ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

ธรรมบรรยายของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ

พุทธวิธีควบคุมความคิด(6)

การขอโทษและการให้อภัย

อนึ่ง การรู้จักขอโทษนั้นเป็นมารยาทอันดีงามสำหรับตัวผู้ทำเอง และเป็นการช่วยระงับหรือช่วยแก้โทสะของผู้กระทบกระทั่งให้เรียบร้อยด้วยดีได้ทางหนึ่ง หรือจะกล่าวว่าการขอโทษหรือการพยายามป้องกันมิให้มีการผูกเวรกันก็ไม่ผิด เพราะเมื่อผู้หนึ่งทำผิด อีกผู้หนึ่งเกิดโทสะเพราะถือความผิดนั้นเป็นความล่วงเกินกระทบกระทั่งถึงตน แม้ไม่อาจแก้โทสะนั้นได้ ความผูกโกรธหรือความผูกเวรก็ย่อมมีขึ้น ถ้าแก้โทสะนั้นได้ก็เท่ากับแก้ความผูกโกรธหรือผูกเวรได้ เป็นการสร้างอภัยทานขึ้นแทน

อภัยทานก็คือการยกโทษให้ คือการไม่ถือความผิดหรือการล่วงเกินกระทบกระทั่งว่าเป็นโทษ อันอภัยทานนี้เป็นคุณแก่ผู้ให้ ยิ่งกว่าผู้รับ เช่นเดียวกับทานทั้งหลายเหมือนกัน คืออภัยทานหรือการให้อภัยนี้ เมื่อเกิดขึ้นในใจผู้ใด จะยังจิตใจของผู้นั้นให้ผ่องใสพ้นจากความกลุ้มรุมบดบังของโทสะ อันใจที่แจ่มใส กับใจที่มืดมัว ไม่อธิบายก็น่าจะทราบกันอยู่ทุกคนว่าใจแบบไหนที่ยังความสุขให้เกิดแก่เจ้าของ ใจแบบไหนที่ยังความทุกข์ให้เกิดขึ้น และใจแบบไหนที่เป็นที่ต้องการ ใจแบบไหนที่ไม่เป็นที่ต้องการเลย

ความจริงนั้น ทุกคนที่สนใจในการบริหารจิต จะต้องสนใจอบรมจิตให้รู้จักอภัยในความผิดทั้งปวง ไม่ว่าผู้ใดจะทำแก่ตน แม้การให้อภัยจะเป็นการทำได้ไม่ง่ายนักสำหรับบางคนที่ไม่เคยอบรมมาก่อน แต่ก็สามารถจะทำได้ด้วยอบรมไปทีละเล็กละน้อย เริ่มแต่ที่ไม่ต้องฝืนใจมากนักไปก่อนในระยะแรก ตัวอย่างเช่น เวลาขึ้นรถประจำทางที่มีผู้โดยสารคอยขึ้นรถอยู่เป็นจำนวนมาก หากจะมีผู้เบียดแย่งขึ้นหน้า ทั้งๆ ที่ยืนอยู่ข้างหลัง

ถ้าเกิดโกรธขึ้นมาไม่ว่าน้อยหรือมาก ก็ให้ถือเป็นโอกาสอบรมจิตใจให้รู้จักอภัยให้เขาเสีย เพราะเรื่องเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่ควรถือโกรธกันหนักหนา เป็นเรื่องเล็กน้อยเหลือเกินควรจะอภัยให้กันได้ แต่บางทีถ้าไม่ตั้งใจคิดเอาไว้ก็จะไม่ทันให้อภัย จะเป็นเพียงโกรธแล้วหายโกรธไปเอง



โกรธแล้วหายโกรธเอง กับโกรธแล้วหายโกรธเพราะให้อภัย ไม่เหมือนกัน โกรธแล้วหายโกรธเองเป็นเรื่องธรรมดา ทุกสิ่งเมื่อเกิดแล้วต้องดับ ไม่เป็นการบริหารจิตอย่างใด แต่โกรธแล้วหายโกรธเพราะคิดให้อภัยเป็นการบริหารจิตโดยตรง จะเป็นการยกระดับของจิตให้สูงขึ้น ดีขึ้น มีค่าขึ้น ผู้แลเห็นความสำคัญของจิตจึงควรมีสติทำความเพียร อบรมจิตให้คุ้นเคยต่อการให้อภัยไว้เสมอ เมื่อเกิดโทสะขึ้นในผู้ใดเพราะการปฏิบัติล่วงล้ำก้ำเกินเพียงใดก็ตาม พยายามมีสติพิจารณาหาทางให้อภัยทานเกิดขึ้นในใจให้ได้ ก่อนที่ความโกรธจะดับไปเสียเองก่อน

ทำได้เช่นนี้จะเป็นคุณแก่ตนเองมากมายนัก ไม่เพียงแต่จะทำให้มีโทสะลดน้อยลงเท่านั้น และเมื่อปล่อยให้ความโกรธดับไปเอง ก็มักหาดับไปหมดสิ้นไม่ เถ้าถ่านคือความผูกโกรธมักจะยังเหลืออยู่ และอาจกระพือความโกรธขึ้นอีกในจิตใจได้ในโอกาสต่อไป ผู้อบรมจิตให้คุ้นเคยอยู่เสมอกับการให้อภัย แม้จะไม่ได้รับการขอขมา ก็ย่อมอภัยให้ได้ ในทางตรงกันข้าม ผู้ไม่เคยอบรมจิตใจให้คุ้นเคยกับการให้อภัยเลย โกรธแล้วก็ให้หายโกรธเอง แม้ได้รับการขอขมาโทษ ก็อาจจะไม่อภัยให้ได้ เป็นเรื่องของการให้ฝึกใจให้เคยชิน

อันใจนั้นฝึกได้ ไม่ใช่ฝึกไม่ได้ ฝึกอย่างใดก็จะเป็นอย่างนัน ฝึกให้ดีก็จะดี ฝึกให้ร้ายก็จะร้าย สัตว์ป่าที่ดุร้ายยังเอามาฝึกให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ฝึกได้ เช่น ช้างก็ยังเอามาฝึกให้ลากซุงได้ เสือ หมี สิงโต ก็ยังเอามาฝึกให้เล่นละครสัตว์ได้ ไม่ต้องพูดถึงสัตว์เลี้ยง เช่นสุนัขที่ฝึกให้เลี้ยงเด็กได้ ช่วยจับผู้ร้ายก็ได้ นำทางคนตาพิการก็ได้

แล้วทำไมใจของมนุษย์แท้ๆ ที่ประเสริฐกว่าสัตว์ทั้งหลาย จะฝึกให้เป็นไปตามปรารถนาต้องการไม่ได้ การฝึกสัตว์ทั้งหลายดังกล่าวแล้ว ผู้ฝึกต้องใช้ความมานะพากเพียรเป็นอันมากกว่าจะได้รับผลสำเร็จ การฝึกใจก็ต้องใช้ความมานะพากเพียรอย่างยิ่งเช่นเดียวกัน จึงจะปรากฏผลประจักษ์แก่ใจตนเองเป็นลำดับ เป็นขั้นไป

<<<ย้อนกลับ ||

แสงส่องใจ
พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอะไร
พุทธวิธีควบคุมความคิด
วิธีสร้างบุญบารมี

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย