ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม
» พระสูตร
พระไตรปิฎกฉบับประชาชน
พระสูตร
พระสูตร ปัญจัตตยสูตร
ว่าด้วย บทห้า ๓
หมวด. มิจฉาทิฏฐิต่าง ๆ
หน้า 2
[๓๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น ท่านสมณพราหมณ์พวกบัญญัติอัตตาที่ไม่มีสัญญาว่ายั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไป ย่อมบัญญัติอัตตาที่ไม่มีสัญญา
(๑) ชนิดมีรูป ว่า ยั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไป ก็มี
(๒) ชนิดไม่มีรูป ว่า ยั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไป ก็มี
(๓) ชนิดมีรูปและไม่มีรูป ว่า ยั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไป ก็มี
(๔) ชนิดมีรูปก็มิใช่และไม่มีรูปก็มิใช่ว่า ยั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไป ก็มี
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น ท่านสมณพราหมณ์ พวกบัญญัติอัตตาที่มีสัญญาว่ายั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไป ย่อมคัดค้านสมณพราหมณ์ พวกอสัญญีวาทะนั้น นั่นเพราะเหตุไร เพราะสัญญาเป็นเหมือนโรค เป็นเหมือนหัวฝี เป็นเหมือนลูกศร สิ่งดี ประณีตนี้ คือความไม่มีสัญญา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตย่อมทราบเรื่องนี้ดี
ท่านสมณพราหมณ์ พวกบัญญัติอัตตาที่ไม่มีสัญญาว่ายั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไป ย่อมบัญญัติอัตตาที่ไม่มีสัญญา
(๑) ชนิดมีรูป ว่า ยั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไป ก็มี
(๒) ชนิดไม่มีรูป ว่า ยั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไป ก็มี
(๓) ชนิดมีรูปและไม่มีรูปว่า ยั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไป ก็มี
(๔) ชนิดมีรูปก็มิใช่และไม่มีรูปก็มิใช่ ว่า ยั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไปก็มี
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักบัญญัติการมาเกิด หรือการไปเกิด การจุติ การอุปบัติ ความเจริญ ความงอกงาม ความไพบูลย์ นอกจากรูป นอกจากเวทนา นอกจากสัญญา นอกจากสังขาร นอกจากวิญญาณ คำกล่าวอันนี้ของสมณพราหมณ์นั้น ไม่มีฐานะที่มีได้ เรื่องไม่มีสัญญาดังนี้นั้น อันปัจจัยปรุงแต่ง เป็นของหยาบ และความดับของสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งมีอยู่ ตถาคตทราบว่าสิ่งนี้ยังมีอยู่ จึงเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก จากสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งนั้น เป็นไปล่วงสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งนั้นได้
[๓๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น ท่านสมณพราหมณ์พวกบัญญัติอัตตาที่มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ว่า ยั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไป ย่อมบัญญัติอัตตาที่มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่
(๑) ชนิดมีรูป ว่า ยั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไป ก็มี
(๒) ชนิดไม่มีรูป ว่า ยั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไป ก็มี
(๓) ชนิดมีรูปและไม่มีรูป ว่า ยั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไป ก็มี
(๔) ชนิดมีรูปก็มิใช่และไม่มีรูปก็มิใช่ ว่า ยั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไปก็มี
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น ท่านสมณพราหมณ์ พวกบัญญัติอัตตาที่มีสัญญาว่ายั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไป ย่อมคัดค้านสมณพราหมณ์พวกเนวสัญญีนาสัญญีวาทะนั้น แม้ท่านสมณพราหมณ์พวกบัญญัติอัตตาที่ไม่มีสัญญาว่า ยั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไป ก็ย่อมคัดค้านสมณพราหมณ์พวกเนวสัญญีนาสัญญีวาทะนั้น นั่นเพราะเหตุไร เพราะสัญญาเป็นเหมือนโรค เป็นเหมือนหัวฝี เป็นเหมือนลูกศร ความไม่มีสัญญา เป็นความหลง สิ่งดี ประณีตนี้ คือความมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตย่อมทราบเรื่องนี้ดี
ท่านสมณพราหมณ์ พวกบัญญัติอัตตาที่มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ว่า ยั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไป ย่อมบัญญัติอัตตาที่สัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่
(๑) ชนิดมีรูป ว่า ยั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไป ก็มี
(๒) ชนิดไม่มีรูป ว่า ยั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไป ก็มี
(๓) ชนิดมีรูปและไม่มีรูปว่า ยั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไป ก็มี
(๔) ชนิดมีรูปก็มิใช่และไม่มีรูปก็มิใช่ ว่า ยั่งยืน เบื้องหน้าแต่ตายไปก็มี
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง บัญญัติการเข้าอายตนะนี้ด้วยเหตุเพียงสังขารที่ตนรู้แจ้ง โดยได้เห็นได้ยินและได้ทราบ การบัญญัติของสมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น บัณฑิตกล่าวว่า เป็นความพินาศของการเข้าอายตนะนี้ เพราะอายตนะนี้ ท่านไม่กล่าวว่า พึงบรรลุด้วยความถึงพร้อมของสังขาร แต่ท่านกล่าวว่า พึงบรรลุด้วยความถึงพร้อมของขันธ์ที่เหลือจากสังขาร เรื่องเนวสัญญานาสัญญายตนะดังนี้นั้น อันปัจจัยปรุงแต่ง เป็นของหยาบ และความดับของสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งมีอยู่ ตถาคตทราบว่าสิ่งนี้ยังมีอยู่ จึงเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก จากสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งนั้น เป็นไปล่วงสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งนั้นได้
» ตตถสูตร
» ทิฏฐิกถา
» วัจฉสูตร
» สภิยสูตร
» สาฬหสูตร