ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม
» พระสูตร
พระไตรปิฎกฉบับประชาชน
พระสูตร
พระสูตร โปฏฐปาทสูตร
ว่าด้วย ปริพาชกโปฏฐปาทะ
อัพยากตปัญหา
ดูกรโปฏฐปาทะ แม้คำว่าโลกเที่ยงนี้เท่านั้นเป็นความจริง สิ่งอื่นเปล่า เราไม่พยากรณ์
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็คำว่าโลกไม่เที่ยงนี้เท่านั้นเป็นความจริง สิ่งอื่นเปล่ากระนั้นหรือ
ดูกรโปฏฐปาทะ แม้คำว่าโลกไม่เที่ยงนี้เท่านั้นเป็นความจริง สิ่งอื่นเปล่า เราไม่พยากรณ์
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็คำว่า โลกมีที่สุด... โลกไม่มีที่สุด... ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น... ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่... นี้เท่านั้นเป็นความจริง สิ่งอื่นเปล่ากระนั้นหรือ
ดูกรโปฏฐปาทะ แม้ข้อนี้เราไม่พยากรณ์ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ นี้เท่านั้นเป็นความจริง สิ่งอื่นเปล่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุไฉนพระองค์จึงไม่ทรงพยากรณ์ความข้อนั้น
ดูกรโปฏฐปาทะ เพราะข้อนั้นไม่ประกอบด้วยอรรถ ไม่ประกอบด้วยธรรม ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่พยากรณ์
[๒๙๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงพยากรณ์อย่างไร
ดูกรโปฏฐปาทะ เราพยากรณ์ว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุไฉนพระองค์จึงทรงพยากรณ์ดังนั้น
ดูกรโปฏฐปาทะ เพราะข้อนั้นประกอบด้วยอรรถ ประกอบด้วยธรรม เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เพราะเหตุนั้น เราจึงพยากรณ์ดังนั้น
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนั้นต้องเป็นเช่นนั้น ข้าแต่พระสุคต ขัอนั้นต้องเป็นเช่นนี้ บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคทรงทราบกาลอันควรเถิด
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกจากอาสนะหลีกไปแล้ว
[๒๙๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปไม่นาน ปริพาชกเหล่านั้นได้พากันรุมต่อว่าโปฏฐปาทปริพาชก ด้วยถ้อยคำตัดพ้อต่างๆ ว่า อย่างนี้ทีเดียว ท่านโปฏฐปาทะ พระสมณโคดมตรัสคำใด ท่านพลอยอนุโมทนาคำนั้นทุกคำว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนั้นต้องเป็นเช่นนี้ ข้าแต่พระสุคต ขัอนั้นต้องเป็นเช่นนี้ ฝ่ายพวกเรามิได้เข้าใจอรรถที่พระสมณโคดมทรงแสดงแล้วโดยส่วนเดียว แต่สักน้อยหนึ่งว่า โลกเที่ยงหรือโลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุดหรือโลกไม่มีที่สุด ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ หรือสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี หรือสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่
[๒๙๕] เมื่อพวกปริพาชกกล่าวอย่างนี้แล้ว โปฏฐปาทปริพาชกได้บอกปริพาชกเหล่านั้นว่า ท่านทั้งหลาย แม้ข้าพเจ้าก็มิได้เข้าใจธรรมที่พระสมณโคดมทรงแสดงแล้วโดยส่วนเดียว แต่สักอย่างหนึ่งว่า โลกเที่ยงหรือโลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุดหรือโลกไม่มีที่สุด ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ หรือสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี หรือสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ แต่ว่าพระสมณโคดมบัญญัติปฏิปทาที่จริงแท้แน่นอน เป็นธรรมฐิติ ธรรมนิยาม ก็เมื่อพระสมณโคดมบัญญัติปฏิปทาที่จริงแท้แน่นอน เป็นธรรมฐิติ ธรรมนิยาม ไฉนเล่าวิญญูชนเช่นเราจะไม่อนุโมทนาสุภาษิตของพระสมณโคดมโดยเป็นสุภาษิต
- ติรัจฉานกถา
- ว่าด้วยอภิสัญญานิโรธ
- มัชฌิมศีล
- มหาศีล
- อินทรียสังวร
- สติสัมปชัญญะ
- สันโดษ
- นิวรณ์ ๕
- เหตุเกิดและดับสัญญา
- การเข้าอภิสัญญานิโรธ
- ว่าด้วยสัญญาและอัตตา
- อัพยากตปัญหา
- จิตตหัตถิสารีบุตรและโปฏฐปาทปริพาชก
- เอกังสิธรรม
- ว่าด้วยทิฏฐิของสมณพราหมณ์
- การได้อัตตา ๓ ประการ
» ตตถสูตร
» ทิฏฐิกถา
» วัจฉสูตร
» สภิยสูตร
» สาฬหสูตร