สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

กฎบัตรสหประชาชาติ

หมวดที่ 4 สมัชชา

องค์ประกอบ

มาตรา 9

1.สมัชชาประกอบด้วยสมาชิกทั้งปวงของสหประชาชาติ

2. สมาชิกแต่ละประเทศจะมีผู้แทนในสมัชชาได้ไม่มากกว่า 5 คน

หน้าที่และอำนาจ

มาตรา 10

สมัชชาอาจอภิปรายปัญหาใด ๆ หรือเรื่องใด ๆ ภายในกรอบแห่งกฎบัตรฉบับปัจจุบัน หรือที่เกี่ยวโยงไปถึงอำนาจหน้าที่ ขององค์กรใดๆ ตามที่บัญญัติไว้ในกฎบัตรฉบับปัจจุบันได้ และอาจทำคำแนะนำไปยังสมาชิกแห่งสหประชาชาติ หรือคณะมนตรีความมั่นคง หรือทั้งสองแห่ง ในปัญหาหรือเรื่องราวใดๆ เช่นที่ว่านั้นได้ เว้นแต่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 12

มาตรา 11

1. สมัชชาอาจพิจารณาหลักการทั่วไปแห่งความร่วมมือในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ และความมั่นคงระหว่างประเทศ รวมทั้งหลักการในเรื่องการลดอาวุธ และข้อบังคับว่าด้วยกำลังอาวุธ และอาจทำคำแนะนำเกี่ยวกับหลักการเช่นว่า ไปยังสมาชิกหรือคณะมนตรีความมั่นคง หรือทั้งสองแห่งก็ได้

2. สมัชชาอาจอภิปรายปัญหาใด ๆ เกี่ยวกับการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ และความมั่นคงระหว่างประเทศ อันได้เสนอต่อสมัชชา โดยสมาชิกใด ๆ ของสหประชาชาติ ตามความในมาตรา 35 วรรค 2 และเว้นแต่ที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 12 อาจทำคำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาใดๆ เช่นว่านั้น ไปยังรัฐหนึ่งหรือหลายรัฐที่เกี่ยวข้อง หรือคณะมนตรีความมั่นคง หรือทั้งสองแห่งก็ได้ สมัชชาจักส่งปัญหาใดๆ เช่นว่า ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดำเนินการไปยังคณะมนตรีความมั่นคง จะเป็นก่อนหรือหลังการอภิปรายก็ได้

3. สมัชชาอาจแจ้งให้สคณะมนตรีความมั่นคงทราบสถานการณ์ ซึ่งน่าจะเป็นอันตรายต่อสันติภาพ และความมั่นคงระหว่างประเทศได้

4. อำนาจของสมัชชาตามที่กำหนดไว้ในมาตรานี้ จักไม่จำกัดขอบเขตทั่วไปของมาตรา 10

มาตรา 12

1. ในขณะที่คณะมนตรีความมั่นคงกำลังปฎิบัติหน้าที่เกี่ยวกับกรณีพิพาท หรือสถานการณ์ใดๆ อันได้รับมอบหมายตามกฎบัตรฉบับปัจจุบันอยู่นั้น สมัชชาจะไม่ทำคำแนะนำใด ๆ เกี่ยวกับกรณีพิพาท หรือสถานการณ์นั้น นอกจากคณะมนตรีความมั่นคงจะร้องขอ

2. โดยความยินยอมของคณะมนตรีความมั่นคง เลขาธิการจักต้องแจ้งให้สมัชชาทราบทุกสมัยประชุม ถึงเรื่องราวใดๆ เกี่ยวกับการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ และความมั่นคงระหว่างประเทศ ซึ่งคณะมนตรีความมั่นคงกำลังดำเนินการอยู่ และโดยทำนองเดียวกัน จักต้องแจ้งสมัชชาหรือสมาชิกของสหประชาชาติ ในกรณีที่สมัชชามิได้อยู่ในสมัยประชุม ให้ทราบในทันทีที่คณะมนตรีความมั่นคง หยุดดำเนินการกับเรื่องเช่นว่านั้น

มาตรา 13

1. ให้สมัชชาริเริ่มการศึกษาและทำคำแนะนำ เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะ

ก. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการเมือง และสนับสนุนพัฒนาการก้าวหน้าของกฎหมายระหว่างประเทศ และการจัดทำประมวลกฎหมายนี้

ข. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านเศรษฐกิจ การสังคม วัฒนธรรม การศึกษาและอนามัย และช่วยเหลือให้ประจักษ์ผลในสิทธิมนุษยชน และอิสรภาพอันเป็นหลักมูลสำหรับทุกคน โดยปราศจากความแตกต่างในทางเชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนา

2. ความรับผิดชอบ หน้าที่ และอำนาจต่อไปของสมัชชา เกี่ยวกับเรื่องที่ระบุไว้ในวรรค 1 ข้อ ข. ข้างต้น ได้มีกำหนดไว้ในหมวดที่ 9 และ 10

มาตรา14

ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 12 สมัชชาอาจแนะนำมาตรการเพื่อการปรับปรุงโดยสันติ แห่งสถานการณ์ใดๆ ซึ่งเห็นว่าน่าจะเสื่อมเสียแก่สวัสดิการทั่ว ๆ ไป หรือสัมพันธไมตรีระหว่างนานาชาติ รวมทั้งสถานการณ์ซึ่งเป็นผลมาจาก การละเมิดบทบัญญัติแห่งกฎบัตรฉบับปัจจุบัน อันได้กำหนดความมุ่งหมายและหลักการของสหประชาชาติไว้ ทั้งนี้โดยมิพึงต้องคำนึงถึงแหล่งกำเนิด

มาตรา 15

1. สมัชชาจักรับและพิจารณารายงานประจำปี และรายงานพิเศษจากคณะมนตรีความมั่นคง รายงานเหล่านี้จักรวมเรื่องราวของมาตรการทั้งหลาย ที่คณะมนตรีความมั่นคงได้วินิจฉัย หรือดำเนินการไปเพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ และความมั่นคงระหว่างประเทศ

2. สมัชชาจักรับและพิจารณารายงานจากองค์กรอื่น ๆ ของสหประชาชาติ

มาตรา 16

สมัชชาจักปฎิบัติหน้าที่เกี่ยวกับระบบภาวะทรัสตีระหว่างประเทศที่ได้รับมอบหมาย ตามความในหมวดที่ 12 และ 13 รวมทั้งการให้ความเห็นชอบแก่ความตกลงภาวะทรัสตี สำหรับดินแดนที่มิได้กำหนดไว้เป็นเขตยุทธศาสตร์

มาตรา 17

1. สมัชชาจักพิจารณาและให้ความเห็นชอบแก่งบประมาณขององค์การ

2. สมาชิกเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายขององค์การตามส่วนที่สมัชชา จะได้กำหนดแบ่งปันให้

3. สมัชชาพิจารณาและให้ความเห็นชอบแก่ข้อตกลงทางการเงิน และงบประมาณกับทบวงการชำนัญพิเศษ ดังกล่าวไว้ในมาตรา 57 และจักตรวจสอบงบประมาณฝ่ายธุรการของทบวงการชำนัญพิเศษดังกล่าว เพื่อที่จะทำคำแนะนำต่อทบวงการที่เกี่ยวข้อง

การลงคะแนนเสียง

มาตรา 18

1. สมาชิกแต่ละประเทศของสมัชชาจักมีคะแนนเสียง 1 คะแนน

2. คำวินิจฉัยของสมัชชาในปัญหาสำคัญ ๆ จักต้องกระทำโดยถือคะแนนเสียงข้างมาก 2 ใน 3 ของสมาชิก ที่มาประชุมและออกเสียง ปัญหาเหล่านี้จักรวมคำแนะนำเกี่ยวกับการธำรงไว้ ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ การเลือกตั้งสมาชิกไม่ประจำของคณะมนตรีความมั่นคง การเลือกตั้งสมาชิกของคณะมนตรีเศรษฐกิจและการสังคม การเลือกตั้งสมาชิกของคณะมนตรีภาวะทรัสตีตามมาตรา 86 วรรค 1 ข้อ ค. การรับสมาชิกใหม่ของสหประชาชาติ การงดใช้สิทธิและเอกสิทธิแห่งสมาชิกภาพ การขับไล่สมาชิก ปัญหาที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของระบบภาวะทรัสตี และปัญหางบประมาณ

3. คำวินิจฉัยปัญหาอื่น ๆ รวมทั้งการกำหนดประเภทแห่งปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยด้วยคะแนนเสียงข้างมาก 2 ใน 3 เพิ่มเติมขึ้น จักกระทำโดยอาศัยคะแนนเสียงข้างมากของสมาชิกที่มาประชุมและออกเสียง

มาตรา 19

สมาชิกของสหประชาชาติที่ค้างชำระค่าบำรุงแก่องค์การ ย่อมไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียงในสมัชชา ถ้าหากจำนวนเงินค้างชำระเท่า หรือมากกว่าจำนวนเงินค่าบำรุง ที่ถึงกำหนดชำระสำหรับ 2 ปี เต็มที่ล่วงมา อย่างไรก็ตามสมัชชาอาจอนุญาตให้สมาชิกเช่นว่านั้น ลงคะแนนเสียงก็ได้ ถ้าทำให้เป็นที่พอใจได้ว่า การไม่ชำระนั้นเนื่องมาแต่ภาวะอันอยู่นอกเหนืออำนาจควบคุมของสมาชิกนั้น
วิธีดำเนินการประชุม

มาตรา 20
สมัชชาจักประชุมกันในสมัยสามัญประจำปี และในสมัยพิเศษเช่นที่จำเป็นแก่โอกาส สมัยประชุมพิเศษจักเรียกโดยเลขาธิการ ตามคำร้องขอของคณะมนตรีความมั่นคง หรือของสมาชิกส่วนข้างมากแห่งสหประชาชาติ

มาตรา 21

สมัชชาจักรับเอาข้อบังคับระเบียบการประชุมของตนเอง ทั้งจักเลือกตั้งประธานสมัชชาสำหรับแต่ละสมัยประชุมด้วย

มาตรา 22

สมัชชาอาจสถาปนาองค์กรย่อย เช่นที่เห็นจำเป็นสำหรับการปฎิบัติหน้าที่ของตนก็ได้

หมวดที่ 1 ความมุ่งหมายและหลักการ
หมวดที่ 2 สมาชิกภาพ
หมวดที่ 3 องค์กร
หมวดที่ 4 สมัชชา
หมวดที่ 5 คณะมนตรีความมั่นคง
หมวดที่ 6 การระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี
หมวดที่ 7 การดำเนินการเกี่ยวกับการคุกคามต่อสันติภาพ การละเมิดสันติภาพ และการกระทำการรุกราน
หมวดที่ 8 ข้อตกลงส่วนภูมิภาค
หมวดที่ 9 ความร่วมมือระหว่างประเทศ
หมวดที่ 10 คณะมนตรีเศรษฐกิจและการสังคม
หมวดที่ 11 ปฏิญญาว่าด้วยดินแดนที่ยังมิได้ปกครองตนเอง
หมวดที่ 12 ระบบภาวะทรัสตีระหว่างประเทศ
หมวดที่ 13 คณะมนตรีภาวะทรัสตี
หมวดที่ 14 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
หมวดที่ 15 สำนักเลขาธิการ
หมวดที่ 16 บทเบ็ดเตล็ด
หมวดที่ 17 ข้อตกลงเฉพาะกาลเกี่ยวกับความมั่นคง
หมวดที่ 18 การแก้ไข
หมวดที่ 19 การสัตยาบันและการลงนาม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย