ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

โอวาทสี่ของเหลี่ยวฝาน
โดย :: เจือจันทน์ อัชพรรณ (มิสโจ)

ข้อที่หนึ่ง การสร้างอนาคต

4

        ท่านยังเล่าให้พ่อฟังต่อไปว่า ผู้ที่ชำนาญการวาดฮู้ (ลงเลขลงยันต์) ได้กล่าวไว้ว่า หากมนุษย์ไม่รู้วิธีวาดฮู้ได้ถูกต้องแล้วไซร้ จะถูกผีสางเทวดาหัวเราะเยาะเอาได้ เพราะฉะนั้น การวาดฮู้ก็ต้องหัดให้เป็นไว้ เคล็ดลับของวิชานี้ อยู่ที่ต้องทำใจให้เป็นเอกัคตาให้ได้เท่านั้น เมื่อเริ่มจับพู่กัน ก็ต้องหยุดความรู้สึกนึกคิดใดๆ ให้หมด ไม่วอกแวก ทำจิตให้นิ่ง รวมพลังจิตทั้งหมดพุ่งตรงไปยังปลายพู่กัน แล้วจรดปลายพู่กันลงไปที่กระดาษ ผ้า หรือแพรก็ได้ ทิ้งน้ำหนักปลายพู่กันให้แน่นิ่ง เป็นการเบิกทวารฟ้าดินด้วยพลังจิต ที่พุ่งกระทบอย่างแหลมคม ฮู้จะศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ก็อยู่ที่จุดเริ่มต้นนี้เอง เมื่อเริ่มต้นแล้ว ก็ต้องเขียนให้จบขบวนการโดยไม่หยุดชะงัก ไม่ต่อเติม ไม่ยกพู่กันขึ้น ต้องวาดให้ต่อเนื่องเป็นเส้นเดียวกัน จิตเป็นเอกัคตาตลอดแนวทาง ที่พู่กันตวัดไปมา ฮู้นี้ก็จะศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าจะอธิษฐานใดๆ ต่อฟ้าดิน ก็จะสัมฤทธิ์ผลอย่างแน่นอนและรวดเร็ว
        ผู้ที่มีกิเลสธุลีหนาแน่นในใจ เหมือนตกอยู่ในความมืด ดังอยู่ในครรภ์มารดา ไม่สามารถมองเห็นอะไรอื่น เมื่อจรดปลายพู่กันลงไปครั้งแรก ก็เท่ากับได้เจาะความมืดให้แสงสว่างส่องเข้าไปได้ และเมื่อตวัดพู่กันไป ด้วยจิตอันแหลมคมเป็นสมาธิอยู่นั้น ก็เป็นการพุ่งพลังจิตไปตามพู่กันนั้น โดยมีแสงสว่าง และชาดในพู่กันเป็นสื่อนำพลังจิตไป พลังจิตประทับอยู่ตรงไหน ความศักดิ์สิทธิ์ก็เกิดที่นั่น
        การบริกรรมก็ต้องทำสม่ำเสมอ ขาดไม่ได้เช่นกัน ต้องบริกรรม จนแม้ปากไม่บริกรรมแล้ว แต่ใจยังคงบริกรรมอยู่ บริกรรมจนไม่รู้สึกว่า ตัวเราเป็นผู้บริกรรม เพราะมนต์ก็ดี การบริกรรมก็ดี ตัวเราผู้บริกรรมก็ดี ได้ผสมผสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเสียแล้ว จนแยกไม่ออกเมื่อใด เมื่อนั้น การบริกรรมก็ศักดิ์สิทธิ์
        นักปราชญ์ท่านเมิ่งจื่อได้กล่าวไว้ว่า อันว่าอายุยืนหรืออายุสั้น หามีความแตกต่างกันไม่ ให้หมั่นฝึกฝนตนเองไปจนกว่าจะถึงวันนั้น วั้นนั้นคือวันที่เราจะได้พบความจริงว่า ใดๆ ในโลกนี้ หามีความแตกต่างกันไม่ ล้วนแต่เป็นสภาวะธรรม ที่มนุษย์สมมุติกันขึ้นมา ผู้ที่ฝึกฝนตนเอง จนไม่เห็นความแตกต่าง ของสภาวะธรรมเมื่อใด ผู้นั้นก็เข้าถึงสภาวะธรรมเมื่อนั้น และไม่ถูกความไม่รู้ไม่เข้าใจหลอกหลอน เบียดเบียนหลุดพ้นจากความร้อยรัด ของกิเลสตัณหาอุปาทานได้หมดสิ้น
        ถ้าคิดโดยผิวเผิน ก็จะรู้สึกแปลกใจ เพราะความมีอายุสั้นและอายุยืนนั้น แตกต่างกันอย่างตรงกันข้ามทีเดียว แต่ถ้าคิดให้ลึกซึ้งแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า ท่านพูดไว้ไม่ผิดเลย ทุกสิ่งในโลกนี้ ล้วนเป็นเพียงสภาวะธรรมหนึ่งๆ เท่านั้น มนุษย์มักจัดเข้าพวกกันบ้าง แยกประเภทให้บ้าง จนดูสับสนสลับซับซ้อนไปหมด ธรรมดาทารกที่เกิดมาใหม่ๆ นั้น หารู้ไม่ว่าอายุสั้นอายุยืนมีความหมายอย่างไรกัน ต่อเมื่อเติบโตแล้ว จึงสามารถแยกแยะความหมาย เลือกคุณค่าของสรรพสิ่ง โดยคำสอนของผู้ใหญ่บ้าง จิตดั้งเดิมเป็นเช่นน้นบ้าง ตอนนี้เอง ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วของเด็กนั้น ก็จะเริ่มมาให้ผล จึงได้เห็นความอายุสั้นบ้าง อายุยืนบ้าง ความแตกต่างจึงบังเกิดขึ้น ด้วยประการฉะนี้
        ฉะนั้น ถ้าเราไม่ให้ความแตกต่าง ระหว่างความรวยกับความจน ความสุขกับความทุกข์ ความตกต่ำกับความรุ่งเรือง หรือความมีอายุยืนกับอายุสั้น ก็จะสามารถสร้างสรรค์ชีวิต ให้เป็นไปตามความต้องการของเราได้


        ถ้าเราไปให้กับความแตกต่างกับสิ่งเหล่านี้เสียก่อนแล้ว เราจะไม่สามารถสร้างชีวิตให้ดี ตามความต้องการของเราได้เลย
        จะยกตัวอย่างให้ดู เด็กสองคน คนหนึ่งเกิดมาเป็นลูกคนรวย อีกคนเกิดมาเป็นลูกคนจน ถ้าเด็กรวยคิดว่าตนเองวิเศษกว่าผู้อื่น เพราะความรวยกว่าผู้อื่นแล้วไซร้ ก็จะเกิดความลำพอง ถือเงินเป็นอำนาจบาตรใหญ่ เที่ยวระรานข่มเหงเอาแต่ใจตนเอง ส่วนลูกคนจนนั้น ถ้าคิดว่าตนเองยากจน ไม่มีเงินเหมือนลูกคนรวย ก็จะเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ เมื่ออยากได้อะไรไม่ได้ดั่งใจ ความกดดันก็จะเป็นแรงขับ ให้เริ่มฉกชิงวิ่งราว ลักเล็กขโมยน้อย จนถึงปล้นจี้ ฆ่าเจ้าทรัพย์ รุนแรงขึ้นทุกที แม้จะต้องโทษก็ไม่กลัว ได้กินข้าวหลวงสบายไปเสียอีก
        ถ้าเราแยกแยะความรวยความจนเช่นนี้ ก็จะเป็นคนดีไปไม่ได้เลย แต่ถ้าไม่คิดว่าเรารวย จะทำอะไรก็ระมัดระวัง ไม่ให้กระทบกระเทือนถึงผู้อื่น คิดแต่จะช่วยเหลือเจือจานไปทั่วหน้า ใช้เงินที่ตนเองมีมากให้เป็นประโยชน์แก่ผู้มีน้อย อาศัยความรวย ที่ตนเองได้เปรียบผู้อื่นโดยสภาวะธรรม มาเกื้อกูลผู้อื่นที่มีน้อย ถึงกับขาดแคลนตามสภาวะธรรม ความเมตตากรุณา ที่เกิดจากความรู้จริงในสภาวะธรรมนี้ ก็จะหล่อหลอมให้ช่องว่าง ระหว่างความรวยความจนนั้นปิดสนิท ไม่สามารถเกิดความแตกต่างได้เลย ส่วนเด็กที่เกิดมายากจน อันเป็นสภาวะธรรมหนึ่งนั้น ถ้าไม่ให้ความแตกต่าง ในความรวยความจนแล้ว ก็จะไม่มีความรู้สึกน้อ ยเนื้อต่ำใจ รู้จักขยันหมั่นเพียร สันโดษในความเป็นอยู่ ซื่อตรงในความประพฤติ รู้จักใช้แรงกายช่วยเหลือผู้อื่น แทนแรงเงินที่ตนขาดแคลน ไม่คอยคิดที่จะให้ผู้อื่นมาช่วยตน แต่ไม่รังเกียจ ที่จะช่วยผู้อื่น ตั้งหน้าทำมาหากิน หนักเอาเบาสู้ อดออมถนอมตน ไม่นานนัก คนจนก็จะกลายเป็นคนรวย คนรวยก็จะไม่จน ถ้ามีนิสัยเหมือนเด็กทั้งสองคนนี้ เมื่อถึงวันนั้น ความแตกต่างจักมีได้อย่างไร
        แม้อายุสั้นอายุยาวก็เช่นกัน ถ้าเราไม่เชื่อว่าชะตาชีวิต ได้ลิขิตให้เรามีอายุสั้น เราก็จะไม่พะวงถึงความตาย ตั้งหน้าประกอบกรรมดี ไม่ใช่อยู่รอความตายไปวันหนึ่งๆ ผู้ที่ไม่เชื่อว่าชะตาชีวิตได้ลิขิตมาให้อายุยืน ก็จะไม่ทะนงตน ว่ายังมีชีวิตอยู่อีกยาวนาน เกิดความประมาทเกียจคร้านที่จะประกอบกรรมดี ผัดวันประกันพรุ่ง ดื่มสุราหานารี เล่นพาชีกีฬาบัตร เผาผลาญชีวิตไปทุกวันๆ อายุจักยืนนานไปได้อย่างไร
        ความเกิดความตายเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของมนุษย์ ถ้าเราไม่ให้ความแตกต่าง กับสิ่งที่กล่าวมาแล้วไซร้ เราจะเกิดในสภาวะธรรมใดก็ตาม ย่อมจักดำรงชีวิตอยู่ได้ ด้วยจิตใจที่ปราศจากความกดดัน รู้จักดำรงชีวิตด้วยดี ตายดี และไปเกิดในสภาวะธรรมที่ดีต่อไป
        ทำไมหรือ
        เพราะความชั่วร้าย มิได้อยู่ที่ความรวยความจน มิได้อยู่ที่ความมีอายุสั้นหรือยาว ความสุขความทุกข์นั้น ย่อมขึ้นอยู่ที่ เราจะสามารถประกอบคุณงามความดี ได้มากน้อยเท่าใดต่างหากเล่า
        การฝึกฝนตนเองให้รู้จักประกอบกรรมทำดีนั้น ย่อมเป็นการสั่งสมบุญบารมีโดยแท้ เราจะต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมของเราเอง มีสิ่งใดผิดพลาดก็พยายามแก้ไข เหมือนดังหมอ ที่พยายามรักษาคนไข้ให้หายจากโรคฉะนั้น การสั่งสมบุญบารมี ต้องพยายามอยู่ทุกขณะจิต ค่อยทำค่อยไป ไม่หวังผลจนเกินกำลัง ไม่หย่อนยาน จนไม่ก้าวหน้า เมื่อจิตได้รับการอบรมที่ดี บ่มใจจนได้ที่แล้ว นั่นคือความสำเร็จ ที่จะได้รับ ในการประพฤติปฏิบัติธรรม

<< ย้อนกลับ | หน้าถัดไป >>

ประวัติท่านเหลี่ยวฝาน
ข้อที่หนึ่ง การสร้างอนาคต
ข้อที่สอง วิธีแก้ไขความผิดพลาด
ข้อที่สาม วิธีสร้างความดี
ข้อที่สี่ ความถ่อมตน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย