์ทั้งหลาย และต้องตักน้ำมาให้ กวาดที่อยู่ ให้ไม้ชำระฟัน น้ำบ้วนปาก รับของเป็นเดนไปทิ้ง กลบกลิ่นไม่สะอาด ให้อาบน้ำ นวดเฟ้นเท้า"
      ร "ข้อนั้น ไม่ชื่อว่าสุขเกิดแต่ศิลปศาสตร์ ข้อนั้น เป็นส่วนเบื้องต้นแห่งการแสวงหาศิลปศาสตร์ อาจารย์ทั้งหลาย แสวงหาศิลปศาสตร์ด้วยความทุกข์ แล้วได้เสวยสุขเกิดแต่ศิลปศาสตร์ เมื่อเป็นเช่นนี้ สุขเกิดแต่ศิลปศาสตร์ ไม่เจือด้วยทุกข์, สุขเกิดแต่ศิลปศาสตร์นั้นต่างหากทุกข์ต่างหาก"
      ถ "นิพพานเป็นสุขส่วนเดียว ไม่เจือด้วยทุกข์, ก็แต่ชนเหล่าใดแสวงหานิพพานนั้น ชนเหล่านั้น ยังกายและจิตให้เดือดร้อน ต้องระวังรักษาอิริยาบถทั้งสี่และอาหาร ปราบปรามความง่วงเหงา ยังอายตนะทั้งหลายให้ลำบาก แล้วได้เสวยนิพพานอันเป็นสุขส่วนเดียว ประดุจอาจารย์ได้เสวยสุขเกิดแต่ศิลปศาสตร์ ฉะนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ นิพพานเป็นสุขส่วนเดียว ไม่เจือทุกข์, ทุกข์ต่างหาก นิพพานต่างหาก ฉันนั้นแล"
      ร "ดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้า สมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น"

 


วรรคที่ 1
วรรคที่ 2
วรรคที่ 3
วรรคที่ 4
วรรคที่ 5
วรรคที่ 6
วรรคที่ 7
วรรคที่ 8
วรรคที่ 9
กาลากาลมรณปัญหา
ปรินิพพุตเจติยปาฏิหาริยปัญหา
เอกัจจาเนกัจจานํ ธัมมาภิสมยปัญหา
นิพพานอทุกขมิสสภาวปัญหา
นิพพานปัญหา
นิพพานสัจฉิกรณปัญหา
นิพพานปัฏฐานปัญหา
อนุมานปัญหา
ธุตังคปัญหา
 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย