ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ

กฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนัก

ศุภมัศดุ พระพุทธศาสนายุกาล
เป็นอดีตกาล 2457 พรรษา
เมษายนมาศ วีสติมสุรทิน จันทวาร
โดยกาลนิยม

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวิชิราวุธ เอกอรรคมหาบุรุษ บรมนราธิราช พินิตประชานารถ มหาสมมตวงศ์ อดิศัยพงศ์วิมลรัตน์ วรขัตติยราชนิก โรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร์ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า อันเหล่าเสวกามาตย์ราชบริพาร ผู้ที่มีหน้าที่รับราชการในกระทรวง และกรมในพระราชสำนักนั้น ย่อมเป็นผู้ที่ปฏิบัติราชการอยู่ในหน้าที่ใกล้ชิดพระองค์ เพราะฉะนั้น จึงสมควรที่จะเป็นผู้ที่ดีไม่เป็นที่ทรงรังเกียจ และทั้งเป็นผู้ที่ประพฤติ สัมมาจารี ไม่ควรที่จะให้มีผู้ติฉินนินทาได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชุบ เลี้ยงตั้งแต่งคนที่ไม่ดีไว้ในที่ใกล้ชิดพระองค์ ซึ่งถ้าแม้มีผู้กล่าวได้เช่นนี้ ก็ย่อมเป็น ที่ทรงรำคาญพระราชหฤทัย ทั้งอาจที่จะมีผลให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศได้ด้วย ข้าราชการในพระราชสำนักเป็นบุคคลจำพวกที่สุดที่จะควรกล่าวว่า กิจส่วนตัวไม่เกี่ยวแก่หน้าที่ราชการ เพราะถ้าจะว่ากันอย่างสามัญชนคนใช้ที่ประ พฤติตนไม่ให้เป็นที่ต้องอัธยาศัยเจ้านายแล้ว ถึงแม้ว่าจะมีสติปัญญาสามารถฉลาด เฉลียวสักปานใด ก็คงไม่สามารถจะอยู่ร่วมเคหะสถานกันได้ ดังนี้ฉันใด ส่วนข้า ราชการในพระราชสำนักก็เป็นฉันนั้น เมื่อราชเสวกผู้ใดทราบอยู่แล้วว่าสิ่งไรไม่เป็น ที่ต้องด้วยพระราชอัธยาศัยนิยม แต่ขืนประพฤติสิ่งนั้นเพื่อความพอใจแห่งตนเอง โดยถือว่าเป็นกิจส่วนตัวไม่เนื่องด้วยหน้าที่ราชการ ดังนี้ ก็คงเป็นอันว่าเป็นผู้ที่ ไม่สมควรจะคงรับราชการอยู่ในพระราชสำนัก ควรจะต้องย้ายไปแห่งอื่นดีกว่า ทางที่จะให้ทรงรังเกียจในส่วนตัวราชเสวกผู้หนึ่งผู้ใดนั้น นอกจาก ความประพฤติเป็นคนขี้เมาหรือนักเลง หรือคนมักพูดปด ซึ่งเป็นความเสียในส่วนตัวเอง ยังอาจจะเป็นไปได้ โดยมีครอบครัวอันเป็นที่ทรงรังเกียจได้อีก ในเรื่องการสมพาสแห่งคนในสมัยนี้ ทรงสังเกตว่าดูเป็นไปโดยอาการ อันสำส่อน ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ใคร่เลือกหญิงที่เรียบร้อยแท้จริง ชายหนุ่ม มักพอใจสมจรด้วยหญิงแพศยาหาเลี้ยงชีพโดยทางบำเรอกามคุณ และมักเข้าใจไปว่า การสมจรเช่นนี้เป็นของควรนิยม เพราะคล้ายคลึงกับแบบแผนแห่งยุโรปประเทศ ซึ่งเป็นความเข้าใจเอาเอง โดยพอใจใคร่ให้เป็นเช่นนั้น และการมีภรรยาแต่งงาน สมรสอย่างโบราณประเพณีมักถือกันว่าเป็นของพ้นสมัยเสียแล้ว แม้ใครประพฤติก็ ได้ชื่อว่าคนภูมิเก่าคร่ำคร่าหรือโง่เง่าเต่าปูปลา ไม่รู้จักประเพณีนิยมอย่างสมัยใหม่ ดังนี้เป็นต้น โดยปกติในประเทศมีสมเด็จพระราชาธิบดีเป็นผู้ทรงปกครอง ความนิยม ในทางจริยาต่าง ๆ มหาชนมักเพ่งเล็งดูตามพระราชนิยมเป็นที่ตั้ง แต่ผู้ที่มิได้มี โอกาสได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในที่ใกล้เคียงเพียงพอ มิอาจที่จะทราบ พระราชนิยมได้โดยถนัด ก็ต้องเพ่งเล็งดูทางปฏิบัติและจรรยาแห่งข้าราชการใน พระราชสำนักเป็นหลัก เพื่อสันนิษฐานทางแห่งพระราชนิยม ความจริงมีอยู่ดังนี้เหมือน กันหมดไม่ว่าในประเทศใด ๆ ทั้งในบุรพทิศและปัจฉิมทิศ พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวทรงเข้าพระราชหฤทัยในข้อนี้ชัดเจนอยู่แล้ว จึงได้ทรงพระอุตสาหะพระราช ทานพระบรมราโชวาทแก่ข้าราชการในพระราชสำนักอยู่เนือง ๆ ในเรื่องจรรยา และความประพฤติอันควรแก่ราชเสวก ซึ่งแท้จริงบรรดาราชเสวกควรที่จะรู้สึกพระ มหากรุณาธิคุณ และที่แท้ควรที่จะมีใจรู้สึกความกตัญญูกตเวที ตั้งใจปฏิบัติให้ตรงตาม พระบรมราโชวาทและพระราชนิยม อันได้ทรงแสดงให้ปรากฏมาหลายคราวแล้วนั้น

โดยความเคารพต่อพระบรมเดชานุภาพ ฝ่ายผู้ใหญ่อันเป็นผู้มีหน้าที่บังคับบัญชา ราชการต่างพระเนตรพระกรรณ ก็ควรที่จะหมั่นเอาใจใส่ว่ากล่าวตักเตือนผู้น้อย ที่ไร้สติ ให้อุตสาหะพยายามประพฤติตนให้เป็นที่พอพระราชอัธยาศัย เช่นนี้จึงจะถูก แต่การหาเป็นไปเช่นนี้ทั่วถึงไม่ เพราะราชเสวกที่เป็นคนหนุ่มคะนอง เมื่อมีความปรารถนาจะใคร่ประพฤติตามใจตนเอง ก็พอใจอวดดีทำตนเป็นคนสมัย ใหม่ ประพฤติสงบเสงี่ยมอยู่แต่เฉพาะเวลาที่อยู่หน้าพระที่นั่ง พอลับหลังไปแล้วก็ไป เที่ยวประพฤติสำมะเลเทเมาตามนิสัยอันทรามของตน และที่ผู้น้อยประพฤติอยู่ได้เช่นนี้ ก็เพราะผู้ใหญ่บางคน ซึ่งรู้แล้วว่าผู้น้อยประพฤติเป็นลิงหลอกเจ้าอยู่นั้น ก็หาว่ากล่าว ตักเตือนโดยอาการอันเข้มงวดอย่างผู้ใหญ่ไม่ กลับไปพูดจาและแสดงกิริยาอาการให้ เห็นปรากฏว่า การที่ว่ากล่าวนั้นโดยเสียไม่ได้ คือ ขัดพระราชบริหารไม่ได้เท่านั้น แท้จริงเห็นใจกัน ดังนี้ จึงทำให้ผู้น้อยกำเริบได้ใจ ฝ่ายผู้ใหญ่จะว่าผู้น้อยไม่ได้เต็มปาก ก็เพราะตนเองก็ประพฤติเหลวไหลอยู่เช่นนั้นเหมือนกัน ตรงกับโบราณภาษิตว่า "ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่" ไม่มีใครกล้าทำอะไรใครได้ การที่ประพฤติผิดพระราชนิยมในข้อใด ๆ ก็ไม่สำคัญเท่าในข้อที่เกี่ยวด้วย การมีครอบครัว เพราะหญิงดีย่อมเป็นศรีแก่ชาย แต่หญิงร้ายย่อมนำความ พินาศฉิบหายมาสู่ผู้ที่สมพาส หาเสนียดจัญไรอย่างใดเสมอเหมือนได้โดยยาก เพราะ ฉะนั้น จึงทรงพระราชดำริว่า เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องกวดขันเรื่องครอบครัว แห่งข้าราชการในพระราชสำนักให้ยิ่งขึ้น เพื่อมิให้เป็นที่ติฉินนินทาแห่งผู้อื่นได้ แต่ครั้นว่าจะเป็นแต่เพียงพระราชทานพระบรมราโชวาทอย่างเช่นที่เคยมาแล้วนั้น ถ้าราชเสวกบางคนที่อวดฉลาดอวดดีก็จะหาหนทางหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกระแสพระ บรมราโชวาท ก็จะเป็นเครื่องเสื่อมเสียพระบรมเดชานุภาพ ทั้งจะเป็นหนทางให้ คนอวดดีอวดฉลาดมีความกำเริบได้ใจยิ่งขึ้น จึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องจัดวาง ระเบียบลงไว้ให้เป็นหลักฐานมั่นคง อันจะไม่มีหนทางหลีกเลี่ยงได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เจ้าพระยาธรรมา ธิกรณาธิบดี ศรีรัตนมณเฑียรบาล บรมราโชประการกิจจาภิรมย์ สรรโพดมราช ธุรานุประดิษฐ์ ธรรมสุจริตวิบุลย์ มาลากุลวิวัฒน์ บำรุงรัตนราชประเพณี นิตยภักดี นฤปนารถ อันเตปุริกามาตย์มหานายก อรรคเสวกนทิพาหมุรธาธร กิติขจรเสนาบดี

ศรีรัตนไตรสรณธาดา อุดมอาชวายาศัย อภัยพิริยบรากรมพาหุ เสนาบดีกระทรวงวัง รับพระบรมราชโองการใส่เกล้า ฯ ประกาศกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยครอบครัวแห่ง ข้าราชการในพระราชสำนัก ดังต่อไปนี้

| หน้าถัดไป »

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย