ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
มิลินทปัญหา
ฉบับแปลในมหามกุฏราชวิทยาลัย
วรรคที่เก้า
6 นิพพานสัจฉิกรณปัญหา
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ผู้เจริญ พระผู้เป็นเจ้ากล่าวอยู่ว่า
"นิพพานไม่ใช่เป็นธรรมชาตล่วงไปแล้ว ไม่ใช่เป็นธรรมชาต ยังไม่มาถึง
ไม่ใช่เป็นธรรมชาตเกิดขึ้นเฉพาะหน้า, ไม่ใช่เป็นธรรมชาตเกิดขึ้นแล้ว
ไม่ใช่เป็นธรรมชาตไม่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่เป็นธรรมชาตอันกิเลสทั้งหลายยึดมั่น"
ฉะนี้ ก็บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งในโลกนี้ปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน
บุคคลผู้นั้นย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพานที่เกิดขึ้นแล้ว
หรือว่ายังนิพพานให้เกิดขึ้นแล้วจึงกระทำให้แจ้ง"
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งปฏิบัติชอบแล้ว
ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน บุคคลผู้นั้นไม่กระทำให้แจ้ง
ซึ่งนิพพานที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ได้ยังนิพพานให้เกิดแล้วจึงกระทำให้แจ้ง
ก็แต่ว่านิพพานธาตุที่บุคคลผู้ปฏิบัติชอบแล้วกระทำให้แจ้งมีอยู่"
ร
"พระนาคเสนผู้เจริญ พระผู้เป็นเจ้าอย่าแสดงปัญหานี้กระทำให้ปกปิด,
จงแสดงกระทำให้เปิดเผยให้ปรากฏ, พระผู้เป็นเจ้าจงเกิดฉันทะ
เกิดอุตสาหะกระจายข้อความทั้งปวงที่พระผู้เป็นเจ้าศึกษาแล้วในปัญหานี้,
มหาชนนี้หลงพร้อมแล้ว เกิดความสงสัย แล่นไปสู่ความสงสัยในปัญหานี้,
พระผู้เป็นเจ้าจงทำลายลูกศรกล่าวคือโทษภายในเสีย"
ถ
"ขอถวายพระพร นิพพานธาตุนั้นเป็นธรรมชาตระงับแล้วเป็นสุขประณีต,
บุคคลผู้ปฏิบัติชอบแล้ว
พิจารณาสังขารทั้งหลายตามคำพร่ำสอนของพระพุทธเจ้าผู้ชำนะแล้ว
ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพานนั้นด้วยปัญญา
ขอถวายพระพร อันเตวาสิกย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งวิทยาด้วยปัญญา
ตามคำพร่ำสอนแห่งอาจารย์ ฉันใด,
บุคคลผู้ปฏิบัติชอบแล้วย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพานด้วยปัญญา
ตามคำพร่ำสอนแห่งพระพุทธเจ้าผู้ชนะแล้ว ฉันนั้น
ก็นิพพานอันบัณฑิตพึงเห็นอย่างไร พึงเห็นโดยความเป็นของไม่มีเหตุร้าย
โดยความเป็นของไม่มีอันตราย โดยความเป็นของไม่มีภัย โดยความเป็นของเกษม
โดยความเป็นของระงับแล้ว โดยความเป็นสุข โดยความเป็นของสำราญ
โดยความเป้นของประณีต โดยความเป็นของสะอาด โดยความเป็นของเยือกเย็น
ขอถวายพระพร บุรุษร้อนอยู่ด้วยไฟอันโพลงร้อน
มีกองไม้มากพ้นจากไฟนั้นด้วยความพยายามแล้ว เข้าไปสู่โอกาสไม่มีไฟ
พึงได้สุขอย่างยิ่งในที่นั้น ฉันใด, บุคคลใดปฏิบัติชอบ
บุคคลนั้นย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพานอันเป็นสุขอย่างยิ่ง อันมีความร้อนพร้อม
คือ ไฟสามอย่างไปปราศแล้ว ด้วยความกระทำในใจโดยแยบคาย ฉันนั้น
ขอถวายพระพร ไฟได้แก่ไฟสามอย่าง บุรุษผู้ไปแล้วในไฟได้แก่บุคคลปฏิบัติชอบแล้ว
โอกาสอันหาไฟมิได้นั้น ได้แก่นิพพาน
ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างว่า
บุรุษผู้ไปแล้วสู่กองส่วนแห่งทรากศพงูสุนัขและมนุษย์และคูถ
เข้าไปแล้วสู่ระหว่างปะปนด้วยหมู่ทรากศพ
พ้นจากทรากศพนั้นด้วยความพยายามแล้วเข้าไปสู่โอกาสหาทรากศพมิได้
พึงได้สุขอย่างยิ่งในที่นั้น ฉันใด, บุคคลใดปฏิบัติชอบแล้ว
บุคคลนั้นย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพานอันเป็นสุขอย่างยิ่ง อันปราศจากทรากศพ
กล่าวคือ กิเลสด้วยความกระทำในใจโดยแยบคาย ฉันนั้น
ขอถวายพระพร ทรากศพได้แก่กามคุณห้าประการ
บุรุษผู้ไปสู่ทรากศพได้แก่บุคคลผู้ปฏิบัติขชอบ
โอกาสหาทรากศพมิได้นั้นได้แก่นิพพาน
ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างว่าบุรุษผู้สะดุ้งหวาดกลัวแล้ว
มีจิตแปรปรวนหมุนไปแล้ว พ้นจากจิตเช่นนั้นด้วยความเพียรแล้ว
เข้าไปสู่ที่หาภัยมิได้ และมั่นคงไม่หวั่นไหว พึงได้บรมสุขในที่นั้น ฉันใด,
บุคคลใดปฏิบัติชอบแล้ว บุคคลนั้นย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพานอันเป็นบรมสุข
มีความกลัวและความสะดุ้งไปปราศแล้ว ด้วยโยนิโสมนสิการ ฉันนั้น
ขอถวายพระพร ภัยได้แก่ภัยที่อาศัย ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ เป็นไปเนือง ๆ
บุรุษผู้กลัวได้แก่บุคคลผู้ปฏิบัติชอบ สถานซึ่งหาภัยมิได้นั้น ได้แก่นิพพาน
ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง
เหมือนอย่างว่าบุรุษล้มลงที่ประเทศเต็มไปด้วยเลนตมอันหม่นหมอง
ชำระล้างเลนตมนั้นเสียด้วยความเพียรแล้ว เข้าไปสู่ประเทศหมดจดไม่มีมลทิน
พึงได้บรมสุขในที่นั้น ฉันใด, บุคคลใด ปฏิบัติชอบแล้ว บุคคลนั้น
ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน อันเป็นบรมสุข อันมีเปือกตมหม่นหมอง คือ
กิเลสไปปราศแล้วด้วยโยนิโสมนสิการ ฉันนั้น
ขอถวายพระพร เปือกตม ได้แก่ลาภสักการะและความสรรเสริญบุรุษผู้ไปสู่เปือกตม
ได้แก่บุคคลผู้ปฏิบัติชอบ ประเทศอันบริสุทธิ์หามลทินมิได้นั้น ได้แก่นิพพาน
ก็แหละ
บุคคลผู้ปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพานนั้นเป็นไฉน ขอถวายพระพร คือ
บุคคลใด ปฏิบัติชอบแล้ว บุคคลนั้นย่อมพิจารณาความเป็นไปแห่งสังขารทั้งหลาย,
เมื่อพิจารณาความเป็นไปแห่งสังขารทั้งหลาย ย่อมเห็นความเกิด ความแก่
ความเจ็บไข้ และความตาย ในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น, บุคคลนั้น
ย่อมไม่เห็นซึ่งอะไร ๆ ในเบื้องต้นหรือท่ามกลางหรือที่สุด
ในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น ซึ่งเข้าถึงความเป็นของควรถือเอา
ขอถวายพระพร บุรุษย่อมไม่เห็นซึ่งประเทศแห่งหนึ่ง
ข้างต้นหรือท่ามกลางหรือที่สุด ในก้อนเหล็กแดงร้อนอยู่ตลอดวัน
ซึ่งเข้าถึงความเป็นของควรถือเอา ฉันใด, บุคคลใด
พิจารณาความเป็นไปแห่งสังขารทั้งหลาย บุคคลนั้น
เมื่อพิจารณาความเป็นไปแห่งสังขารทั้งหลายอยู่ ย่อมเห็นความเกิด ความแก่
ความเจ็บไข้ และความตายในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น,
ย่อมไม่เห็นความสุขความสำราญหน่อยหนึ่งในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น,
ย่อมไม่เห็นอะไร ๆ ในเบื้องต้นหรือท่ามกลางหรือที่สุด
ในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น ซึ่งเข้าถึงความเป็นของควรถือเอา ฉันนั้น
เมื่อบุคคลนั้นได้เห็นอะไร ๆ ซึ่งเข้าถึงความเป็นของควรถือเอา
ความไม่สบายในจิตก็ย่อมตั้งอยู่พร้อม, ความเร่าร้อนในกายก็ย่อมหยั่งลง,
บุคคลนั้น เป็นผู้ไม่มีที่ป้องกัน ไม่มีที่พึ่งย่อมเบื่อหน่ายในภพทั้งหลาย
ขอถวายพระพร บุรุษพึงเข้าไปสู่กองไฟใหญ่ มีเปลวรุ่งเรือง, บุรุษนั้น
เป็นผู้ไม่มีที่ป้องกัน ไม่มีที่พึ่งของตนในกองไฟนั้น พึงเบื่อหน่ายในไฟ ฉันใด,
เมื่อบุคคลนั้นไม่เห็นอะไร ๆ ซึ่งเข้าถึงความเป็นของควรถือเอา
ความไม่สบายในจิตย่อมตั้งอยู่พร้อม, ความเร่าร้อนในกายย่อมหยั่งลง, บุคคลนั้น
เป็นผู้ไม่มีที่ป้องกัน ไม่มีที่พึ่ง พึงเบื่อหน่ายในภพทั้งหลาย ฉันนั้น
เมื่อบุคคลนั้นเห็นภัยในความเป็นไปแห่งสังขารทั้งหลายเป็นปกติ
จิตย่อมเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า 'ก็ความเป็นไปแห่งสังขารทั้งหลายนี้
เป็นของร้อนพร้อม ร้อนแต่ต้น ร้อนโดยรอบมีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก;ถ้าใคร ๆ
มาได้ความไม่เป็นไปแห่งสังขารทั้งหลายไซร้, คือ ธรรมชาตนี้ใด
ธรรมเป็นที่ระงับแห่งสังขารทั้งปวง ธรรมเป็นที่สลัดคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง
ธรรมเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา ธรรมเป็นที่คลายย้อม ธรรมเป็นที่เงียบหาย
ธรรมเป็นที่ดับ ธรรมชาตนั้นเป็นของระงับแล้ว ธรรมชาตนั้นเป็นของประณีต ดังนี้
จิตนี้ของบุคคลนั้น ย่อมแล่นไป ย่อมเลื่อมใส ย่อมร่าเริง
ในความไม่เป็นไปแห่งสังขารทั้งหลายว่า 'ความออกไปจากภพทั้งสาม
อันเราได้เฉพาะแล้ว' ด้วยประการฉะนี้
ขอถวายพระพร บุรุษผู้เสียหายแล้ว หลีกไปสู่ต่างประเทศแล้ว
เห็นหนทางที่นำออกแล้ว ย่อมแล่นไป ย่อมพอใจ ย่อมร่าเริงในหนทางนั้นว่า
'หนทางเป็นที่นำออกจากความพินาศ อันเราได้เฉพาะแล้ว' ฉะนี้ ฉันใด,
จิตของบุคคลผู้เห็นภัยในความเป็นไปแห่งสังขารทั้งหลายเป็นปกติ ย่อมแล่นไป
ย่อมเลื่อมใส ย่อมร่าเริง ในความไม่เป็นไปแห่งสังขารทั้งหลายว่า
'ความออกไปจากภพทั้งสามอันเราได้เฉพาะแล้ว'ฉะนี้ ฉะนั้น บุคคลนั้น ประมวลมา
แสวงหาให้เจริญกระทำให้มาก ซึ่งหนทางเพื่อความไม่เป็นไปแห่งสังขารทั้งหลายอยู่,
สติวิริยะและปีติของบุคคลนั้นย่อมตั้งมั่น
เพื่อความไม่เป็นไปแห่งสังขารทั้งหลายนั้น
เมื่อบุคคลนั้นกระทำในใจซึ่งจิตนั้นเนือง ๆ
จิตก็ก้าวล่วงความเป็นไปแห่งสังขารทั้งหลายเสีย
หยั่งลงยังความไม่เป็นไปแห่งสังขารทั้งหลาย;ขอถวายพระพร
บุคคลผู้ถึงความไม่เป็นไปแห่งสังขารทั้งหลายแล้ว บัณฑิตย่อมกล่าวว่า
'เป็นผู้ปฏิบัติชอบแล้ว กระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน' ฉะนี้"
ร "ดีแล้ว
พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้าสมอย่างนั้น,
ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น
วรรคที่ 1
วรรคที่ 2
วรรคที่ 3
วรรคที่ 4
วรรคที่ 5
วรรคที่ 6
วรรคที่ 7
วรรคที่ 8
วรรคที่ 9
กาลากาลมรณปัญหา
ปรินิพพุตเจติยปาฏิหาริยปัญหา
เอกัจจาเนกัจจานํ ธัมมาภิสมยปัญหา
นิพพานอทุกขมิสสภาวปัญหา
นิพพานปัญหา
นิพพานสัจฉิกรณปัญหา
นิพพานปัฏฐานปัญหา
อนุมานปัญหา
ธุตังคปัญหา