ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

พระสูตรของท่านเว่ยหลาง

ครูที่แท้จริง

ท่านขงจื๊อกล่าวว่า "สามคนเดินมาจักมีคนหนึ่งเป็นครูของเราได้" ความหมายอันแท้จริงมิได้หมายความแต่เพียงว่ามีคนสามคนเดินมาจริงๆ เท่านั้น แต่หมายถึงสภาวะแห่งการรู้จักธรรมญาณของตนนั่นแหละจึงเป็นครูที่แท้จริงของตนเอง ครูของตนเองจึงสามารถแยกแยะความดีความชั่วและตัดสินใจได้เองในกรณีที่ต้องที่ต้องเลือกเดินทางระหว่างสองแห่งความดีและชั่วเพราะฉะนั้นเมื่อมีผู้ทูลถามพระพุทธองค์ว่าทรงโปรดเวไนยสัตว์ให้พ้นไปจากวัฏสงสารมากน้อยเท่าไร พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ตถาคตมิได้โปรดใครเลย" ความหมายแห่งพระพุทธวจนะนี้คือการยอมรับว่าทุกคนต่างมีปัญญาเป็นของตนเองและเป็นที่พึ่งที่แท้จริง พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวว่า "เมื่อครั้งที่พระสังฆปริณายกองค์ที่ห้าได้แสดงธรรมให้อาตมาฟัง ก็ได้เกิดความรู้แจ้งสว่างไสว ตรัสรู้ข้อธรรมะในทันทีที่ท่านพูดจบและทันใดนั้นเองก็ได้เห็นแจ้งประจักษ์ชัดในตัวธรรมชาติแท้ของ ตถตา" คำว่าตรัสรู้มิได้มีความหมายเพียง "รู้เอง" แต่เพียงอย่างเดียวแต่มีขอบเขตกว้างขวางไปถึงสภาวะแห่งความเป็นของ "ธรรมญาณ" "รู้เอง" และ "เป็นเอง" จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครสามารถเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องได้เลย หรือแม้แต่อิทธิพลการบังคับจากผู้อื่นแต่เป็นภาวะที่ตนเองเท่านั้นที่เข้าใจและเป็นไปตามธรรมชาติแห่ง "ตถตา" หรือ "ธรรมญาณ" นั่นเอง พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า "ด้วยเหตุนี้อาตมาจึงมีความมุ่งหมายโดยเฉพาะที่จะประกาศคำสอนแห่งนิกาย "ฉับพลัน" ต่อไป เพื่อที่ผู้ศึกษาจะได้ประสบกับโพธิและเห็นแจ้งชัดในตัวธรรมชาติแท้ของตนเอง ด้วยการอบรมจิตใจในวิปัสสนาภาวนา" การอบรมจิตให้เป็นวิปัสสนามิได้หมายถึงการนั่งหลับตาแล้วภาวนาถ้อยคำใดหรือกำหนดลมหายใจ การเคลื่อนไหวของร่างกายอาการเช่นนี้มิใช้ "วิปัสสนา" แต่เป็นเรื่องของการกำหนดรูปลักษณ์เพื่อหลอกจิตให้ติดพันอยู่กับร่างกายแต่เพียงสถานเดียวและหวังว่าการหลอกเช่นนี้จักทำให้จิตเกิดสภาวะหนึ่งเดียวอันเป็นปัญญาสูงสุด ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ การทำงานของจิต ทที่อยู่ในสภาวะแห่งการตัดกิเลสที่ไหลเข้าออกทางอายตนะหก หู ตา จมูก ลิ้น กายใจ จึงถือเป็น "วิปัสสนา" อันจริงแท้และเป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติเอง โดยไม่มีใครสามารถกระทำแทนได้เลย พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า ถ้าไม่สามารถช่วยตัวเองให้เกิดความสว่างไสวได้ เขาจะได้ขอร้องต่อเพื่อนพุทธบริษัทผู้คงแก่เรียนและใจอารีซึ่งมีความรู้และความเข้าใจคำสั่งสอนของสำนักสูงให้ช่วยชี้หนทางอันถูกต้อง ผู้ที่ทำหน้าที่นำจูงผู้อื่นให้เห็นแจ้งใน "ธรรมญาณ" จึงอยู่ในตำแหน่งอันสูงสุดและสามารถที่จะนำเอาผู้ที่อยู่ในฝ่ายกุศลเข้าสู่ธรรรมะ หน้าที่อันแท้จริงของผู้คงแก่เรียนก็เป็นเพียงผู้ชี้หนทาง แต่การเดินทางเพื่อพบ "ธรรมญาณ" ยังเป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องเดินด้วยตนเองไม่มีผู้ใดสามารถทำหน้าที่นั้นแทนได้เลย เพราะแต่ละคนล้วนมีปัญญาอันแท้จริงอยู่แล้ว พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจริงรับรองความจริงนี้ว่า "บรรดาปัญญาของพระพุทธเจ้าทั้งหลายทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคตรวมทั้งความรู้ที่เป็นหลักคำสอนในพระคัมภีร์ทั้งสิบสองหมวดล้วนแต่เป็นสิ่งที่มีอยู่ในใจของเรามาแต่เดิมทั้งสิ้น" เป็นการรับรองคุณภาพของ "ธรรมญาณ" ของปุถุชนและพระอริยะเจ้าแท้ที่จริงเป็นอย่างเดียวกันไม่มีข้อแตกต่างกันเลย จึงมีแต่ผู้ที่เดินทางไปพบด้วยตนเองกับปุถุชนผู้ไม่ปรารถนาเดินทางไปค้นพบ "ธรรมญาณ" ของตน ดังนั้นผู้ที่ไม่สามารถปลุก "ธรรมญาณ" ของตนเองให้สว่างไสวขึ้นมาได้ก็เหมือนหนึ่งผู้ที่ไม่รู้หนทางจึงจำเป็นต้องขอคำแนะนำจากผู้ที่รู้หนทางนั้น แต่สำหรับผู้ที่ตั้งต้นเดินทางด้วยตนเองโดยรู้หนทางนั้นย่อมไม่ต้องการความช่วยเหลือจากใคร เพราะเหตุนี้จึงเป็นความคิดที่ผิดที่ถือคติว่าถ้าปราศจากคำแนะนำของผู้คงแก่เรียนแล้ว เราไม่อาจพบวิมุติคือความสุขอันสูงสุดด้วยตนเอง ที่เป็นเช่นนี้เพราะการบรรลุถึง "ธรรมญาณ" นั้นมันเป็นปัญญาภายในของเราเองต่างหากแต่ที่จะทำให้เกิดความสว่างไสวได้ พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวต่อไปว่า "ถึงแม้ความช่วยเหลือจากบุคคลภายนอกและคำพร่ำสอนของผู้คงแก่เรียน ก็ยังเป็นหมันไร้ประโยชน์ได้เหมือนกัน ถ้าเราทำไม่ถูกหลงงมงายเสียแล้วโดยคำสอนที่ผิดและความเห็นผิด เพราะฉะนั้นเราควรรู้จิตของเราด้วยปัญญาตัวจริง ความเห็นผิดทั้งมวลก็จะถูกเพิกถอนไปในขณะนั้น และในทันทีทันใดที่เรารู้จักตัว "ธรรมญาณ" เราย่อมบรรลุถึงสถานะแห่งความเป็นพุทธะทันใดนั้น" คำแนะนำสั่งสอนจากภายนอกยังต้องใช้ปัญญาตัวจริงพิจารณาให้ถ่องแท้ว่าเป็นคำแนะนำที่ถูกต้องหรือทำให้หลงงมงาย ปัญญาตัวจริงนั้นย่อมกำกับด้วย "สติ" ที่ทบทวนใคร่ครวญและทดลองปฏิบัติจนในที่สุดย่อมรู้ได้ด้วยตนเองว่า เป็นหนทางอันถูกถ้วนที่สมควรจะเดินต่อไปหรือหยุดเสีย ในโลกนี้ย่อมมีผู้ที่ศึกษาปฏิบัติธรรมอยู่มากมายและหลาายคนยังติดยึดอยู่กับความเห็นผิดและพยายามชักจูงให้ผู้ปฏิบัติตามอย่างผิดๆ ด้วยการสำคัญตนผิดว่าตนเองบรรลุสู่ความเป็น "ครู" ของคนอื่นได้แล้วแท้ที่จริงแล้วไม่มีใครเป็นครูของใครได้เลย เพราะต่างมี "ครู" ของตนเองอยู่แล้ว พระพุทธองค์จึงทรงเป็นบรมครูที่แท้จริงเพราะพระองค์มิได้ยึดถือว่าเป็น "ครู" ของใครเลย แต่กลับย้ำให้ทุกคนได้รูว่าตนเองเท่านั้นแหละที่เป็น "ครู" ของตนเอง ถ้าใครปฏิบัติตนเป็น "ครู" ของตนเองได้จึงจักได้ชื่อว่าพบ "ครูที่แท้จริง"

» เว่ยหล่าง หรือ ฮุ่ยเหนิง

» วิปัสสนาปัญญา

» จิตเดิมแท้

» อนุตตรสัมมาสัมโพธิ

» ต้นโพธิ์กับกระจกเงา

» โศลกอันลือเลื่อง

» ต้นธาตุ ต้นธรรม

» ศูนย์กลางจักรวาล

» ดวงตาเห็นธรรม

» สัจธรรมแห่งการกินเจ

» เอกธรรมมรรค

» บรรลุอย่างฉับพลัน

» มหาปรัชญาปารมิตา

» ความว่างที่ไม่รู้จักเต็ม

» สัมมาปัญญา

» กิเลสคือโพธิ

» มหาปัญญา

» เหมือนที่ต่าง

» ครูที่แท้จริง

» วิมุติปัญญา

» ความไม่ต้องคิด

» พ้นโง่-พ้นฉลาด

» มองหาความผิดตนเอง

» ทางที่ถูกต้อง

» มหาธรรมนาวา

» ติดบุญ-บาปพัวพัน

» อหังการ

» ดินแดนแห่งอมิตาภะ

» มนุษย์นคร

» แสงแห่งพระพุทธะ

» บำเพ็ญในครัวเรือน

» ถือศีลแต่ตกนรก

» ไหว้พระในบ้าน

» ความเป็นธรรม

» บัวสีแดงเหนือตมสีดำ

» เงินบังโพธิปัญญา

» นั่งเฝ้าก้อนเนื้อ

» หลงสุขจึงไม่เห็นทุกข์

» สมาธิที่ถูกวิธี

» หลอกตัวเอง

» หลงข้ามภพข้ามชาติ

» ไม่ช้า-ไม่เร็ว

» หนึ่งเป็นสองต้องมีทุกข์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย