ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
มิลินทปัญหา
ฉบับแปลในมหามกุฏราชวิทยาลัย
วรรคที่เก้า
7 นิพพานปัฏฐานปัญหา
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ประเทศที่นิพพานตั้งอยู่
มีอยู่ในทิศบูรพา หรือทิศทักษิณ ทิศปัศจิม ทิศอุดร หรือข้างบน ข้างล่าง
ด้านขวาง"
พระเถรเจ้าทูลว่า "ประเทศที่นิพพานตั้งอยู่ ในทิศบูรพาเป็นต้นไม่มี
ขอถวายพระพร"
ร
"พระผู้เป็นเจ้านาคเสน หากว่าโอกาสที่ตั้งแห่งนิพพานไม่มีไซร้ ถ้าอย่างนั้น
นิพพานก็ไม่มี,
และนิพพานที่ผู้ใดกระทำให้แจ้งความกระทำให้แจ้งของผู้นั้นก็เปล่าซิ
ข้าพเจ้าจะกล่าวเหตุในข้อนั้น; นาเป้นที่ตั้งขึ้นแห่งธัญชาติมีอยู่
ดอกไม้เป็นที่ตั้งขึ้นแห่งกลิ่นมีอยู่ กอไม้เป็นที่ตั้งขึ้นแห่งดอกไม้มีอยู่
ต้นไม้เป็นที่ตั้งขึ้นแห่งผลไม้มีอยู่
บ่อเกิดรัตนะเป็นที่ตั้งขึ้นแห่งรัตนะมีอยู่ บุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง ปรารถนาของใด ๆ
ในที่ทั้งหลายนั้น บุคคลนั้น ไปในที่ทั้งหลายนั้น นำของนั้น ๆ มาฉันใด;
ถ้าว่านิพพานมีอยู่ แม้โอกาสเป็นที่ตั้งขึ้นแห่งนิพพานนั้นใคร ๆ ต้องปรารถนา
ฉันนั้น เพราะเหตุซึ่งโอกาสเป็นที่ตั้งขึ้นแห่งนิพพานไม่มี ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า
'นิพพานไม่มี'ดังนี้, และนิพพานอันผู้ใดกระทำให้แจ้ง
ความกระทำให้แจ้งแม้ของผู้นั้นก็เปล่า"
ถ
"ขอถวายพระพร โอกาสเป็นที่ตั้งแห่งนิพพานไม่มี, แต่นิพพานนั้นมีอยู่,
บุคคลผู้ปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานโดยโยนิโสมนสิการ
ขอถวายพระพร ธรรมดาไฟ ย่อมมีอยู่โอกาสที่ตั้งของไฟนั้น ย่อมไม่มี
บุคคลสีไม้สองอันเข้าแล้ว ย่อมได้ไฟฉันใด, นิพพานมีอยู่ โอกาสที่ตั้งของนิพพาน
ย่อมไม่มี บุคคลผู้ปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน
โดยโยนิโสมนสิการฉันนั้น ขอถวายพระพร
อีกอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างว่า แก้วทั้งเจ็ดมีอยู่ แก้วทั้งเจ็ดนั้นคือ จักรแก้ว
ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว ขุนคลังแก้ว ขุนพลแก้ว
โอกาสที่ตั้งแห่งแก้วเจ็ดประการนั้น ไม่มี แต่เมื่อบรมกษัตริย์ปฏิบัติชอบแล้ว
แก้วเจ็ดประการนั้น ก็ย่อมเกิดขึ้นด้วยกำลังแห่งการปฏิบัติ ฉันใด; นิพพานมีอยู่
โอกาสที่ตั้งแห่งนิพพาน ไม่มี
บุคคลผู้ปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ด้วยโยนิโสมนสิการฉันนั้น"
ร
"พระผู้เป็นเจ้านาคเสน โอกาสที่ตั้งแห่งนิพพานไม่มีก็ช่างเถิด
ก็แต่ฐานะที่บุคคลตั้งอยู่แล้ว ปฏิบัติชอบแล้ว กระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน
มีอยู่หรือ"
ถ
"ขอถวายพระพร ฐานะที่บุคคลตั้งอยู่แล้ว ปฏิบัติชอบแล้ว กระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน
มีอยู่"
ร
"ก็ฐานะนั้นเป็นไฉน พระผู้เป็นเจ้า"
ถ
"ขอถวายพระพร ฐานะ คือ ศีล บุคคลตั้งมั่นในศีลแล้วเมื่อกระทำในใจโดยอุบายที่ชอบ
ตั้งอยู่ในสกลนครและยวนนครก็ดี ในจีนนครและวิลาตนครก็ดี ในอลสันทนครก็ดี
ในนิกุมพนครก็ดี ในกาสีนครและโกสลนครก็ดี ในกัสมีรนครก็ดี ในคันธารนครก็ดี
บนยอดภูเขาก็ดี บนพรหมโลกก็ดี ในที่ใดที่หนึ่งก็ดี ปฏิบัติชอบแล้ว
ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน
ขอถวายพระพร บุรุษผู้ใดผู้หนึ่งมีจักษุ คือ ปัญญา ตั้งอยู่แล้วในที่ทั้งหลาย
มีสกนครและยวนนครเป็นต้น ย่อมเห็นอากาศ ฉันใดบุคคลผู้ตั้งมั่นในศีลแล้ว
เมื่อกระทำในใจโดยอุบายที่ชอบ
ตั้งอยู่แล้วในที่ทั้งหลายมีสกนครและยวนนครเป็นต้น ปฏิบัติชอบแล้ว
ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ฉันนั้น
ขอถวายพระพร อีกประการหนึ่ง เหมือนอย่างว่า
บุรพทิศย่อมมีปรากฏแก่บุรุษผู้ตั้งอยู่ในที่ทั้งหลาย มีสกนครและยวนนครเป็นต้น
ฉันใด, เมื่อบุคคลตั้งมั้นในศีล กระทำในใจโดยแยบคาย ตั้งอยู่ในที่ทั้งหลาย
มีสกนครและยวนนครเป็นต้น ปฏิบัติชอบแล้ว ความกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน
ก็ย่อมมีปรากฏ ฉันนั้น"
ร "ดีละ
พระผู้เป็นเจ้านาคเสน นิพพาน พระผู้เป็นเจ้าแสดงแล้ว,
ความกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน พระผู้เป็นเจ้าแสดงแล้ว, คุณทั้งหลายแห่งศีล
พระผู้เป็นเจ้ากระทำรอบคอบแล้ว, สัมมาปฏิบัติ พระผู้เป็นเจ้าแสดงแล้ว,
ธงคือพระธรรม พระผู้เป็นเจ้ายกขึ้นแล้ว, แบบอย่างแห่งธรรม
พระผู้เป็นเจ้าให้ตั้งอยู่พร้อมแล้ว, สัมมาปโยคของบุคคลผู้ประกอบทั่วดีแล้ว
ไม่เป็นหมัน, พระผู้เป็นเจ้าผู้ประเสริฐเลิศแห่งหมู่ชน
ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้าสมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น"
วรรคที่ 1
วรรคที่ 2
วรรคที่ 3
วรรคที่ 4
วรรคที่ 5
วรรคที่ 6
วรรคที่ 7
วรรคที่ 8
วรรคที่ 9
กาลากาลมรณปัญหา
ปรินิพพุตเจติยปาฏิหาริยปัญหา
เอกัจจาเนกัจจานํ ธัมมาภิสมยปัญหา
นิพพานอทุกขมิสสภาวปัญหา
นิพพานปัญหา
นิพพานสัจฉิกรณปัญหา
นิพพานปัฏฐานปัญหา
อนุมานปัญหา
ธุตังคปัญหา