ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

มิลินทปัญหา
ฉบับแปลในมหามกุฏราชวิทยาลัย

ปรารภเมณฑกปัญหา

           พระเจ้ามิลินท์ผู้ช่างตรัส ทรงสันทัดในการเถียงปัญหา ทรงพระปัญญาล่วงสามัญชน มีพระปรีชาญาณลบล้น เห็นแจ้งในเหตุผลเสด็จเข้าไปหาพระนาคเสนเถรเจ้า เพื่อความแตกฉานแห่งพระปรีชาเสด็จอยู่ในฉายาที่เป็นร่มเงาของพระเถรเจ้า เฝ้าตรัสถามปัญหา ได้พระปัญญาแตกฉาน ทรงพระไตรปิฎกธรรมแล้ว ในส่วนแห่งราตรีวันหนึ่ง เสด็จอยู่ ณ ที่สงัด ทรงพิจารณาถึงนวังคสัตถุศาสนา คือ พระพุทธวจนะมีองค์เก้าประการ ทรงพระญาณเล็งเห็นเมณฑกปัญหา คือ ปริศนาสองเงื่อนดุจเขาแกะ ซึ่งวิสัชนาแก้ได้เป็นอันยาก และประกอบไปด้วยอุบายเครื่องจะยดโทษขึ้นกล่าวได้ อันมีในพระศาสนาของสมเด็จพระธรรมราชา ที่ทรงภาสิตไว้โดยบรรยายก็มี ทรงหมายภาสิตไว้ก็มีทรงภาสิตไว้ตามสภาพก็ดี เพราะไม่รู้แจ้งอรรถาธิบายแห่งภาสิตทั้งหลายในเมณฑกปัญหาที่สมเด็จพระชินพุทธเจ้าทรงภาสิตไว้นั้น ในอนาคตกาลไกล จักมีความเข้าใจผิดในเมณฑกปัญหานั้นแล้วเถียงกันขึ้น เอาเถิดเราจักให้พระธรรมกถึกเลื่อมใสเห็นชอบด้วยแล้ว จักอาราธนาให้ตัดสินเมณฑกปัญหาทั้งหลายเสีย, ในอนาคตกาล ชนทั้งหลายจักได้แสดงตามทางที่ท่านได้แก้ไว้แล้วนั้น
           ครั้นราตรีสว่าง อรุณขึ้นแล้ว ทรงสนานพระเศียรเกล้าแล้วทรงประณมพระหัตถ์เหนือพระเศียร ทรงพระอนุสรถึงสมเด็จพระสัมมนาสัมพุทธเจ้า ทั้งอดีต อนาคต ปัจจุบันแล้ว ทรงสมาทานพรตบทแปดประการ โดยทรงพระราชปณิธานตั้งพระราชหฤทัยว่า "เราจักสมาทานองคคุณแปดประการ บำเพ็ญตบะธรรม คือ จำศีลให้ถ้วนเจ็ดวัน ข้างหน้าแต่วันนี้ไป, ครั้นบำเพ็ญตบะธรรมครบกำหนดนั้นแล้ว จักอาราธนาพระอาจารย์ให้เต็มใจแล้ว จักถามเมณฑกปัญหาท่าน"
      ขณะนั้น ท้ายเธอทรงผลัดคู่พระภูษากาสาวพัสตร์ ทรงสวมลองพระสกอันโล้นไว้บนพระเศียร ถือเพศมุนีแล้ว ทรงสมาทานองคคุณแปดประการ ดังต่อไปนี้ ถ้วนเจ็ดวันนี้
      1 เราจะหยุดว่าราชการ
      2 เราจะไม่ยังจิตอันประกอบด้วยราคะให้เกิดขึ้น
      3 เราจะไม่ยังจิตยังประกอบด้วยโทสะให้เกิดขึ้น
      4 เราจะไม่ยังจิตอันประกอบด้วยโมหะให้เกิดขึ้น
      5 เราจะเป็นผู้ประพฤติสุภาพ แม้แก่พวกบุรุษชนซึ่งเป็นทาสกรรมกร
      6 เราจักรักษากายกรรมและวจีกรรม ให้บริสุทธิ์ปราศจากโทษ
      7 เราจะรักษาอายตนะทั้งหกไม่ให้มีส่วนเหลือ
      8 เราจะตั้งจิตไว้ในเมตตาภาวนา
      ครั้นทรงสมาทานองคคุณแปดประการเหล่านี้แล้ว ทรงตั้งพระหฤทัยอยู่ในองคคุณแปดประการนั้นอย่างเดียว ไม่เสด็จออกข้างนอกถ้วนเจ็ดวันแล้ว ในวันที่แปด พอเวลาราตรีสว่างแล้ว รีบเสวยพระกระยาหารแต่เช้าแล้ว เสด็จเข้าไปหาพระนาคเสนเถรเจ้า มีดวงพระเนตรอันทอดลง ตรัสแต่พอประมาณ มีพระอิริยาบถสงบเสงี่ยม มีพระหฤทัยแน่วไม่ส่ายไปส่ายมา ทรงพระปราโมทย์เบิกบานพระราชหฤทัย สดใสชุ่มชื่นแล้วเป็นอย่างยิ่ง ทรงถวายนมัสการแทบบาทของพระเถรเจ้า ด้วยพระเศียรเกล้าแล้ว เสด็จยืน ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ตรัสดังนี้
      "พระผู้เป็นเจ้า ข้อความบางเรื่องที่ข้าพเจ้าจะต้องหารือกับพระผู้เป็นเจ้ามีอยู่ ใคร ๆ อื่นไม่ควรปรารถนาให้มาเป็นที่สามในข้อความเรื่องนั้นเข้าด้วย, ปัญหานั้นจะต้องถามได้แต่ในป่าอันเป็นโอกาสว่างสงัดประกอบด้วยองค์แปดประการ เป็นสมณสารูป, ในที่นั้น ข้าพเจ้าไม่ต้องกระทำให้เป็นข้อทีจะต้องปกปิด ไม่ต้องกระทำให้เป็นข้อลี้ลับซึ่งจะต้องซ่อนเร้น, เมื่อความหารือกันด้วยความประสงค์อันดีมีอยู่ ข้าพเจ้าก็คงจะฟังความลับได้ ความข้อนั้น ควรพิจารณาเห็นโดยข้ออุปมา เหมือนอะไรเล่า  เหมือนอย่างมหาปฐพี เมื่อการจะต้องผั่งมีอยู่ ก็ควรเป็นที่ผั่ง ฉันใด, ข้อนี้ก็ฉันนั้น"
           เสด็จเข้าไปสู่ป่าอันสงัดกับพระอาจารย์แล้ว ตรัสว่า "พระผู้เป็นเจ้า บุรุษในโลกผู้จะใคร่หารือการณ์ ควรเว้นสถานแปดตำบลเสีย บุรุษผู้เป็นวิญญูขน ไม่หารือข้อความในสถานเหล่านั้น, สถานแปดตำบลนั้นเป็นไฉน สถานแปดตำบลนั้น คือ :
      1 สถานที่ไม่สม่ำเสมอ ควรเว้นเสีย
      2 สถานที่มีภัย ควรเว้นเสีย
      3 สถานที่ลมพัดจัด ควรเว้นเสีย
      4 สถานที่มีของกำบัง ควรเว้นเสีย
      5 เทวสถาน ควรเว้นเสีย
      6 ทางเปลี่ยว ควรเว้นเสีย
      7 ตะพานที่เดินข้าม ควรเว้นเสีย
      8 ท่าน้ำ ควรเว้นเสียสถานแปดตำบลนี้ควรเว้นเสีย"
      พระเถรเจ้าทูลถามว่า "มีโทษอะไร ในสถานแปดตำบลนั้น ขอถวายพระพร
      ร "ข้อความที่หารือกันในสถานที่ไม่สม่ำเสมอ ย่อมแพร่งพรายเซ็งแซ่อื้อฉาวไม่มีดี; ในสถานที่มีภัย ใจย่อมหวาด คนหวาด พิจารณาเห็นความได้ถูกต้องหามิได้: ในสถานที่ลมพัดจัดนัก เสียงฟังไม่ถนัด: ในสถานที่มีของกำบัง คนทั้งหลายไปแอบฟังความได้: ข้อความที่หารือกันในเทวสถาน กายเป็นหนักไป: ข้อความที่หารือกันในทางเปลี่ยวเป็นของเสียเปล่า: ที่ตะพาน เขย่าอยู่เพราะฝีเท้า; ที่ท่าน้ำ ข่าวย่อมปรากฏทั่วไป"
      พระราชาตรัสต่อไปว่า "บุคคลแปดจำพวกเหล่านี้ ใครหารือด้วยย่อมกระทำข้อความที่หารือด้วยให้เสีย, บุคคลแปดจำพวกนั้นเป็นไฉน
      1 คนราคจริต
      2 คนโทสจริต
      3 คนโมหจริต
      4 คนมานจริต
      5 คนโลภ
      6 คนเกียจคร้าน
      7 คนมีความคิดแต่อย่างเดียว
      8 คนพาลบุคคลแปดจำพวกเหล่านี้ ย่อมกระทำข้อความที่หารือด้วยให้เสีย"
      ถ "เขามีโทษอะไร"
      ร "คนราคจริต ย่อมกระทำข้อความที่หารือด้วยให้เสีย ด้วยอำนาจราคะ, คนโทสจริต ด้วยอำนาจโทสะ, คนโมหจริต ด้วยอำนาจโมหะ, คนมานจริต ด้วยอำนาจมานะ, คนโลภ ด้วยอำนาจความโลภ, คนเกียจค้าน ด้วยอำนาจความเกียจคร้าน, คนมีความคิดแต่อย่างเดียวด้วยอำนาจความเป็นคนมีความคิดแต่อย่างเดียว, คนพาล ด้วยอำนาจความเป็นพาล"
      พระราชาตรัสต่อไปว่า "บุคคลเก้าจำพวกเหล่านี้ ย่อมเปิดความลับที่หารือด้วย หาปิดไว้ไม่, บุคคลเก้าจำพวกนั้นเป็นไฉน
      1 คนราคจริต
      2 คนโทสจริต
      3 คนโมหจริต
      4 คนขลาด
      5 คนหนักในอามิส
      6 สตรี
      7 คนขี้เมา
      8 บัณเฑาะก์
      9 เด็กเล็ก ๆ"
      ถ "เขามีโทษอะไร"
           ร "คนราคจริต ย่อมเปิดความลับที่หารือด้วย ไม่ปิดไว้ ด้วยอำนาจราคะ, คนโทสจริต ด้วยอำนาจโทสะ, คนโมหจริต ด้วยอำนาจโมหะ, คนขลาด ด้วยอำนาจความกลัว, คนหนักในอามิส ด้วยเหตุแห่งอามิส, สตรี ด้วยความเป็นคนอ่อนความคิด, คนขี้เมา ด้วยความเป็นคนโลเลในสุรา, บัณเฑาะก์ ด้วยความเป็นคนไม่อยู่ในฝ่ายอันเดียว, เด็กเล็ก ๆ ด้วยความเป็นผู้มักคลอนแคลน"
      พระราชาตรัสต่อไปว่า "ปัญญาย่อมแปรถึงความแก่รอบด้วยเหตุแปดประการ, ด้วยเหตุแปดประการนั้นเป็นไฉน
      1 ด้วยความแปรแห่งวัย
      2 ด้วยความแปรแห่งยศ
      3 ด้วยการไต่ถาม
      4 ด้วยการอยู่ในสถานที่เป็นท่า คือ ทำเล
      5 ด้วยโยนิโสมนสิการ คือ ความกระทำในใจโดยอุบายที่ชอบ
      6 ด้วยความสังสนทนากัน
      7 ด้วยอำนาจความเข้าไปเสพ
      8 ด้วยสามารถแห่งความรัก|
      9 ด้วยความอยู่ในประเทศอันสมควร"
      พระราชาตรัสต่อไปว่า "ภูมิภาคนี้ เว้นแล้วจากโทษแห่งการหารือแปดประการ, และข้าพเจ้าก็เป็นยอดสหายคู่ปรึกษาในโลก, และข้าพเจ้าเป็นคนรักษาความลับไว้ได้ด้วย ข้าพเจ้าจักมีชีวิตอยู่เพียงใด ข้าพเจ้าจักรักษาความลับไว้เพียงนั้น, และปัญญาของข้าพเจ้าถึงความแปรมาด้วยเหตุแปดประการ, เดี๋ยวนี้อันเตวาสิกเช่นข้าพเจ้าหาได้เป็นอันยาก
      อาจารย์พึงปฏิบัติชอบในอันเตวาสิกผู้ปฏิบัติชอบ ด้วยคุณของอาจารย์ยี่สิบห้าประการ, คุณยี่สิบห้าประการเป็นไฉน
      1 อาจารย์พึงเอาใจใส่จัดความพิทักษ์รักษาอันเตวาสิกเป็นนิตย์
      2 พึงรู้ความภักดีหรือไม่ภักดีของอันเตวาสิก
      3 พึงรู้ความที่อันเตวาสิกเป็นผู้ประมาทหรือไม่ประมาท
      4 พึงรู้โอกาสเป็นที่นอนของอันเตวาสิก
      5 พึงรู้ความที่อันเตวาสิกเป็นผู้เจ็บไข้
      6 พึงรู้โภชนาหารว่าอันเตวาสิกได้แล้ว หรือยังไม่ได้แล้ว
      7 พึงรู้วิเศษ
      8 พึงแบ่งของอยู่ในบาตรให้
      9 พึงปลอบให้อุ่นใจว่า อย่าวิตกไปเลย ประโยชน์ของเจ้ากำลังเดินขึ้นอยู่
      10 พึงรู้ความเที่ยวของอันเตวาสิกว่า เที่ยวอยู่กับบุคคลผู้นี้ ๆ
      11 พึงรู้ความเที่ยวอยู่ในบ้าน
      12 พึงรู้ความเที่ยวอยู่ในวิหาร
      13 ไม่พึงกระทำการเจรจากับอันเตวาสิกนั้นพร่ำเพรื่อ
      14 เห็นช่อง คือ การกระทำผิดของอันเตวาสิกแล้ว พึงอดไว้
      15 พึงเป็นผู้กระทำอะไร ๆ โดยเอื้อเฟื้อ
      16 พึงเป็นผู้กระทำอะไร ๆ ไม่ให้ขาด
      17 พึงเป็นผู้กระทำอะไร ๆ ไม่ซ่อนเร้น
      18 พึงเป็นผู้กระทำอะไร ๆ ให้หมดไม่มีเหลือ
      19 พึงตั้งจิตว่าเป็นชนก โดยอธิบายว่า ตนยังเขาให้เกิดในศิลปทั้งหลาย
      20 พึงตั้งจิตคิดหาความเจริญให้ว่า ไฉนอันเตวาสิกผู้นี้จะไม่พึงเสื่อมเลย
      21 พึงตั้งจิตไว้ว่า เราจะกระทำอันเตวาสิกผู้นี้ให้แข็งแรงด้วยกำลังศึกษา
      22 พึงตั้งเมตตาจิต
      23 ไม่พึงละทิ้งเสียในเวลามีอันตราย
      24 ไม่พึงประมาทในกิจที่จะต้องกระทำ
      25 เมื่ออันเตวาสิกพลั้งพลาด พึงปลอบเอาใจโดยทางที่ถูกเหล่านี้แล
        คุณของอาจารย์ยี่สิบห้าประการ, ขอพระผู้เป็นเจ้าจงปฏิบัติชอบในข้าพเจ้าด้วยคุณเหล่านี้เถิด ความสงสัยเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า, เมณฑกะปัญหาที่พระชินพุทธเจ้าทรงภาสิตไว้มีอยู่ ในอนาคตกลางไกลจักเกิดความเข้าใจผิดในเมฆฑกะปัญหานั้นแล้วเถียงกันขึ้น, และในอนาคตกาลไกลโน้น ท่านผู้มีปัญญาเหมือนพระผู้เป็นเจ้า จักหาได้เป็นอันยาก, ขอพระผู้เป็นเจ้าจงให้ดวงจักษุในปัญหาเหล่านั้นแก่ข้าพเจ้า สำหรับข่มถ้อยคำของผู้อื่นเสีย"
      พระเถรเจ้ารับว่าสาธุแล้ว ได้แสดงองคคุณของอุบาสกสิบประการว่า "ขอถวายพระพร นี้องคคุณของอุบาสกสิบประการ, องคคุณของอุบาสกสิบประการนั้นเป็นไฉน: องคคุณของอุบาสกสิบประการนั้น คือ
      1 อุบาสกในพระศาสนานี้ เป็นผู้ร่วมสุขร่วมทุกข์กับสงฆ์
      2 เมื่อประพฤติอะไร ย่อมถือธรรมเป็นใหญ่
      3 เป็นผู้ยินดีในการแบ่งปันให้แก่กันตามสมควรแก่กำลัง
      4 เห็นความเสื่อมแห่งพระพุทธศาสนาแล้ว ย่อมพยายามเพื่อความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป
      5 เป็นผู้มีความเห็นชอบ
      6 ปราศจากการถือมงคลตื่นข่าว แม้ถึงกับจะต้องเสียชีวิตก็ไม่ถือท่านผู้อื่นเป็นศาสดา
           7 มีกายกรรมและวจีกรรมอันรักษาดีแล้ว
      8 เป็นผู้มีสามัคคีธรรมเป็นที่มายินดี และยินดีแล้วในสามัคคีธรรม
      9 เป็นผู้ไม่อิสสาต่อผู้อื่น และไม่ประพฤติในพระศาสนานี้ ด้วยสามารถความล่อลวงไม่ซื่อตรง
      10 เป็นผู้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ ขอถวายพระพร นี้แลองคคุณของอุบาสกสิบประการ, คุณเหล่านี้มีอยู่ในสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าครบทุกประการ, การที่พระองค์ทอดพระเนตรเห็นความเสื่อมแห่งพระพุทธศาสนาแล้ว มีพระประสงค์จะให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปนั้น เป็นการควรแล้ว ชอบแล้ว เหมาะแล้ว สมแล้วแก่พระองค์ อาตมภาพถวายโอกาส พระองค์จงตรัสถามอาตมภาพตามพระราชอัธยาศัยเถิด"

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย