ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร


ธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา

ปาฐกถาธรรม เรื่อง ทำดีเสียก่อนตาย

วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน 2517

2

คนในสมัยก่อนๆ จึงได้กล่าวสอนกล่าวเตือนกันนักหนา ให้คนประพฤติธรรม ให้ตั้ง มั่นอยู่ในธรรมะตลอดไป เช่นในเรื่องนี้ก็เรียกว่า สอนให้ประพฤติธรรม 7 ประการ ในข้อแรกท่านสอนว่า ผู้ที่จะเป็นใหญ่เป็นโตขนาดพระอินทร์ได้นั้น จะต้องเป็นผู้บำรุง เลี้ยงมารดาบิดา เรื่องการเลี้ยงมารดาบิดานี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญในชีวิตคน เรา เพราะเราถือกำเนิดมาจากมารดาบิดา มารดาเป็นผู้ให้กำเนิด เป็นผู้เลี้ยง เป็น ผู้บำรุงรักษา ให้การศึกษาเล่าเรียน ชี้แนะแนวทางผิดถูกให้เราเข้าใจ ให้เราได้ปฏิบัติ ในทางที่ถูกที่ชอบอยู่ตลอดเวลา เราจึงถือว่าเป็นเจ้าบุญนายคุณ เป็นผู้อยู่เบื้องหน้า เรา

ในทางพระพุทธศาสนา จัดทิศไว้ 6 ทิศด้วยกัน เรียกว่า ทิศเบื้องหน้า เบื้องหลัง เบื้องขวา เบื้องซ้าย เบื้องบน เบื้องล่าง ทิศเบื้องหน้านั้นคือมารดาบิดา เอามารดา บิดาไปไว้ข้างหน้า เพราะเป็นสิ่งที่เราจะเห็นก่อนอะไรทั้งหมด เหมือนกับทิศตะวันออก พอตื่นขึ้นเราก็เห็นดวงตะวัน ดวงตะวันเป็นของเด่นในอากาศ พอตื่นขึ้นก็มองเห็น ว่ามีแสงสว่าง แสงสว่างนั้นมาจากดวงอาทิตย์ ดวงอาทิตย์จึงเป็นสิ่งที่เราเห็นก่อนใน ตอนเช้า ฉันใด เราเกิดมามีชีวิตอยู่ในโลกก็ได้ เห็นคุณแม่ก่อนใครๆ แล้วเราก็เห็น คุณพ่ออีกทีหนึ่ง คุณพ่อคุณแม่จึงถือว่าเป็นทิศเบื้องหน้า เป็นทิศที่เราจะต้องกราบต้องไหว้ ต้องเคารพสักการะบูชา

ผู้ใดละเลยไม่กราบไหว้ทิศเบื้องหน้า ผู้นั้นเป็นคนคบไม่ได้ เพราะว่าทิศที่อยู่เบื้องหน้าตน ตนไม่เหลียวแล ก็เท่ากับว่า เป็นคนตาบอดตาใส มองอะ ไรไม่รู้จักนั่นเอง แต่คนใดมีความเคาพรรักมารดาบิดา เป็นคนที่ไว้ใจได้ เราเข้าใกล้ ก็ได้ เอามาร่วมหุ้นร่วมส่วน ทำการค้าขายอะไรก็ได้ เพราะคนประเภทนั้น พื้นฐาน ทางจิตใจดี มีความกตัญญูกตเวทีเป็นพื้นฐาน คนเราถ้าจิตใจมั่นอยู่ในความกตัญญูกตเวที ต่อพ่อแม่ผู้บังเกิดเกล้าแล้ว เป็นคนที่คบได้ ถ้าขาดคุณธรรมข้อนี้แล้ว เห็นจะไม่ไหว เพราะฉะนั้น ท่านจึงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ

ในครอบครัวใหญ่ๆ ที่มีความเจริญก้าวหน้า มั่นคงเป็นปึกแผ่น ก็เพราะคนในครอบครัวนั้นเคารพรักในมารดาบิดา เมื่อมีชีวิตอยู่ ก็ถือว่า ท่านผู้นำเป็นผู้ที่เดินไปข้างหน้าเรา เราเป็นผู้เดินตาม ท่านเดินไปทางไหน เราก็เดิน ไปทางนั้น อันปกติของพ่อแม่นั้น ย่อมเดินไปในทางถูกทางชอบ ไม่เดินไปในทางผิด ถ้า เป็นคนที่มีความสำนึกในหน้าที่ อาจจะมีบ้างที่เดินผิดทางไป เพราะไม่รู้จักหน้าที่ของตัว เราผู้เป็นบุตรธิดาก็เรียกว่า เดินตามทางของพ่อแม่ พ่อแม่ไปทางไหนเราก็เดินไป ทางนั้น ก็นับว่าปลอดภัย

แต่ถ้าเดินออกนอกลู่นอกทางเมื่อใด ก็จะเกิดความทุกข์ความ เดือดร้อนเมื่อนั้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนเรื่องนี้ไว้ก่อนเป็นข้อต้น มารดาบิดาเป็นพร หมในครอบครัว เป็นเทวดาในครอบครัว เป็นพระอรหันต์ของลูกๆ ในครอบครัว เป็นผู้ ที่เราจะต้องกราบไหว้บูชาสักการะทุกค่ำเข้าเข้านอน คนในสมัยโบราณเขาถือนักถือ หนาในเรื่องอย่างนี้ แต่ว่ามาในสมัยนี้เหตุการณ์มันเปลี่ยนแปลงไป ความเคารพใน มารดาบิดาก็ชักจะน้อยลงไป ภาพอะไรที่เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อพ่อแม่ก็น้อยลงไปทุกวัน เวลา ทำไมจึงได้น้อยไปในเรื่องอย่างนี้ ก็เพราะว่าคนเราสนใจในวัตถุมากเกินไป สนใจแต่ในการแสวงหาวัตถุมากเกินไป จึงไม่สนใจในสิ่งที่เรียกว่าจริยธรรม การละ เลยก็เกิดขึ้น

หรือบางทีอาจจะนึกเสียว่า คุณพ่อคุณแม่ท่านไม่มีอะไรที่จะต้องช่วย เหลือท่านมีความสุขความสบายอยู่พอแล้ว ก็เลยไม่เอาใจใส่ อย่างนี้เขาเรียกว่าคนไม่ มีหัวใจ คือไม่ได้คิดว่า พ่อแม่ไม่ใช่ต้องการแต่วัตถุเพียงอย่างเดียว ท่านต้องการเห็น หน้าลูก ต้องการให้ลูกทุกคนไต่ถามสารทุกข์สุขดิบอะไรต่างๆ บ้าง เช่นว่ามารดาบิดาเรา ท่านมีเงินมีทองใช้ มีบ้านอยู่อุดมสมบูรณ์ แล้วเราก็คิดเสียว่า ไม่ต้องไปยุ่งกับท่าน ท่านอยู่สบายแล้ว อย่างนี้คิดไม่ถูกเพราะว่าคนอายุมาก คือคนแก่นี้ มักจะว้าเหว่ทาง จิตใจ ความว้าเหว่ทางจิตใจนี่ทุกข์มาก เป็นเรื่องความทุกข์ในชีวิตประจำวัน

ลูกที่ดีต้องสำนึกในข้อนี้ ถึงแม้ว่าท่านจะมีความสุขความสบายทางวัตถุแล้ว แต่บางที่อาจจะไม่ สบายทางจิตใจก็ได้ เพราะฉะนั้น เราควรจะเข้าใกล้ไต่ถาม เช่นตื่นเข้าไปเยี่ยมท่าน เสียหน่อย ไปดูว่าเป็นอย่างไร "เมื่อคืนหลับสบายดีไหม, วันนี้ต้องการอะไรบ้าง, จะ ให้ผมช่วยเหลือเจือจุนอะไรบ้าง" อย่างนี้ก็นับว่า เป็นความชุ่มเย็นใจของท่าน เพียงแต่ ไปไต่ถามเท่านั้น ท่านก็สบายใจแล้ว ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น ตอนเย็นเวลาจะนอน ก็ ไปเยี่ยมไปดูเสียหน่อย หรือกลับจากทำงานก็ไปเยี่ยมเสียหน่อย ถ้าเราไปไหนมาก็มีอะ ไรมาฝากท่านบ้าง ซื้อผลไม้เล็กๆ น้อยๆ ของที่ท่านชอบเอามาฝาก ฝากคนเฒ่าคนแก่ ไม่ต้องมากดอก แต่น้ำใจสำคัญกว่าวัตถุ

คนเราถ้าไม่มีน้ำใจวัตถุมันก็ไม่มา แต่ถ้ามีน้ำใจแล้ววัตถุมันก็ตามมาเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น เราควรจะมีอะไรไปฝากท่านบ้าง วันเกิดของท่าน ก็เอาอะไรไปให้ท่าน ไปอวยพร ความจริงเราไปอวยพรผู้ใหญ่ก็เท่ากับ เราไปรับพรมากกว่า คือไปรับพรจากท่าน แต่เราเรียกว่าไปอวยพรให้ท่าน เรียกว่าไป อวยพรก็ถูกใจแง่หนึ่งเหมือนกัน คือไปให้ท่านสบายใจ เมื่อท่านสบายใจก็กินได้นอนหลับ อายุมั่นขวัญยืน ถ้าว่าลูกหลานไม่ไปเสียเลยมันก็ไม่ไหว คนโบราณเขาจึงถือ เช่นว่าวัน สำคัญ วันตรุษวันสงกรานต์ วันเข้าพรรษาออกพรรษา วันปีใหม่อะไรอย่างนี้ เขาก็ไป กราบไหว้ผู้หลักผู้ใหญ่ ตามบ้านอกทั่วๆ ไปนั้น ใครที่แก่กว่าเพื่อนในหมู่บ้าน ย่อมได้รับ การสักการะเคารพจากคนในหมู่บ้านนั้น

เมื่อเด็กๆ เคยจำได้ว่า มีคนแก่อยู่คนหนึ่งที่บ้านที่อยู่นั้นชื่อตาบี้ ตาบี้นี้เดินหลังคู้ แต่ว่ามีความรู้หลายอย่าง เป็นช่างไม้ สมมติว่าจะ สร้างบ้านสร้างเรือน ตาบี้ต้องไปขีดให้เขาเจาะ ให้เขาบากเสา ให้ตัดไม้ ทั้งที่แก่เต็ม ทีแล้วก็ยังใช้แกอยู่ อยู่คนเดียว ลูกๆ ไม่มี แต่ว่าไม่เดือดร้อน เพราะคนบ้านใกล้เรือน เคียงเอาใจใส่ เอาข้าวสารไปให้ เอาปลาไปให้ มีขนมนมเนยก็เอาไปให้ ทุกคนใน บ้านนั้นเลี้ยงตาบี้คนเดียว ได้รับความสุขความสบาย ตาบี้นั้นจะดุลูกใครหลานใครก็ได้ จะตีก็ได้เขาไม่ว่า ถ้าร้องมาว่าตาบี้ตีแล้วพ่อเฉยแม่เฉย เพราะเขาไว้ใจว่า ตาบี้นี่เป็น คนยุติธรรม ไม่รังแกเด็ก ไม่ตีโดยไม่มีสาเหตุ ไม่ได้ตีแรงอะไร ก็ก้านมะยมหวด ก้นสองสามที อาตมาก็เคยถูกแกตีเอาบ้างเหมือนกัน ร้องไห้มาหาคุณแม่ แม่เฉย ถือว่า ตาบี้แกเป็นคนยุติธรรม เขาเลี้ยงกันในรูปอย่างนั้น

ถ้าหากว่าวันสำคัญ เข่นวันทำบุญเดือน 10 ขนมบ้านตาบี้เยอะแยะ คนเอามาให้ ได้ตั้งกะเฌอใหญ่ พวกเราเด็กๆ ก็ชอบ ไปบ้านตาบี้ตอนนั้น เพราะว่ามีขนมเลี้ยงอย่างนั้น อันนี้เป็นวัฒนธรรมเป็นประเพณี ของการเคารพผู้หลักผู้ใหญ่ในเขตบ้านนั้น เขาจึง อยู่กันด้วยความสุขความสบาย คนแก่จะดุใครว่าใครก็ได้ เวลาแต่งงานก็ต้องเชิญไปนั่ง เป็นประธาน มีศพก็ไป ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ บวชนาค จะต้องไปด้วยทั้งนั้น

บ้านไหนไม่มีคนแก่ที่เขาเคารพไปนั่งเขาก็ว่าเอาแหละ เอ ทำงานอะไรไม่เห็นตานั้นมา หาว่าเป็นคน ไม่ดี แล้วตานั่นคนนั้นไม่ไปด้วยถึงกับเสียหาย สังคมเขาเป็นอย่างนั้น จึงอยู่กันฉันท์พี่ ฉันท์น้อง มีความสุขความสบาย ไม่วุ่นวายเดือดร้อน นี่คือความเคารพกัน

ความรักความเคารพกันในระหว่างชน เป็นเหตุให้เกิดความสุขความสบาย ไม่วุ่นวาย เดือดร้อน นี้คือความเคารพกัน ความรักความเคารพกันในกระหว่างชนเป็นเหตุให้เกิด ความสงบสุข แต่ถ้าเกิดเกลียดกันขึ้นเมื่อใด ก็มีความทุกข์ความเดือดร้อนเมื่อนั้น เดี๋ยว นี้คุณธรรมเหล่านั้นชักจะเลือนหายไป ไม่ค่อยจะปรากฏเหมือนเมื่อเด็กๆ ที่แลเห็น ก็เพราะจิตใจคนเปลี่ยนแปลงไป มีความเห็นแก่ตัวมากขึ้น ความเสียสละน้อยไป แม้กับพ่อ แม่ก็ไม่อยากจะให้เวลานี้ อยากจะเอาไว้กินไว้ใช้ผู้เดียว พ่อแม่ขออะไรบ้างก็ต้องช้า แต่ถ้าตัวขอจากพ่อแม่ต้องขู่เอาให้ได้ เอาเท่านั้นเท่านี้ นิสัยขู่มันเป็นมาตั้งแต่เด็ก เป็น หนุ่มวัยทีนเอจก็ยังไปขู่เรื่อยไป โตเป็นผู้ใหญ่ก็ยังขู่ต่อไป

เช่นมาขู่รัฐบาลเป็นต้น จะเอานั่นเอานี่ ถ้าไม่ได้แล้วฉันจะลาออกจากประชาชน ไม่รู้จะไปเป็นลิงเป็นค่างที่ไหนลาแล้ว เป็นเสียอย่างนี้มนุษย์เรา มันอุตริไม่เข้าเรื่อง ลาออกอย่างไร จะไปอยู่ที่ไหนลาแล้ว นี้เรียกว่า เป็นการขู่เข็น เสียนิสัยมาตั้งแต่ตัวน้อยๆ ไม่เคารพผู้ใหญ่คือพ่อแม่

เวลาใครมานั่งปกครองเรา เราก็ไม่เคารพอีก จะเอาอย่างนั้นอย่างนี้ จะเอา ตามชอบใจ มันก็วุ่นวายเดือดร้อน คนโบราณเขาว่า "คบเด็กสร้างบ้าน คบคนหัว ล้านสร้างเมือง" เขาว่าไว้อย่างนั้น ไม่รู้ว่ามันยุ่งอย่างไร เรื่องอย่างนี้ก็เป็นเรื่องสำ คัญอยู่ ที่เราควรจะได้เพาะให้เกิดขึ้นในสังคม คือเคารพบิดา เลี้ยงดูมารดาบิดา ถ้า ไม่เลี้ยงกายก็เลี้ยงใจ เลี้ยงใจสำคัญกว่าเลี้ยงกาย อย่างนี้แล้วก็อยู่กันด้วยความสุขสบาย

อีกประการหนึ่งเขาสอนว่า ให้เคารพผู้ใหญ่ในสกุล พ่อแม่นี่ท่านไม่ได้อยู่กับเรา ตลอดไปดอก วันหนึ่งท่านจะต้องจากเราไป ตายไปจากโลกนี้

ที่นี้เมื่อพ่อแม่เราตายไปแล้ว เราก็ต้องอุปโลกใครสักคนหนึ่ง ให้เป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นหัวหน้าในสกุลของเรา ที่เราจะถือเป็นธงเป็นผู้นำ แล้วก็รับฟังคำสอนคำเตือน ของบุคคลนั้นต่อไป อันคนที่อยู่กันเป็นหมู่เป็นพวก ถ้าปราศจากผู้นำหมู่แล้ว จะอยู่กันได้อย่างไร ปลาก็มีผู้นำฝูง นกก็มีผู้นำฝูง วัวควายก็มีผู้นำฝูง อะไรๆ มันก็มีหัวหน้าทั้งนั้น แม้มดตัวเล็กๆ ก็มีหัวหน้า ถ้า เราไปศึกษาดูแล้วก็จะเห็นว่ามดมันมีหัวหน้า ต้องดูนานๆ ดูตามที่มันคลานไปตามดิน จะ เห็นว่ามีตัวหนึ่งไปข้างหน้า ถ้าตัวนั้นเอียงไปทางขวาพวกลูกน้องก็ไปทางขวา ถ้าตัวนั้น ไปซ้ายมันก็ไปซ้าย คดไปตามหัวหน้า ถ้าตัวนั้นลงรูก็ลงรูกันเป็นแถวไปเลย นี้ให้เห็นว่า มันก็มีหัวหน้า นกก็มีหัวหน้า คนป่าคนเยิงที่ไม่เจริญด้วยอารยธรรม ก็มีคนเป็นหัวหน้า เขาเคารพบุคคลผู้เป็นหัวหน้า

เรื่องหัวหน้านี่สำคัญมาก ในตัวมนุษย์เราต้องมีหัว มือก็ต้องมีหัวแม่มือ เท้าก็มีหัวแม่เท้า ระหว่างแข้งขาก็มีหัวเข่า เรื่องหัวๆ สำคัญทั้งนั้น ถ้า หลุดไปสักหัวก็ไม่รอด หัวเข่าหลุดเดินไม่ได้ หัวแม่มือไม่มี มี 4 นิ้วก็ไม่ได้เรื่องอะไร ต้องมีผู้นำ ขาดผู้นำแล้วก็ไม่ไหว เพราะฉะนั้น ในครอบครัวเราต้องมีผู้นำ ผู้นำคือคุณพ่อ คุณแม่เริ่มต้น เมื่อคุณพ่อคุณแม่ตายแล้วเราก็ต้องตั้งผู้นำขึ้นใหม่ ผู้นำของเราก็คือผู้ที่เป็น พี่ใหญ่ในครอบครัวของเรานั่นแหละ สมมติว่าคนให้เป็นผู้หญิง ก็ต้องให้เป็นผู้นำ เป็นผู้ ชายก็ต้องให้เป็นผู้นำ

เคยไปที่งานเขาแห่งหนึ่ง บิดาตายก่อนแล้ว เหลืออยู่แต่มารดา วันนั้นมารดาตาย พอมารดาตายลูกก็มาประชุมพร้อมกัน ลูกของแม่นั้นเป็นพระอยู่องค์หนึ่ง พอมาประ ชุมพร้อมท่านก็บอกว่า ต่อแต่นี้ไปขอให้พี่สาวชื่อนั้น เป็นผู้นำในครอบครัวของเรา เรื่องจัดการงานศพทำอะไรทุกอย่างต้องฟังเสียงคุณพี่ ทั้งๆ ที่ท่านเป็นพระ แต่ท่านให้ เกียรติแก่พี่สาว ให้พี่สาวเป็นใหญ่ในงานในการ ความจริงถ้าท่านเป็นเสียเองก็ได้ แต่ว่าไม่เหมาะ เพราะว่าไม่เคารพต่อพี่สาว ซึ่งเป็นพี่ใหญ่ ก็เลยตั้งให้พี่สาวเป็นใหญ่ใน ครอบครัวของเรา ทุกคนต้องฟังเสียงคุณพี่ ถ้าคุณพี่ว่าเอาก็ต้องเอา ไม่เอาก็ต้องไม่เอา จะทำอะไรก็ต้องฟังเสียงพี่ทั้งนั้น ในงานการเรียบร้อยหมดไม่มีการตุกติกตุ้งติ้งอะไรกัน เลย นี่เพราะว่าเรายกคนให้เป็นผู้นำ

ในหมู่ชาติประเทศก็เหมือนกัน ก็มีผู้นำ ถ้าไม่มีผู้นำก็วุ่นวาย ผู้นำฝ่ายบริหารก็มี ฝ่ายตุลาการก็มี ฝ่ายนิติบัญญัติก็มี ตามแบบประชาธิปไตย ใครมีหน้าที่อันใด ก็ต้องปล่อย ให้เขาทำหน้าที่นั้นให้เรียบร้อยสมบูรณ์ อย่าไปขัดคอเขา เมื่อเราให้เขาเป็นแล้วก็ให้ เขาเป็นให้เต็มที่ ถ้าไปขัดคอกันนอกกฎ ก็เรียกว่าไม่เคารพระเบียบแบบแผน ไม่ประ ท้วงแบบเอะอะเกรียวกราว ให้คนตกใจขวัญหนีดีฝ่อ จึงจะเรียกว่ามีปัญญา ทำอะไรด้วย ปัญญามันไม่วุ่นวาย แต่ถ้าทำอะไรด้วยอารมณ์แล้วก็วุ่นวาย สร้างความทุกข์ความเดือด ร้อน เวลาเราเดินทางไปไหนๆ เรามีคนนำเรียกว่าผู้นำทาง ในหมู่อุบาสกก็มีผู้นำ เรียกว่าทายก เรียกที่ถูกว่า มรรคนายก แปลว่า ผู้นำทาง แต่เราเรียกให้ขาดไปเสีย เรียกว่าทายก ทายกเขาแปลว่า ผู้ให้เท่านั้นเอง ควรจะเรียกว่ามรรคนายก

เช่นว่าพันเอกเสรี นำเราสวดมนต์ไหว้พระเรียกว่าเป็นมรรคนายกของวัดชลประทานแล้ว ไม่ต้องตั้งเป็น คือเป็นด้วยการกระทำ เมื่อทำหน้าที่ในการนำเขาไหว้พระสวดมนต์ ทำบุญสุนทาน ก็เรียกว่าเป็นมรรคนายก เมื่อมรรคนายกว่าอย่างใดเราก็ว่าตามกันไป แต่ถ้ามีเรื่องอะไรก็ปรึกษากันได้ แสดงความคิดความเห็น ว่าจะเอาอย่างไร ก็ฟังเสียง ข้างมากเป็นเกณฑ์ อย่างนี้มันก็ไม่ยุ่ง ทีนี้บางทีเวลาประชุมกัน ตกลงกันแล้ว คนหนึ่งไม่ เห็นด้วย ออกไปยืนพูดอยู่นอกสภา อย่างนี้ก็วุ่นวาย

เมื่อพูดตกลงกันแล้วก็เป็นอันตกลงกันไปเลย ออกไปแล้วอย่าไปพูดอีก ให้มันวุ่นวาย เพราะเรายอมรับมตินั้นแล้ว เรื่องมันก็ไม่ยุ่ง ในหมู่พระเรานี่ก็ต้องมีผู้นำ วัดหนึ่งก็มีสมภารองค์หนึ่ง มีผู้ช่วย แล้วก็ยังตั้งองค์อื่น ได้อีก องค์นั้นมีหน้าที่ดูแลข้าวของ ภัณฑาคาริกอะไรต่างๆ เป็นหน้าที่ๆ ไป ต่างคนต่างทำ หน้าที่แต่ต้องฟังเสียงสมภาร ซึ่งเป็นหัวหน้า ถ้าสมภารสั่งทำอะไรก็ทำตาม เรื่องมันก็ เรียบร้อย ในชุมนุมชนใดคนไม่เคารพหัวหน้า เห็นหัวหน้าเป็นหัวตอ แล้วมันจะอยู่กันได้อย่างไร เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน เรื่องนี้สำคัญ

ในครอบครัวเราควรจะอบรมไว้ คืออบรมให้เด็กรู้จักเคารพผู้อาวุโสในครอบครัว เช่นว่าลูกหลายคน ให้ถือว่าคนหัวปีว่าอะไรต้องฟัง สอนให้เขาฟังและปฏิบัติ ได้ทราบว่าครอบครัวชาวญี่ปุ่น เขาถือเรื่องนี้เคร่งครัด เวลาตักอาหารแจก แจกตามอาวุโส เขาถือตามหลักพุทธศาสนา ตามวินัยของพระ พระเราแจกของต้องแจกตามอาวุโส สมภารต้องได้ก่อน แล้วก็รองเรียงพรรษาลงไป จนถึง คนสุดท้ายคือสามเณร เหลือเณรก็ถึงเด็ก ตามลำดับอาวุโส เดินก็ต้องไปตามลำดับอาวุโส พระพรรษาแก่เดินหน้า พรรษาอ่อนตามหลัง

เรื่องไม่ถืออาวุโสมีเรื่องเดียว คือเรื่องไปส้วมนี่ถือไม่ได้ ใครไปก่อนต้องเข้าก่อน ถ้าไปเรียงอาวุโสอยู่ตรงนั้นจะเกิด เรื่องกันใหญ่ อย่างนี้ไม่ถือ นอกนั้นแล้วถือทั้งนั้น เขาวางระเบียบไว้ดี ในครอบครัวก็ เหมือนกัน ควรจะถือลำดับอาวุโสไว้ เช่นในญี่ปุ่นเขาเล่าให้ฟังว่า ในครอบครัวหนึ่ง ตัก ข้าวเลี้ยงกันในครัว แม่เป็นคนตัก ตักให้พ่อก่อน แล้วก็ตักให้แม่ แล้วให้ลูกคนหัวปี เรียงลงไปตามลำดับ จนกระทั่งถึงคนสุดท้อง คนสุดท้องเขาเรียกว่า เจ้าข้าวตัง เพราะ ว่ามันถึงก้นหม้อได้กินข้าวตัง การกระทำอย่างนั้นก็เป็นการฝึกให้เคารพอาวุโสนั่นเอง เพราะฉะนั้นคนญี่ปุ่นนี่เขาเคารพกันนักหนา เคารพจักรพรรดิ์ว่าเป็นหัวหน้า เคารพต่อรัฐ บาล ต่อกฎหมายบ้านเมืองอย่างเคร่งครัด ญี่ปุ่นจึงสร้างชาติสร้างประเทศได้รวดเร็ว เพราะความเคารพเชื่อฟังกันนั่นเอง

เดี๋ยวนี้เขารับอารยะธรรมใหม่มา อาจจะวุ่นวายบ้างแต่ก็ไม่มาก เพราะเชื้อเดิมมันมากกว่า เชื้อเดิมมันรุนแรงกว่า เขาก็ยังเก่งอยู่ ของเราก็ควรจะเป็นอย่างนั้น หัดตามลำดับอาวุโสไว้ เด็กจะได้เคารพกันตามลำดับ สิ่งทั้งหลายมันตั้งต้นในครอบครัวทั้งนั้น ไม่ว่าอะไร เรื่องชาติ เรื่องบ้านเมือง เรื่องโลก มันมีมาในครอบครัวทั้งนั้น ถ้าเราเริ่มต้นอะไรไว้ในครอบครัวแล้ว มันก็กลาย เป็นเรื่องใหญ่ไปได้ ลูกของเราไปอยู่ที่ไหน มันก็เอาระเบียบในครอบครัวไปใช้ เคารพบูชากันเป็นนิสัย อันนี้มันดี

คนงานคนการเราก็เหมือนกัน เราต้องตั้งหัวหน้าไว้ คนนี้เป็นหัวหน้าในเรื่องครัว นี้หัวหน้ารับแขก คนนั้นหัวหน้าเฝ้ารถต้องรับผิดชอบ ตั้งไว้ อย่างนั้น ทุกคนต้องเคารพหัวหน้า เป็นเรื่องระเบียบธรรมะ เรียกว่าเคารพตามอาวุโส เพราะฉะนั้น จึงวางหลักในครอบครัวไว้ว่า ให้เคารพผู้ใหญ่ในสกุล ต้องมีผู้ใหญ่แล้วให้ ดีต้องประชุมกันบ่อยๆ คนที่เป็นสมาชิกในครอบครัวต้องประชุมกันบ่อย วันนั้นไปประ ชุมบ้านนั้น วันนี้ไปประชุมบ้านนี้ ถ้ามีหลายคน

สมมติว่า 5 คนพี่น้อง เรานัดประชุมกัน วันเสาร์อาทิตย์ไปประชุมกัน เสียทีหนึ่ง ปรึกษาหารือกันในเรื่องการทำมาหากิน ในเรื่องปัญหา เรื่องนั้นเรื่องนี้ พบปะกันเสียบ้าง ความสามัคคีมันก็เกิด แล้วเวลาไปประชุมพาเด็กไปด้วย

เด็กให้เขาประชุมกันในหมู่เด็ก ไปเล่นกันสนุกตามประสาเด็ก ผู้ใหญ่ก็คุยกันตามประ สาผู้ใหญ่ รับประทานอาหารด้วยกัน อย่างนี้ทำให้เกิดความสมานฉันท์ เกิดความรัก ความสามัคคีในสกุลเดียวกัน อยู่กันด้วยความมั่นคงต่อไป มีปัญหาอะไรก็ปรึกษากัน คนไหนเป็นผู้ใหญ่ในที่ประชุมเราต้องเคารพต่อหัวหน้า เป็นอปริหานิยธรรม เรียกว่าธรรม เป็นที่เป็นไปเพื่อความเจริญถ่ายเดียวไม่เสื่อม เพราะมีการประชุมกันบ่อยๆ คนเรานั่น อยู่คนเดียว ความคิดความอ่านก็คับแคบ แต่ถ้าได้ปรึกษาหารือกันแล้ว ความคิดมันก็ กว้างออกไป มีเรื่องอะไรเอามาปรึกษากันมันหลายหัว ก็ช่วยกันคิดช่วยกันตรองช่วยกัน แก้ไขขจัดปัญหาเหล่านั้น ก็เป็นเครื่องช่วยให้เกิดความเจริญก้าวหน้า จึงต้องมีการประ ชุมกันบ้างพบปะกันนานๆ ก็นัดพบกันเสียที่หนึ่งคุยกันแล้วก็ปรึกษาหารือในเรื่องการงาน อัน นี้เป็นเรื่องดี พี่ๆ น้องๆไม่เคยพบกัน มันห่างกันออกไป เพราะไม่ได้พบกันเลย แต่ถ้ามา พบกันบ่อยๆ ก็เกิดความคุ้นเคยสนิทสนม

พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า"วิสสาสา ปรมาญาตี" ความคุ้นเคยนั่นแหละเป็นญาติอย่างยิ่ง แม้เราเป็นญาติโดยสืบสายโลหิต แต่ไม่คุ้นกันก็ไม่เป็นญาติ ทีนี้มาพบปะกัน ก็เรียกว่าเป็นญาติอย่างยิ่ง จึงต้องเคารพกันตามลำดับพบปะกัน ปรึกษาหารือกัน การอยู่กันก็จะเรียบร้อยไม่มีเรื่องอะไรเสียหาย อันนี้ประการหนึ่ง

สำหรับวันนี้ก็พูดกันเพียงนี้ก่อน วันหน้าก็ค่อยต่ออีกใหม่ จึงขอหยุดไว้แต่เพียงนี้

สุกรานิ อสาธุนิ อัตตโม อหิตานิ จะ
ยัง เว หิตัญจ สาธุญ จะ ตัง เว ปรมะทุกกรันติ

กรรมทั้งหลายที่ไม่ดี และไม่เป็นประโยชน์แก่ตนทำได้ง่าย
กรรมใดแล เป็นประโยชน์ด้วยดีด้วย กรรมนั้นแลทำได้ยากยิ่ง
พุทธพจน์.

<< ย้อนกลับ

» มองทุกให้เห็นจึงเป็นสุข

» ทุกข์ซ้อนทุกข์

» ไม่มีอะไรได้ดังใจเหมือนม้ากาบกล้วย

» วันนี้เจ้าอยู่กับฉันพรุ่งนี้มันไม่แน่

» มันเป็นเช่นนั้นเอง

» ศีลธรรมและสัจจธรรม

» แหล่งเกิดความทุกข์

» องค์สามของความดี

» หลักใจ

» ทำดีเสียก่อนตาย

» ตามรอยพุทธบาท

» ฐานของชีวิต

» ความพอใจเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง

» ชั่งหัวมัน

» อนัตตาพาสุขใจ

» ฤกษ์ยามที่ดี

» อดีต ปัจจุบัน อนาคต

» วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า

» สำนึกสร้างปัญญา

» สอนลูกให้ถูกวิธี

» ปฏิวัติภายนอกกับภายใน

» ร้อนกายไม่ร้อนใจ

» อย่าโง่กันนักเลย

» การทำศพแบบประหยัด

» คนดีที่โลกนับถือ

» ความจริงอันประเสริฐ

» เสรีต้องมีธรรม

» ทาน-บริจาค

» เกียรติคุณของพระธรรม

» เกียรติคุณของพระธรรม (2)

» พักกาย พักใจ

» เกิดดับ

» การพึ่งธรรม

» อยู่ด้วยความพอใจไม่มีทุกข์

» มรดกธรรม

» ฝึกสติปัญญาปัญหาไม่มี

» ทำให้ถูกธรรม

» วางไม่เป็นเย็นไม่ได้

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย