ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม

หอพระไตร

» พระวินัยปิฎก

» พระสุตตันตปิฎก

» พระอภิธรรมปิฎก

» พระสูตร

พระไตรปิฎกฉบับประชาชน

พระสูตร

พระสูตร โปฏฐปาทสูตร

ว่าด้วย ปริพาชกโปฏฐปาทะ

ว่าด้วยอภิสัญญานิโรธ

[๒๗๘] เมื่อพระผู้มีพระภาครับสั่งอย่างนี้แล้ว โปฏฐปาทปริพาชกได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องที่พวกข้าพระองค์สนทนากันบัดนี้นั้น งดไว้ก่อน เรื่องเช่นนี้พระผู้มีพระภาคจะทรงสดับต่อภายหลังก็ได้ ไม่ยากนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันก่อน ๆ พวกสมณพราหมณ์ผู้มีลัทธิแตกต่างกัน ประชุมกันในโกตุหลศาลา ได้สนทนากันในอภิสัญญานิโรธว่า ท่านทั้งหลาย อภิสัญญานิโรธเป็นไฉน ในสมณพราหมณ์เหล่านั้น บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า สัญญาของบุรุษไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย เกิดขึ้นเอง ดับไปเอง สมัยใดสัญญาเกิดขึ้น สมัยนั้นสัตว์ก็ชื่อว่ามีสัญญา สมัยใดสัญญาดับไป สมัยนั้นสัตว์ก็ชื่อว่าไม่มีสัญญา พวกหนึ่งบัญญัติอภิสัญญานิโรธไว้ด้วยประการฉะนี้

อีกพวกหนึ่งกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย ข้อนี้จักเป็นเช่นนั้นหามิได้ เพราะว่าสัญญาเป็นอัตตาของบุรุษ และอัตตานั้นเข้ามาก็มี ไปปราศก็มี สมัยใดอัตตาเข้ามา สมัยนั้นสัตว์ก็ชื่อว่ามีสัญญา สมัยใดอัตตาไปปราศ สมัยนั้นสัตว์ก็ชื่อว่าไม่มีสัญญา พวกหนึ่งบัญญัติอภิสัญญานิโรธด้วยประการฉะนี้

อีกพวกหนึ่งกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย ข้อนี้จักเป็นเช่นนั้นหามิได้ เพราะว่าสมณพราหมณ์ที่มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากมีอยู่ ท่านเหล่านั้นบันดาล ให้มีก็ได้ บันดาลให้พรากก็ได้ ซึ่งสัญญาของบุรุษนี้ สมัยใดบันดาลให้มี สมัยนั้นสัตว์ก็ชื่อว่ามีสัญญา สมัยใดบันดาลให้พราก สมัยนั้นสัตว์ก็ชื่อว่าไม่มีสัญญา พวกหนึ่งบัญญัติอภิสัญญานิโรธด้วยประการฉะนี้

อีกพวกหนึ่งกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย ข้อนี้จักเป็นเช่นนั้นหามิได้ เพราะว่าเทวดาที่มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากมีอยู่ เทวดาเหล่านั้นบันดาลให้มีก็ได้ บัลดาลให้พรากก็ได้ ซึ่งสัญญาของบุรุษนี้ สมัยใดบันดาลให้มี สมัยนั้นสัตว์ก็ชื่อว่ามีสัญญา สมัยใดบันดาลให้พราก สมัยนั้นสัตว์ก็ชื่อว่า ไม่มีสัญญา พวกหนึ่งบัญญัติอภิสัญญานิโรธด้วยประการฉะนี้

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์มีสติปรารภเฉพาะพระผู้มีพระภาคเกิดขึ้นว่า ท่านผู้ฉลาดในธรรมเหล่านี้เป็นอย่างดีนั้น ต้องเป็นพระผู้มีพระภาคแน่แท้ ต้องเป็นพระองค์พระสุคตแน่แท้ พระองค์ทรงฉลาด ทรงรู้ช่ำชองในอภิสัญญานิโรธ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อภิสัญญานิโรธเป็นไฉน

[๒๗๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรโปฏฐปาทะ ในสมณพราหมณ์เหล่านั้น พวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า สัญญาของบุรุษ ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย เกิดขึ้นเอง ดับไปเอง ความเห็นของสมณพราหมณ์พวกนั้นผิดแต่ต้นทีเดียว เพราะเหตุไร เพราะสัญญาของบุรุษมีเหตุ มีปัจจัย เกิดขึ้นก็มี ดับไปก็มี สัญญาอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้นเพราะการศึกษาก็มี สัญญาอย่างหนึ่งย่อมดับไปเพราะการศึกษาก็มี ก็ข้อที่จะพึงศึกษาเป็นไฉน ดูกรโปฏฐปาทะ พระตถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม พระตถาคตพระองค์นั้น ทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง คฤหบดี บุตรคฤหบดี หรือผู้เกิดเฉพาะในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ย่อมฟังธรรมนั้น ครั้นฟังแล้ว ได้ศรัทธาในพระตถาคต เมื่อได้ศรัทธาแล้ว ย่อมเห็นตระหนักว่า ฆราวาสคับแคบเป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต สมัยต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้ว สำรวมระวังในพระปาติโมกข์อยู่ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร มีปรกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรมที่เป็นกุศล มีอาชีพบริสุทธิ์ ถึงพร้อมด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นผู้สันโดษ

จุลศีล ดูกรโปฏฐปาทะ อย่างไร ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล

๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาสตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ข้อนี้เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
๒. เธอ ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
๓. เธอ ละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นขาดจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
๔. เธอ ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ มีถ้อยคำเป็นหลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
๕. เธอ ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ฟังจากข้างนี้ แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน หรือฟังจากข้างโน้น แล้วไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อให้คนหมู่โน้นแตกรัาวกัน สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนผู้พรัอมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าวแต่คำที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
๖. เธอ ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
๗. เธอ ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่ เป็นจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐานมีที่อ้าง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
๘. เธอ เว้นจากการพรากพืชคาม และภูตคาม
๙. เธอ ฉันหนเดียว เว้นการฉันในราตรี งดการฉันในเวลาวิกาล
๑๐. เธอ เว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่น อันเป็นข้าศึกแก่กุศล
๑๑. เธอ เว้นขาดจากการทัดทรงประดับและตบแต่งร่างกาย ด้วยดอกไม้ ของหอมและเครื่องประเทืองผิว อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว
๑๒. เธอ เว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่
๑๓. เธอ เว้นขาดจากการรับทองและเงิน
๑๔. เธอ เว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ
๑๕. เธอ เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ
๑๖. เธอ เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี
๑๗. เธอ เว้นขาดจากการรับทาสีและทาส
๑๘. เธอ เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ
๑๙. เธอ เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร
๒๐. เธอ เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา
๒๑. เธอ เว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน
๒๒. เธอ เว้นขาดจากการประกอบทูตกรรม และการรับใช้
๒๓. เธอ เว้นขาดจากการซื้อการขาย
๒๔. เธอ เว้นขาดจากการโกงดัวยตาชั่ง การโกงด้วยของปลอม และการโกงด้วยเครื่องตวงวัด
๒๕. เธอ เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวงและการตลบตะแลง
๒๖. เธอ เว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้น และการกรรโชก แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

- ติรัจฉานกถา
- ว่าด้วยอภิสัญญานิโรธ
- มัชฌิมศีล
- มหาศีล
- อินทรียสังวร
- สติสัมปชัญญะ
- สันโดษ
- นิวรณ์ ๕
- เหตุเกิดและดับสัญญา
- การเข้าอภิสัญญานิโรธ
- ว่าด้วยสัญญาและอัตตา
- อัพยากตปัญหา
- จิตตหัตถิสารีบุตรและโปฏฐปาทปริพาชก
- เอกังสิธรรม
- ว่าด้วยทิฏฐิของสมณพราหมณ์
- การได้อัตตา ๓ ประการ


» กัจจานโคตตสูตร

» เกสปุตตสูตร

» กุตุหลสาลาสูตร

» โกกนุทสูตร

» ขันธ์สังยุต ทิฏฐิวรรค

» เขมาเถรีสูตร

» จูฬกัมมวิภังคสูตร

» จูฬมาลุงโกยวาทสูตร

» ตตถสูตร

» ติมพรุกขสูตร

» ทิฏฐิกถา

» ทิฏฐิสังยุต จตุตถเปยยาล

» ทิฏฐิสังยุต ตติยเปยยาล

» ทิฏฐิสังยุต ทุติยเปยยาล

» ทิฏฐิสังยุต โสตาปัตติวรรค

» ทิฏฐิสูตร

» ปรัมมรณสูตร

» ปัญจัตตยสูตร

» โปฏฐปาทสูตร

» พรหมชาลสูตร

» ภัททิยสูตร

» โมคคัลลานสูตร

» โรหิตัสสสูตรที่ ๑

» วัจฉสูตร

» สภิยสูตร

» สามัญญผลสูตร

» สารีปุตตโกฏฐิตสูตร ที่ ๑

» สารีปุตตโกฏฐิตสูตร ที่ ๒

» สารีปุตตโกฏฐิตสูตร ที่ ๓

» สารีปุตตโกฏฐิตสูตร ที่ ๔

» สาฬหสูตร

» อนันทสูตร

» อนุราธสูตร

» อัคคิวัจฉโคตตสูตร

» อุตติยสูตร

» อเจลกัสสปสูตร

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย