ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม

หอพระไตร

» พระวินัยปิฎก

» พระสุตตันตปิฎก

» พระอภิธรรมปิฎก

» พระสูตร

พระไตรปิฎกฉบับประชาชน

พระวินัยเล่มที่ ๕

ชื่อมหาวัคค์ (เป็นวินัยปิฎก)

โกสัมพิขันธกะ

(หมวดว่าด้วยเหตุการณ์ในกรุงโกสัมพี)

เริ่มต้นด้วยเล่าเรื่องภิกษุ ๒ รูป ทะเลาะกัน คือรูปหนึ่งหาว่าอีกรูปหนึ่งต้องอาบัติ แล้วไม่เห็นอาบัติ จีงพาพวกมาประชุมสวดประกาศลงอุกเขปนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น ต่างก็มีเพื่อนฝูงมากด้วยกันทั้งสองฝ่าย และต่างหาว่าอีกฝ่ายหนึ่งทำไม่ถูก ถึงกับสงฆ์แตกกันเป็นสองฝ่าย และแยกทำอุโบสถ แม้พระผู้มีพระภาคจะทรงแนะนำตักเตือนให้ประนีประนอมกันก็ไม่ฟัง ในที่สุดถึงกับทะเลาะวิวาทและแสดงอาการกายวาจาที่ไม่สมควรต่อกัน.

พระผู้มีพระภาคทรงตักเตือนอีก ภิกษุเหล่านั้นก็กลับพูดขอให้พระภาคอย่าทรงเกี่ยวข้อง ขอให้ทรงหาความสุขส่วนพระองค์ไป ตนจะดำเนินการกันเองต่อไป. พระผู้มีพระภาคจึงทรงสั่งสอนให้ดูตัวอย่างทีฆาวุกุมารแห่งแคว้นโกศล ผู้คิดแก้แค้นพระเจ้าพรหมทัตแห่งแคว้นกาสี ในการที่จับพระราชบิดาของพระองค์ คือพระเจ้าทีฆีติ ไปทรมานประจานและประหารชีวิต เมื่อมีโอกาสจะแก้แค้นได้ ก็ยังระลึกถึงโอวาทของบิดา ที่ไม่ให้เห็นแก่ยาว (คือไม่ให้ผูกเวร จองเวรไว้นาน) ไม่ให้เห็นแก่สั้น (คือไม่ให้ตัดไมตรี) และให้สำนึกว่า เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร จึงไว้ชีวิตแก่พระเจ้าพรหมทัต แล้วกลับได้ราชสมบัติที่เสียไปคืน พร้อมทั้งได้พระราชธิดาของพระเจ้าพรหมทัตด้วย.

ทรงสรุปว่า พระราชาที่จับสัตราอาวุธยังทรงมีขันติ (ความอดทน) และโสรัจจะ (ความสงบเสงี่ยม) ได้ จึงควรที่ภิกษุทั้งหลายผู้บวชในพระธรรมวินัยนี้จะมีความอดทนและความสงบเสงี่ยม.

แต่ภิกษุเหล่านั้นก็มิได้เชื่อฟัง จึงเสด็จไปจากที่นั้น สู่พาลกโลณการกคาม, สู่ป่าชื่อปาจีนวังสะโดยลำดับ ได้ทรงพบปะกับพระเถระต่าง ๆ ในที่ที่ เสด็จไปนั้น ในที่สุดได้เสด็จไปพำนักอยู่ ณ โคนไม้สาละอันร่มรื่น ณ ป่าชื่อปาริเลยยกะ. ในตอนนี้ได้เล่าเรื่องแทรกว่า มีพญาช้างชื่อปาริเลยยกะ มาอุปฐากดูแลพระผู้มีพระภาค.

ต่อจากนั้นจึงได้เสด็จไปยังกรุงสาวัตถี.

อุบาสกอุบาสิกาชาวโกสัมพี ไม่พอใจภิกษุแตกกันเหล่านั้น จึงนัดกัน ไม่แสดงความเคารพ ไม่ถวายอาหารบิณฑบาต ภิกษุเหล่านั้นได้รับความลำบากก็รู้สึกผิดชอบ จึงพากันเดินทางไปกรุงสาวัตถี และยอมตกลงระงับข้อวิวาทแตกแยกกัน โดยภิกษุรูปที่เป็นต้นเหตุยอมแสดงอาบัติ ภิกษุฝ่ายที่สวดประกาศลงโทษยอมถอนประกาศ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสให้ประชุมสงฆ์สวดประกาศระงับเรื่องนั้น เป็นสังฆสามัคคี เสร็จแล้วให้สวดปาฏิโมกข์.

อนึ่ง ทรงแสดงเรื่องสังฆสามัคคีย คือความพร้อมเพรียงแห่งสงฆ์ที่ไม่เป็นธรรมและที่เป็นธรรม โดยแสดงว่า การสามัคคียกันภายหลังที่แตกกันแล้วจะต้องแก้ที่ต้นเหตุ วินิจฉัยเรื่องราว เข้าหาเรื่องเดิมให้เสร็จสิ้นไป ไม่ใช่ปล่อยคลุม ๆ ไว้แล้วสามัคคีกันอย่างคลุม ๆ.

(เห็นได้ว่าตอนนี้แสดงเป็นประวัติไว้เป็นส่วนใหญ่ ส่วนข้อวินัยเกี่ยวกับสงฆ์แตกกันในตอนนี้ มีซ้ำกับที่จะกล่าวข้างหน้า ในเล่ม ๗ สังฆเภทขันธกะ คือหมวดว่าด้วยสงฆ์แตกกัน).

<< ย้อนกลับ  || 

จัมมขันธกะ(หมวดว่าด้วยหนัง)
เภสัชชขันธกะ (หมวดว่าด้วยยา)
ทรงถอนข้ออนุญาตสำหรับยามข้าวยาก
กฐินขันธกะ (หมวดว่าด้วยกฐิน)
จีวรขันธกะ (หมวดว่าด้วยจีวร)
การทำกรรมที่ไม่เป็นธรรมและที่เป็นธรรม
โกสัมพิขันธกะ


พระวินัยเล่มที่ ๑
พระวินัยเล่มที่ ๒
พระวินัยเล่มที่ ๓
พระวินัยเล่มที่ ๔
พระวินัยเล่มที่ ๕
พระวินัยเล่มที่ ๖
พระวินัยเล่มที่ ๗
พระวินัยเล่มที่ ๘

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย