ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม
» พระสูตร
พระไตรปิฎกฉบับประชาชน
พระสูตร
พระสูตร ปัญจัตตยสูตร
ว่าด้วย บทห้า ๓
หมวด. มิจฉาทิฏฐิต่าง ๆ
[๒๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี
เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว
[๒๙] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งกำหนดขันธ์ส่วนอนาคต มีทิฏฐิคล้อยตามขันธ์ส่วนอนาคต ย่อมปรารภขันธ์ส่วนอนาคต กล่าวยืนยันบทแห่งความเชื่อมั่นหลายประการ คือ
พวกหนึ่งกล่าวยืนยันอย่างนี้ว่า อัตตาที่มีสัญญาเป็นของยั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว พวกหนึ่งกล่าวยืนยันอย่างนี้ว่า อัตตาที่ไม่มีสัญญาเป็นของยั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว พวกหนึ่งกล่าวยืนยันอย่างนี้ว่า อัตตาที่มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่เป็นของยั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว อีกพวกหนึ่งบัญญัติความขาดศูนย์ ความพินาศ ความไม่เกิดของสัตว์ที่มีอยู่ และอีกพวกหนึ่งกล่าวยืนยันนิพพานในปัจจุบัน
เป็นอันว่าสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมบัญญัติอัตตาที่มีอยู่ว่ายั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว พวกหนึ่ง บัญญัติความขาดศูนย์ ความพินาศ ความไม่เกิดของสัตว์ที่มีอยู่ พวกหนึ่ง กล่าวยืนยันนิพพานในปัจจุบัน อีกพวกหนึ่ง รวมบทแห่งความเชื่อมั่นเหล่านี้เป็น ๕ บท แล้วเป็น ๓ บท เป็น ๓ ขยายเป็น ๕ นี้อุเทศของบทห้า ๓ หมวดของความเชื่อมั่น
[๓๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น ท่านสมณพราหมณ์พวกบัญญัติอัตตาที่มีสัญญาว่ายั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไป ย่อมบัญญัติอัตตาที่มีสัญญา
(๑) ชนิดมีรูป ว่า ยั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไป ก็มี
(๒) ชนิดไม่มีรูป ว่า ยั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไป ก็มี
(๓) ชนิดมีรูปและไม่มีรูป ว่า ยั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไป ก็มี
(๔) ชนิดมีรูปก็มิใช่และไม่มีรูปก็มิใช่ว่า ยั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไป ก็มี
(๕) ชนิดมีสัญญาอย่างเดียวกัน ว่า ยั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไป ก็มี
(๖) ชนิดมีสัญญาต่างกัน ว่า ยั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไป ก็มี
(๗) ชนิดมีสัญญาย่อมเยา ว่า ยั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไป ก็มี
(๘) ชนิดมีสัญญาหาประมาณมิได้ ว่า ยั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไป ก็มี
แต่ยังมีอีกพวกหนึ่ง กล่าวยืนยันวิญญาณกสิณของอัตตามีสัญญาชนิดใดชนิดหนึ่งเหล่านี้ ที่เป็นไปล่วงชนิดทั้ง ๗ ว่า หาประมาณมิได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตย่อมทราบเรื่องนี้ดี
ท่านสมณพราหมณ์ พวกบัญญัติอัตตาที่มีสัญญาว่ายั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตาย ไป ย่อมบัญญัติอัตตาที่มีสัญญา
(๑) ชนิดมีรูป ว่า ยั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไป ก็มี
(๒) ชนิดไม่มีรูป ว่า ยั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไป ก็มี
(๓) ชนิดมีรูปและไม่มีรูปว่า ยั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไป ก็มี
(๔) ชนิดมีรูปก็มิใช่และไม่มีรูปก็มิใช ว่า ยั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไป ก็มี
(๕) ชนิดมีสัญญาอย่างเดียวกัน ว่า ยั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไป ก็มี
(๖) ชนิดมีสัญญาต่างกัน ว่า ยั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไป ก็มี
(๗) ชนิดมีสัญญาย่อมเยา ว่า ยั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไป ก็มี
(๘) ชนิดมีสัญญาหาประมาณมิได้ ว่า ยั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไป ก็มี
แต่ยังมีอีกพวกหนึ่ง กล่าวยืนยันอากิญจัญญายตนะว่า หาประมาณมิได้ ไม่หวั่นไหว ด้วยเหตุที่สัญญาอันบัณฑิตกล่าวว่าบริสุทธิ์เยี่ยมยอด ไม่มีสัญญาอื่นยิ่งกว่าสัญญาเหล่านี้ ทั้งที่เป็นสัญญาในรูป ทั้งที่เป็นสัญญาในอรูป ทั้งที่เป็นสัญญาอย่างเดียวกัน ทั้งที่เป็นสัญญาต่างกันไม่มีสักน้อยหนึ่ง เรื่องสัญญาดังนี้นั้น อันปัจจัยปรุงแต่ง เป็นของหยาบ และความดับของสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งมีอยู่ ตถาคตทราบว่าสิ่งนี้ยังมีอยู่ จึงเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกจากสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งนั้น เป็นไปล่วงสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งนั้นได้
|| หน้าถัดไป >>
» ตตถสูตร
» ทิฏฐิกถา
» วัจฉสูตร
» สภิยสูตร
» สาฬหสูตร